ปิยรูปกับสาตรูป


        ผู้ถาม ท่านอาจารย์ก็ได้สอนไว้ว่ารูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป รูปที่เราจะรู้ได้ที่ควรจะรู้ก็มีโคจรรูป มีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ รูปใดที่ไม่ควรจะรู้ก็ไม่ควรจะรู้

        สุ. ไม่ใช่ไม่ควรรู้ รูปใดปรากฏ รูปนั้นควรรู้หรือไม่ควรรู้

        ผู้ถาม ควรรู้

        สุ. ถ้ารูปที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นควรรู้หรือไม่ควรรู้

        ผู้ถาม ไม่ควรรู้

        สุ. ในเมื่อรูปที่ปรากฏยังไม่รู้ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าจะรู้รูปที่ไม่ปรากฏเมื่อไหร่ เพราะว่าทุกอย่างเมื่อได้ศึกษาแล้วก็จะมีความเข้าใจยิ่งขึ้นในความเป็นอนัตตา ไม่มีใครสามารถจะบังคับบัญชาได้เลยแม้แต่ขณะจิตต่อไปจะเกิดขึ้นเป็นจิตประเภทไหนหรือจะรู้อะไร ก็ไม่รู้ แม้แต่วิปัสสนาญาณจะเกิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ แม้แต่วิปัสสนาญาณจะรู้อะไรก็ไม่รู้เพราะว่าเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่มีการคาดหวังว่าจะรู้รูปอะไร จะรู้รูปอะไรก็แล้วแต่เหตุปัจจัยเมื่อรูปนั้นปรากฏกับสติสัมป ชัญญะ

        ผู้ถาม สักครู่ที่ผ่านมาท่านอาจารย์บอกว่ายังมีปิยรูป สาตรูป กระผมก็มีความสงสัยอยากรู้อีก จะรู้ได้หรือไม่ได้ก็สงสัยว่าเป็นรูปอะไร

        สุ. ถ้าเข้าใจว่าคำนี้หมายความถึงสภาพธรรมทุกอย่างซึ่งเป็นที่ตั้งที่พอใจ ที่น่ายินดี เพราะฉะนั้นไม่เฉพาะแต่รูปเท่านั้น ธรรมทั้งหมดที่เป็นที่ตั้งที่ยินดี

        ผู้ถาม ที่กล่าวมานี้สองคำนี้ใช่ไหมครับ

        สุ. สองคำไหน

        ผู้ถาม ปิยรูปกับสาตรูป

        สุ. ปิยรูปกับสาตรูปเป็นคำที่ไม่ได้หมายเฉพาะรูปอย่างเดียว แต่คำนี้มีความหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเป็นที่น่ายินดีน่าพอใจทั้งหมดเลย อะไรที่เป็นที่น่ายินดีน่าพอใจเป็นปิยรูป สาตรูป ไม่ใช่เฉพาะแต่รูปอย่างเดียว นี่คือการที่เราจะต้องศึกษาธรรมอย่างรอบคอบ สิ่งใดที่มีค่อยๆ เข้าใจ และก็ความเข้าใจนั้นก็ยังไม่หมด ก็ยังจะต้องต่อไปอีกโดยการศึกษา โดยการฟัง โดยการค้นคว้า โดยการพิจารณา ก็จะทำให้เราเข้าใจกว้างขวางขึ้น

        ผู้ถาม ผมก็สงสัยว่ามันเป็นรูปอะไรที่เกินกว่า ๒๘ รูป หรือเปล่า

        สุ. อะไรก็ตามที่เป็นที่น่ายินดีน่าพอใจทั้งหมดเป็นปิยรูป สาตรูป

        คำปั่น โลภะก็ใช่ว่าเป็นติดข้องในอารมณ์ที่น่ายินดี น่าปรารถนา โลภะก็ยังติดในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ ไม่น่าพอใจอีกด้วย ในขณะเดียวกันโทสะก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นในอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจเท่านั้น แม้แต่อารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ โทสะก็เกิดได้ อยากให้อาจารย์อรรณพช่วยอธิบายเพิ่มเติมในสองประเด็นนี้ครับ และตัวอย่างด้วยเพื่อประโยชน์ในการขัดเกลาต่อไป

        อ. รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ก็เป็นอิฏฐารมณ์ก็มี เป็นรูปที่ดี อนิฏฐารมณ์ก็มี เป็นรูปที่ไม่ดีโดยสภาพของรูปธรรมนั้นๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วรูปที่ดีที่เป็นอิฏฐารมณ์ก็เป็นที่ติดข้องของโลภะ รูปที่เป็นอนิฏฐารมณ์โดยทั่วไปก็เป็นอารมณ์ของโทสะ แต่อย่างไรก็ตามการสะสมของแต่ละบุคคลนั้นก็แตกต่างกัน บางคนก็สะสมมาที่จะชอบกลิ่นที่เหม็นก็ได้อย่างกลิ่นทุเรียน ซึ่งเราก็ไม่รู้จริงๆ ว่ากลิ่นที่ปรากฏมีลักษณะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์จริงๆ โดยความรู้ความเข้าใจของเรา แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ก็มีลักษณะมีสภาวะของเขาอยู่แล้ว

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 212


    หมายเลข 10798
    25 ม.ค. 2567