อกุศลมากตามไปแม้ในความฝัน


        ผู้ถาม แล้วในขณะที่ฝัน

        สุ. เคยอ่านนิทานไหม ใครไม่เคยอ่านนิทานบ้าง ตอนนี้ยิ่งมีนิทานสนุก นิทานต่างชาติเป็นที่ตื่นเต้นโลดโผนมาก อาจจะฝันอย่างนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่าทางที่จะรู้อารมณ์มี ๖ คือ ๑ ทางตาเห็น ไม่ใช่ฝัน เพราะว่ามีสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้กำลังปรากฏ ขณะที่ได้ยินก็เสียงปรากฏจริงๆ เฉพาะเสียงที่ปรากฏ ขณะที่ได้กลิ่นก็เฉพาะกลิ่น ขณะที่ลิ้มรสๆ ก็ปรากฏเท่านั้น ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสหรือแม้เจ็บ ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมเท่านั้นที่กำลังปรากฏ และขณะที่ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทั้งหมดนี้จิตคิดนึก สภาพที่คิดต่อจากสิ่งที่เห็น คิดต่อจากสิ่งที่ได้ยิน เพราะฉะนั้นนิทานทั้งหลายเพลินมาก สนุกมาก ฉันใด เวลาฝัน เราเอาความคิดอย่างนั้นมาจากไหน เหมือนกับว่าเราไม่ได้เตรียมตัวเลยที่จะฝันว่าคืนนี้จะฝันว่าอะไร เวลาที่เราอ่านนิทาน เรารู้ไหมว่าต่อไปจะเป็นอะไร กำลังอ่าน ไม่รู้เลย แต่เมื่อรู้แล้วจำ ทุกอย่างนี่สัญญาจำ แม้ในขณะนี้เห็นปรากฏนิดเดียว สัญญาจำตลอด เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ นั่นคือสัญญากำลังจำ เพราะฉะนั้นเวลาที่หลับแล้วก็ยังคงมีเรื่องราวของความคิดนึกในสิ่งที่ได้สะสมมาแล้ว ขณะนั้นก็คือฝัน ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจแต่ก็มีการสะสมความคิดนึกที่จะฝันหรือที่จะคิดอย่างนั้น

        ผู้ถาม ฝันเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏอย่างไร

        สุ. คิด

        ผู้ถาม เป็นสภาพคิด

        สุ. แน่นอน ทางรู้อารมณ์มี ๖ ทาง ไม่เกิดนี้เลย เห็นหรือเปล่าขณะฝัน ได้ยินหรือเปล่า ได้กลิ่นหรือเปล่า ลิ้มรสหรือเปล่า รู้สิ่งที่กระทบหรือเปล่า ขณะนั้นคิดนึก เหมือนเรากำลังดูหนังนิทานตื่นเต้นใช่ไหม เพราะว่ามีสิ่งที่ปรากฏให้คิด แต่ฝันจากความจำทั้งหมดที่สะสมมาปรุงแต่งให้เป็นความคิดนึก

        ผู้ถาม แต่ไม่ได้เป็นข้อชี้บ่งใช่ไหมว่าถ้าเราฝันดีหรือไม่ดี จะทำให้เราเป็นคนดีหรือไม่ดี

        สุ. ถ้าเป็นผู้ที่มีสติก็รู้เลย อกุศลมากตามไปแม้ในฝัน ยิ่งเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วสภาพธรรมต้องเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม ยับยั้งไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นโอกาสหรือว่าขณะที่ประเสริฐก็คือขณะที่สามารถเข้าใจถูก รู้ถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏแม้เพียงเล็กๆ น้อยๆ สั้นนิดเดียว ก็เหมือนอย่างอื่นที่เกิดแล้วดับแล้วหมด แต่ว่าเกิดแล้วดับแล้วโดยไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น กับสิ่งที่แม้เกิดแล้วดับ แต่ปัญญาก็อาศัยรู้ลักษณะนั้นจึงมีความเข้าใจที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นว่าสภาพธรรมจริงๆ ก็คืออย่างนี้แหละ ฝันดับไหม

        ผู้ถาม แต่ว่าลักษณะของความฝันไม่ได้เป็นชั่วขณะเหมือนที่เราตื่น

        สุ. ชั่วขณะหรือเปล่า นั่งอยู่ที่นี่ ชั่วขณะหรือเปล่า ตั้งแต่เดินเข้ามา ไปข้างหลัง รับประทานอะไรบ้าง หรือพูดคุยกับใครบ้าง ไม่ใช่แต่ละขณะเหมือนฝันเลย

        ผู้ถาม สติสัมปชัญญะสามารถที่จะเกิดระลึกได้แม้ในความฝันหรือเปล่า

        สุ. ถ้าเราไม่เรียกว่าฝันขณะที่คิด และก็มีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิดระลึกรู้เป็นไปได้หรือเปล่า เหมือนขณะนี้ กำลังคิดเหมือนกัน แต่ที่ไม่ใช้คำว่าฝัน เพราะเหตุว่ายังมีสิ่งที่ปรากฏทางตาสลับ ยังมีเสียงที่ปรากฏทางหู ก็เลยไม่ได้บอกว่าฝัน แต่ขณะที่ฝันไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เลย แต่คิดตลอด เพราะฉะนั้นถ้ากำลังคิดแล้วสติสัมปชัญญะเกิดระลึกได้ รู้ได้ แต่ขณะนั้นจะไม่ใช่ฝันอีกต่อไป เพราะว่าตื่นแล้วจึงรู้ ธรรมดา ชีวิตปกติธรรมดา ให้เข้าใจความจริงว่าเป็นธรรม การจะศึกษาธรรม ถ้าไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏก็ไม่ชื่อว่ากำลังศึกษาธรรม เป็นการศึกษาจำเรื่องราวทั้งหมดโดยไม่รู้จุดประสงค์ว่าแท้ที่จริงที่ทรงแสดงก็เพื่อให้เข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่ไม่เคยรู้ ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ความจริง ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนก็เหมือนอย่างนี้ แต่ละวันๆ ก็ผ่านไป ทั้งสุข ทั้งทุกข์ เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ แต่ก็ไม่มีอะไรเหลือเลย นอกจากขณะที่กำลังปรากฏๆ กับอวิชชา หรือว่าปรากฏกับปัญญา

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 196


    หมายเลข 10484
    25 ม.ค. 2567