ธรรมสำหรับเด็ก


    ธรรมที่เหมาะสมกับวัยเด็กคืออย่างไร และจะชักนำให้เด็กๆ ได้เริ่มสนใจ และมีพื้นฐานความเข้าใจธรรมที่ถูกต้อง และเป็นคนดี ได้อย่างไร


    ผู้ฟัง จะปูพื้นฐานให้เด็กๆ ได้เข้าใจธรรม ที่อาจารย์ได้กล่าวนะครับ อันนี้ก็เป็นความห่วงใย

    ท่านอาจารย์ สำหรับวัยเด็กนี้นะคะ คงไม่พร้อมที่จะฟังธรรมที่ลึกซึ้ง แต่ว่าสามารถที่จะเข้าใจได้ จากชีวิตจริงๆ ของเขา เราก็มีชีวิตจริงของเด็กในชั้น ก็มีหลายคน หลากหลาย ผู้ปกครอง พี่น้อง ญาติ เพื่อนฝูง แต่ละชีวิต ถ้าเราถามเขา ให้เขาได้เล่า ก็ให้ทุกคนได้ช่วยกันพิจารณาว่า อะไรถูก อะไรดี เขาก็อาจจะช่วยกันคิด แล้วในที่สุดเขาก็เริ่มจะเห็นว่า สิ่งใดที่ควร และสิ่งใดไม่ควร ค่อยๆ แทรกความเข้าใจธรรม โดยไม่ต้องกล่าวตรงๆ ว่า เดี๋ยวนี้เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม เขาก็อาจจะไม่พร้อมที่จะเข้าใจ เพราะเขาอยู่ในวัยนั้น แต่ก็ถามในสิ่งที่เขาสามารถจะเข้าใจได้ พี่น้องเป็นอย่างไร เหมือนกันหรือเปล่า ทำอะไรบ้าง เมื่อวานนี้ ทำดีหรือทำไม่ดี อย่างน้อยที่สุดเขาก็ค่อยๆ เริ่มคิดเริ่มเข้าใจ แล้วเราก็ค่อยๆ นำไป แล้วแต่ก็มีคำถามอะไร เราก็ตอบในทางที่ให้เขาค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ถ้าเขาเป็นคนช่างซัก เราก็สามารถที่จะค่อยๆ ให้เขาเข้าใจอย่างถูกต้อง อย่างบอกว่าขณะนี้หิวไหม ถ้าเขาบอกว่าหิว แล้วถ้าไม่มีตัวร่างกาย แล้วจะหิวไหม เริ่มให้เขาเข้าใจความจริงเดี๋ยวนั้นว่า แท้ที่จริงแล้วนี้ทุกอย่างที่มีจริงนั้น บังคับบัญชาไม่ได้ และก็มีธรรมสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งก็เป็นฝ่ายที่ดี อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ดี ขั้นต้นต้องรู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว ตั้งแต่ต้น แล้วเขาก็สามารถจะเข้าใจได้ เด็กคนไหนช่วยพ่อแม่บ้าง รักพ่อแม่เพราะอะไร พ่อแม่มีคุณในอะไรบ้าง เพราะว่าเด็กบางคนไม่คิดถึงคุณของพ่อแม่เลย เหมือนพ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงดู แล้วก็อุ้มชูเขาไปตลอด แต่ถ้าเป็นเด็กที่ช่างคิดใช่ไหม เราก็อาจจะให้เขาคิดว่าพ่อแม่ รักพ่อแม่ไหม แล้วรักแล้วทำอย่างไร ดูแลหรือเปล่า ถ้าเขาเป็นเด็กไม่ดี พูดไม่ดี เคยไหม และขณะนั้นพ่อแม่รู้สึกอย่างไร และคำพูดที่ไม่ดี ไม่ใช่แต่เฉพาะกับใคร ทั้งนั้น กับเพื่อนหรือกับใคร แม้แต่ผู้ที่ช่วยงาน ทำให้เขาเสียใจไหม เพราะฉะนั้นถ้าเขาต้องการอย่างไร ที่จะได้รับสิ่งที่ดี เขาก็เป็นคนดี ให้กับคนอื่นได้ ค่อยๆ แนะนำ แล้วก็ถามดูปัญหาของเด็กๆ แล้วก็คืออย่างไรๆ ก็เป็นความเข้าใจที่เป็นธรรม ทีละเล็กทีละน้อย

    ให้เขาได้ยินคำที่คุ้นหูก็ได้ อย่างพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ดับกิเลส เพราะฉะนั้นกิเลสก็คือสิ่งที่ไม่ดี วันนี้มีไหม โกรธบ้างหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ ค่อยๆ ถามไป ก็คงจะทำให้เขาได้เข้าใจชีวิตจริงๆ ถ้าเราเอาหัวข้อมา อริยสัจจ์ ๔ รับรองไม่มีความหมายเลย อิทธิบาท ๔ ก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่ว่าจากชีวิตจริงๆ นี่ เขาเริ่มเห็นว่า ในบรรดาคนที่เขารู้จัก เขาชอบใครเพราะอะไร ก็ต้องรู้ว่าเป็นเพราะความดีหรืออะไร หรือถ้ามีข่าว เช่น แท็กซี่นำเงินมาคืนให้ ถ้าเป็นเขา เขาจะทำอย่างไร และอะไรที่ถูกต้อง ค่อยๆ เห็นว่า ไม่ว่าเป็นใคร ความดีก็เป็นความดี แล้วทุกคนก็ชื่นชมความดีด้วย เพราะฉะนั้นคนที่เป็นคนดี ใครจะเกลียดจริงๆ แล้วก็ไม่มีใช่ไหม ถ้าจะมีคนอิจฉาริษยาก็ช่วยไม่ได้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว เขาเข้าใจผิด ว่าแท้ที่จริงแล้ว ถึงจะริษยาใคร ก็ไม่ได้ทำให้คนนั้นเดือดร้อน อกุศลทั้งหลายนี้เป็นโทษกับตัวเองทั้งนั้น ตั้งแต่คิดร้ายไปอะไรไป

    คือค่อยๆ รู้จักเด็กในห้อง และก็รู้ว่าแต่ละคน เราจะช่วยเขาอย่างไรให้ค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นคนดีขึ้น เราอาจจะถามทุกวัน วันนี้ใครทำดีบ้างหรือเปล่า มีหรือไม่มี คนที่ไม่มีจะรู้สึกอายไหม วันนี้ไม่ได้ทำดีอะไรเลย อะไรอย่างนี้ คือมีความเข้าใจสำคัญที่สุด ความเข้าใจ สมานัตตตา ความมีตนเสมอ ไม่ได้ถือว่าเขาสูงกว่าเรา ต่ำกว่าเรา เสมอกับเรา หรืออะไร แต่ทุกคนเหมือนกันเลย เกิดมาเพราะกรรมที่ได้ทำแล้ว และชีวิตที่แต่ละคน จากเด็กเป็นผู้ใหญ่นี้เราก็เห็นตัวอย่าง ตอนเด็กเขาเป็นอย่างไร และตอนโตเขาเป็นอย่างไร เด็กทุกคนเข้าใจว่าตอนเล็กๆ ดูเหมือนว่า พอใจที่จะทำความดี ชื่นชมในความดี แต่ทำไมโตขึ้น กลายเป็นคนไม่ดีไปได้ถึงอย่างนั้น นี่ก็แสดงให้เขาไม่ประมาท ที่จะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะว่าตราบใดที่ยังไม่เป็นคนดีขึ้นเรื่อยๆ ไม่เข้าใจความถูกต้อง วันหนึ่งเขาก็จะต้องทำไม่ดี

    เพราะฉะนั้นคนที่ทำไม่ดี จริงๆ แล้วไม่มีใครอยากไม่ดี แต่ไม่ทำไม่ได้เพราะไม่ใช่เขา แต่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น คือให้เข้าใจในเหตุ ในผลจริงๆ ว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องสะสมความดี เพื่อที่จะได้ไม่เป็นคนเลว ในวันข้างหน้า


    หมายเลข 10471
    18 พ.ค. 2567