สัจจะสองอย่าง


        คงไม่ลืมนะคะ ผ่านมา ๒,๕๐๐ ปี คนฟังสมัยนั้นไม่สงสัย แต่ว่าคนฟังหรือคนอ่านพระธรรมเดี๋ยวนี้สงสัย เพราะไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมะ

        เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไร ก็สงสัย และเป็นเรื่องคิดมากมายด้วยว่า อะไรเป็นอะไร เป็นสมมติสัจจะ หรือเป็นปรมัตถสัจจะ

        เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเข้าใจคำว่า “ปรมัตถ” หมายความถึงสิ่งที่มีจริง แม้ว่าไม่ต้องเรียกชื่ออะไรเลยทั้งสิ้นก็มี ขณะใดก็ตามที่มีลักษณะนั้นปรากฏ โดยยังไม่มีชื่อใดๆ เลยทั้งสิ้น ขณะนั้นลักษณะนั้นมีจริง เป็นจริงอย่างนั้น อย่างเสียง ไม่ต้องเรียกว่าเสียง เสียงพัดลมมีไหม เสียงฟ้าร้องมีไหม เสียงน้ำไหลมีไหม ไม่ต้องเรียกว่า น้ำไหล ไม่ต้องเรียกว่า พัดลม เฉพาะเสียงมีแน่นอน

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อใดๆ ทั้งสิ้นเป็นปรมัตถสัจจะ อย่างแข็ง ไม่ต้องเรียก ภาษาไหนก็ไม่ต้องใช้ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ไม่ต้องใช้สักคำเดียว แต่แข็งก็ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัส

        เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงโดยไม่ต้องเรียกอะไรทั้งสิ้น เป็นปรมัตถ์แน่นอน แต่ว่าเนื่องจากธรรมะที่มีจริง สิ่งที่มีจริงหลากหลายมาก ต่างกัน วันหนึ่งๆ ไม่รู้เท่าไร ตั้งแต่เช้ามาจนถึงเดี๋ยวนี้ ไม่พูดสักคำก็ได้ ไม่ต้องสนทนากันเลยสักคำ แต่ก็มีสิ่งที่เดี๋ยวปรากฏทางตา เดี๋ยวปรากฏทางหู เดี๋ยวก็คิดนึกต่างๆ

        เพราะฉะนั้น ไม่ต้องอาศัยคำใดๆ เลย แต่สภาพธรรมะนั้นมีปัจจัยเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นก็เป็นอย่างนั้น

        เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจความหมายของปรมัตถสัจจะแล้ว ก็จะเข้าใจว่า นอกจากนี้เป็นสมมติสัจจะ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งสิ้น ถ้าเราไม่ใช้คำว่า “เสียง” ในภาษาไทย เราใช้คำว่า “สัททะ” ในภาษามคธี ภาษาบาลี ก็ได้ หรือจะใช้ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่นก็ได้ แต่เปลี่ยนลักษณะของเสียงไม่ได้ แต่จำเป็นต้องมีคำสมมติให้เข้าใจว่า หมายความถึงอะไร

        เพราะฉะนั้น ถ้ากล่าวถึงความจริง ๒ อย่าง คือ ปรมัตถสัจจะ สิ่งที่มีจริงๆ ยังไม่ต้องเรียกอะไรเลย ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ เป็นปรมัตถสัจจะ แต่เพราะสิ่งที่มีจริงนั้นหลากหลายมีมาก ในการที่จะให้รู้ว่า มุ่งหมายถึงสภาพธรรมะใด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เสียง บางคนก็บอกว่าไม่ต้องมีเสียงก็รู้ อย่างคนโกรธ เราไม่ต้องบอกว่า คำว่า “โกรธ” คืออะไร แต่กิริยาอาการท่าทางซึ่งผิดปกติจากธรรมดาก็ทำให้คนนั้นสามารถรู้ความจริงต่างๆ แต่ยังไม่ต้องเรียกอะไรเลย ไม่ต้อง “โทสะ” ไม่ต้อง “โกรธ” หรือ “เสียใจ” ไม่ต้องเรียก ลักษณะนั้นก็เป็นอย่างนั้น

        เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเข้าใจคำว่า “ปรมัตถสัจจะ” ก่อน และต่อจากนั้นก็เป็น “สมมติสัจจะ” ทั้งหมดมี ๒


    หมายเลข 10054
    30 ธ.ค. 2566