เกี่ยวกับเรื่องการุณยฆาต (Euthanacia)

 
พฤติจิต
วันที่  27 มี.ค. 2550
หมายเลข  3204
อ่าน  5,935

การุณยฆาต (mercy killing หรือ euthanasia ซึ่งมาจากภาษากรีก แปลว่า การตายอย่างเป็นสุข)

มีความเห็นอย่างไรครับ และตามกฎแห่งกรรมแสดงว่าอย่างไรการุณยฆาต มีอยู่สองแบบ คือ

๑. การช่วยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ตายอย่างสงบ (active euthanasia) คือ การที่แพทย์ฉีดยา ให้ยา หรือกระทำโดยวิธีอื่นๆ ให้ผู้ป่วยตายโดยตรง การยุติการใช้เครื่องช่วยหายใจ ก็จัดอยู่ในประเภทนี้ด้วย

๒. การปล่อยให้ผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ตายอย่างสงบ (passive euthanasia) คือ การที่แพทย์ไม่สั่งการรักษาหรือยกเลิกการรักษาที่จะยืดชีวิตผู้ป่วยที่สิ้นหวัง แต่ยังคงให้การดูแลรักษาทั่วไป เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงจนกว่าจะเสียชีวิตไปเอง

ท่านพุทธทาสสั่งกับลูกศิษย์ไว้ว่า เมื่อท่านป่วยหนัก ไม่ให้ใช้เทคโนโลยี ที่จะช่วยชีวิตท่านไว้ อย่างผิดธรรมชาติ และเมื่อท่านจะมรณภาพ ขออย่าให้มีเครื่องช่วยชีวิตใดๆ ติดตัวท่าน แต่คณะแพทย์ผู้ทำการรักษา ปรารถนาจะยืดชีวิตของท่านไว้ให้นานที่สุด จึงใช้ทั้งเครื่องช่วยหายใจ ให้ยาเพิ่มความดันทางเส้นเลือดดำและยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อควบคุมการหายใจ ด้วยยึดว่าหน้าที่ของแพทย์คือรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้อย่างเต็มความสามารถ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 27 มี.ค. 2550

ตามหลักคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าบุคคลมีเจตนาจะให้ผู้อื่นตายด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม เมื่อสำเร็จตามเจตนานั้นย่อมเป็นอกุศลกรรม ถ้าเรามองอย่างผิวเผินอาจจะคิดว่าเป็นการกระทำที่ดี เพราะช่วยให้ผู้ป่วยพ้นจากความทรมาน แต่เราไม่ทราบว่าผู้ป่วยตายแล้วไปเกิด ณ ที่ใด มีสุขมีทุกข์อย่างไร เขาอาจไปเกิดในสถานที่มีทุกข์มากกว่านี้หลายแสนเท่าก็ได้ ดังนั้น ตามหลักคำสอนจึงไม่ควรทำให้ผู้อื่นตาย เพราะการเกิดเป็นมนุษย์นี้แสนยากแท้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 27 มี.ค. 2550

[เล่มที่ 2] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ปฐมภาค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 423

วินีตวัตถุ

เรื่องพรรณนา

[๒๐๕]  ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธ ภิกษุทั้งหลายได้พรรณนาคุณแห่งความตายแก่ภิกษุนั้น ด้วยความกรุณา ภิกษุนั้นถึงมรณภาพแล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีความรังเกียจว่า พวกเราต้องอาบัติปาราชิกแล้ว กระมังหนอ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าๆ ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอต้องอาบัติปาราชิกแล้ว.

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่ ...

วินีตวัตถุในตติยปาราชิก [เรื่องพรรณนาคุณความตาย]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
พฤติจิต
วันที่ 27 มี.ค. 2550

อนุโมทนาครับ

ในกรณี active euthanacia ตามข้อหนึ่งนั้น เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ ว่าการไปตัดรอนชีวิตผู้อื่นเป็นการกระทำปาณาติบาต แต่ในกรณีข้อที่สอง passiveeuthanacia คือ การที่แพทย์ ไม่สั่งการรักษา หรือยกเลิกการรักษา ที่จะยืดชีวิตผู้ป่วยที่สิ้นหวัง แต่ยังคงให้การดูแลรักษาทั่วไป เพื่อช่วยลดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยลงจนกว่าจะเสียชีวิตไปเอง แพทย์ผู้นั้นจะได้รับวิบากอะไร อย่างไร ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 27 มี.ค. 2550

ขึ้นอยู่ที่เจตนาเป็นหลัก แพทย์ก็คงเห็นว่ารักษาไม่ได้ ช่วยสุดความสามารถแล้ว ก็รักษาตามอาการ ไม่ให้คนไข้ได้รับทุกข์ทรมานมากนัก คนไข้ก็มีกรรมเป็นของตนเอง ถ้าเป็นแพทย์ที่ดีมีคุณธรรม ก็เป็นเหตุให้ได้รับวิบากที่ดีในอนาคต

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 27 มี.ค. 2550

สมัยนี้ ถือว่าการแพทย์เจริญก้าวหน้าไปมาก แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด เช่นกรณีท่านพุทธทาส ก็ยังเป็นที่คาใจ ข้องใจหลายๆ ท่านอยู่ว่า สิ่งที่ได้กระทำต่อท่านไปนั้นควรหรือมิควรประการใด ทั้งๆ ที่ท่านได้สั่งไว้แล้ว และในกรณีของท่านก็เป็นกรณีศึกษาในขณะนี้สำหรับการพิจารณาออกกฎหมาย ที่เกี่ยวเนื่องกับสิทธิในการตายของบุคคลอยู่

ผมเองก็มีข้อสงสัยว่า จะทำอย่างไร กรณีที่ญาติผู้ใหญ่ของผม ที่ผมเลี้ยงดูท่านอยู่ซึ่งขณะนี้ท่านมีอายุ ๙๐ ปีแล้ว อาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกันโดยจ้างผู้ดูแล ท่านมีสุขภาพดี ทานง่าย ขับถ่ายสะดวก (ขอประทานโทษ) ไม่มีอาการของโรคใดๆ (แม้เคยตรวจพบเบาหวาน) ไม่ต้องทานยาใดๆ ทั้งสิ้น ปัจจุบันท่านไม่เดินและไม่คลานไปไหนได้แล้ว ไม่บ่นไม่ว่า ไม่แสดงอาการทุกข์ใดๆ ให้เห็น

ในอดีตที่ผ่านมาท่านชอบทำบุญ ให้ทาน ช่วยเหลือผู้อื่นมาโดยตลอดชีวิต ถวายของใส่บาตรแต่ของดีๆ ของที่เหลือเลือกแล้วจึงนำมาทาน ใส่บาตรทุกเช้า ตลอดชีวิตเพิ่งเลิกไปเมื่อผมรับมาอยู่ด้วย เพราะไม่สะดวกและไม่ค่อยรับรู้แล้ว ผมตั้งใจว่าผมจะไม่นำท่านส่งโรงพยาบาลหากมีอาการอ่อนลง หรือหายใจขัดอะไรทำนองนี้ ผมจะปล่อยให้เป็นธรรมชาติที่สุด ให้ท่านอยู่ที่บ้านหมดลมที่บ้าน (คุณพ่อของผม ก็ค่อยๆ หมดลมไปเองที่บ้านที่ลำปาง เมื่อมีอายุได้ ๘๑ ปี โดยสงบ และเป็นธรรมชาติที่สุด พร้อมคุณแม่และลูก) โดยไม่นำส่งโรงพยาบาล เพราะเมื่อนำส่ง แพทย์ย่อมต้องรักษาโดยจรรยาบรรณแพทย์ แล้วก็เป็นที่มาของข้อถกเถียง ข้อกังขาหลายประการดังท่านว่ามาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการใส่เครื่องช่วยหายใจและการถอด ใส่น่ะง่ายครับ ตอนถอดสิครับใครจะถอด นี่ก็ผลเกิดแต่เหตุหรือเปล่า จะทำอย่างไรกันดีครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 27 มี.ค. 2550

เจตนาเป็นสำคัญครับ แม้แต่การที่เราเพิกเฉย เฉยเพราะอะไร มีธัมมะเรื่องหนึ่งเรื่องธรรมที่ลวง คือ เป็นผู้ขาดกรุณาลวงว่าเป็นผู้อุเบกขา (วางเฉย) เช่น เห็นสัตว์ถูกรถทับ ตรงหน้าก็ไม่ช่วยเพราะอะไร อาจจะบอกว่าวางเฉย สัตว์มีกรรม หรือเพราะเราขาดกรุณา ขี้เกียจช่วย เป็นต้น แม้การช่วยเหลือก็ทำเต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้ และก็สภาพธัมมะไม่ได้เป็นไปตามที่เราต้องการด้วย เช่น บอกว่าตอนจะตาย อย่าใส่เครื่องช่วยหายใจนะ แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้นก็ได้ ก็อาจมีคนมาใส่ให้ เพราะเป็นธัมมะไม่ใช่เราจะบังคับอะไรได้เลย มีเหตุปัจจัยก็เกิดครับ

สิ่งที่ถูกก็ต้องเป็นถูก คือ ไม่มีเจตนาฆ่า สิ่งที่ผิดก็ต้องผิด คือ มีเจตนาฆ่า ซึ่งจะออกมาทาง กาย วาจา หรือใจก็ได้ครับ เจตนาเป็นสำคัญ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
วันชัย๒๕๐๔
วันที่ 28 มี.ค. 2550

เจตนาเป็นสำคัญ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
คุณ
วันที่ 10 พ.ย. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
bumbe
วันที่ 11 ก.พ. 2553

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
jaturong
วันที่ 16 มี.ค. 2555

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
chatchai.k
วันที่ 8 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
Jarunee.A
วันที่ 29 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ