ขอเรียนถามเรื่องวิปลาสในชีวิตประจำวันค่ะ

 
พุทธรักษา
วันที่  9 มี.ค. 2553
หมายเลข  15714
อ่าน  2,664

กำลังฟังเรื่อง "วิปลาสกถา" จากกระทู้นี้ ...

วิปลาส ๓ คือ ทิฏฐิ สัญญา จิตวิปลาส

แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจค่ะ จึงขอเรียนถามดังนี้ค่ะ กล่าวถึง "ปุถุชน" ที่ได้ศึกษาพระธรรมเข้าใจเรื่องรูปธรรม-นามธรรมเฉพาะขณะที่เห็นสี แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เท่านั้น

เช่น เห็นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล หรือเป็นสิ่งของ-วัตถุต่างๆ ขณะนั้น เป็น สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส และทิฏฐิวิปลาส ขณะนั้น เจตสิกทั้ง ๓ เกิดพร้อมกัน หรือ คนละขณะ

กล่าวได้หรือไม่ ว่า ขณะดังกล่าวเป็น ทิฏฐิวิปลาส (เห็นผิด) ก็เพราะว่ามี "ปัจจัย" คือ สัญญาวิปลาส (จำผิด) และ จิตตวิปลาส (คิดผิด)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 9 มี.ค. 2553

กล่าวโดยกว้างๆ คือ ขณะที่จิตเป็น กุศล เป็น วิปลาส โดยทั่วไป ขณะอกุศลเกิด จะมี สัญญาวิปลาส จิตตวิปลาส ทิฏฐิวิปลาส (เห็นผิด) มีในบางขณะ ไม่ทุกครั้ง ต้องมีขณะที่จิตเป็นโลภทิฏฐิคตสัมปยุตต์เท่านั้น และขณะนั้นมีวิปลาสทั้ง ๓

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 มี.ค. 2553

เพราะเหตุใดจึงไม่รวมถึง ขณะที่จิตเป็น "โทสทิฏฐิคตสัมปยุตต์" ด้วยละคะ.?

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
paderm
วันที่ 9 มี.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 2

"โทสทิฏฐิคตสัมปยุตต์" ตรงนี้คงไม่ใช่นะครับ โทสมูลจิตจะไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เกิดกับโทสมูลจิตและโมหมูลจิต

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 9 มี.ค. 2553

เป็นคำอธิบายที่เป็นไปเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 มี.ค. 2553
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 15714 ความคิดเห็นที่ 3 โดย paderm

เรียนความเห็นที่ 2

"โทสทิฏฐิคตสัมปยุตต์" ตรงนี้คงไม่ใช่นะครับ โทสมูลจิตจะไม่มีทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยเลย ทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมกับโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เกิดกับโทสมูลจิตและโมหมูลจิต

กรุณาอธิบายหรือยกตัวอย่างในชีวิตประจำวันได้ไหมคะ ไม่ได้ถามเพื่อโต้แย้งพระไตรปิฎก แต่ยังไม่ทราบถึงเหตุ-ผล ว่าท่านกล่าวโดยนัยใด มีเหตุ-ผลใด เท่าที่พอจะเข้าใจได้ ... เพราะเหตุใด ขณะที่ขุ่นใจในอารมณ์ จึงมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยไม่ได้.?

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 5 ครับ

ก็ขออธิบายในเหตุผลและชีวิตประจำวันเกี่ยวกับเรื่องทิฏฐิไม่เกิดกับโทสมูลจิตและไม่เกิดกับโมหมูลจิต แต่จะเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น แต่ก่อนอื่นขออนุญาตอธิบายเรื่องทิฏฐิเจตสิกให้เข้าใจตรงกันก่อนเมื่อเข้าใจทิฏฐิเจตสิกคือความเห็นผิดแล้วก็จะเข้าใจในประเด็นอื่นๆ ด้วยครับ

ทิฏฐิเจตสิก คือ ความเห็นผิด เป็นนามธรรม เกิดร่วมกับจิต ขณะใดที่มีความเห็น ต้องย้ำคำว่าความเห็นนะครับ คือมีความเห็นเกิดขึ้นที่ใจด้วยคิดว่า เที่ยง เป็นสุขและเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ขณะใดที่มีความเห็นเช่นนั้นเกิดขึ้นก็มีความเห็นผิดแล้ว ซึ่งอาจแสดงออกมาทางวาจา ก็ได้ แต่ก็ต้องคิดในใจก่อน ซึ่งขณะนั้นก็มีความเห็นผิดเกิดแล้ว

คำถามก็คือในชีวิตประจำวัน เมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคล เห็นเป็นสิ่งต่างๆ มีความเห็นผิดไหมครับ ...

- คำตอบคือไม่จำเป็นต้องมีความเห็นผิด ตรงนี้ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้นก็จะสำคัญว่าเมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคล แล้วจะต้องเป็นความเห็นผิด หรือจะต้องเป็นทิฏฐิวิปลาส ไม่จำเป็นครับ เหตุผลก็คือตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น

ขณะที่เห็นผิด คือขณะที่มีความเห็นขึ้นมาในใจว่า เที่ยง เป็นสุขและมีเรา เป็นสัตว์ บุคคล เพราะไม่เช่นนั้นเราคงเห็นผิดตลอดเวลา เพราะเห็นเป็นสิ่งต่างๆ พระพุทธเจ้าก็เห็นเป็นพระอานนท์ แต่ไม่ได้เห็นผิดเพราะไม่ได้มีความเห็นว่าเป็นสัตว์ บุคคลจริงๆ ครับ หากแต่ว่า ถ้าคุณเห็นแก้ว แล้วผมถามคุณว่าแก้วมีจริงไหม แล้วคุณก็ตอบว่าแก้วมีจริง ขณะที่คุณตอบอย่างนั้น ก็มีความเห็นขึ้นมาแล้วใช่ไหมครับ จึงตอบอย่างนั้น ต่างจากขณะที่เห็นแก้ว แต่ไม่ได้มีความเห็นอะไร ขณะที่ตอบว่าแก้วมีจริงหรือไม่ตอบก็ตาม แต่คิดในใจว่าแก้วมีจริง ขณะนั้นเป็นความเห็นผิด เป็นทิฏฐิวิปลาสด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

อธิบายทิฏฐิเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น ไม่เกิดกับโทสมูลจิต

เหตุผลในชีวิตประจำวันดังนี้ครับ ขณะที่คุณโกรธ ขณะนั้น คือเอาขณะที่โกรธ ขณะนั้นมีความเห็นว่าเที่ยง เป็นสุขหรือเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคลหรือไม่ครับ ... คำตอบคือ ไม่

เพราะขณะจิตที่คุณโกรธ คือไม่พอใจ ไม่ชอบ แต่ไม่ได้มีความเห็นอะไรขึ้นมา (ความเห็นผิด คือขณะที่มีความเห็นขึ้นมาว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล) นัยเดียวกัน ขณะที่โมหมูลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่รู้ ไม่รู้อะไร แต่ไม่ได้มีความเห็นอะไรขึ้นมา ขณะที่เหม่อลอย ขณะนั้นมีความเห็นอะไรหรือเปล่า ที่เห็นว่าเที่ยง เป็นสุข เป็นอัตตา เป็นเรา ... ไม่มีครับ

เหตุผลที่ทิฏฐิเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิตเท่านั้น อธิบายในชีวิตประจำวันดังนี้ครับ

การที่คุณมีความเห็นอะไรซักอย่าง เช่น ขณะที่ประชุมมีการเสนองานเกี่ยวกับเรื่องการจัดสวน ขณะที่คุณมีแนวคิดที่จะทำอย่างนั้น อย่างนี้ เพราะคุณพอใจ (โลภะ) ในความเห็นนั้น จึงมีความคิดอย่างนั้นและเสนอที่ประชุมใช่ไหมครับ ถ้าคุณไม่พอใจ ไม่ชอบในแนวคิดของตนเอง คุณจะเสนอหรือมีแนวคิดอย่างนั้นไหม โดยนัยดียวกันขณะที่เห็นผิด ก็ต้องมีความพอใจ ติดข้องในความเห็นนั้น คนที่เขาเห็นผิดกัน เขาก็พอใจในความเห็นนั้น แม้ในขณะที่ความเห็นผิดเกิดขึ้นครับ จะเกิดกับโทสมูลจิตไม่ได้ เพราะขณะนั้นไม่ชอบครับ

สงสัยเพิ่มเติมก็ร่วมสนทนากันครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 10 มี.ค. 2553

ขออนุญาตเรียนความเห็นที่ 7 ของ อ.ผเดิม เพิ่มเติมอีกนิดนะครับ

โทสมูลจิต ที่เกิดจากมานะของตัวเอง เช่น มีคนมาด่าเรา ไม่ชอบเรา ไม่ฟังเรา เกลียดเรา ไม่ประกอบไปด้วยความเห็นผิดที่ว่าเราเที่ยง เป็นบุคคล หรือครับ หรือ เป็นทิฏฐิเจตสิตที่เกิดกับจิตอื่นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 มี.ค. 2553

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ตกใจเมื่อเห็นงู (แค่นอนขดอยู่เฉยๆ ยังไม่ทันได้กัดเลย) ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ขณะนั้น มีโทสมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด (เห็นผิดว่ามีสัตว์ และ เกิดความกลัว) ไม่ทราบว่าเข้าใจผิดหรือไม่ อย่างไร กรุณาแนะนำด้วยคะ

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 15714 ความคิดเห็นที่ 8 โดย จักรกฤษณ์

ขออนุญาตเรียนความเห็นที่ 7 ของ อ.ผเดิม เพิ่มเติมอีกนิดนะครับ

โทสมูลจิต ที่เกิดจากมานะของตัวเอง เช่น มีคนมาด่าเรา ไม่ชอบเรา ไม่ฟังเรา เกลียดเรา ไม่ประกอบไปด้วยความเห็นผิดที่ว่า เราเที่ยง เป็นบุคคล หรือครับ หรือ เป็นทิฏฐิเจตสิตที่เกิดกับจิตอื่นครับ

- ขณะที่มานะ ขณะหนึ่ง ขณะที่โกรธขณะหนึ่ง คนละขณะจิตครับ ซึ่งขณะที่มานะก็เป็นเราด้วยมานะ ไม่ใช่การยึดถือว่ามีเราจริงๆ ด้วยทิฏฐิที่เป็นความเห็นครับ ขณะที่โกรธ ขณะนั้นไม่พอใจ ขณะที่ไม่พอใจไม่ได้มีความเห็นว่ามีเราจริงๆ คงต้องย้ำว่า มีความเห็นขึ้นมาครับ อย่างเช่น เมื่อเห็นเป็นดอกไม้ ขณะนั้นมีความเห็นผิดไหม ขณะนั้นไม่มีความเห็นอะไรว่า มีดอกไม้จริงๆ แต่เมื่อผู้อื่นถามว่าดอกไม้มีจริงไหมที่เห็น ก็ตอบว่ามีจริง เพระสำคัญว่ามีจริงๆ ก็เป็นความเห็นผิดในขณะนั้นครับ

โดยนัยเดียวกัน ขณะที่คิดว่าเขามาด่าเรา ว่าเรา ขณะนั้นมีความเห็นว่ามีเราจริงๆ หรือเปล่า หรือมีเขาจริงๆ หรือเปล่าในขณะนั้นครับ

ไม่มีครับ เพราะขณะนั้นคิดเพียงว่า เขามาว่าเรา ด่าเรา ครับ แต่ขณะที่มีความเห็นผิดต้องมีความเห็นว่ามีเราจริงๆ ขึ้นมาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

อ้างอิงจาก : หัวข้อ 15714 ความคิดเห็นที่ 9 โดย พุทธรักษา

ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่ตกใจเมื่อเห็นงู (แค่นอนขดอยู่เฉยๆ ยังไม่ทันได้กัดเลย) ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ขณะนั้น มีโทสมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด (เห็นผิดว่ามีสัตว์ และ เกิดความกลัว) ไม่ทราบว่าเข้าใจผิดหรือไม่ อย่างไร กรุณาแนะนำด้วยคะ

ขออนุโมทนาค่ะ

- อย่างนี้ครับ ตามธรรมชาติของวิถีจิต เมื่อปัญจทวารวิถีจิตเกิดขึ้น จิตเห็น เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา จิตอื่นๆ เกิดต่อและก็ถึงมโนทวารวิถีจิต มีปรมัตถธรรมหรือสีเป็นอารมณ์อยู่ ยังไม่เป็นสิ่งใด หลังจากนั้นวิถีจิตวาระอื่นๆ คือมโนทวารวิถีจิตเกิดนึกถึงรูปร่างสัณฐานว่าเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ นี่เป็นธรรมชาติของจิตที่เป็นอย่างนั้น ไม่ว่าใคร บุคคลใด แม้พระพุทธเจ้า เมื่อเห็นก็เห็นสี แล้วก็คิดนึกถึงรูปร่างสัณฐาน แล้วจึงมองเห็นเป็นงู ทุกคนก็ต้องมองเห็นเป็นงู เพราะต้องเป็นอย่างนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเห็นเป็นงูแล้วจะต้องมีความเห็นผิดในขณะนั้นครับ

ขณะที่โกรธไม่ชอบงู ขณะที่ไม่ชอบ ขณะนั้น มีความเห็นว่ามีงูจริงๆ หรือเปล่า หรือขณะนั้นกำลังไม่ชอบ ไม่พอใจในเรื่องราวที่เป็นสมมติบัญญัติเท่านั้น แต่ไม่ได้มีความเห็นอะไรขึ้นมา ดังนั้นการพิจารณาธรรมต้องทีละขณะจิตครับ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วคือขณะที่เห็นผิดคือ ขณะที่มีความเห็นขึ้นมาว่ามีสัตว์ บุคคล จริงๆ ย้ำว่ามีความเห็นขึ้นมา ไม่ใช่เห็นเป็นสัตว์ บุคคล แล้วจะต้องมีความเห็นผิดครับ ขณะโกรธไม่ได้มีความเห็นว่ามีเรา มีสัตว์ บุคคล เพียงแต่โกรธนั้นมีบัญญัติเป็นอารมณ์ (งู) เท่านั้นเองครับ เพียงไม่ชอบแต่ไม่ได้มีความเห็นครับ

ผมเรียนถามแล้วกันครับว่า ขณะที่ชอบดอกไม้ มีความเห็นผิดไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
JANYAPINPARD
วันที่ 10 มี.ค. 2553

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 มี.ค. 2553

เข้าใจว่า ถ้าตอบตามที่ได้ศึกษา ก็ย่อมทราบว่า ขณะที่เห็นดอกไม้แล้วชอบดอกไม้นั้น มีความเห็นผิดหรือไม่ก็ได้ สำหรับปุถุชนที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิดเป็นสมุจเฉท เป็น พระโสดาบัน และถ้าจะรู้จริงๆ ได้ ไม่สงสัยอีกเลย ก็ต้องมีปัญญาระดับพระโสดาบัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ในชีวิตประจำวันนั้น ขณะที่ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดและมีความเห็นว่าเที่ยง เกิดอย่างรวดเร็วมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 13 ครับ

โลภะหรือความติดข้องนั้น มี ๘ ดวง คือโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง และโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวง

เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

โลภมูลจิต ๘

เพราะฉะนั้น เมื่อติดข้องสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเห็นผิด แม้ว่าเห็นสิ่งนั้น เป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเห็นเป็นดอกไม้ก็ได้ครับ หากเราคิดว่าเมื่อเห็นเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เป็นสัตว์ บุคคล แล้วด้วยจิตที่เป็นอกุศล จะต้องมีความเห็นผิดยึดถือว่ามีเรา โลภมูลจิตก็คงไม่แบ่งเป็น ๘ ดวง คือไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ และประกอบด้วยความเห็นผิด ๔ ดวงครับ

ส่วนโทสมูลจิตเมื่อเกิดขึ้นจะไม่เกิดร่วมกับทิฏฐิเจตสิก แต่เกิดร่วมกับปฏิฆะ (โทสเจตสิก) เชิญคลิกอ่านที่นี่ ...

โทสมูลจิต

สำหรับคำถามที่ว่าเห็นดอกไม้แล้วชอบ มีความเห็นผิดไหม

คำตอบ คือ ไม่ครับ

ในขณะนั้น เพราะเป็นเพียงโลภมูลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด ดวงใดดวงหนึ่งใน ๔ ดวง ที่ประกอบด้วยความเห็นผิด เหตุผลเพราะ ขณะนั้นไม่ได้มีความเห็น คงต้องย้ำอีกครั้ง มีความเห็นขึ้นมาว่าเที่ยง เป็นสุข และเป็นเรา แต่ขณะนั้น ชอบเท่านั้น ไม่ได้มีความเห็นอะไร โดยมีบัญญํติ (ดอกไม้) เป็นอารมณ์ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

หากว่า เมื่อเป็นอกุศลโดยมี สัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์แล้ว เช่น หากเกิดโทสะในบุคคลอื่นแล้วจะต้องมีความเห็นผิด พระสกทาคามีก็ยังมีความเห็นผิดเพราะท่านยังมีโทสมูลจิตเกิดได้ครับ แต่ในความเป็นจริงแล้วท่านดับความเห็นผิดแล้วครับ ดังนั้นขณะโกรธบุคคลใดบุคคลหนึ่ง พระสกทาคามีจะไม่ได้ยึดถือว่าเป็น สัตว์ บุคคล เลยครับ แม้พระโสดาบันก็ยังโกรธแต่ท่านดับความเห็นผิดแล้วครับ ดังนั้นขณะที่ท่านโกรธบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านมีความเห็นผิดครับ

แม้ปุถุชนผู้ที่ยังไม่ได้ดับความเห็นผิด ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อเป็นอกุศลแล้ว จะต้องมีความเห็นผิดเสมอเมื่อมี สัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ครับ ต้องพิจารณาทีละขณะจิตไปครับ

โดยนัยวิปลาสก็เช่นกัน ถึงมีการแบ่งเป็นสัญญาวิปลาส จิตวิปลาสและทิฏฐิวิปลาส อกุศลจิตเกิด ต้องเป็นทั้งสัญญาวิปลาสและจิตวิปลาส แต่ไม่จำเป็นต้องมีทิฏฐิวิปลาสด้วย ต้องขณะที่มีความเห็นผิดถึงมีวิปลาสทั้ง ๓ ครับ แต่ถ้าโทสมูลจิตก็มีความเห็นผิด หรืออกุศลอื่นก็มีความเห็นผิดเพราะมี สัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์แล้ว พระโสดาบันก็ยังต้องมีความเห็นผิด เพราะท่านยังมีอกุศลอยู่ที่มี สัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ครับ ซึ่งความเป็นจริง ไม่ใช่อย่างนั้นครับ

ขออนุโมทนาที่เป็นผู้สนใจในความละเอียดครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
Sam
วันที่ 10 มี.ค. 2553

ขออนุญาตร่วมสนทนาครับ

ขณะที่ยึดถือว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ย่อมไม่เห็นความเป็นจริงว่า สิ่งที่กำลังยึดถือนั้น เป็นเพียงสภาพที่กำลังปรากฏ โดยเป็นสีที่เห็นได้ทางตา เป็นเสียงที่ได้ยินได้ทางหู เป็นกลิ่นที่รู้กลิ่นได้ทางจมูก เป็นรสที่ลิ้มได้ทางลิ้น หรือเป็นการสัมผัสที่รู้ได้ทางกาย เพียงเท่านั้นจริงๆ ครับ โดยปรากฏทีละอย่าง ทีละทาง ไม่ปะปนกันเลย แต่ที่มีการรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ด้วยสัญญาความจำที่สะสมมาผิด และยังมีการนึกคิดเรื่องราวอีกมากมาย ซึ่งปกปิดความเป็นจริงที่ควรรู้อย่างยิ่งครับ

ขอเชิญอ่านหัวข้อสนทนาที่เกี่ยวข้องกับข้อสงสัยของท่านครับ

การรู้ว่าเป็นสัตว์หรือสิ่งของด้วยอัตตสัญญา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
khampan.a
วันที่ 10 มี.ค. 2553

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงตามความเป็นจริง และเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่า ความเห็นผิด นี้ สำหรับผู้ที่มียังมีกิเลสอยู่นั้น มีโอกาสที่จะเกิดได้ เกิดไม่ยากเลย คือ ย่อมมีความพอใจที่จะเห็นผิดไปต่างๆ นานา ได้ การที่จะพ้นจากความเห็นผิดได้นั้น ต้องอาศัยการพิจารณาเหตุผลที่ถูกต้องตรงตามสภาพธรรม ที่สำคัญที่สุด คือ ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ จนกว่าจะละความเห็นผิดได้อย่างเด็ดขาดเมื่อบรรลุเป็นพระโสดาบัน ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

จริงๆ แล้วในชีวิตประจำวัน อกุศลเกิดมากว่ากุศลจิตมากครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าอกุศลจิตที่เป็นโลภมูลจิตที่ประกอบด้วยความเห็นผิด หรือความเห็นผิดจะเกิดได้ง่าย หรือจะเกิดได้บ่อยเพราะจะต้องมีความเห็นขึ้นมาว่าเที่ยง เป็นสุขและเป็นเรา ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเมื่อเห็นเป็นสัตว์ บุคคลหรือมีอกุศลจิตเกิดแล้วจะต้องเป็นความเห็นผิดนะครับ ซึ่งขณะใดที่ไม่มีความเห็นขึ้นมาว่าเที่ยง เป็นสุขหรือว่ามีเราจริงๆ ขณะนั้นก็ไม่ได้เห็นผิดเลย แม้จะเห็นเป็นสัตว์ บุคคลก็ตามครับ ในชีวิตประจำวัน แม้จะเต็มไปด้วยเรื่องราว เต็มไปด้วยสิ่งนั้น สิ่งนี้ แต่ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีความเห็นผิด

และที่สำคัญ เมื่อพิจารณาในชีวิตประจำวันแล้ว อกุศลจิตที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิดเกิดได้มากมาย เช่น ขณะทานอาหารแล้วชอบ ขณะสนุกสนานร่าเริง ขณะจะทานน้ำ ซึ่งโดยมากก็ไม่ได้มีความเห็นอะไรขึ้นมา แม้จะเป็นโลภะแต่ก็ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เพราะยินดีพอใจเท่านั้น ไม่ได้มีความเห็นอะไรขึ้นมา ธรรมเป็นเรื่องละเอียดที่ควรพิจารณาให้เข้าใจถูกครับ

ซึ่งวันนี้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสฟังคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ เวลา หกโมงเย็น ซึ่งเผอิญเป็นเรื่องความเห็นผิด เรื่องวิปลาส ซึ่งตรงกับหัวข้อที่สนทนากันพอดี ท่านอาจารย์อธิบายได้ดีมากครับ ท่านอาจารย์กล่าวว่าให้พิจารณาทีละขณะจิต อยากให้สหายธรรมที่ได้อ่านกระทู้นี้ได้ฟังคำบรรยายนี้ของไฟล์นี้ จะเข้าใจได้อย่างชัดเจนใน

เรื่องของความเห็นผิดและวิปลาสครับ เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

ความเห็นผิดและวิปลาส

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
พุทธรักษา
วันที่ 10 มี.ค. 2553

อัตตสัญญา คือ ความจำด้วยการยึดถือว่าเป็นตัวตนความจริงไม่น่าสงสัยในอัตตสัญญาเลย เพราะทุกคนมีอัตตสัญญา

เมื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรม เป็นพระโสดาบันบุคคลจึง "ดับความเห็นผิด" ที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน สัตว์ บุคคลได้

แต่ ก่อนที่สติจะเกิด และปัญญาศึกษา เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมจนกระทั่งรู้ชัด ประจักษ์แจ้งในสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตนได้นั้น ก็จะต้องมีอัตตสัญญา เมื่อสติไม่เกิด จึงไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่ปรากฏแต่ละทวารตามความเป็นจริงจึง "เห็นผิด" ยึดถือสภาพธรรมที่ปรากฏรวมกันเป็นอัตตา คือเป็นตัวตน เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดเมื่อไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงในขณะนี้ ก็มี อัตตสัญญา มีความทรงจำว่า เป็นเราที่เห็นและ จำ ว่าสิ่งที่เห็นนั้น เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ต่างๆ

ฯลฯ

ข้อความบางตอนจากลิ้งก์ที่แนะนำ และ ความเห็นที่ 16 ที่กล่าวว่า

" ... แต่ที่มี การรวมกันเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ด้วยสัญญาความจำที่สะสมมาผิด และยังมีการนึกคิดเรื่องราวอีกมากมาย ซึ่งปกปิดความเป็นจริง ที่ควรรู้อย่างยิ่งครับ" เป็นคำตอบที่ตรงกับสิ่งที่สงสัยอยู่ค่ะ.

อันที่จริงกระทู้นี้ควรจะถามว่า ความต่างโดยนัยของทิฏฐิ ระหว่างปุถุชน กับ พระโสดาบัน คืออย่างไร.?

ต้องขออภัยด้วยทุกท่านด้วยนะคะ ที่ไม่สามารถถ่ายทอดความสงสัยออกมาเป็นคำถามที่ตรงกับความสงสัยได้ ทำให้คำถามวกวน และ ถามหลงประเด็นอยู่บ่อยๆ

ขอบพระคุณและอนุโมทนาสหายธรรมทุกท่านที่กรุณาเสียสละเวลาไขข้อสงสัยให้ค่ะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 10 มี.ค. 2553

เหตุที่โทสะเกิดขึ้นแล้วคลายไวต่างจากโลภะที่คลายช้า ก็เพราะโทสะไม่ประกอบด้วยทิฏฐิ ใช่ไหมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
paderm
วันที่ 10 มี.ค. 2553

เรียนความเห็นที่ 20

โลภะเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง พอใจ เป็นสมุทัย เมื่อโลภะเกิดขึ้นติดข้อง ย่อมค่อยๆ คลายๆ ไม่ได้คลายได้เร็วเพราะเป็นสภาพธรรมที่ติดข้อง
[เล่มที่ 34]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓
- หน้าที่ 372

บทว่า ทนฺธวิราคี ความว่า ก็ราคะนี้เมื่อจะคลาย ก็จะค่อยๆ คลายไม่หลุดพ้นไปเร็ว จะติดตามอยู่นาน เหมือน (ผ้า) ที่ย้อมด้วยเขม่าเจือด้วยน้ำมัน ถึงจะไปสู่ภพอื่น ๒-๓ ภพ ก็ยังไม่จากไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่าทันธวิราคี (คลายออกช้าๆ)

ส่วนโทสะเมื่อเกิดขึ้นมีโทษมากเพราะสามารถทำกรรมคือฆ่าบิดา มารดาก็ได้ แต่เมื่อทำแล้วโทสะไม่ใช่สภาพที่ติดข้อง ย่อมคลายได้เร็ว ด้วยความเห็นโทษและมีการขอขมา เป็นต้น ก็คลายได้เร็วในขณะนั้น

[เล่มที่ 34] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 374

บทว่า ขิปฺปวิราคี แปลว่า คลายเร็ว

อธิบายว่า ผู้ที่ถูกโทสะประทุษร้ายแล้ว ประพฤติผิดในมารดาบิดาบ้าง ในเจดีย์บ้าง ในโพธิพฤกษ์บ้าง ในบรรพชิตทั้งหลายบ้าง เขาขอลุแก่โทษว่า ท่านทั้งหลายจงอดโทษแก่ข้าพเจ้า. พร้อมด้วยการขอขมาของเขา กรรมนั้นจะกลับกลายเป็นปกติไปทันที. ด้วยธรรมชาติของสภาพธรรมแต่ละประเภทครับ (โลภะ โทสะ) ที่คลายช้า คลายเร็ว ไม่ได้เกี่ยวกับทิฏฐิเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่เกิดร่วมด้วยครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
เมตตา
วันที่ 10 มี.ค. 2553

ขออนุญาตร่วมสนทนาด้วยค่ะ

ความคิดเห็นที่ 19 โดย พุทธรักษา

ความต่างโดยนัยของทิฏฐิ ระหว่างปุถุชน กับ พระโสดาบัน คืออย่างไร.?


พระโสดาบันบุคคลไม่มีความเห็นผิดในสภาพธรรมว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน เพราะ โสดาปัตติมรรคประหานทิฏฐิ (ความเห็นผิดทั้งหมด) เป็นสมุจเฉทค่ะ ส่วนปุถุชนนั้นยังมีความเห็นผิดอยู่เพราะยังไม่ได้ดับความเห็นผิด แต่ในชีวิตประจำวันนั้น ความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยเหมือนโลภที่ไม่ประกอบด้วยความเห็นผิด เช่น ความพอใจความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเกิดขึ้นเกือบตลอดทั้งวันค่ะ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 11 มี.ค. 2553

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.เผดิม ความเห็นที่ 21

กับขออนุโมทนากับท่านอาจารย์วิทยากรและผู้ร่วมสนทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
wannee.s
วันที่ 11 มี.ค. 2553

ตราบใดที่ยังเป็นปุถุชน ก็ยังมีวิปลาสเป็นธรรมดา ต้องอบรมเจริญสติปัฏฐาน เพื่อละกิเลส และพระโสดาบันละวิปลาสได้เพียงบางส่วน จะละวิปลาสได้ทั้งหมดต้องบรรลุเป็นพระอรหันต์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 มี.ค. 2553

ขอบพระคุณค่ะ พี่เมตตา แล้วถ้าศึกษาไปๆ รู้แต่เรื่องราว แล้วก็ลืมกลับไปทบทวน แล้วก็ลืม จดแล้ว ก็ไม่จำ ยิ่งศึกษาลงรายละเอียด ก็ยิ่ง งง หรือ สับสน ยิ่งเป็นเรื่องตัวเลข จำนวน หรือ นัย ที่จำแนกออกต่างๆ บางประโยคก็เข้าใจ บางประโยคก็ไม่เข้าใจ (ยิ่งพยายามจะไปเข้าใจให้ได้ เกรงจะยิ่งวิปลาสกว่าเดิมค่ะ) แต่ท่านผู้รู้สอนว่า "การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด" กรุณาแนะนำด้วยค่ะ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
paderm
วันที่ 11 มี.ค. 2553

ขอร่วมสนทนาด้วยกับความคิดเห็นที่ 25

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด คำนี้ถูกต้องครับ แต่เราเข้าใจคำนี้อย่างไร

ในการศึกษาพระอภิธรรม จุดประสงค์ของการศึกษาธรรม ก็เพื่อขัดเกลากิเลส ละความไม่รู้ คือ ละความไม่รู้ว่าเป็นเพียงสภาพธรรม ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ดังนั้น การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด จึงไม่ใช่ละเอียดเพื่อจะพยายามจำชื่อ จำนัยต่างๆ ให้ได้

แต่การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด คือละเอียดเพื่อเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ศึกษาเรื่องปัจจัยก็เห็นถึงความเป็นอนัตตาไม่ใช่เรา มีปัจจัยทำหน้าที่ไม่ใช่เราทำ ศึกษาเรื่อง จิต เจตสิกก็เพื่อความเข้าใจสภาพธรรม แต่เมื่อเพลินกับชื่อ ก็สำคัญว่าการเป็นผู้ละเอียดก็คือรู้ให้ได้ รู้ให้หลายนัย พยายามท่องจำ ซึ่งเราต้องรู้กำลังของปัญญา และต้องรู้ว่าจุดประสงค์ของการศึกษาพระธรรม คือเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ การศึกษาธรรมจึงต้องเป็นผู้ละเอียด อันเกิดจากปัญญาว่าศึกษาเพื่อเข้าใจความละเอียดของสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ไม่ใช่ในเรื่องราวต่างๆ จนลืมว่าขณะนี้เป็นสิ่งที่ควรศึกษาครับ พระอภิธรรมคือขณะนี้เองครับ ไม่ควรลืม

ขอยกคำเตือนของท่านอาจารย์อีกครั้งครับ

การศึกษาธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด ครับ ด้วยปัญญาความเห็นถูกในสภาพธรรมในขณะนี้

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
paderm
วันที่ 11 มี.ค. 2553

เรื่อง อย่าเพิ่งไปไหน

บรรยายโดย อาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

คุณอรวรรณ แต่ในการศึกษาเพื่อให้ทราบความละเอียดของวิถีจิต ก็จะเป็นความอะไรที่ผู้ฟัง ผู้ศึกษาก็เหมือนกับว่า เป็นทั้งศัพท์บาลี ทั้งยุ่งยาก ทั้งอะไร ก็แยกแยะไม่ออกว่า แล้วความละเอียดขนาดไหน ที่จะสามารถทำให้เข้าใจลักษณะสภาพธรรมที่ปรากฏ

ท่านอ.สุจินต์ เอ่อ คุณอรวรรณมีเพื่อนหลายคน เพื่อนดีของคุณอรวรรณคือใคร ไม่ต้องเป็นชื่อ (บอกชื่อ) คนที่สามารถทำให้คุณอรวรรณมีความเห็นที่ถูกต้อง ไม่ใช่เห็นผิดเข้าใจผิดใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นขณะนี้มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าเป็นเพื่อนที่ดีเนี่ย จะพาให้คุณอรวรรณ ห่างไกลจากสิ่งที่ปรากฏ ไปสนใจในเรื่องที่คุณอรวรรณไม่สามารถจะรู้ได้ หรือ ให้รู้ว่าแม้สิ่งนี้มี แต่ก็ยากแสนยากเพราะว่าไม่เคยคิดจะเข้าใจสิ่งที่ปรากฏจริงๆ นะคะ คิดเรื่องราวทั้งหมด เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง เป็นเรื่องราวนะคะ มากมาย แม้ขณะนี้ค่ะก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ก็เห็นเป็นคนนั้น คนนี้ เป็นอย่างนี้ไปทุกชาติ กับคนที่รู้ว่าทำไมไม่รู้สิ่งที่มีจริงที่กำลังปรากฏซึ่งเป็นประโยชน์สูงสุดที่จะรู้ว่า อะไรเป็นปรมัตถ์ อะไรเป็นบัญญัติ มิฉะนั้นก็พูดแต่ชื่อ ปรมัตถ์กับบัญญัติ

บัญญัติเป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ปรมัตถ์เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วเมื่อไหร่จะรู้จักตัวปรมัตถ์ละคะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ใครจะพาคุณอรวรรณไปไหน ไกลๆ ตามไปหรือว่า ให้มาสู่การที่จะเข้าใจเห็นถูก เห็นถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ และกำลังจะมีต่อไปอีกนานแสนนาน ถ้าไม่รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้จริงๆ ประโยชน์อะไรกับการที่มีเห็น แล้วกี่ภพกี่ชาติก็ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม เพราะฉะนั้นไม่อยากจะพาไปไหนนะคะ แต่ว่าให้ฟังจนกระทั่งสามารถที่จะไม่สนใจสิ่งอื่นและก็กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าจริงๆ ไม่ห่างเหินจากสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้า

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
พุทธรักษา
วันที่ 11 มี.ค. 2553

ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณเผดิมค่ะ

ความจำที่ปราศจากความเข้าใจ ไม่ใช่หนทางละความไม่รู้ค่ะ แต่ไม่ทราบว่า จำเป็นต้องเข้าใจทุกส่วน ทุกรายละเอียด ในพระไตรปิฎกหรือไม่จึงจะชื่อว่า "รอบรู้ในปริยัติ" อันเป็น "สังขารขันธ์" ปรุงแต่งให้เกิด "ปฏิบัติ" และ "ปฏิเวธ"

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
orawan.c
วันที่ 12 มี.ค. 2553

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

เป็นหัวข้อที่ทำให้เข้าใจในการศึกษาธัมมะมากขึ้นมากๆ

ขอขอบคุณ คุณเผดิมและคุณพุทธรักษาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
เมตตา
วันที่ 12 มี.ค. 2553

ขอสนทนากับน้องพุทธรักษาอีกนิดนะคะ

ขออนุโมทนาคุณเผคิมที่ยกสิ่งที่สำคัญมาสนทนาให้ได้เข้าใจมากยิ่งขึ้นค่ะ

(ยิ่งพยายามจะไปเข้าใจให้ได้ เกรงจะยิ่งวิปลาสกว่าเดิมค่ะ) แต่ท่านผู้รู้สอนว่า

"การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด"

ท่านอาจารย์เคยกล่าวไว้ว่า การศึกษาพระธรรม การฟังพระธรรมนั้นสบายๆ เพียงตั้งใจฟังให้เข้าใจในสิ่งที่กำลังฟัง พิจารณาตามสิ่งที่กำลังฟังว่าเป็นจริงอย่างไร โดยไม่คิดเอง การพิจารณาแล้วเข้าใจเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งก็คือสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้เข้าใจ ไม่ใช่เราที่เข้าใจแต่เป็นปัญญาค่ะ เช่นเดียวกับความสับสน ความกังวลก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และไม่ต้องไปพยายามไปเข้าใจเพราะนั่นก็เป็นตัวตนที่จะไปเข้าใจ

เพราะฉะนั้น สบายๆ นะคะ ตั้งใจฟังในสิ่งที่กำลังฟังให้เข้าใจ ค่อยๆ ละความไม่รู้ พี่ขอให้กำลังใจน้องพุทธรักษานะคะว่าพระธรรมนั้นลึกซึ้ง ละเอียด ไม่ใช่จะรู้ได้โดยง่ายๆ และเร็วๆ ท่านอาจารย์กล่าวเสมอว่าต้องเป็นการอบรมที่ยาวนานมาก ... แต่เมื่อเราอบรมหนทางที่ถูกต้อง ตสักวันหนึ่งย่อมรู้ได้ ประจักษ์ได้ในความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของน้องพุทธรักษาค่ะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 31  
 
paderm
วันที่ 12 มี.ค. 2553
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 15714 ความคิดเห็นที่ 28 โดย พุทธรักษา ขอขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลวิริยะของคุณเผดิมค่ะ ความจำที่ปราศจากความเข้าใจ ไม่ใช่หนทางละความไม่รู้ค่ะ แต่ไม่ทราบว่า จำเป็นต้องเข้าใจทุกส่วน ทุกรายละเอียด ในพระไตรปิฎกหรือไม่จึงจะชื่อว่า "รอบรู้ในปริยัติ" อันเป็น "สังขารขันธ์" ปรุงแต่งให้เกิด "ปฏิบัติ" และ "ปฏิเวธ" ขออนุโมทนาค่ะ พระไตรปิฎกเป็นปัญญาของพระพุทธองค์ที่ทรงแสดงพระธรรม ดังนั้นเราไม่สามารถรู้ทุกส่วน เข้าใจได้หมดในพระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง และที่สำคัญเราต้องรู้จุดประสงค์ของการศึกษาธรรมว่าเพื่ออะไร เพื่อเข้าใจความจริง สำคัญที่ตรงนี้ครับ ความจำที่มั่นคงอันเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดคือการจำในเรื่องของสภาพธรรม มั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม แต่ไม่ใช่ไปพยายามจำว่าจิตมีเท่าไหร่ มีปัจจัยอะไรบ้าง พยายามจำให้ได้ นั่นไม่ใช่สัญญาหรือความจำที่มั่นคงให้เกิดสติปัฏฐานครับ มั่นคงว่าขณะนี้เป็นธรรม รู้ก็รู้ขณะนี้ อันเกิดจากความเข้าใจ สัญญานั้นจึงเกิดพร้อมปัญญาด้วยขั้นการฟังจนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิด ครับ

ผมฝากไฟล์ธรรมนี้นะครับ ฟังดีมากครับ

จะต้องศึกษาปริยัติธรรมละเอียดสักแค่ไหน

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
พุทธรักษา
วันที่ 12 มี.ค. 2553

เรียน อ. เผดิม

ฟังทั้ง ๒ ไฟล์ ... หลายรอบเลยค่ะ.


ขอบคุณ และขออนุโมทนา

ด้วยความนับถือ.

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
Komsan
วันที่ 12 มี.ค. 2553

ขอขอบคุณ และขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
khan
วันที่ 3 เม.ย. 2553

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
napachant
วันที่ 12 เม.ย. 2553

การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด

ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

สำหรับบทสนทนาของทุกๆ ท่านค่ะ

เข้าใจเลยค่ะกับคำที่ท่านอาจารย์เคยสอนไว้ว่าการศึกษาธรรมเป็นเรื่องละเอียด อย่าข้าม อย่าเผิน ขณะที่ฟังแล้วเข้าใจ ถึงจะเป็นเข้าใจเรื่องราวของธรรมก็ตาม ก็จะเป็นการสะสมความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 36  
 
เซจาน้อย
วันที่ 6 ก.พ. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของอ.เผดิมด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 37  
 
chatchai.k
วันที่ 18 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ