สมถะ-สมาธิ-ปัญญา ในสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา


    ส.   เข้าใจว่ามีท่านผู้ฟังใหม่ หลายท่านซึ่งอาจจะสับสน เรื่องของการเจริญ สมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา และยังไม่เข้าใจชัดเจนในความหมายที่ต่างกัน  ของคำว่า สมาธิ สมถะ และ วิปัสสนา ซึ่งเป็นปัญญาของการเจริญสมถภาวนา  และปัญญาของการเจริญวิปัสสนาภาวนา เพราะฉะนั้น สำหรับในวันนี้ ขอกล่าวถึงการเจริญกุศล ซึ่งมีต่างกันเป็น ๓ ขั้น คือขั้นทาน ขั้นศีล และขั้นภาวนา สำหรับทานการให้ก็เป็นกุศลที่เจริญกันอยู่ทั่วๆ ไป และศีลก็ได้กล่าวถึงแล้ว  แต่คำว่า ภาวนา การอบรมเจริญภาวนานั้น คือการอบรมเจริญสมถภาวนา อย่าง ๑ และวิปัสสนาภาวนาอีกอย่าง ๑ เรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องยากจะรู้ได้ เพราะเหตุว่าจิตเกิดดับอย่างรวดเร็ว เช่นในขณะนี้ ปัญญาเท่านั้น ที่จะรู้ว่า จิตเป็นกุศล หรือ อกุศลอย่างไร เวลาที่ใช้คำว่าปัญญา นี่คะ ส่วนมากท่านผู้ฟังที่ฟังเรื่องของการเจริญวิปัสสนา จะคิดถึงปัญญาเฉพาะ ปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน  โดยนัยของวิปัสสนาภาวนา เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ปัญญาเป็นสภาพธรรม ที่เห็นถูกเข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมทั้งหลาย ตามความเป็นจริง แต่คำว่าตามความเป็นจริง ก็ต้องมีขั้นที่ต่างกันอีก ตามความเป็นจริงของขั้นสมถะนั้นก็คือว่า เวลาที่จิตเป็นอกุศล ก็รู้ว่าจิตเป็นอกุศล รู้ในลักษณะของอกุศลจิต แต่ไม่เห็นความเป็นอนัตตาของ จิตว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เวลาที่ท่านผู้ฟังเกิดความยินดีพอใจขึ้น ขณะนั้นทุกคนรู้ว่าเป็นสภาพที่สบายใจ เพลิดเพลิน ยินดีพอใจ ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้ศึกษาธรรมเลย ท่านก็รู้อาการที่ต่างกันของจิต ขณะที่กำลังเพลิดเพลินยินดีพอใจว่า  เป็นสภาพของจิตขณะ ๑ ซึ่งกำลังสบายใจ พอใจ สนุก เพลิดเพลิน ยินดี เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเป็นอกุศล เป็นโลภะ ผู้ที่มีปัญญาก็สามารถจะรู้ในลักษณะของจิตที่ประกอบด้วยโลภะนั้นว่า เป็นจิตประเภทนั้น แล้วก็วลาที่จิตเป็นโลภะ เกิดขึ้น ย่อมีความมากน้อยต่างกัน ถ้าเป็นโลภะที่มีกำลังมาก ตื่นเต้นดีใจเป็นสุข ทุกท่านทราบในอาการของสภาพธรรมของโลภะขณะนั้น แต่เวลานี้ ปกติธรรมดาชั่วขณะ เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ได้กลิ่นบ้าง ลิ้มรสบ้าง รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสบ้าง แล้วไม่เกิดโทมนัส ไม่เกิดความไม่แช่มชื่น ขณะนั้นจะทราบไหมคะว่าเป็นโลภะ แต่ว่าการอบรมเจริญความสงบของจิต จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาจริงๆ ที่รู้ว่าขณะนั้นก็เป็นอกุศลจิต จึงอบรมเจริญกุศล เพราะมีปัญญาที่รู้ว่า สติระลึกอย่างไร รู้อย่างไร จึงจะสงบ ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ  แต่ว่าขณะนั้น เช่น ขณะที่กำลังมีเมตตา แทนโทสะ ขณะนั้นไม่รู้ว่าแม้ เมตตา ก็ไม่ใช่ตัวตน โทสะก็ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น ปัญญาขั้นสมถะ มีความรู้จริง ตามขั้นของสภาพธรรม ในขณะนั้นว่า ขณะนั้นเป็น อกุศล หรือขณะนั้น เป็นกุศล เพราะเหตุใด  แต่ไม่สามารถที่จะดับ ความยึดถือสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ได้ เพราะฉะนั้นปัญญาก็มีหลายขั้น ปัญญาที่รู้เหตุกับผล คือกรรม และวิบาก ก็เป็นปัญญา คะ ปัญญารู้ว่ากุศลธรรมเป็นสิ่งที่ควรเจริญ ควรจะซื่อสัตย์ ควรจะกตัญญูกตเวที นั่นก็เป็นปัญญาที่รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง แต่คำว่าตามความเป็นจริงโดยที่ยังไม่ใช่ขั้นวิปัสสนา หรือสติปัฏฐาน นั้น ยังไม่สามรถที่จะดับความเห็นผิดว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ได้ แต่เห็นตามความเป็นจริงว่า อกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์หรือกุศลกรรมให้ผลเป็นสุข เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงมีความต่างกันหลายขั้น หรือสัมมาทิฏฐิ ก็มีความต่างกันหลายขั้นปัญญาที่รู้ในกรรม และในผลของกรรม และปัญญาที่รู้ในการที่จะกระทำจิตให้สงบซึ่งเป็นฌานสัมมาทิฏฐิ  ก็เป็น สัมมาทิฏฐิขั้น ๑ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เวลาพูดถึง การรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ต้องแยกว่าขั้นไหน การรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงขั้นสมถะ คือปัญญาที่รู้ว่าขณะนี้เป็นกุศล หรืออกุศล เมื่อรู้ว่าเป็นอกุศลแล้ว กุศลจิตจะเกิดได้อย่างไร นั่นคือปัญญาของผู้ที่จะอบรม สมถภาวนา ได้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่สามารถที่จะอบรม เจริญความสงบของจิต ซึ่งเป็นกุศลขั้นที่สูงกว่า ทาน และศีลได้  แต่อย่าปนกับสติปัฏฐาน เป็นการรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงเหมือนกัน แต่ว่าขั้นที่สามารถที่จะเห็นว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น เวลาใช้คำ ธรรมดาว่า การเจริญสมถภาวนา ต้องรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ตามความเป็นจริงว่า กุศล เป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล แต่ไม่ใช่ตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเพราะฉะนั้น ต้องแยกกัน และแม้แต่สมาธิ ความตั้งมั่นคงของจิต ก็อย่าคิดว่าเป็นเรื่องของสมถภาวนาเท่านั้น เพราะเหตุว่าแม้ในสติปัฏฐาน ก็มี สัมมาสมาธิ ความตั้งมั่นคงของจิต พร้อมด้วยการระลึกรู้ ศึกษา รู้ในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทีละเล็กทีละน้อย  เพราะฉะนั้น เวลาที่มีคำกลางๆ ในพระไตรปิฎก เช่น คำว่าสมาธิ หรือแม้คำว่าปัญญา ก็จะต้องศึกษาให้ ทราบความต่างกันโดยละเอียดว่า เป็นสมาธิขั้นสมถะ หรือว่าเป็นสมาธิของสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นวิปัสสนาภาวนา เวลาที่กล่าวถึงปัญญาก็จะต้องแยก โดยทราบว่า ถึงแม้จะใช้คำว่ารู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริงโดยนัยของสมถะ หรือ ว่าโดยนัยของวิปัสสนา  หรือแม้แต่สมถะ ความสงบนี่คะ ผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่ว่าจะไม่สงบ ขณะใดก็ตาม ที่เป็นกุศล ขณะนั้นสงบจากโลภะ โทสะ โมหะ ถ้าไม่สงบ  กุศลจิตเกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่ให้ทาน จิตก็สงบ แต่น้อย ไม่มากพอที่จะปรากฏ ให้เห็นลักษณะของความสงบได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่จะสงบยิ่งขึ้น จึงมีปัญญาที่รู้ว่าขณะที่ให้ทาน ขณะนั้น ความสงบของจิต เป็นอย่างไร แล้วจึงจะอบรมความสงบให่ยิ่งขึ้น โดยระลึกถึงจาคานุสติ การให้ทานที่ได้กระทำแล้ว และอารมณ์ กรรมฐานอื่นๆ ซึ่งเป็นสมถ กรรมฐาน เพราะฉะนั้น ก็ให้ทราบว่า แม้คำว่าสมถะ ก็มีขั้นของสมถภาวนา และวิปัสสาภาวนา  แม้คำว่าสมาธิก็มีขั้นของสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา แม้คำว่าปัญญาเห็นสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ก็โดยขั้นของสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา ด้วย


    หมายเลข 4775
    20 ส.ค. 2558