เหตุให้เกิดความเพียร

 
พิมพิชญา
วันที่  7 ต.ค. 2555
หมายเลข  21852
อ่าน  3,707

เหตุให้เกิดความเพียร (ทั้งทางกุศลและอกุศล) คืออย่างไร

ขออาจารย์ช่วยอธิบายด้วยค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 7 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธจ้าพระองค์นั้น

ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประำจำวัน ทุกขณะของชีวิตที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่พ้นไปจากธรรมเลย แม้แต่ความเพียรที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้นก็เป็นธรรมที่มีจริง เป็นไปได้ทั้งความเพียรที่เป็นกุศลและความเพียรในทางที่เป็นอกุศล โดยไม่ปะปนกัน เป็นคนละส่วนกัน จากการค่อยๆ ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมก็จะเข้าใจว่า ธรรมทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่มีแม้แต่อย่างเดียวที่จะเกิดขึ้นเองลอยๆ โดยปราศจากเหตุปัจจัย ล้วนเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งสิ้น

เมื่อกล่าวอย่างกว้างๆ แล้ว เพราะเคยสะสมเหตุที่ดีมา ก็เป็นเหตุให้กุศลเกิดขึ้นเป็นไป ความเพียรในขณะนั้น ก็เป็นความเพียรที่เป็นไปในทางฝ่ายที่เป็นกุศล นี้คือ เหตุภายใน ซึ่งเป็นการสะสมของแต่ละบุคคล

อีกเหตุประการหนึ่ง คือ เหตุภายนอก การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก พร้อมทั้งมีโอกาสได้คบกับกัลยาณมิตรซึ่งเป็นคนดี มีปัญญา ท่านเหล่านั้นก็จะคอยแนะนำในทางที่ดี ทำให้เห็นคุณของกุศลและเห็นโทษของอกุศล

ทั้งหมดนี้ ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้มีความเพียรในทางที่เป็นกุศลเกิดขึ้นเป็นไป สะสมเหตุที่ดี คือ กุศลธรรมในชีวิตประจำวัน

ในทางตรงกันข้าม เพราะสะสมมาไม่ดี อีกทั้งได้ฟังแต่อสัทธรรม คบกับบาปมิตร ที่คอยชักนำในทางเสื่อมเสีย ก็จะคล้อยไปในทางที่ไม่ดีได้โดยง่าย มีอกุศลเกิดขึ้นเป็นไป ถ้ามีกำลังมากขึ้นๆ ก็เป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรม ความเพียรที่เกิดขึ้นก็เป็นความเพียรในทางฝ่ายที่เป็นอกุศล เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีให้กับตนเอง

เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ครับ

ขอเชิญคลิกอ่านข้อความเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ

กัลยาณมิตตตาทิวรรคที่ ๘ ... ความมีมิตรดีเป็นเหตุให้กุศลธรรมเกิดขึ้น

เหตุที่ทำให้กุศลเจริญ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
paderm
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเพียร เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นวิริยเจตสิก ซึ่งความเพียร เกิดกับจิตเกือบทุกประเภท รวมทั้งจิตที่เป็นกุศลจิตและอกุศลจิตด้วยครับ ซึ่งในความละเอียดของการเกิดขึ้นของความเพียรที่เป็นไปในกุศลและอกุศลนั้น มีหลายปัจจัยมากมาย เพราะความละเอียดของธรรมครับ

สำหรับความเพียรในฝ่ายอกุศล คือขณะที่อกุศลจิตเกิด ก็มีความเพียรในขณะนั้น ซึ่งเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดความเพียรที่เป็นไปในอกุศล ก็คือกิเลสที่มีอยู่ของบุคคลนั้น เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเพียรที่เป็นไปในอกุศล

ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือเพราะเป็นผู้มีความเห็นผิด ย่อมทำให้เป็นผู้มีความเพียรผิด ครับ สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า เพราะเป็นผู้มีความเห็นผิดคือมิจฉาทิฏฐิ ย่อมเป็นผู้ที่คิดผิด มีวาจาที่ผิด มีการกระทำทางกายที่ผิด มีอาชีพที่ผิด และย่อมเพียรผิด คือ เพียรด้วยอกุศล เพราะมีความเห็นผิดเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะฉะนั้น อาศัยอกุศลที่มี ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดความเพียรที่ผิดครับ

ซึ่งความเห็นผิดและอกุศลจะเกิดขึ้นได้ ก็อาศัยเหตุ ๒ อย่างด้วย คือการได้ฟังในสิ่งที่ผิด และการพิจารณาโดยไม่แยบคาย เมื่อได้ฟังธรรมที่ผิด ย่อมทำให้มีความเข้าใจผิดได้ ก็เป็นเหตุให้เกิดอกุศลจิต มีความเพียรที่ผิดในขณะนั้น

เพราะฉะนั้น เหตุปัจจัยอีกประการหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความเพียรผิด คือการได้ฟังสิ่งที่ผิด ธรรมที่ไม่ถูกต้องครับ ซึ่งการจะได้ฟังก็อาศัยผู้ที่กล่าว ดังนั้น เพราะอาศัยการคบคนผู้ที่ความเห็นผิด คบบุคคลที่มีความเกียจคร้าน ย่อมเป็นผู้ที่ทำให้เกิดอกุศลจิต เกิดความเพียรไปในทางอกุศลธรรมมากขึ้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ส่วนความเพียรที่ถูก ที่เป็นวิริยเจตสิก ที่เกิดกับกุศลจิตนั้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยมากมาย หลายๆ ประการครับ

ในพระไตรปิฎก ก็แสดงรายละเอียดการเกิดขึ้นของวิริยสัมโพชฌงค์ ซึ่งเป็นความเพียรในฝ่ายกุศลธรรมขั้นสูงไว้ ครับ

วิริยสัมโพชฌงค์ คือ

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 336

๐๑. การพิจารณาเห็นภัยในอบาย

๐๒. การเห็นอานิสงส์

๐๓. การพิจารณาวิถีทางดำเนิน

๐๔. ความเคารพยำเกรงในบิณฑบาต

๐๕. การพิจารณาความเป็นใหญ่แห่งการรับทรัพย์มรดก

๐๖. การพิจารณาความมีพระศาสดาเป็นใหญ่

๐๗. การพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่

๐๘. การพิจารณาความมีสพหมจารีเป็นใหญ่

๐๙. การงดเว้นบุคคลเกียจคร้าน

๑๐. การคบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร

๑๑. ความน้อมจิตไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น.


การพิจารณาเห็นภัยในอบาย

พิจารณาเห็นภัยในอบายที่มีความน่ากลัว จึงเป็นผู้ปรารภความเพียร ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลจิต ที่มีความเพียรเกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ครับ

การพิจารณาเห็นอานิสงส์

พิจารณาเห็นผล ว่า ผู้ที่เกียจคร้าน หรือเพียรด้วยอกุศลย่อมไม่สามรถที่จะบรรลุธรรมได้ จึงเกิดความเพียรที่เจริญกุศล อบรมปัญญา ด้วยการฟังพระธรม ศึกษาพระธรรม ความเพียรที่เป็นไปในทางกุศล ปัญญาย่อมเกิดได้ ด้วยพิจารณาผลอานิสงส์ครับ

การพิจารณาวิถีทางดำเนิน

พิจารณาวิถีทางดำเนินอย่างนี้ว่า ควรดำเนินทางที่พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระมหาสาวกทุกพระองค์ดำเนินไปแล้ว ทางนั้น คนเกียจคร้านไม่อาจเดินไปได้ ย่อมอาศัยการพิจารณาถูก ย่อมทำให้ปรารภความเพียรในการฟัง ศึกษาพระธรรม เกิดปัญญาได้ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
paderm
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ความเคารพยำเกรงในบิณฑบาต

สำหรับเพศพระภิกษุ อาศับการเคารพในบิณฑบาต ที่จะเป็นผู้ประพฤติดีเพื่อประโยชน์กับผู้ถวาย ย่อมเจริญกุศล ศึกษาพระธรรมมากขึ้น ด้วยการพิจารณาถูกครับ

การพิจารณาความเป็นใหญ่แห่งการรับทรัพย์มรดก

มรดกที่ประเสริฐ คือการได้อริยทรัพย์ คุณความดีประการต่างๆ รวมทั้งการบรรลุธรรม ซึ่งจะมีไม่ได้เลยหากเป็นผู้เกียจคร้าน ไม่อบรมปัญญา เพราะฉะนั้น ความเพียรในฝ่ายดีเกิดได้ เพราะอาศัยการพิจารณาที่ถูกในการพิจารณาความเป็นใหญ่แห่งการรับมรดกครับ

การพิจารณาความมีพระศาสดาเป็นใหญ่

โดยการคิดถูก ที่พระพุทธเจ้า กว่าจะตรัสรู้ ก็ปรารภความเพียรในทางที่ถูก แม้เราก็ควรเป็นผู้ปรารภความเพียรในทางที่ถูกด้วยครับ ด้วยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญ

การพิจารณาความมีชาติเป็นใหญ่

สำหรับผู้ที่เกิดในตระกูลสูงและมีปัญญาพิจารณา ย่อมพิจารณาถึงชาติ มีตระกูลเป็นต้น ว่าควรปรารภความเพียรเพื่อดับกิเลส และแม้แต่ ชาติ คือการเกิดเป็นมนุษย์ หาได้ยาก และมีชีวิตที่ไม่แน่นอน ย่อมควรปรารภความเพียร ไม่ประมาทในการทำความดี อบรมปัญญา ย่อมเกิดความเพียรในทางกุศลได้ เมื่อพิจารณาถูกเป็นสำคัญ

การพิจารณาความมีสหพรหมจารีเป็นใหญ่

พิจารณาถึงความที่บุคคลต่างๆ เป็นผู้อบรมปัญญา ไม่ประมาทกัน ก็ควรจะเป็นผู้ไม่ประมาทในการอบรมปัญญาสำหรับตนเองเช่นกันครับ

การงดเว้นบุคคลเกียจคร้าน และ การคบหาบุคคลผู้ปรารภความเพียร

ผู้ที่มากไปด้วยอกุศล เป็นผู้เกียจคร้านในหนทางที่ถูก ก็ไม่ควรคบ เพราะ ย่อมจะทำให้ไหลไปตามอกุศลที่ตนเองก็สะสมมามากได้ง่าย ครับ เมื่องดเว้นและคบกับบุคคลที่ดี ปรารภความเพียรในทางที่ถูก ก็ทำให้เป็นผู้มีความเพียรในทางกุศลมากขึ้นครับ

ความน้อมจิตไปในวิริยสัมโพชฌงค์นั้น

คือ เกิดวิริยเจตสิกที่เกิดกับปัญญาขั้นสูง ในขณะนั้นนั่นเอง ซึ่งก็ปรารภความเพียรในทางกุศลแล้วในขณะนั้นครับ

จะเห็นนะครับว่า ธรรมแต่ละอย่างที่เกิดขึ้น อาศัยเหตุปัจจัยหลายๆ ประการ ที่หลากหลายนัย ซึ่งจากที่กล่าวมา จะเห็นนะครับว่า ขาดการพิจารณาที่ถูก คือจะต้องมีปัญญาเป็นสำคัญ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ มีปัญญา ย่อมทำให้คิดถูก ... จนเป็นความเพียรที่ถูก เกิดกุศลจิตที่มีวิริยเจตสิกในขณะนั้น ซึ่งก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นสำคัญครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 8 ต.ค. 2555

เหตุใกล้ให้เกิดความเพียรในทางกุศลได้แก่สังเวควัตถุ คือ วัตถุที่พึงสังเวช มี ๘ ประการ คือ

(๑) ชาติทุกข์ ความเกิด เป็นทุกข์

(๒) ชราทุกข์ ความแก่ เป็นทุกข์

(๓) พยาธิทุกข์ ความเจ็บ เป็นทุกข์

(๔) มรณทุกข์ ความตาย เป็นทุกข์

(๕) นิรยทุกข์ ตกนรก เป็นทุกข์

(๖) ดิรัจฉานทุกข์ เป็นสัตว์ดิรัจฉาน เป็นทุกข์

(๗) เปตติทุกข์ เป็นเปรต เป็นทุกข์

(๘) อสุรกายทุกข์ เป็นอสุรกาย เป็นทุกข์

เห็นโทษของอกุศลเป็นเหตุให้เจริญกุศล ถ้าไม่เห็นโทษอกุศลย่อมเจริญอกุศล

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 8 ต.ค. 2555

ถ้าเห็นประโยชน์ของการเจริญกุศลที่จะติดตามไปถึงภพหน้าและภพต่อๆ ไป ก็จะมีความเพียรที่จะทำความดี เช่น มีศรัทธา มีศีล และอบรมปัญญา เพราะเป็นสิ่งที่ขัดเกลากิเลส ขัดเกลาความไม่ดี จนกว่าจะดับกิเลสหมดสิ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
jaturong
วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
nong
วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พิมพิชญา
วันที่ 9 ต.ค. 2555

ขอบพระคุณมากค่ะ

ขออนุโมทนา

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ