คุ้นเคยที่จะคิดถึงอะไร


        เรามักจะคิดถึงเรื่องต่างๆ ตามที่สนใจ และคุ้นเคย มากกว่าที่จะคิดถึงพระธรรม ทั้งๆ ที่เรื่องราวเหล่านั้น ไม่ได้เป็นประโยชน์ในการสะสมปัญญาเลย ดังนั้นควรสะสมความคุ้นเคยในการฟังพระธรรม ซึ่งจะทำให้คิดถึงธรรมะบ่อยๆ และมีความเข้าใจถูกเพิ่มขึ้น


        วันนี้คิดถึงเรื่องอะไรบ้างคะ กว่าจะคิดฟังธรรมน้อยกว่า คิดเรื่องอื่นมากกว่า เพราะอะไร ถ้าเราคุ้นเคยกับสิ่งไหน ห้ามไม่ให้คิดถึงสิ่งที่คุ้นเคยได้ไหม แต่พอเราคุ้นเคยกับสิ่งนั้นแล้ว เราก็จะคิดถึงสิ่งนั้น ถ้าเราคุ้นเคยกับการฟังพระธรรมด้วยความเคารพอย่างยิ่ง คือ เพื่อเข้าใจถูก เพื่อเห็นถูก เพื่อละความไม่รู้ ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ การฟังธรรมะในขณะนั้นก็จะเข้าถึงความเป็นธรรมะ เพราะไม่ใช่มีเราฟังเพื่อจะเก่ง หรือจะเข้าใจ หรือจะเป็นผู้รู้ หรือเพื่อลาภสักการะ เพื่อให้คนอื่นชม หรือจะกล่าวถึงเราเป็นคนดีฟังธรรมะ ก็ไม่ใช่ แต่เพราะรู้ว่า ไม่เข้าใจแล้วสามารถเข้าใจได้ทางเดียว คือฟังพระธรรมที่พูดถึงเรื่องนี้ สิ่งที่มีจริงในขณะนี้ เพื่อให้คุ้นเคยที่จะคิดถึงจนกระทั่งสามารถเริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

        เพราะฉะนั้น จะมีคำว่า “อุปนิสยโคจร” หลายคนไม่ชอบภาษาบาลี ใครจะชอบ ไม่ใช่ภาษาของเรา ฟังก็ยาก ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร พูดรวมๆ มา แล้วก็จำๆ ไป แต่ความจริงถ้าในอดีตชาวมคธเข้าใจความหมาย อุปนิสยโคจร โคจร เป็นอีกคำหนึ่งของอารัมมณะ หมายความถึงสิ่งที่จิตรู้ หรือที่ไปของจิต

        เพราะฉะนั้น คำที่เป็นภาษาที่ชาวเมืองในครั้งนั้นใช้ก็เป็นภาษาชาวบ้านอย่างเราที่ใช้ คำๆ เดียวก็มีความหมายหลายอย่าง หรือสิ่งเดียวก็มีหลายๆ คำ สตรี กุมารี นารี ต่างกันไหมคะ หมายความถึงผู้หญิงเท่านั้นเอง จะใช้คำผู้หญิงก็ได้ เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออารัมพนะ หรือโคจระ หมายความถึงอารมณ์ของจิต เพราะจิตไปสู่อารมณ์ เกิดขึ้นมาแล้วไปไหน ไปสู่อารมณ์ เกิดมาแล้วรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ อย่างจิตเห็นไม่ได้ไปที่เสียงเลย จิตเห็นเกิดขึ้นไปที่สิ่งที่กระทบตาจึงเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ เวลาที่เป็นจิตได้ยินไม่ได้ไปทางกลิ่น หรือทางลิ้น แต่เมื่อกระทบกับกับโสตปสาท คือ หู เสียงเกิดขึ้นกระทบหู จิตเกิดขึ้นจะให้ไปไหน จะให้ไปรู้อะไร ก็ต้องรู้เฉพาะเสียงที่กระทบหู ถ้าเสียงไม่กระทบหู จิตเกิดขึ้นได้ยินไม่ได้เลย ต้องอาศัยปัจจัย คนหูหนวกมี คนตาบอดมี เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจความละเอียดถึงสภาพธรรมะที่กำลังมีจริงๆ ว่า ฟังเพื่อสะสมความเข้าใจจนกระทั่งเป็นอุปนิสัยที่มีกำลัง เพราะเหตุว่าโคจรเป็นชื่อของอารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ อุป แปลว่ามีกำลัง นิสยะ แปลว่าที่อาศัย

        เพราะฉะนั้น ขณะนี้อารมณ์ใดเป็นที่อาศัยที่มีกำลังของจิต รู้ได้เลยว่า เกิดแล้ว สนใจเรื่องอาหารไหมคะ ไม่สนใจ สนใจเรื่องต้นไม้ไหม สนใจเรื่องตัดเย็บไหม เพราะฉะนั้น สนใจอะไรมี หรือที่จะไม่คิดถึงสิ่งที่สนใจ เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินได้ฟังบ่อยๆ มี หรือที่จะไม่คิดถึงสิ่งนั้น

        ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมเช้า สาย บ่าย ค่ำ เพื่อเป็นอุปนิสัยในภาษาไทย หมายความว่าเป็นที่อาศัยที่มีกำลัง ให้เราไม่ละเลยการฟังสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในชีวิต คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ซึ่งยากที่จะรู้ได้ เกิดมาแล้วไม่รู้ แล้วก็ตายไป สนุกมากเลย เกิดมาแล้ว อร่อยมากเลย แต่ว่าแล้วก็ตายไป โดยไม่รู้ความจริงเลย แล้วก็จำไม่ได้ด้วย แต่ว่ายังไม่ได้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏในชาตินั้นเลย แต่ละชาติไป ไม่สนใจที่จะเข้าใจความจริงของสิ่งที่เกิดมาแล้วมีให้รู้ ก็ไม่รู้

        เพราะฉะนั้น แต่ละคนที่ได้เห็นประโยชน์ก็จะฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจขึ้น หรือเพื่ออย่างอื่น ต้องตรงนะคะ ต้องตรง


    หมายเลข 10298
    18 ก.พ. 2567