ทำไมต้องรอ


        ผู้ฟัง ก็ได้ฟังคำอธิบายก็มีคำถาม คือเกี่ยวกับเรื่องการอบรม ได้สนใจระลึก คือนึกถึง คำว่าอบรม เช่น ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา ขั้นภาวนานี้ก็จัดว่าเป็นขั้นอบรมให้เกิดปัญญาเหมือนกัน เช่น การมาฟังธรรมในวันนี้ ก็จัดว่า เป็นการทำให้เกิดปัญญาขึ้น แล้วก็การที่มาสนทนาธรรมกันนี้อีก สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง มีบุคคลนั้นถาม เราก็บอกว่าคำถามนี้ดีจังเลย ฟัง แล้วเกิดความเข้าใจ ทีนี้มันก็ไปประพฤติปฏิบัติที่บ้าน อย่างนี้ จะเรียกว่าเป็นตัวตนอีก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในขณะที่รู้ หรือว่าได้ยิน ได้ยินเสียง ยกตัวอย่างว่า ได้ยินเสียง ซึ่งจริงๆ ก็ได้ยิน คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางหู ในขณะนั้นก็นึกคิดว่า รู้เป็นจิต ขณะที่เสียงเป็นรูป แต่รู้ทางหู หูก็เป็นธาตุทั้ง ๔ มาประชุมรวมกัน อย่างนี้ อันนี้เป็นนึกคิด จะจัดว่าเป็นการอบรมไหมครับ

        ท่านอาจารย์ ที่พูดมามีตรงไหนผิดบ้างไหมคะ ฟัง แล้วจะไปปฏิบัติที่บ้าน นี่ถูกหรือผิด คะตรงนี้

        ผู้ฟัง มันเป็นตัวตนครับ

        ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดความคิดอะไรขึ้นมา ถ้ามีการฟังจนกระทั่งเข้าใจ สติก็จะมีการระลึกได้ว่า ที่คิดหรือเข้าใจอย่างนั้น ถูกหรือผิด ด้วยตัวของตัวเอง ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดคือการฟังทำให้เกิดปัญญาของผู้ฟัง แล้วก็ปัญญานั้นก็จะตรงกับลักษณะของสภาพธรรมะที่จะทำให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้น

        เพราะฉะนั้น ในขณะนี้มีธรรมะ แล้วก็ถ้ามีความคิดว่า กลับไปบ้านจะปฏิบัติ ทำไมต้องรอ ไม่เป็นเรื่องของธรรมะ ไม่เป็นเรื่องของอนัตตาซึ่งอาจจะมีสัมมาสติเกิดระลึกในขณะนี้ก็ได้ หรือว่ากลับไปถึงบ้าน แล้วก็ไม่ระลึก จะไปสร้างความระลึกให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าแม้แต่การระลึกลักษณะของสภาพธรรมะก็ต้องเกิดขึ้นเพราะมีปัจจัยเพียงพอ เหมือนกับได้ยิน ถ้าไม่มีเสียง อย่างไรๆ ได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใด การที่สติสัมปชัญญะจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมะที่ได้ฟังบ่อยๆ ก็ แล้วแต่เหตุปัจจัย จึงจะเป็นสัมมาสติ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่เราเพราะว่าในที่สุดก็จะต้องประจักษ์ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมะทั้งหลาย จึงจะเป็นถูกต้อง แต่ถ้ามีความสำคัญว่าเป็นเราจะทำ ขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นความเห็นผิด ซึ่งจะกั้น เมื่อไรๆ ก็จะทำ เมื่อไรๆ ก็จะทำ ระหว่างที่ยังไม่จะทำ ก็มีสภาพธรรมะ แล้วสัมมาสติก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น เพราะมีความคิดมีความเข้าใจว่าจะทำ

        เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีความคิดว่าจะทำ แต่รู้ว่าสภาพธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกคนก็คงจะเห็นด้วย ถ้ามีการกล่าวว่า ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่ว่าข้างหน้าแสนไกล อาจจะเป็นหลาย ๑๐ ปีหรือว่าอาจจะเป็นปีหน้า หรือเดือนหน้า แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมะ ไม่รู้จริงๆ ว่า ขณะต่อจากขณะจิตที่เกิดขึ้นนี้ แล้ว จิตอะไรจะเกิดต่อ นี่จึงจะเป็นความถูกต้อง คือเป็นผู้ที่มีความเข้าใจการเกิดขึ้นของจิตแต่ละขณะว่า เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

        เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัจจัยเพียงพอ ไม่ต้องคิดเลย กลับบ้านจะไปปฏิบัติ ถ้ามีปัจจัยเพียงพอ ผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม ไม่ได้กลับไปไหนเลย รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อได้ฟังพระธรรม ฉันใด พุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรมก็ฉันนั้น คือไม่มีความต่าง ธรรมะต้องเป็นธรรมะ สัจธรรมก็เป็นสัจธรรม ไม่ว่าเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีหรืออีกกี่แสนปีก็ตามแต่ ความจริงก็ต้องเป็นความจริงอย่างนี้คือว่า สภาพธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา ขึ้นอยู่กับว่าปัญญาจะรู้หรือไม่รู้ตามความเป็นจริง ถ้ามีความเห็นว่าจะทำ ก็ขอให้พิจารณา แล้วก็ควรจะเลิกคิดอย่างนั้น

        ผู้ฟัง มีคำถามอีกคำถามหนึ่งซึ่งเกี่ยวข้องกัน คือ คำว่าศึกษาตาม ส่วนมากก็จะฟัง แล้วก็สนทนากัน เสร็จ แล้วคำว่าศึกษาตาม คือ ชีวิตประจำวัน ปกติ แล้วยกตัวอย่าง ตอนเช้าลุกขึ้นมาทำกิจวัตรชีวิตประจำวัน คือ แปรงฟัน ขณะที่แปรงฟัน มันก็มีสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น คือรสชาติของยาสีฟัน มันก็มีปรากฏ ในขณะที่รู้ในขณะนั้น มันก็นิดเดียวมันก็นึกคิดต่อว่า ขณะนี้รู้ มันเป็นจิตรู้ เป็นธาตุ เป็นอะไรก็นึกคิดไปเรื่อย ไม่ทราบว่าการศึกษาตามแบบนี้ จะถูกหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบครับ

        ท่านอาจารย์ คิดนึกตามด้วยความเคยชินที่จะคิดตาม ถูกไหมคะ ไม่ว่าอะไรจะปรากฏทางตาก็คิดเป็นเรื่องราวของสิ่งนั้น แม้ว่ารสชาติของยาสีฟันจะปรากฏก็คิดเรื่องรสชาติของยาสีฟันก็ได้ เป็นปกติที่เคยสะสมมา แต่ถ้าเข้าใจว่าสติปัฏฐาน คือ รู้ตามสภาพธรรมะที่ปรากฏ ไม่ได้ผิดจากสภาพธรรมะที่ปรากฏ แทนคิดมีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ ยังไม่ทันคิดสติปัฏฐานสามารถจะเกิดรู้ลักษณะของรส หรือรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังลิ้มรส ซึ่งจะทำให้เข้าใจว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเข้าใจสภาพธรรมะถูกต้องตามความเป็นจริงว่า นามธรรมก็เป็นนามธรรมที่รู้ แล้วรูปธรรมก็เป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ ในขณะนั้น แม้เล็กน้อย แต่ก็ควรจะเกิดปีติ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจประโยชน์ว่า ขณะนั้นแหละ จะเป็นขณะที่ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ เกิด ในสังสารวัฏได้เกิด แล้ว จะมากหรือจะน้อยก็ตาม แต่ก็เป็นขณะที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมะที่ปรากฏ แล้วก็ขณะนั้นก็จะต้องละความหวัง เพราะว่าความหวังจะติดตามมาตลอด หวังจะให้สติเกิดอีก หวังจะให้เป็นอย่างนั้น หวังจะให้เป็นอย่างนี้

        เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญหนทางที่ถูก จะเห็นโลภะ จึงจะละโลภะได้ แต่ถ้าไม่เห็นก็จะตามโลภะไปทันที

        ผู้ฟัง ขออีกสักคำถาม คือจะมีคำถามว่า เสียงที่จะทำให้เข้าใจธรรมะตามความเป็นจริง ใช่ขณะที่กำลังสนทนากันนี้ ใช่หรือเปล่าครับ

        ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง ถ้าพิจารณา แล้วเข้าใจได้

        ผู้ฟัง เพราะบางทีมันไปนึกคิดว่า ฟังเราเข้าใจ แต่ว่าพอไปทำหรือเป็นตัวตนอะไรขึ้นมาเมื่อไรมันก็ผิดหมด

        ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือห้ามความคิดไม่ได้ แต่ปัญญาความเห็นถูก จะทำให้เข้าใจว่าแม้คิดก็เป็นธรรมะ จนกระทั่งทุกอยย่างจริงๆ ในชีวิตเป็นธรรมะทั้งหมด จึงจะละวิจิกิจฉานุสัย ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมะได้

        เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยาวนานมากกว่าจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมะจนทั่ว จนเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมะใดที่สติระลึกก็เป็นธรรมะทั้งนั้น


    หมายเลข 10395
    9 ม.ค. 2567