ความติดข้องกับความยึดมั่น


        ผู้ถาม ความติดข้องกับความยึดมั่นเป็นสภาพธรรมคนละประเภทหรือ

        สุ. โลภะคือตัณหา อุปาทานก็แยกไป แต่ก็มีกามุปาทานด้วย ทั้งหมดที่เป็นอุปาทานก็จะเป็นเรื่องของโลภะด้วย กามุปาทาน ความยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ถ้าไม่มีความยินดีพอใจ จะยึดมั่นไหม เพราะฉะนั้นกามุปาทานก็ต้องเป็นความยินดีพอใจคือโลภะนั่นเองในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ จนกระทั่งทุกคนพิสูจน์ได้ วันนี้ยึดมั่นในกามุปาทาน เอาออกไปบ้างหรือยัง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อเป็นโลภะก็เป็นปัจจัยให้เกิดการยึดมั่นด้วย และก็การยึดมั่นในภพชาติก็มี และก็การยึดมั่นในหนทางปฏิบัติที่ผิด และก็การยึดมั่นเพราะไม่รู้ความจริงคือไม่รู้ลักษณะที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงยึดถือสภาพธรรมทั้งหมดด้วยความไม่รู้ว่าเป็นอัตตา เป็นอัตตวาทุปาทาน เพราะฉะนั้นทั้งหมดเหล่านี้เป็นสิ่งที่กำลังมี และมีอยู่เสมอๆ เพราะว่ามีเหตุปัจจัย ด้วยเหตุนี้การศึกษาพระธรรมคือศึกษาเรื่องความจริง สิ่งที่มีจริงที่กำลังเป็นจริงๆ ให้รู้ความจริงของสภาพธรรมนั้นโดยใช้คำต่างๆ เพื่อที่จะให้สามารถเข้าถึงลักษณะที่แท้จริง เพราะว่าจริงๆ แล้วเราเรียกชื่อคนแต่ละคนต่างๆ กันไป แต่พอถึงธรรมไม่ได้ชื่ออย่างนั้นใช่ใหม ธรรมไม่ได้ชื่อคุณสุกัญญา แต่โลภะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง โทสะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง โมหะเป็นธรรมชนิดหนึ่ง และขณะที่ยังมีชีวิตอยู่จะไม่พ้นไปเลยจากอกุศลธรรมที่ได้สะสมมาแล้วๆ ฝ่ายทางกุศลจะเห็นได้ว่าไม่มาก แต่ก็ยังดีที่ยังมี แต่ว่ามีกุศลหลายระดับ ถ้ากุศลที่ไม่เป็นไปกับปัญญาก็คือว่าเป็นกุศลที่จะนำมาเพียงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะเท่านั้นเองที่ดีๆ แต่ละภพแต่ละชาติซึ่งไม่เที่ยง และก็ไม่มีวันออกจากคุกใหญ่คือสังสารวัฏเลย แต่ว่าบางครั้งก็จะได้รับอารมณ์ที่ดี บางครั้งก็ได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นกุศลต่างๆ เหล่านั้นแม้จะถึงความสงบขั้นอรูปฌาณกุศล ก็ยังคงวนเวียนไปในสังสารวัฏ แต่หนทางที่จะออกอกุศลนี่มี การที่เรากล่าวถึงอกุศลมากๆ ตามความเป็นจริง วันนี้อกุศลเท่าไหร่ กล่าวถึงโลภะ มีโลภะเท่าไหร่ มีโมหะเท่านั้นหรือเปล่า ไม่ได้ปราศจากโมหะ ความไม่รู้เลย ไม่ว่าอกุศลประเภทใดเกิด โทสะเกิด ขณะนั้นมีโมหะหรือเปล่า ก็มีโมหะ เพราะฉะนั้นถ้าจะกล่าวว่าเห็นโทษของโมหะหรือยัง เราอาจจะเห็นโทษของโทสะ อาจจะเห็นโทษของโลภะ แต่ว่าลืมว่าไม่ว่าขณะใดก็ตามที่อกุศลประเภทใดเกิด ขณะนั้นต้องมีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยๆ เหตุนี้การศึกษาธรรมที่ละเอียดก็จะทำให้เห็นความไม่ใช่ตัวตนของเราซึ่งเคยยึดถือมานานมาก แต่ว่าเป็นการอบรมความรู้ ความเข้าใจถูกในขั้นการฟังซึ่งจำเป็นต้องมีก่อน ถ้าไม่มีความรู้ขั้นการฟัง เราจะรู้ได้ยังไงว่าขณะนี้อวิชชาหรือเปล่า หรือว่าเป็นกุศล เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ถ้าพิจารณาอย่างละเอียดที่ว่าเจตสิกหนึ่งที่เป็นอกุศลเกิดขึ้น เป็นปัจจัยแก่จิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกัน เพราะฉะนั้นเราก็แยกได้ว่าเวลาที่โลภเจตสิกเกิด โลภะเป็นมูลให้เกิดอกุศลธรรมที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น รวมทั้งโมหเจตสิกด้วยซึ่งขณะนั้นโลภะก็ต้องเป็นมูลให้เกิดโมหเจตสิกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเข้าใจอย่างนี้ว่าเจตสิกที่เกิด เจตสิกใดเป็นมูลก็เป็นมูลให้เกิดจิต และเจตสิกที่เกิดร่วมกันทั้งหมด พอถึงโมหเจตสิกจะเกิดกับโลภมูลจิตหรือไม่เกิดกับโลภมูลจิตก็ตาม โมหะก็เป็นมูล แล้วแต่ว่าขณะนั้นเป็นมูลให้เกิดโลภะหรือไม่เป็นมูลให้เกิดโลภะ เป็นมูลแต่เพียงให้เกิดสภาพธรรมที่เป็นอกุศลอื่นที่ทำให้จิตขณะนั้นเป็นโมหมูลจิต แต่เวลาที่โมหเจตสิกเกิดกับโลภมูลจิต ถ้ากล่าวถึงโมหเจตสิกๆ ก็เป็นมูลให้เกิดจิต และอกุศลเจตสิกทั้งหมด ไม่เว้นแม้แต่โลภเจตสิกก็เกิดเพราะโมหะเป็นมูล ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็จะค่อยๆ เห็นความเป็นปัจจัย แล้วก็เห็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรม มีความเข้าใจว่าเป็นธรรมทุกขณะ ไม่ใช่เรา ขั้นฟัง แต่ก็เป็นประโยชน์ที่จะได้รู้ความจริงเพราะเหตุว่าถ้าเราจะศึกษาเรื่องของกุศลจิตมากๆ คนนั้นต้องมีกุศลจิตมากๆ เพราะกำลังพูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้นแต่ละคนก็จะรู้ว่าควรจะฟังเรื่องอะไร เพื่อที่จะได้เป็นอนุสสติเตือนให้ระลึกถึงพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง

        ที่มา ...

        พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 211


    หมายเลข 10779
    25 ม.ค. 2567