แพทย์หยุดเครื่องช่วยหายใจ เป็นปาณาติบาตหรือไม่

 
Suppachai
วันที่  9 พ.ย. 2552
หมายเลข  14195
อ่าน  5,787

แพทย์ตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยหายใจคนป่วยเป็นปาณาติบาตหรือไม่ครับ

เรียนสอบถามท่านผู้รู้ครับ ว่าในโรงพยาบาลที่คนป่วยอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจเพียงอย่างเดียวโดยทางการแพทย์ไม่มีทางเยียวยาใดๆ ได้อีกแล้ว ถ้าแพทย์ตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยหายใจผู้ป่วยต้องตายแน่นอน การตัดสินใจเช่นนี้แพทย์ผู้นั้นจะเข้าข่ายปาณาติบาตหรือไม่ครับ

ขอกราบอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 9 พ.ย. 2552

จะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ อยู่ที่ว่า ครบองค์กรรมบถหรือไม่ครบ

ขอเชิญคลิกอ่าน

องค์ของปาณาติบาตมี ๕ อย่าง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
วิริยะ
วันที่ 10 พ.ย. 2552

เรียนท่านผู้รู้

อ่านแล้วก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บาปหรือไม่บาป ดิฉันเคยคิดถึงเรื่องนี้เช่นกัน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพแพทย์ เพราะคิดเองว่า การมีเครื่องช่วยหายใจนั้น จะทำให้ทรมานกว่าหรือไม่ บาปหรือไม่ อยู่ที่เจตนาใช่มั้ยคะ ถ้าเจตนาที่จะให้คนไข้ไม่ทรมาน จะเรียกว่า ทำปาณาติบาตหรือไม่ เรื่องนี้อ่อนไหว แต่ก็อยากทราบความเห็นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Suppachai
วันที่ 10 พ.ย. 2552

ขอกราบขอบคุณ และอนุโมทนาด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prachern.s
วันที่ 10 พ.ย. 2552

เรียนความเห็นที่ 2

ถ้ามีเจตนาที่จะให้คนไข้จากความเป็นบุคคลนั้นไป แล้วทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อคนไข้ตาย การกระทำนั้นเป็นอกุศลกรรม เป็นปาณาติบาต แม้จะใช้คำว่าสงสาร ต้องการช่วยให้เขาพ้นสภาพการทรมาน แต่ความจริงคือต้องการให้เขาตาย ...

ขอเชิญคลิกอ่าน

เกี่ยวกับเรื่องกายรุณยฆาต (Euthanacia)

การทำการุณยฆาต

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
คุณ
วันที่ 10 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
wannee.s
วันที่ 10 พ.ย. 2552

ส่วนมากทำไปเพราะความไม่รู้ ขึ้นอยู่กับจิตในขณะนั้น และกุศลเกิดสลับกับอกุศลก็ได้ เพราะจิตเกิดดับรวดเร็วมากค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วิริยะ
วันที่ 11 พ.ย. 2552

อ่านดูแล้วก็รู้สึกว่า ไม่ควรถอดเครื่องช่วยหายใจ เรื่องนี้อ่อนไหวจริงๆ ค่ะ ถ้าเป็นพุทธแบบทิเบต เคยอ่านหนังสือ เค้าไม่ให้ใส่พวกเครื่องช่วยพวกนี้เลย และให้ไปตายที่บ้าน เพราะเชื่อว่า คนไข้จะตายอย่างสงบกว่าที่โรงพยาบาล เพราะได้นอนตายอยู่ในที่ๆ คุ้นเคย ทำนองนั้น

ขอบคุณความเห็นที่ 4 และความเห็นที่ 6 ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 12 พ.ย. 2552

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

ตอบ คุณ Suppachai เจ้าของกระทู้ วันที่ 9 พ.ย. 2552 10:22

การที่แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจผู้ป่วย และผู้ป่วยตาย เป็น ปาณาติปาต ครับ โดยพิจารณาองค์ของ ปาณาติปาต ในการเทียบเคียง ดังนี้:-

๑. ปาโณ ผู้ป่วยมีชีวิต เพราะยังมีอัสสาสะ-ปัสสาสะ กล่าวคือ ลมหายใจเข้า-ออกอยู่

๒. ปาณสัญิตา รู้ว่าผู้ป่วยยังมีชีวิต ตามหลักวิชาชีพแพทย์

๓. วธกจิตตัง มีจิตคิดจะปลงชีวิตผู้ป่วยให้ล่วงไป ด้วยการถอดเครื่องช่วยหายใจ

๔. อุปักกโม มีความพยายามถอดเครื่องช่วยหายใจ

๕. เตนมรณัง ผู้ป่วยตายลงด้วยความพยายามของแพทย์นั้น

เมื่อครบองค์ ๕ ประการดังกล่าว ปาณาติปาต หรือ การฆ่า ย่อมเป็นอันสำเร็จ ถึงแม้ว่าแพทย์จะมีความสงสารผู้ป่วย แต่ในขณะที่แพทย์มีจิตคิดทำลายชีวิตผู้ป่วยนั้น เป็นอกุศลจิต ซึ่งต่างขณะกับจิตที่คิดสงสาร หากผู้ป่วยตายลงเพราะจิตที่คิดฆ่านั้น ก็เป็นอกุศลกรรมบถ ที่สามารถนำปฏิสนธิในอบายภูมิได้

อนึ่ง มีกรณีที่บุตรเป็นผู้สั่งแพทย์ให้ถอดเครื่องช่วยหายใจของมารดาหรือบิดาตนเอง เมื่อทราบว่าท่านไม่สามารถได้รับการเยียวยารักษาได้ จึงปรารถนาให้พ้นความทรมาน แต่การกระทำอย่างนั้นเป็น อนันตริยกรรม เพราะเป็นการปลงชีวิตมารดาบิดาของตน

เนื่องจาก ปาณาติปาต นั้นสำเร็จลงได้ ทั้งลงมือฆ่าด้วยตนเอง และใช้ให้ผู้อื่นฆ่า

- หากเป็นการฆ่าเองด้วยการกระทำของตน ความพยายามฆ่านั้นย่อมอาศัย กายทวาร

- หากเป็นการใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ความพยายามฆ่านั้นย่อมอาศัย วจีทวาร

ด้วยเหตุนี้ บาปจึงมี ทั้งบุตรผู้สั่งแพทย์ และแพทย์ผู้ทำตามคำสั่ง โดยที่แพทย์นั้นบาปฐานฆ่าคนทั่วไป ส่วนบุตรผู้สั่งแพทย์นั้น ย่อมต้อง อนันตริยกรรม

ถามว่า หากผู้ป่วยไม่สามารถได้รับการเยียวยารักษาได้อีก ควรทำอย่างไร?

ตอบว่า ให้ผู้ป่วยสิ้นชีวิตเองตามกรรมที่ผู้ป่วยได้สะสมมา เพราะแพทย์ทำดีที่สุดแล้วและควรเจริญ อุเบกขาพรหมวิหาร พิจารณาความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน

การฆ่าผู้อื่นเพราะความสงสารนั้น เป็นการกระทำบาปเพราะความเขลาเป็นเหตุ ใครจะทราบว่าหากตนฆ่าผู้ป่วยด้วยความสงสาร ผู้ป่วยอาจไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ ผู้ที่เข้าใจธรรม มีความมั่นคงในเรื่องกรรม และผลของกรรม ย่อมไม่กระทำเช่นนั้น จึงควรศึกษาพระธรรม เพื่อพิจารณาความจริงด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องแยบคาย ครับ

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
วิริยะ
วันที่ 13 พ.ย. 2552

เรียนถามความคิดเห็นที่ 8

ตามที่ท่านได้กล่าวว่า หากฆ่าผู้ป่วยด้วยความสงสาร ผู้ป่วยอาจไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ ข้อความดังกล่าวหมายความว่าอย่างไรคะ ถ้าผู้ป่วยสิ้นชีวิตเองไปตามกรรม ผู้ป่วยก็อาจไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ หรือ ไปเกิดในสุคติภูมิ ก็ได้เช่นกัน ดิฉันเข้าใจถูกหรือผิดอย่างไร ขอความกรุณาอธิบายให้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Suppachai
วันที่ 13 พ.ย. 2552

กราบขอบพระคุณท่านผู้รู้ทุกๆ ท่าน ที่ได้ชี้แจงให้เกิดความกระจ่างขึ้น

ขออนุโมทนาบุญครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
ธุลีพุทธบาท
วันที่ 14 พ.ย. 2552
อ้างอิงจาก : หัวข้อ 14195 ความคิดเห็นที่ 11 โดย วิริยะ

เรียนถามความคิดเห็นที่ 8

ตามที่ท่านได้กล่าวว่า หากฆ่าผู้ป่วยด้วยความสงสาร ผู้ป่วยอาจไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ ข้อความดังกล่าวหมายความว่าอย่างไรคะ ถ้าผู้ป่วยสิ้นชีวิตเองไปตามกรรม ผู้ป่วยก็อาจไปเกิดในอบายภูมิก็ได้ หรือ ไปเกิดในสุคติภูมิ ก็ได้เช่นกัน ดิฉันเข้าใจถูกหรือผิดอย่างไร ขอความกรุณาอธิบายให้ด้วยค่ะ

ขอบพระคุณค่ะ

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น

ตอบ คุณ วิริยะ ในความคิดเห็นที่ 11 ครับ.

คุณ วิริยะเข้าใจถูกต้องแล้ว ครับ.

ในที่นี้ผมเพียงแสดงให้เห็นว่า การที่แพทย์คิดสงสารผู้ป่วย ต้องการให้พ้นความทรมาน ด้วยการถอดเครื่องช่วยหายใจให้ตาย เป็นการกระทำที่ไม่แยบคาย ครับ

แพทย์ทราบได้อย่างไร ว่าผู้ป่วยจะพ้นความทรมานจริง

เพราะหากผู้ป่วยมีปัจจัยเกิดในอบายภูมิ ด้วยอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้ ย่อมเป็นทุกข์สาหัสมากกว่า การที่ผู้ป่วยอยู่บนเตียงคนไข้อย่างแน่นอน ครับ.

หากผู้ป่วยมีปัจจัยเกิดในสุคติภูมิ ก็เป็นสิ่งเป็นไปได้ ตามเหตุ ตามปัจจัย.

แต่แพทย์ย่อมไม่มีทางทราบคติในภพหน้าของผู้ป่วยแน่นอน.

อนึ่ง การที่ผู้ป่วยจะเกิดในภูมิใด ย่อมเป็นไปตามกรรมที่ผู้ป่วยได้สะสมมาแล้ว ส่วนแพทย์ที่ช่วยผู้ป่วยโดยวิธีที่ไม่แยบคาย คือ ฆ่าให้ตายพ้นความทรมานนั้น เป็นอกุศลกรรมของแพทย์ที่จะสะสมต่อไป.

การกระทำโดยไม่แยบคายย่อมไม่เกิด หากแพทย์พิจารณาในเหตุ ผล และมีความเข้าใจถูกต้อง ในพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ครับ.

หากผมได้อธิบายส่วนใด คลาดเคลื่อนไปจากพระธรรมวินัย ขอท่านผู้รู้ทั้งหลายในที่นี้ โปรดเปลื้องถ้อยคำที่กล่าวผิดนั้นด้วย ครับ.

ขณะอย่าได้ล่วงเลยท่านทั้งหลายไปเสีย

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
homenumber5
วันที่ 14 พ.ย. 2552

เรียนท่านเจ้าของกระทู้

โดยที่เคยกราบเรียนถามพระภิกษุผู้ใหญ่ ว่าการรักษาผู้ป่วยที่ทางการแพทย์ระบุว่าระยะสุดท้ายและไม่มีทางรักษาได้ หากมีภาวะอื่นแทรกเช่นอาการที่ทำให้มีทุกขเวทนา สมควรที่จะบรรเทาอาการทุกขเวทนา ผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัวและทางการแพทย์ถือว่าเสียชีวิตแล้ว อยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจนั้น ทางการแพทย์มีแนวทางการดูแลผู้ป่วยประเภทนี้อยู่แล้วค่ะ

สำหรับการถอดเครื่องช่วยหายใจ ดิฉันคิดว่าหากไม่ถอดออก ผู้ป่วยก็จะละสังขารของตนในอีกไม่ช้า เป็นไปตามเหตุปัจจัย ของผู้ป่วยเอง

อนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
วิริยะ
วันที่ 15 พ.ย. 2552

ขอบคุณความเห็นที่ 13 มากค่ะ ดิฉันพอจะสรุปได้ว่า อย่างไรเสียก็ไม่ควรจะถอดเครื่องช่วยหายใจ ทำให้มีความคิดว่า แพทย์คงจะทำตัวลำบากมาก ถ้าเจ้าของไข้ ต้องการให้แพทย์ถอดเครื่องช่วยหายใจ แล้วแพทย์จะทำอย่างไร น่าจะเป็นกรรมของแพทย์ด้วยละมังที่ต้องมาเจอเหตุการณ์เช่นนี้

อย่างไรก็ตามขอขอบคุณความเห็นที่ 13 ค่ะที่ได้กรุณาให้ความกระจ่าง

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
พุทธรักษา
วันที่ 17 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนา ความคิดเห็นที่ 8 ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
homenumber5
วันที่ 19 พ.ย. 2552

น่าจะต้องเปิดดูกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนะคะ

ตนเองไม่เห็นด้วยกับการถอดเครื่องทั้งที่ผู้ป่วยยังมีสัญญาณชีพค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 4 ธ.ค. 2552

ขออนุญาตนะคะ อยากขอถามเพื่อเป็นความรู้เพิ่มเติมค่ะ

ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้อนุญาตเองล่ะคะ ซึ่งขณะนั้นอาจจะรู้ตัวมีสติสมบูรณ์ และมองเห็นว่า ด้วยร่างกายขณะนั้นรักษาไม่หายแน่ และรู้สึกทรมาน อีกทั้งไม่อยากเป็นภาระแก่ผู้ที่ดูแล จึงยินยอมให้ถอดเครื่องช่วยหายใจ อย่างนี้บาปยังตกอยู่ที่ผู้ถอดเครื่องช่วยไหมคะ และผู้ป่วยคนนั้นจะต้องรับบาปในฐานะที่ฆ่าตัวตายหรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
paderm
วันที่ 4 ธ.ค. 2552

เรียนความเห็นที่ 18

บาป คือ เจตนาในทางอกุศล เช่น ปาณาติบาต การฆ่าสัตว์มีชีวิต ต้องมีเจตนาฆ่า และสัตว์ตายเพราะความพยายามนั้น ดังนั้นจึงไม่ได้เกี่ยวกับคนที่ถูกฆ่า คนที่ถูกฆ่าจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตามที จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ตามที หากคนที่ทำมีเจตนาฆ่าแล้ว ก็ต้องเป็นปาณาติบาต ถอดเพื่อให้เขาตาย มีเจตนาฆ่าก็ต้องเป็นปาณาติบาต

ส่วนผู้ป่วยจะฆ่าตัวตายหรือไม่ สำคัญที่เจตนาของผู้ป่วยอีกเช่นกันครับ ซึ่งโดยส่วนใหญ่ การฆ่าตัวตายก็ต้องเป็นตัวเองเป็นผู้กระทำครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 4 ธ.ค. 2552

ในฐานะที่เป็นแพทย์ (ที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเป็นประจำ) และในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ขอให้ความรู้เพิ่มเติมดังนี้ครับ

1 withhold

คือการ งดเว้นการรักษาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย เช่นกรณี "ท่านพุทธทาส" ขณะที่ท่านอาพาธเต็มทีแล้ว ท่านก็พิจารณาปลงสังขาร ไม่ต้องการให้ลูกศิษย์ลูกหา พาไปกู้ชีพ ยื้อชีวิตอีก หากเจตนารมณ์ของผู้ป่วยต้องการงดเว้นการยื้อชีวิตอันไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แล้วแพทย์ทำตามเจตนารมณ์นั้น แพทย์ย่อมไม่ผิดครับ

แต่โชคไม่ดีที่สมัยของท่านพุทธทาสนั้น ยังไม่มีกฎหมาย "พินัยกรรมชีวิต" ออกมาเจตนารมณ์ของผู้ป่วยจึงเป็นเพียง "ลมปาก" เท่านั้น ไม่มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร ลูกศิษย์ฝ่ายที่อยากให้ยื้อชีวิตจึงชนะ และได้พาร่างของท่านไปยื้อชีวิตยื้อยุดฉุดร่างกายของท่านด้วยเครื่องมือแพทย์ทันสมัยมากมาย

แต่ก็เพราะเจตนาจะ "ช่วยชีวิต" (แม้จะฝืนเจตนารมณ์ของท่านก็ตาม) แต่สุดท้ายก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้ (แต่ท่านก็ต้องทรมานจากการยื้ออยู่กว่า 40 วัน)

ในปัจจุบันไม่ต้องการให้มีปัญหาด้านนี้อีก จึงออกกฎหมาย "พินัยกรรมชีวิต" ให้ผู้ป่วยได้มีสิทธิผู้ป่วยได้ตายตามธรรมชาติของตัวโรค ตามเจตนารมณ์ (ก็เหมือนปฏิเสธการรักษานั่นแหละ) ใช้เฉพาะในผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่การรักษาจะไม่ประกอบด้วยประโยชน์เท่านั้น (พวกฆ่าตัวตายไม่เกี่ยว พวกป่วยที่ช่วยได้ก็ไม่เกี่ยว สองกลุ่มนี้ต้องช่วยเต็มที่

ดังนั้นการ withhold ไม่ช่วยเพราะผู้ป่วยถึงวาระจริงๆ จึงไม่ถือว่าเป็นการผิดปาณาติบาต (ออกจะต้องเป็นการวางอุเบกขาเสียด้วยซ้ำไป)

โปรดติดตามข้อ 2 ในความคิดเห็นต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 4 ธ.ค. 2552

2 withdraw

อันนี้แหละคืออันที่จะมีปัญหาดังที่เจ้าของกระทู้ถามมา คือการ "ให้ไปแล้ว" และ "จะเอาออก" ทีหลัง เช่น ยกกรณีท่านพุทธทาสต่อแล้วกันนะครับ จะได้เข้าใจง่าย สมมติถ้าท่านพุทธทาส (ที่ปลงสังขารแล้ว) ถูกลูกศิษย์พาเข้ามาห้องฉุกเฉิน แพทย์ห้องฉุกเฉินไม่ทราบเรื่องใดๆ มาก่อน เห็นลูกศิษย์พาท่านเข้ามา อาการแย่ ก็ต้องรีบช่วยไว้ก่อนให้ทันท่วงทีไว้ก่อน ใส่ท่อ ปั๊มๆ ยื้อๆ ใส่สาย ใส่เครื่อง ฯลฯ แต่สมมติว่าตอนหลัง (หลังจากอาการท่านคงตัวขึ้นแล้ว ถูกยื้อไว้แล้ว) แล้วแพทย์มารู้ภายหลังว่า อ้าว ... นี่ท่านเขียนพินัยกรรมชีวิตเป็นลายลักษณ์อักษรไ้ว้แล้วนี่นา (สมมติว่าเขียนแล้วนะครับ) สมมติว่าเขียนไว้ว่า ถ้าหมอเห็นว่าอาการหนักแล้วอย่ายื้อ ให้ปล่อยท่านไปตามธรรมชาติ ถ้าให้ยื้อใส่ท่อไว้นานๆ จะตายก็ไม่ตาย จะอยู่ก็ไม่อยู่ อย่างนั้นไม่เอา อ้าว ... นี่เกิดปัญหาแล้วหละครับ ก็ใส่ท่อยื้อ ใส่เครื่องยื้อไปแล้วนี่นา ถ้าเอาออกท่านมิตายหรือ แต่ถ้าใส่ไว้ ก็ไม่ใช่เจตนารมณ์ท่านอีก ท่านอยากให้ไปตามธรรมชาติของตัวโรค นี่ถ้ารู้จะได้วางอุเบกขาไม่ใส่แต่แรก (แม้ใจจริงจะไม่อยากให้ท่านจากไปก็ตาม)

ตกลงถ้าใส่ไปแล้วเอาออกได้หรือเปล่า

แล้วจะปาณาติบาตหรือเปล่า

อ่านต่อ ค.ห. ต่อไปครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 4 ธ.ค. 2552

จากเมื่อกี้

หากเราจะ withdraw (เช่นเอาท่อออก) ไม่ให้ปาณาติบาต และให้เป็นไปตามธรรมชาติและตามเจตนารมณ์ท่านพุทธทาสมากที่สุดได้อย่างไร

ให้มีแนวปฏิบัติดังนี้ครับ

1. รักษาให้ท่านอาการคงตัวสักระยะก่อน

2. ค่อยๆ wean off เครื่องยื้อชีวิตที่ไม่จำเป็นออกก่อน

3. ปรับจนพอจะนำท่อออกได้และท่านยังคงมีชีวิตอยู่ได้ เช่น ค่อยๆ เปลี่ยนจากท่อมาเป็น oxygen mask with bag แทน แล้วให้ oxygen tank กลับวัดไปด้วย (แน่นอน สิ่งนี้คงยื้อชีวิตอยู่ได้ไม่นานเช่นกัน เพราะขนาดอยู่ในโรงพยาบาลครบเพียบพร้อม ก็ไม่สามารถยื้อร่างกายหรือช่วยร่ายกายของท่านให้ดีกว่านี้ได้)

4. จากนั้นหากลูกศิษย์จะพาท่านกลับไปละสังขาร ดูแลระยะสุดท้ายที่วัด ก็ไม่มีปัญหา ท่านจะไปเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของท่านเอง

ไม่ วธกจิตตัง --> ไม่มีจิตคิดฆ่าท่าน

ไม่ อุปักกโม --> ไม่มีความพยายามฆ่าแต่อย่างใด

ไม่ เตนมรณัง --> ผู้ป่วยไม่ได้ตายลงด้วยการพยายามฆ่านั้น แต่กลับไปแตกดับเองตามสภาพร่างกายของท่านซึ่งไม่สามารถจะฝืนธรรมชาติต่อไปได้

มีปัญหาอยู่อย่างเดียวคือ

อะไรที่พอเอาออกปุ๊บ ท่านตายปั๊บคามือเลย

แนะนำว่าอันนี้พยายามอย่าทำจะดีกว่าครับ

(ย้ำจุดสำคัญคือ ไม่มีจิตคิดฆ่า และ ไม่ได้พยายามฆ่า อันนี้ผมว่าสำคัญสุดครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 23  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 4 ธ.ค. 2552

ส่วนที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น

withhold หรือ งดเว้นจากการช่วยยื้อชีวิตที่ไม่เป็นประโยชน์ ไม่มีจุดหมาย ตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย --> อันนี้ไม่ปาณาแน่

withdraw หรือ ดึงการยื้อชีวิตที่ไม่เป็นประโยชน์ไม่มีจุดหมาย "ที่ได้ให้ไปแล้ว" ออก --> อันนี้อาจปาณาหรือไม่ก็ได้ อยู่ที่เจตนาฆ่าหรือไม่ แล้วผู้ป่วยตายด้วยความพยายามจะฆ่าหรือเปล่า

ส่วนกรณี "การุณยฆาต" เป็นอีกเรื่องนึงนะครับ

เช่น

กรณี 1 หมอ A เห็นผู้ป่วยมะเร็งคนนี้ทรมานมาก --> เข้ามาฉีดยาให้ตาย อันนี้ ปาณาแน่นอน

กรณี 2 หมอ B เห็นผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายทรมานมาก --> ผู้ป่วยขอให้ฉีดยาให้ตาย --> หมอ B ก็ทำตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย ฉีดยาให้ตาย --> อันนี้ก็ ปาณา อีกเช่นกัน

กรณี 3 หมอ C เห็นผู้ป่วยถุงลมโป่งพองระยะสุดท้าย เหนื่อยทรมานมากๆ --> ผู้ป่วยขอให้หมอช่วยให้พ้นทรมาน --> หมอบอกว่าทำไม่ได้ แต่ถ้าจะทำคุณต้องทำเอง เช่นคุณอาจจะเอายาเบาหวานมาฉีดมากๆ จนเกินขนาด --> แล้วคนไข้ไปทำจนตายจริงๆ --> อันนี้ก็เข้าข่าย ปาณา เหมือนกัน มีจิตคิดอยากให้เขาตาย มีความพยายามโดยการบอกวิธีที่จะทำให้เขาตาย เขาตายด้วยความพยายามนี้

การุณยฆาต

ไม่มีที่ใช้ในประเทศไทยนะครับ

ผิดกฎหมายการแพทย์ด้วย ผิดศีลด้วย หลายประเทศก็ไม่รับ

ในไทยมีแค่ withhold เท่านั้น

ส่วน withdraw ยังบวกลบ ยังไม่ชัดเจนครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 24  
 
คนรักธรรมะ
วันที่ 4 ธ.ค. 2552

คนที่ถูกฆ่าจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตามที จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ตามที หากคนที่ทำมีเจตนาฆ่าแล้ว ก็ต้องเป็นปาณาติบาต ถอดเพื่อให้เขาตาย มีเจตนาฆ่าก็ต้องเป็นปาณาติบาต

อย่างนี้ก็น่าเห็นใจผู้ประกอบอาชีพหมอ พยาบาลนะคะ ทั้งที่ประกอบอาชีพที่คิดว่าเป็นบุญกุศล คือได้มีโอกาสช่วยเหลือคน แต่อาจทำบาปโดยที่ไม่รู้ได้ทุกเมื่อ ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม น่ากลัวจริงๆ นะคะ (ไม่ได้มีอาชีพทางนี้ค่ะ เพียงแต่สนใจหัวข้อนี้)

ขอบพระคุณคุณ paderm มากค่ะ ที่ช่วยให้ความกระจ่าง

ขออนุโมทนาทุกความเห็นด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 25  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 5 ธ.ค. 2552

สรุปอีกที เผื่อคนอ่าน งง นะครับ

1. การไม่ช่วย (withhold) ในสิ่งที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นไปเพื่อชีวิต และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย อันนี้ไม่ผิดครับ (เช่นสมมติว่า พระพุทธเจ้าปลงสังขารแล้ว พอจังหวะที่ท่านปรินิพพานปุ๊บ พระท่านอื่นไม่ได้วิ่งเข้าไปช่วย ไม่ได้วิ่งเข้าไปตามหมอ ไม่ได้วิ่งเข้าไปเอายาใส่ปากท่าน อันนี้ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นปาณาติบาตนะครับ

2. การเอาสิ่งที่ช่วยแล้วออก (withdraw)

อันนี้มีปัญหามาก ขึ้นอยู่กับเจตนามากกว่า (ดังที่ผมกล่าวมาแล้วทั้งหมดด้านบน)

ถ้าเอาออกแล้วผู้ป่วยไม่ได้ตายทันที แต่มีชีวิตอยู่ได้ แล้วเขาขอกลับไปเสียที่บ้านอันนี้ก็ไม่เข้าข่ายปาณา

แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เอาออกไม่ได้ ออกปุ๊บตายปั๊บ อันนี้ไม่แนะนำ เพราะเข้าข่ายปาณาได้ง่าย ใจเราจะรู้อยู่แล้วว่าถ้าเราทำตรงนี้ปุ๊บ เขาจะตายปั๊บ ดังนั้นไม่ควรทำนะครับ

3. การุณยฆาต (euthanasia)

อันนี้ผิดเต็มประตู ตั้งใจให้เขาตาย (แม้จะมองว่าอยากช่วยเขาก็ตามทีเถอะ) แล้วก็พยายามทำให้เขาตาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีฉีดยาเองโดยตรง หรือแนะนำให้เขาฉีดยาตัวนั้นตัวนี้ ฯลฯ

สรุปอันนี้ปาณาเต็มประตู ไม่แนะนำและไม่สนับสนุนครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 26  
 
สิ่งสมมุติ
วันที่ 5 ธ.ค. 2552

ในกรณี withdraw หรือเอาสิ่งที่ช่วยอยู่แล้วออก ที่ว่าเป็นปัญหาจุดสำคัญคือ "เจตนา"

1. มีจิตคิดอยากให้เขาตายหรือเปล่า (แม้จะอยากให้เขาไม่ทุกข์ทรมานก็ตาม แต่ถ้าอยากให้เขาตายก็คือมีจิตคิดฆ่านะครับ)

2. ความพยายาม "เอาออก" นั้นเป็นความพยายามให้เขาตายหรือเปล่า

ถ้าเป็นความพยายามเพื่อให้เขาอยู่เท่าที่อยู่ได้ กลับบ้านได้ กลับวัดได้ กลับไปตายอย่างสงบที่บ้านตามที่ตั้งใจได้ อันนี้ก็ไม่ใช่ความพยายามจะให้เขาตายนะครับ แต่เป็นความพยายามให้เขาอยู่ อยู่อย่างที่เขาตั้งใจจะอยู่ อยู่เท่าที่เขาอยากจะอยู่ อยู่เท่าที่เขาจะอยู่ได้ ต่างจากการเชือดไก่ลิบลับเลยนะครับ

แต่ถ้าเป็นความพยายามแบบในหนัง ที่ตัวร้ายมาดึงสายเพื่อให้เขาตายปุ๊บปั๊บเลย อันนี้ก็เข้าข่าย ปาณา

สำหรับคุณหมอท่านไหนที่ยังไม่ clear ให้ถ้าถามใจตัวเองดีๆ และตอบตัวเองให้ชัดนะครับ

อา ... กระทู้นี้ผมคิดว่ามีประโยชน์

ขออนุญาตนำลงไปเผยแพร่ให้เว็บที่มีหมอดูเป็นจำนวนมากนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 27  
 
saifon.p
วันที่ 6 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 28  
 
pornpaon
วันที่ 10 ธ.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 29  
 
จักรกฤษณ์
วันที่ 9 ก.พ. 2553

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 30  
 
รากไม้
วันที่ 15 ก.พ. 2553

ขอขอบคุณ คุณสิ่งสมมติ มากๆ ครับ ... ให้ความกระจ่างมากมายทีเดียว

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 32  
 
nualchan.deesawat
วันที่ 22 พ.ย. 2560

เป็นความรู้ที่ดีมากๆ ค่ะ มีเหตุมีผลตามธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 33  
 
chatchai.k
วันที่ 7 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 34  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 29 ส.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 35  
 
Jarunee.A
วันที่ 29 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ