พึงละอามิสในโลกเสีย


    สันติ   อาจารย์สมพร อามิส ในที่นี้หมายถึงอะไรครับ

    สมพร  อามิส หมายถึงเบญจกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้คือ อามิส สิ่งที่ล่อใจให้ติดอยู่ ถ้าเราละอามิสได้ ก็ถึงสันติ แต่ว่าละยาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นประจำอยู่แล้ว เป็นเครื่องผูก  เรียกว่า ปัญจคุณา เครื่องผูก คุณา แปลว่าเครื่องผูก แต่คำว่า คุณา มีศัพท์ เป็นเอนก บางแห่งใช้คำว่า คุณะ หมายถึง ความดี อย่างพุทธคุณ ความดีของพระพุทธเจ้า ธรรมคุณ ความดีของพระธรรม หรือสังฆคุณ ในที่นี้ท่านก็ว่าย่อ คำว่า คุณ มีความหมายหลายอย่าง ที่ว่า อามิส ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใน ๕ อย่าง สันติ คือ มุ่งถึงความสงบ คือ พระนิพพานเท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่สงบจริงๆ สงบชั่วคราว พระนิพพานนั้นมีความสงบสุขตลอดไปเลย แล้วมีความสุขที่ยั่งยืน

    สันติ   เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ ในคาถานี้เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เราละกามคุณเสีย จะได้ถึงพระนิพพาน

    ส.   คือถ้าพิจารณาพยัญชนะตั้งแต่ต้นที่ว่า กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป

    การฟังธรรมก็ต้องพิจารณาละเอียดว่า ขณะนี้เอง ไม่มีขณะใดซึ่งไม่ดับไป การเกิดดับของสภาพธรรมะเร็วมาก ตั้งแต่ก่อนที่เราจะอยู่ในห้องนี้ จนกระทั่งเรามานั่งที่นี้ ทุกขณะก็ล่วงไป แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไป จนกระทั่งถึงขณะจุติ หรือมรณะ ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป เดี๋ยวก็วัน เดี๋ยวก็คืน ก็ผ่านไปเรื่อยๆ ไม่หยุดเลย ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป คือตั้งแต่เด็กจนกระทั่งค่อยๆ โตขึ้น เจริญขึ้นจนถึงวัยชรา แล้วก็จะจากโลกนี้ไป

    บุคคลเมื่อเห็นภัยในมรณะ

    ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา เพียงฟังเท่านี้ก็รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ยั่งยืน หรือว่าจะเป็นของเราอย่างแท้จริง  ตั้งแต่เกิดจนตาย ความรู้สึกสุขทุกข์เมื่อวานนี้  หรือว่ารูป เสียงที่เราได้เมื่อวานนี้ ขณะนี้อยู่ที่ไหน สิ่งที่เห็นทางตา เสียงที่ได้ยินทางหู  กลิ่น รส สัมผัสทั้งหมดเมื่อวานนี้ก็หมดไปเมื่อวานนี้  และขณะนี้ก็เป็นอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ทุกขณะ ก็เหมือนกับขณิกมรณะ คือ ความตายทุกขณะ แต่สำหรับเทวดาซึ่งไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กล่าวว่า

    เมื่อเห็นภัยในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลายที่นำสุขมาให้

    ไม่ทราบว่าผู้ที่ไม่ใช่เทวดา คิดอย่างนี้หรือเปล่า  เพราะรู้ว่าถ้าขณะใดที่ทำกุศลก็ จะได้รับผลของกุศล คือ เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี  ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี  ทุกอย่างที่ดีในชีวิตเป็นผลของกุศล

    เพราะฉะนั้น คนที่กลัวที่จะไม่ได้ผลของกุศล  ก็คิดถึงว่า ไหนๆ เราจะสิ้นชีวิต แล้วก็ต้องตาย แล้วจากไป ก็ต้องเกิดใหม่ เพราะฉะนั้น เพื่อที่จะได้เกิดใหม่ดี ๆ แล้วก็เห็นดีๆ ได้ยินดีๆ เพราะฉะนั้น ก็ทำบุญเสีย นี่คือเทวดา  แต่ว่าถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่มีวันจบสิ้น เมื่อไรจะจบ เมื่อวานนี้ก็เห็น วันนี้ก็เห็น พรุ่งนี้ก็เห็น  ชาตินี้ก็เห็น ชาติหน้าก็เป็นอย่างนี้ ทุกวัน เมื่อไรจะจบ ไม่เคยมีใครคิดเลย มีแต่ความคิดที่หวังว่า ขณะต่อไปจะเป็นอย่างไร หวังเรื่อยไป ทั้งในชาตินี้ และในชาติต่อไปด้วย แต่ว่าถ้าผู้มีปัญญาจริงๆ เป็นอย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นแล้วก็เป็นอีก เห็นแล้วก็เห็นอีก เมื่อไรจะจบสิ้น  เหมือนกับว่า เราจะจบได้ไหม มีทางที่จะจบการที่จะต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องมีเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ผลัดเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวทุกข์บ้าง 

    ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกก็จะเห็นได้ว่า  คนที่เกิดเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ในชาตินี้ พอถึงอีกชาติหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือชาติก่อนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง จากเศรษฐีเป็นยาจก คนเข็ญใจได้ จากคนเข็ญใจหรือสัตว์เดรัจฉานก็เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะยั่งยืน เพราะฉะนั้น ทุกคนที่ไม่รู้ความจริงก็เพียงหวังในชีวิตว่า ขณะต่อไปขอให้ได้แต่สิ่งที่ดี  หรือเมื่อตายแล้วก็ขอให้เกิดดี ได้สิ่งที่ดีต่อไป แต่ผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมะตามความเป็นจริง ย่อมรู้ธรรมะที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป จริง อย่างที่เทวดาพูด ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ข้อความเหมือนกันที่เทวดากล่าว ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป ก็เป็นความจริงอีก บุคคลเมื่อเห็นภัยในมรณะ ก็ตรงกับที่เทวดากล่าว แต่ประโยคที่ต่างกันพระผู้มีพระภาคตรัสว่า  พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด  สันติ คือ ความสงบจริงๆ คือ ต้องไม่ได้เห็น ต้องไม่ได้ยิน ต้องไม่ได้กลิ่น ต้องไม่ได้ลิ้มรส ต้องไม่เกิด เพราะว่าถ้าเกิดก็ต้องเห็น  เห็นแล้วก็เป็นสุขเป็นทุกข์  ต้องได้ยิน ก็เป็นสุขเป็นทุกข์เรื่อยไป ไม่จบ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีวันจบเลย  แต่ที่จะมุ่งสันติ หรือว่าเพื่อความสงบจริงๆ  ไม่ใช่เพื่อที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เพื่อละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ละความติดข้องในสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทราบว่า ละยากมาก เพราะว่าเรื่องติดเป็นเรื่องที่มีง่ายมาก เพราะฉะนั้น เรื่องละก็เป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม คือละยากมาก

    เพราะฉะนั้น ข้อความในพระสูตรอื่น หรือแม้ในอรรถกถาอื่นก็แสดงไว้ว่า การที่จะละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ต้องละความเห็นผิดก่อน  หรือการที่จะละหมด กิเลสทั้งหมดถึงความเป็นพระอรหันต์ ก็ต้องเริ่มที่การละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมะว่า เป็นตัวตน

    สมพร  เดี๋ยวผมขอพูดนิดหนึ่ง  เทวดามุ่งถึงการทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วก็มาเสวยสมบัติใหม่ คือ  ได้เห็นรูปที่สวยงาม ฟังเสียงที่เพราะ ได้กลิ่นที่หอม เหล่านี้เป็นต้น  แต่พระองค์ให้ละ เทวดามุ่งถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา จึงให้ทำบุญ จริงอยู่เมื่อทำบุญแล้ว เมื่อเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือเกิดเป็นมนุษย์ก็ตาม ก็ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา แต่พระองค์เห็นว่า นั่นทำให้ติดอยู่ในวัฏฏะ ควรละเสีย ละอามิส คือ ละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นของกระทำได้ยาก

    บง   กราบท่านวิทยากรที่เคารพทุกท่าน เกี่ยวกับตรงที่บอกว่า พึงละอามิสในโลกนี้เสีย กราบท่านอาจารย์สุจินต์ คืออย่างไร สี เสียง กลิ่น รส ก็ต้องเกิด เพราะว่าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่จะเกิด เพราะฉะนั้น ในการที่จะละ  เราต้องเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมะเท่านั้นหรืออย่างไร

    ส.   หมายความว่าละความติดข้อง ละความไม่รู้สภาพธรรมะ เพราะถ้าไม่รู้สภาพธรรมะ ก็ยังติดข้องอยู่

    บง   คือต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงผลของกรรม แล้วเราก็ไม่ติด

    ส.   เราไม่ติด ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย เพราะว่าเราก็ติดในตัวเราแล้ว  แล้วก็ จะไม่ติดอะไรก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีปัญญาที่เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมะ

     


    หมายเลข 10189
    17 ก.ย. 2558