ปุถุปัญโญ


    อดิศักดิ์   จะถามท่านอาจารย์ว่า ปุถุปัญโญ บุคคลมีปัญญากว้างขวาง จะฟังธรรมะอย่างไรจึงจะเป็นบุคคลผู้มีปัญญากว้างขวาง

    ส.   ก่อนจะถึงปัญญากว้างขวาง ก็เข้าใจอะไรในขณะนี้ก่อน แล้วก็ถึงจะเข้าใจกว้างขวางขึ้น ไม่ใช่ว่าตอนแรกก็ไม่มีปัญญาเลย แล้วก็จะไปทำอย่างไร ถึงจะมีปัญญากว้างขวาง แต่ปัญญาที่จะกว้างขวางได้ ก็ต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย

    อดิศักดิ์   เช่นฟังเรื่องสติปัฏฐาน สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ อาจารย์จะมีทางแนะอย่างไรที่จะให้ผู้ฟังสามารถที่จะมาสนใจและเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ส.   ก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรม ไม่ใช่ว่าเรื่องเราฟัง แล้วเราจะรู้ได้ทันที อย่างขณะนี้ หรือว่าจะฟังมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็จะเป็นข้อความที่ว่า สภาพธรรมะที่มีจริง มีลักษณะ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย สามารถจะปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ ทางตา ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ส่วนถ้าไม่มีนามธรรม หรือสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏไม่ได้

    นี่คือฟังให้เข้าใจจนกระทั่งไม่ว่าเมื่อไรก็ไม่ลืมที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องการที่เราจะพยายามไปหาทางที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรมะ แต่ว่าสภาพธรรมะ ในขณะนี้ มี แล้วก็อบรมปัญญาให้เห็นถูก ให้เข้าใจถูกในสภาพธรรมะที่ปรากฏ เพราะว่าการที่เรามีกิเลสสะสมมานานแสนนาน แล้วก็อีกเดือนหนึ่งให้ไม่มีกิเลสเลย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ หรือว่าอีกปีหนึ่งให้ไม่มีกิเลสเลย หรืออีกชาติหนึ่งหรือชาตินี้ที่จะให้ไม่มีกิเลสเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาต่างกับความไม่รู้

    เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ รู้ว่าเมื่อไรที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ เมื่อนั้นก็คือปัญญาที่จะต้องอบรมไปจนกว่าจะรู้จริงๆ ประจักษ์แจ้ง จริงๆ โดยการศึกษา คงไม่มีใครไม่ทราบว่า ขณะนี้ทุกสิ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว นี่การศึกษา

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะเข้าใจสภาพธรรมะถูกต้องตามความเป็นจริง ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิด จึงได้ปรากฏ  แล้วดับเร็วมาก นี่คือสิ่งซึ่งจะต้องเห็นตามความเป็นจริงว่า ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรมก่อน จนกว่ามีการรู้มากขึ้น แล้วก็คลายความไม่รู้ คลายความสงสัยในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วก็เป็นการที่จะค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ แล้วก็เรื่องที่จะรู้ จริงๆ แล้วกว้างขวางมาก เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏเหมือนไม่มีอะไร แต่ความจริงแล้ว สิ่งใดที่เกิด สิ่งนั้นต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ถ้าไม่รู้ความเป็นปัจจัย  ก็ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนได้ เพราะว่าก็ยังคงเป็นเรา หรือว่าถึงแม้ว่ารู้ปัจจัยที่เกิด แต่ว่าไม่ประจักษ์การเกิดและดับ ก็ยังไม่สามารถที่จะถอนความสำคัญผิด ความเข้าใจผิดที่ยึดถือสภาพธรรมะ ว่า เป็นตัวตนได้

    เพราะฉะนั้น การอบรมเจริญปัญญาก็เป็นเรื่องของความรู้จริง ความเข้าใจจริง แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย  แม้ใจทุกขณะ ใจของทุกคน เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ว่าส่วนใหญ่ก็คือโลภะบ้าง โทสะบ้าง เรื่องราวต่างๆ ทั้งนั้นเลย ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้  แล้วไม่ว่าสภาพธรรมะนั้นจะเป็นอะไร ปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ ระลึกแล้วก็รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง ทั้งหมดจนกว่าจะไม่สงสัย

    สมพร   ผมขอทวนศัพท์นิดหนึ่ง ปุถุปัญโญ คำว่า ปุถุ แปลว่ากว้างขวาง แต่ว่าไม่ได้แปลอย่างนี้อย่างเดียว ถ้าประกอบกับศัพท์อื่น แปลว่า หนา ก็ได้ ปุถุปัญโญ แปลว่ามีปัญญากว้างขวาง หรือว่ามีปัญญาหนา แต่ถ้าเป็นเกี่ยวกับกิเลส ปุถุชน ผู้มีกิเลสหนา ปุถุ อันเดียวกัน

    เพราะฉะนั้น ธรรมะของพระพุทธเจ้า พยัญชนะมีอรรถลึกซึ้งมาก เราจะต้องศึกษา ศึกษาพระอภิธรรมจะทำให้เราแตกฉาน ศึกษาพระอภิธรรมเกี่ยวกับเรื่องจิต เจตสิก รูป ที่อาจารย์บรรยายอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เรามีปัญญากว้างขวาง แต่ตอนแรก เรายังไม่มีปัญญากว้างขวาง ครั้งแรกอาจจะมีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำก็ได้  เมื่อเจริญขึ้น เป็นผู้ฉลาดขึ้น ก็มีปัญญาเหมือนหน้าตัก ที่เรานั่งขัดตะมาด เขาเรียกว่าหน้าตัก เมื่อเราศึกษามากเข้าๆ ก็อาจจะมีปัญญากว้างขวาง เรียกว่าดีกว่าปัญญาหน้าตัก ซึ่งเรียกว่า ปุถุปัญโญ


    หมายเลข 10246
    18 ก.ย. 2558