พุทธกิจ


    เมื่อพระบรมสารีริกธาตุ ทุกองค์ยังรวมกัน ประกอบด้วยเนื้อ เอ็น เลือด และพระอวัยวะส่วนต่างๆ ซึ่งในกาลที่อวัยวะและพระบรมสารีริกธาตุยังรวมกันเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลกเป็นอันมาก ไม่มีผู้ใดเสมอ

    การระลึกถึงพุทธกิจของพระองค์นั้น จะทำให้เป็นพุทธานุสสติที่จะเห็น การบำเพ็ญพระบารมีก่อนที่จะทรงตรัสรู้ และหลังจากที่ทรงตรัสรู้แล้ว ได้ทรง พระมหากรุณาแสดงธรรมเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์โลกให้พ้นจากทุกข์เป็นอันมาก เพราะฉะนั้น การได้นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ก็แล้วแต่ว่าจิตของใครจะน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณในสมัยใด

    ขอกล่าวถึงพุทธกิจอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ท่านผู้ฟังน้อมระลึกถึงในสมัยที่ พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน

    ปรมัตถโชติกา อรรถกถา สุตตนิบาต อรรถกถาอุรุควรรค อรรถกถา กสิภารทวาชสูตร มีข้อความว่า

    ปุเรภัตกิจ

    คือ กิจก่อนภัต

    กิจของมนุษย์ในโลกนี้เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มีต่างกันเลย แต่ผู้ที่ยังมีกิเลสก็มีกิจแบบมีกิเลส ส่วนผู้ที่หมดกิเลสก็ต้องมีกิจอย่างผู้ที่หมดกิเลส

    ในตอนเช้า พระผู้มีพระภาคทรงกระทำการบริกรรมพระวรกาย มีการล้าง พระพักตร์เป็นต้น เพื่อทรงอนุเคราะห์ผู้อุปัฏฐากและเพื่อให้พระวรกายผาสุก

    เกิดเป็นมนุษย์ในโลกนี้ก็ต้องบริหารร่างกาย

    พระองค์ทรงพักอยู่บนอาสนะอันสงัดจนถึงเวลาเสด็จบิณฑบาต ซึ่งบางครั้งเสด็จพระองค์เดียว บางครั้งมีภิกษุสงฆ์แวดล้อม เมื่อมีผู้อาราธนาให้รับภัตตาหาร ในเรือน ก็เสด็จไปยังเรือนนั้น

    เมื่อกระทำภัตกิจแล้ว ทรงตรวจดูอุปนิสัยของบริษัทนั้นๆ แล้วทรงแสดง พระธรรมโดยประการที่บางพวกตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์ บางพวกตั้งอยู่ในศีล ๕ บางพวกตั้งอยู่ในโสตาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล บางพวกบวช และภายหลังตั้งอยู่ในอรหัตตผล ครั้นทรงอนุเคราะห์อย่างนี้แล้ว เสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จไปสู่พระวิหาร

    ในตอนเช้าก็เป็นพุทธกิจที่ได้ทรงกระทำเป็นประจำ

    เมื่อเสด็จไปสู่ที่ประทับที่พระวิหารแล้ว ทรงรอพระภิกษุทั้งหลายกระทำ ภัตกิจเสร็จ แล้วเสด็จไปยังพระคันธกุฎี ทรงล้างพระบาท ประทับยืน ณ แท่นประทับหน้ามุขพระคันธกุฎี ทรงโอวาทภิกษุที่มาแวดล้อม ณ ที่นั้นว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้ามีได้ยาก การเกิดเป็นมนุษย์มีได้ยาก การถึงพร้อมด้วยศรัทธามีได้ยาก การบรรพชามีได้ยาก การฟังธรรมมีได้ยากในโลก

    จากนั้นภิกษุทั้งหลายถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ทูลถามกัมมัฏฐาน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมตามควรแก่อุปนิสัยของภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเหล่านั้นกลับไปสู่ที่พักแล้ว พระองค์เสด็จเข้าไปสู่พระคันธกุฎี ถ้าทรงพระประสงค์ ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์ชั่วครู่โดยปรัศว์เบื้องขวา ครั้นมีพระวรกายสำราญแล้ว เสด็จลุกขึ้นทรงตรวจดูโลก

    นี่คือพุทธกิจในตอนเช้า ตอนกลางวัน และตอนกลางคืน จะแบ่งตอนกลางวันออกเป็น ๓ ยาม และตอนกลางคืน ๓ ยาม ยามละ ๔ ชั่วโมง

    จะเห็นได้ว่า ทรงพระมหากรุณาที่แสดงพระธรรม แม้ว่าเสด็จไปเสวยภัตตาหาร กระทำภัตกิจในเรือนซึ่งมีผู้อาราธนา เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จก็ตรวจดูอุปนิสัย ของบริษัทในที่นั้นแล้วทรงแสดงธรรม และเมื่อกลับมาถึงพระวิหารแล้ว ก็ยังทรงรอให้พระภิกษุซึ่งฉันที่โรงกลมทำภัตกิจเสร็จ เมื่อเสด็จไปยังพระคันธกุฎี ก็ไม่ได้เข้าสู่ พระคันธกุฎีทีเดียว แต่ยังประทับยืนทรงโอวาทและให้โอกาสแก่ภิกษุทั้งหลายทูลถามปัญหาต่างๆ ภายหลังจึงได้เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี

    ชนทั้งหลายในคามนิคมนั้น ในปุเรภัต ถวายทาน ในปัจฉาภัต ถือเอาดอกไม้และของหอมเป็นต้นไปสู่พระวิหาร ต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม อันสมควรแก่กาล สมควรแก่ประมาณ ครั้นทรงรู้กาลแล้ว ทรงส่งบริษัทกลับ ต่อจากนั้นถ้ามีพระประสงค์จะชำระพระวรกาย ก็เสด็จลุกจากพระพุทธอาสน์ เสด็จไปสู่โอกาสที่มีผู้อุปัฏฐากตระเตรียมน้ำไว้ เสด็จเข้าสู่โรงอาบน้ำ ทรงชำระ พระวรกายแล้ว เสด็จไปในเรือนบริเวณพระคันธกุฎี ประทับนั่งพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงหลีกเร้นชั่วครู่

    ก็เหมือนชีวิตของทุกคนในโลกนี้ ตอนบ่ายๆ หลังจากที่ทรงแสดงธรรมกับผู้ที่ ไปเฝ้า เช่น ชาวบ้านในเขตที่พระองค์ประทับ ซึ่งตอนเช้าท่านเหล่านั้นได้ถวายทาน ตอนบ่ายก็มาเฝ้าเพื่อจะฟังพระธรรม และเมื่อฟังพระธรรมสมควรแก่เวลาแล้ว กลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคก็ทรงชำระพระวรกาย และเสด็จเข้าสู่บริเวณพระคันธกุฎี ยังไม่ได้เข้าไปในพระคันธกุฎี ประทับนั่งพระองค์เดียวเท่านั้น ทรงหลีกเร้นชั่วครู่

    เป็นชีวิตที่มีประโยชน์มาก เมื่อกระดูกทุกชิ้นทุกองค์ยังรวมกันอยู่พร้อมทั้ง พระอวัยวะ ก็ได้กระทำพุทธกิจต่างๆ ที่เป็นประโยชน์แก่สัตว์โลก

    ลำดับนั้น ภิกษุมาจากที่นั้นๆ มาสู่ที่ประทับนั่ง บางพวกทูลถามปัญหา บางพวกทูลขอกัมมัฏฐาน บางพวกทูลขอฟังธรรม พระผู้มีพระภาคทรงยังความประสงค์ของภิกษุเหล่านั้นให้สำเร็จจนถึงปฐมยาม

    คือ ตั้งแต่ ๖ โมงเย็น ถึง ๔ ทุ่ม

    ในมัชฌิมยาม เทวดาในหมื่นโลกธาตุทั้งหลาย เมื่อได้โอกาสก็เข้าเฝ้า พระผู้มีพระภาค ทูลถามปัญหา จนถึงปัจฉิมยาม

    คนอื่นจะทำได้อย่างนี้ไหม ทั้งวัน

    ต่อจากนั้นทรงกระทำปัจฉิมยามให้เป็น ๔ ส่วน

    ส่วนที่ ๑ ทรงจงกรม

    เพราะว่าประทับนั่งมานานมากตลอดทั้งวัน

    ส่วนที่ ๒ เสด็จเข้าพระคันธกุฎี ทรงมีพระสติสัมปชัญญะสำเร็จสีหไสยาสน์โดยปรัศว์เบื้องขวา

    เพียงชั่วโมงเดียว เพราะว่าปัจฉิมยามแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน

    ส่วนที่ ๓ ทรงยังเวลาให้ล่วงไปด้วยผลสมาบัติ

    ส่วนที่ ๔ ทรงเข้าพระมหากรุณาสมาบัติ ตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ เพื่อเสด็จไปโปรดผู้มีอุปนิสัยควรแก่การบรรลุมรรคผล

    นี่เป็นปัจฉาภัตกิจระหว่างที่ยังไม่ปรินิพพาน จะเห็นได้ว่า ชีวิตของพระองค์ เป็นชีวิตที่เกื้อกูลต่อสัตว์โลก และสำหรับชีวิตของทุกท่านในขณะนี้ซึ่งกระดูกทุกชิ้น ยังรวมกัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อ ยังไม่กระจัดกระจาย ก็ควรที่จะทำประโยชน์ ทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้มากที่สุดที่จะมากได้ เพื่อเป็นการประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระมหากรุณาแสดงไว้

    บางท่านกลัวว่าจะนอนน้อยไป ใช่ไหม แต่ตามความเป็นจริง ถ้าตื่น มีโอกาสที่ปัญญาจะเจริญได้ ถ้าสัญญาความจำมั่นคงในเรื่องนามธรรมและรูปธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นสติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมและอบรมเจริญปัญญา ได้มากกว่าในขณะที่จะนอนหลับ

    เพราะฉะนั้น บางวันอาจจะง่วงมากและหลับมาก และบางวันอาจจะนอน ไม่หลับ แต่ถ้าใครนอนไม่หลับ อย่าเดือดร้อน ถือว่าเป็นโอกาสพิเศษซึ่งเป็นกุศล ดีกว่าเป็นภวังคจิต เพราะขณะที่นอนหลับสนิทไม่รู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ปัญญาไม่สามารถเจริญที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นได้

    และเมื่อตื่น ก็ควรที่จะได้พิจารณาความต่างกันของผู้ที่ดับกิเลสหมดแล้ว กับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ แม้พระผู้มีพระภาคทรงตื่นบรรทม พระองค์ก็ทอดพระเนตรเห็น สิ่งต่างๆ ได้ยินเสียงต่างๆ เหมือนกับบุคคลอื่น แต่พระมหากรุณาคุณที่ได้ทรงตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การเห็นของพระองค์ กับการเห็นของคนที่ยังมีกิเลสต้องต่างกันมาก

    การเห็นของพระองค์ประกอบด้วยพระมหากรุณา พิจารณาอุปนิสัยของแต่ละบุคคลเพื่อเกื้อกูลแต่ละบุคคลด้วยพระธรรม แต่สำหรับผู้ที่ยังมีกิเลส ขอให้พิจารณาการเห็นที่ตื่นมา อ่านหนังสือพิมพ์ รัก ชัง มากน้อยแค่ไหน สนุกสนานเพลิดเพลิน และแม้ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ เพียงตื่นขึ้นมา เห็นดอกไม้ในบ้าน หรือเห็นสัตว์เลี้ยง จิตใจในขณะนั้นเป็นอย่างไร นี่คือความต่างกันของแม้ผู้ที่มีจักขุปสาท แต่เหตุปัจจัย ที่ทำให้เกิดการเห็น มี

    จักขุวิญญาณก็เห็นสิ่งเดียวกัน แต่หลังจากนั้นแล้ว อุปนิสัยที่สะสมมาต่างกัน ซึ่งแต่ละบุคคลสามารถที่จะระลึกรู้ได้ถึงกิเลสของตนเอง ใครมีกิเลสมากเท่าไร คนอื่นไม่รู้ แต่บุคคลนั้นรู้ ใครที่ค่อยๆ ขัดเกลากิเลสเพราะเห็นโทษของกิเลส และกิเลสทั้งหลายก็ค่อยๆ คลายลง ปัญญาค่อยๆ เพิ่มขึ้น คนอื่นก็ไม่สามารถรู้ได้ แต่บุคคลนั้นรู้ได้ นี่เป็นเหตุที่แม้ทุกคนมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอยู่ร่วมโลกกัน แต่การสะสมต่างกัน ตามขั้นของปัญญา

    ถ้าเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฟังพระธรรม ยังไม่ได้พิจารณาพระธรรม ยังไม่ได้อบรมเจริญปัญญา คิดดูว่าชาตินี้ทั้งชาติจะจบลงอย่างไร ก็ต้องด้วยกิเลสที่หนาขึ้นๆ ทุกวัน แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟัง ละคลายความไม่รู้ อบรมเจริญกุศลทุกประการเพิ่มขึ้น ก็เป็นชาติที่มีประโยชน์ เมื่อกระดูกทุกชิ้นยังรวมกันอยู่ ยังไม่กระจัดกระจาย ก็ควรให้เป็นประโยชน์ในการที่จะได้เกิดปัญญาเพิ่มขึ้น ไม่ใช่หวังว่า กิเลสทั้งหมดที่เพิ่มขึ้นทุกวัน จะหมดไปเพียงในวันหนึ่ง หรือเดือนหนึ่ง หรือปีหนึ่ง โดยที่ไม่รู้อะไรเลย แต่อยากจะหมดก็เลยไปปฏิบัติ หรือไปทำสิ่งซึ่งไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของ สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ฆฏิการสูตร มีข้อความเรื่องการแย้มยิ้มของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเสด็จไปข้างหน้า แต่พระภิกษุ ผู้ติดตามไปข้างหลังสามารถรู้ได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงแย้มยิ้ม

    อรรถกถา ฆฏิการสูตร มีข้อความเรื่องการแย้มยิ้มของพระผู้มีพระภาคทั้งหลายว่า

    ปรากฏเพียงอาการยินดีและทรงแย้มพระโอษฐ์เท่านั้น พระผู้มีพระภาคทั้งหลายย่อมไม่ทรงพระสรวล ไม่เหมือนพวกโลกียชนที่ตีท้อง หัวเราะกลิ้งไปมา

    เป็นไปได้เวลาสนุกสนานหรือดีใจมาก จะเห็นได้ว่า หัวเราะถึงกับกลิ้ง และ ตีท้องไปมาด้วย

    ความแย้มยิ้มของพระผู้มีพระภาค ถึงมีประมาณเล็กน้อยก็ปรากฏแก่ ท่านพระอานนท์เถระผู้เป็นปัจฉาสมณะ เพราะในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงแย้มยิ้มนั้น พระรัศมีรุ่งเรืองจากพระโอษฐ์วนรอบพระเศียร ๓ รอบ แล้วอันตรธานไป เพราะเหตุนั้นท่านพระอานนท์ซึ่งเป็นปัจฉาสมณะ แม้จะเดินตามไปข้างหลัง พระผู้มีพระภาคก็ทราบได้ว่า ทรงแย้มพระโอษฐ์

    จะให้เห็นได้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นเลิศกว่าสัตว์โลกทั้งหมด ในทุกจักรวาล ย่อมมีความพิเศษซึ่งเป็นผลจากการบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1928

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1929


    นาที 15:34

    ขอกล่าวถึงการประทับและจาริกของพระผู้มีพระภาค ซึ่งเป็นการเกื้อกูล พุทธบริษัท ตลอดพระชนม์ชีพ ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถา รถวินีตสูตร มีข้อความว่า

    บทว่า ยถารนฺตํ ได้แก่ ประทับอยู่ตามพระอัธยาศัย จริงอยู่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย เมื่อประทับอยู่ในที่แห่งหนึ่ง ชื่อว่า ไม่มีความไม่ยินดี เพราะอาศัยความวิบัติแห่งร่มเงาและน้ำ เป็นต้น หรือเพราะเสนาสนะอันไม่ผาสุก หรือเพราะความไม่ศรัทธาเป็นต้นของเหล่าผู้คน ไม่มีแม้ความยินดีว่าเราจะอยู่เป็นผาสุกในที่นี้ แล้วอยู่นานๆ เพราะมีสิ่งเหล่านั้นพรั่งพร้อม

    แต่เมื่อพระตถาคตประทับอยู่ ณ ที่ใด สัตว์ทั้งหลายตั้งอยู่ในสรณะ สมาทาน ศีล หรือ บรรพชา ก็หรือว่าแต่นั้นสัตว์เหล่านั้นมีอุปนิสสัยแห่งโสดาปัตติมัคค เป็นต้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมประทับอยู่ในที่นั้น ตามอัธยาศัยที่จะทรงอนุเคราะห์สัตว์เหล่านั้นไว้ในสมบัติเหล่านั้น และเพราะไม่มีสัตว์เหล่านั้นจึงเสด็จหลีกไป เป็นพระมหากรุณาซึ่งไม่ว่าจะประทับหรือเสด็จจาริกไป ก็มิใช่เพื่อความสุขส่วนพระองค์ แต่เพื่อจะอนุเคราะห์ผู้ที่สามารถจะตั้งอยู่ในสรณะ หรือว่าจะสมาทานศีล จะบรรพชา หรือว่ามีอุปนิสสัยแห่งโสดาปัตติมัคค เป็นต้น

    ข้อความใน ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถา รถวินีตสูตร แสดงให้เห็นพระมหากรุณาในการเสด็จจาริกไปเพื่อประโยชน์ทั้งสิ้น ข้อความในอรรถกถามีว่า

    ก็ถ้าภายในพรรษา ภิกษุทั้งหลายมีสมถะและวิปัสสนายังอ่อน ก็ไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา แต่จะทรงเลื่อนปวารณาออกไปปวารณาในวันปวารณากลางเดือนกัตติกา (เดือน ๑๒) วันแรกของเดือนมิคสิระ (เดือน ๑) มีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวาร เสด็จออกเที่ยวไปตลอดมัชฌิมมณฑล นี่ก็เป็นเรื่องของการออกพรรษาและการปวารณาที่พระผู้มีพระภาคทรง พระกรุณาเห็นว่า ถ้าภิกษุทั้งหลายยังมีสมถะและวิปัสสนายังอ่อน ก็ไม่ทรงปวารณาในวันมหาปวารณา แต่ทรงเลื่อนปวารณาออกไป

    หรือเมื่อพระผู้มีพระภาคประทับประจำอยู่ ๔ เดือนแล้ว เหล่าเวไนยสัตว์ อินทรีย์ยังไม่แก่กล้า ก็จะทรงคอยอินทรีย์ของเวไนยสัตว์เหล่านั้นจะแก่กล้า ๑ เดือนบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง แล้วทรงมีภิกษุหมู่ใหญ่เป็นบริวารเสด็จจาริกไป เมื่อทรงจาริกไปที่ใดนั้น มิใช่จาริกไปเพราะเหตุแห่งปัจจัยมีจีวรเป็นต้น โดยที่แท้เสด็จจาริกไปเพื่อทรงอนุเคราะห์

    อนึ่ง พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๔ ประการ

    เพื่อประโยชน์แก่ความสุขของสรีระ ๑

    เพื่อประโยชน์ คือ รอการเกิดอัตถุปปัตติ (คือ เกิดเรื่องอันเป็นเหตุให้ตรัสธรรมเทศนา) ๑

    เพื่อประโยชน์แก่การทรงบัญญัติสิกขาบทสำหรับภิกษุทั้งหลาย ๑

    เพื่อประโยชน์โปรดสัตว์ที่ควรตรัสรู้ ผู้มีอินทรีย์ แก่กล้าแล้วในที่นั้นๆ ให้ได้ตรัสรู้ ๑

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๔ ประการอย่างอื่นอีก คือ

    สัตว์ทั้งหลายจักถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะบ้าง

    จักถึงพระธรรมเป็นสรณะบ้าง

    จักถึงพระสงฆ์เป็นสรณะบ้าง

    แล้วพระองค์จักทรงทำบริษัท ๔ ให้เอิบอิ่มด้วยการฟังธรรมครั้งใหญ่บ้าง

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกด้วยเหตุ ๕ ประการ คือ

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากปาณาติบาตบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากอทินนาทานบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากกาเมสุมิจฉาจารบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากมุสาวาจาบ้าง

    เหล่าสัตว์ทั้งหลายจักเว้นจากสุราเมรัยบ้าง

    พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมเสด็จจาริกไปด้วยเหตุ ๘ ประการอย่างอื่น คือ เขาจะได้ปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสานัญจายตนฌานบ้าง วิญญาณัญจายตนฌานบ้าง อากิญจัญญายตนฌานบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง คือ เขาจะบรรลุโสดาปัตติมัคคจิต โสดาปัตติผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุสกทาคามิมัคคจิต สกทาคามิผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุอนาคามิมัคคจิต อนาคามิผลจิตบ้าง เขาจะบรรลุอรหัตตมัคคจิต อรหัตตผลจิตบ้าง

    การจาริก มี ๒ คือ นิพันธจาริก การจาริกโดยมีเหตุผูกพัน ๑ อนิพันธจาริก การจาริกโดยไม่มีเหตุผูกพัน ๑ ในจาริก ๒ อย่างนี้ การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จไปโปรดสัตว์ ผู้ควรตรัสรู้ผู้เดียวเท่านั้น ชื่อว่า นิพันธจาริก การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปตามลำดับตามนิคมนคร ชื่อว่า อนิพันธจาริก แสดงให้เห็นพระมหากรุณาของพระผู้มีพระภาคซึ่งสำเร็จเป็นสัตตูปการสัมปทา ในการที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ฉะนั้น ชีวิตของผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมประเสริฐเลิศกว่าชีวิตของบุคคลอื่น

    ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ปาสราสิสูตร มีข้อความที่แสดงว่า ท่านพระอานนท์ผู้เป็นพระอุปัฏฐากย่อมทราบการประทับ การเสด็จ การจาริกของพระผู้มีพระภาค โดยกิริยาอาการของพระองค์ ท่านพระเถระทราบว่า วันนี้พระศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวัน ทรงพักผ่อนกลางวันในบุพพาราม วันนี้เสด็จเข้าบิณฑบาตลำพังพระองค์ วันนี้แวดล้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เวลานี้เสด็จจาริกไปในชนบท โดยถือนัยตามกิริยาที่พระผู้มีพระภาคทรงกระทำ คือ วันที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ทรงมีพระประสงค์จะทรงพักผ่อนกลางวันในบุพพารามในเวลาใด ในเวลานั้นก็ทรงเก็บเสนาสนะและเครื่องบริขาร และท่านพระอานนท์เถระก็เก็บไม้กวาดและสักการะที่บุคคลนำมาบูชา เป็นต้น แม้ในเวลาที่ประทับอยู่ในบุพพารามและเสด็จมาพักกลางวันที่พระเชตวัน ก็นัยนี้เหมือนกัน

    ก็คราวใดทรงมีพระประสงค์จะเสด็จไปบิณฑบาตตามลำพัง คราวนั้นก็จะทรงปฏิบัติพระภาระกิจแต่เช้า เข้าพระคันธกุฏี ปิดพระทวาร เข้าผลสมาบัติ ท่าน พระอานนท์เถระก็ทราบด้วยสัญญาณนั้นว่า วันนี้พระผู้มีพระภาคประสงค์จะเสด็จไปทรงอนุเคราะห์ผู้ควรตรัสรู้ตามลำพังพระองค์เดียว ท่านพระอานนท์ก็ให้สัญญาณแก่ภิกษุทั้งหลายให้ไปบิณฑบาตโดยไม่ตามเสด็จพระผู้มีพระภาค ก็คราวใดมีพระประสงค์ให้ภิกษุทั้งหลายตามเสด็จไปบิณฑบาต คราวนั้นก็จะทรงแง้มพระทวารพระคันธกุฏี ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ แต่คราวใดมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท คราวนั้นจะเสวยเกินคำ ๒ คำ แล้วเสด็จจงกรมไปๆ มาๆ ทุกเวลา ท่านพระอานนท์เถระทราบด้วยสัญญานั้น จึงให้สัญญาณแก่ภิกษุทั้งหลายว่าพระผู้มีพระภาคทรงมีพระพุทธประสงค์จะเสด็จจาริกไปในชนบท พวกท่านจงทำกิจที่ควรทำของท่านเสีย

    ที่มา ...

    แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 4


    หมายเลข 1044
    20 ต.ค. 2566