ตรงต่อความจริงในขณะนั้น


        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคว่า ขณะที่ตรัสรู้ไม่มีคำ ซึ่งจริงๆ คงจะไม่มีคำ แต่ว่าการศึกษาของเรา เราศึกษาเป็นเรื่อง เป็นคำ เป็นอะไรทุกอย่าง ตอนที่ศึกษาใหม่ๆ จริงๆ รู้สึกว่า เวลาโลภะเกิด คือรู้สึกว่า จะต้องโลภะ เพราะว่ามันเป็นความรู้สึกว่า กลัวว่ามันจะไม่ใช่โลภะ ประมาณนี้ ซึ่งตอนนี้เริ่มจะเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องมีคำ มีอะไรเลย แต่ว่าก็ไม่ทราบว่า ลักษณะของสติจริงๆ จะเป็นอย่างไรก็ต่างกับปกติอย่างนี้อย่างไร ท่านอาจารย์

        ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณวาณีรู้สึกแข็งตรงไหนบ้างไหมคะ

        ผู้ฟัง ค่ะ

        ท่านอาจารย์ ต้องเรียกไหมว่า แข็ง

        ผู้ฟัง ไม่เรียกเลยค่ะ

        ท่านอาจารย์ แต่ว่าสามารถจะรู้ได้ โดยไม่ต้องเรียก เพราะว่ามีลักษณะนั้นปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจถูก แต่ว่าเราคุ้นเคยกับความคิดมานานแสนนาน แล้วก็ธรรมไม่ใช่ว่าบังคับ เป็นอนัตตา บ่งอยู่ แล้วว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ บังคับไม่ให้คิดได้ไหมคะ ไม่ได้ แต่ก่อนนี้พอโลภะเกิด คุณวาณีจะคิดอย่างอื่น แต่ว่าเวลาที่ได้ฟังธรรมพอสมควร พอโลภะเกิดก็เกิดคิดชื่อว่า นี่โลภะ ใช่ไหมคะ มีใครบังคับให้คิดอย่างนั้นหรือเปล่า แม้แต่ความคิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย

        เพราะฉะนั้น การที่จะละความเป็นตัวตน ต้องละแม้แต่คิด ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ห้ามไม่ให้คิด ไม่มีใครเลยที่จะห้ามอะไรได้ ห้ามไม่ให้เห็น ห้ามไม่ให้ได้ยิน ห้ามไม่ให้ได้กลิ่น ห้ามไม่ให้ลิ้มรส ห้ามไม่ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ห้ามไม่ให้คิด ใครห้ามได้ เมื่อมีปัจจัยก็เกิด

        เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องตรงตั้งแต่ขั้นได้ยินได้ฟังความเป็นอนัตตา ทุกอย่างปรากฏเมื่อเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย แม้แต่ความคิดก็จริง แต่เรื่องที่คิดไม่จริง เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ ถ้าจิตไม่คิด เรื่องราวขณะที่จิตคิดก็ไม่มี เพราะว่าขณะนั้น เรื่องราวเป็นอารมณ์ของจิตที่คิด จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ อย่างฝัน เราก็ฝันได้ทุกเรื่องเลย ฝันจริงหรือเปล่าคะ ฝันว่าได้เงินได้ทอง แล้วได้จริงๆ หรือเปล่าคะ ไม่ได้ ใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ความคิดจะคิดอะไรก็ได้ เป็นเรื่องที่จิตคิดเท่านั้น แต่ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดดับ แต่ว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริง แล้วคิดคำใดก็ดับ พอคิดอีกก็ดับอีก คิดอีกก็ดับอีกทุกคำ เพราะฉะนั้น การจะละความเป็นเราได้ ก็ต้องทั่วทั้ง ๖ ทาง

        ผู้ฟัง ท่านอาจารย์หมายถึงว่า คือเราจะต้องตรงต่อความจริงในขณะนั้นเท่านั้น

        ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ไม่ตรง จะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย แม้ในขั้นการฟัง

        ผู้ฟัง เรื่องความจริงที่อาจารย์ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ แข็งต้องใส่ชื่อไหม ไม่ต้องใส่ มันก็แข็ง อย่างตอนที่พระพุทธองค์ท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ตอนนั้นพระธรรม ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ยังไม่มี แต่พระพุทธเจ้าท่านรู้ลักษณะ ท่านรู้ว่า ความไม่รู้ทำให้เกิดการปรุงแต่ง สังขารทำให้เกิดต่อไปเป็นปฏิจจสมุปบาท ท่านไม่มีชื่อ ขณะนั้นไม่มี แต่ท่าน รู้ลักษณะว่า สิ่งนี้เกิดทำให้สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้เกิด ท่านรู้ลักษณะหมดเลย แต่ขณะนั้นไม่มีชื่อ ต้องระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะรู้จักต้นเต่ารั้งจริงๆ

        ท่านอาจารย์ พอได้ยินคำว่า เต่ารั้ง ไม่ทราบว่ามีใครเคยเห็นกี่คน หรือรู้จักต้นเต่ารั้งกี่คน คงจะน้อยมากเลย

        อ.นิภัทร ผมก็ไม่เคยเห็นครับอาจารย์

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่ได้ยินคำนี้ แล้ว อยากจะไปหาต้นเต่ารั้งหรือเปล่าคะ อยากจะไปรู้ว่าต้นเต่ารั้งเป็นอย่างไร หรือว่าพออ่านก็รู้ว่าที่ตัวคือต้นเต่ารั้ง เพราะว่าอกุศลทั้งหลายที่เกิดไม่ได้ทำลายต้นเต่ารั้ง ถ้าคิดว่าเป็นต้นเต่ารั้ง แต่อกุศลธรรมที่เกิด ทำลายตน บุคคลผู้มีอกุศลนั้นเอง เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นเพียงคำอุปมา แม้ไม่เห็นต้นเต่ารั้ง รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่จากคำอุปมาก็ทราบได้เลยว่า อุปมาให้รู้ว่า ทุกคนก็เหมือนกับต้นเต่ารั้ง ซึ่งผลเกิด แล้วก็ทำลายต้นนั้น ฉันใด เวลาที่อกุศลธรรมทั้งหลายเกิดกับบุคคลใดก็ย่อมทำลายบุคคลนั้นเอง ไม่ต้องเห็นต้นเต่ารั้งก็รู้ได้ ใช่ไหมคะ หรือต้องไปเจอต้นเต่ารั้ง เสียก่อนถึงจะรู้ได้

        ผู้ฟัง ก็ไม่ต้องไปหาต้นเต่ารั้งอย่างที่ท่านอาจารย์พูด พระพุทธเจ้าท่านอุปมาไว้

        อ.นิภัทร แต่คำอุปมาไม่เห็นต้นเต่ารั้ง แต่เวลาโลภะเกิด โทสะเกิด โมหะเกิด นี่ต้องรู้ ใช่ไหมครับอาจารย์

        ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา

        อ.นิภัทร ต้นเต่ารั้งไม่รู้ไม่เป็นไร แต่โลภะเกิดต้องรู้ โทสะเกิดต้องรู้ โมหะเกิดต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา


    หมายเลข 10426
    9 ม.ค. 2567