เรื่องของการบวช

 
บ้านธัมมะ
วันที่  27 มี.ค. 2549
หมายเลข  974
อ่าน  4,137

มีคำถาม จากผู้ชมท่านหนึ่งเรื่องการบวชส่งมาทาง email ถึงบ้านธัมมะดังนี้ "ผมได้รับอานิสงฆ์จาก www.dhammahome.com นี้มากมายนัก จากการติดตามศึกษาความรู้พระพุทธศาสนาโดยเฉพาะด้านพระอภิธรรมมากมายนัก จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ผมเข้าใจแล้วว่า ธรรมะ คือ อะไร การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง คือ อะไร ผมจึงอยากจะปรึกษาหารือว่า ถ้าหากผมจะบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ และผมปรารถนาที่จะร่ำเรียนในทิศทางที่อาจารย์สุจินต์ สอนอยู่นี้ ควรจะบวชที่วัดใดได้บ้าง ในกรุงเทพฯ หรือในจังหวัดใด กรุณาแนะนำผมหน่อยได้ไหมครับ ด่วนนะครับเพราะผมกำลังจะตัดสินบวชในพรรษานี้

ขอขอบคุณล่วงหน้านะครับ"


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 28 มี.ค. 2549

เท่าที่ทราบปัจจุบันตามวัดต่างๆ หลักสูตรที่ทางพระภิกษุท่านเรียนอยู่ คือ หลัก สูตรนักธรรมตรี โท เอก หลักสูตรบาลีไวยากรณ์ประโยค ๑ ถึงประโยค ๙ วัดบาง แห่งมีสอนบาลีไวยากรณ์หลักสูตรกัจจายนะ วัดบางแห่งมีสอนพระอภิธรรมบ้าง ถ้า จะศึกษาพระอภิธรรมตามแนวทางพระไตรปิฎกที่ท่านอาจารย์สุจินต์สอนอยู่ มีการ ศึกษาที่มูลนิธิฯ หรือจะเป็นการศึกษาจากหนังสือ เทป วิทยุ mp3 ก็ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
werayut
วันที่ 28 มี.ค. 2549

ในสมัยพุทธกาล มีผู้คนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนานั้น พวกท่านได้ฟังธรรมจนเข้าใจดีแล้ว และได้เห็นโทษของการอยู่ครองเรือน ที่เต็มไปด้วยสิ่งที่น่าเกลียดเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ จึงต้องการสละความเป็นชาวบ้าน มาบวชเป็นพระภิกษุ ซึ่งท่านเหล่านั้นเข้าใจแล้วว่าไม่ได้หวังอะไรที่เป็นเรื่องทางโลก สำหรับในยุคสมัยเรา ผู้คนมาบวชกัน ก็เพราะทำตามประเพณี และหวังได้บุญ ก็กระทำต่อๆ กันมา ผู้คนจำนวนมากเข้ามาบวชโดยไม่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยมาก่อนเวลาเป็นพระภิกษุ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการประพฤติปฏิบัติ ให้อยู่ในระเบียบของความเป็นสงฆ์ที่พระวินัยบัญญัติไว้ อาจจะเพราะทำไม่ได้และเพราะความไม่รู้ กาลเวลาล่วงเลย โลกและวิถีชีวิตก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไป แต่พระธรรมวินัย หรือศีล 227 ข้อ ที่พระภิกษุสงฆ์ต้องยึดถือปฎิบัติยังคงเดิม ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงได้ ในยุคสมัยนี้ มีการติดต่อค้าขายและวิทยาการก้าวหน้าที่เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของคน ซึ่งสวนทางกับการละคลาย หลายสิ่งหลายอย่างขัดต่อพระธรรมวินัยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ถึงแม้พระภิกษุจะพยายามรักษาพระวินัยแต่อาจถูกสภาพแวดล้อมหรือญาติโยมที่ไม่รู้พระวินัยบีบบังคับหรือชักจูงให้ผิดไปได้โดยไม่รู้ตัวนะครับ เช่น การใช้เงิน การอ่านหนังสือพิมพ์ ดูโทรทัศน์ ใช้โทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ต อย่าอ้างเหตุผลใดๆ เลยครับ ผิดทั้งนั้นแหละ

ขอแนะนำว่าก่อนที่จะบวช ต้องศึกษาพระธรรมวินัย และศีล 227 ข้อ ดูว่าเข้าใจและมั่นใจว่า จะทำได้ตามนั้นหรือเปล่า ถ้ามั่นใจ จะบวชที่ไหนก็ได้ครับที่สะดวกกับเรา ถ้าไม่มั่นใจแล้วไปกระทำผิดภายหลัง อกุศลก็อาจมีมากกว่าศึกษาฟังธรรมอยู่ในเพศฆราวาส ถูกไหมครับ ขออนุโมทนาในศรัทธาของคุณนะครับ สำหรับวัดไหนเหมาะสม คุณจะทราบเองครับหลังจากเข้าใจพระวินัย เพราะวัดที่สอนถูกต้องก็จะสอนแบบเดียวกับที่ท่านอาจารย์สุจินต์สอนครับ คือถูกต้องตามพระไตรปิฎก ซึ่งทุกวัดน่าจะสอนแบบนั้น หากมีการเบี่ยงเบน หรือปะปนความเห็นของผู้สอน หรือหวังเอาประโยชน์อื่นๆ ก็จะไม่ตรงกับในพระวินัยครับ

เรื่องที่ต้องรีบด่วนคงไม่ใช่รีบไปบวชหรอกครับ ต้องรีบศึกษาให้เห็นโทษของอกุศล ฟังธรรมะที่บ้านธัมมะนี่แหละครับ ผมรับรองว่าถูกทางแล้ว ถ้าไม่มีบุญสะสมไว้เก่าไม่ได้มาถึงตรงนี้หรอกครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 28 มี.ค. 2549

ศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาเพื่ออะไร

พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนให้เกิดปัญญา เพราะว่าเป็นคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ฟังได้มีโอกาสฟัง ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่า ขณะที่ฟังมีความเห็นถูกมีความเข้าใจถูก ในสิ่งที่กำลังได้ยิน ได้ฟัง มากน้อยแค่ไหน หรือว่าขณะนั้นมีความต้องการอย่างอื่น คือ ต้องการที่จะทำ ต้องการที่จะเห็น ต้องการที่จะรู้ โดยที่ไม่ทราบเลยว่าขณะนั้น ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นโลภะ ในชีวิตประจำวันที่เราใช้คำต่างๆ เช่น คำว่า สติกับปัญญา เราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจแล้ว พอพูดถึงสติ ก็ดูเหมือนเข้าใจ พูดถึงปัญญาก็เหมือนเข้าใจ แต่ว่าไม่ตรงกับสภาพธรรมเพราะว่า ถ้าพูดถึงสภาพธรรมที่เป็นสติ ต้องเป็นโสภณธรรมฝ่ายดี จะเกิดกับอกุศลไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะที่ทำอะไร

ด้วยความติดข้อง พอใจ ตั้งอกตั้งใจทำ แล้วคิดว่าขณะนั้นเป็นสติ ไม่ถูกต้อง เพราะว่าถ้าเป็นสติต้องเป็นโสภณ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน สติจะเกิดกับจิตที่เป็นกุศลนี่เป็นคร่าวๆ แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียด สติเป็นโสภณย่อมเกิดกับจิตประเภทอื่นหรือชาติอื่น เช่น วิบาก ผลของกรรมที่เป็นกุศลวิบากหรือว่าเป็นกิริยาจิตก็ได้ แต่การศึกษาโดยละเอียด จะทำให้เราเริ่มเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง อาศัยการฟัง และขณะที่ฟังก็ต้องฟังด้วยดี ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง อันนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าถูกต้อง หมายความว่า ตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง แล้วการฟัง คือ การศึกษาแต่ละครั้ง ก็จะทำให้เข้าใจธรรมขึ้น ปัญญาก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เราจะไปทำ แต่เพราะปัญญามีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็นสังขารขันธ์ ที่จะทำให้สติอีกระดับหนึ่งเกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน

การอยู่ในเพศฆราวาส ก็สามารถศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาได้เช่นกัน ในครั้งพุทธกาล มีฆราวาสมากมายที่เมื่อฟังพระธรรมแล้ว บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี และท่านวิสาขามิคารมาตา ทั้งสองท่านนี้ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันบุคคล ส่วนท่านจิตตคฤหบดี ท่านฟังธรรมแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอนาคามีบุคคล ทั้งสามท่านเป็นคหบดีมั่งคั่ง มีครอบครัว ใช้ชีวิตเป็นปกติ แต่ท่านฟังธรรมและศึกษาธรรมะ จนมีความเข้าใจและสามารถบรรลุธรรมตามระดับขั้นของปัญญาของแต่ละท่าน

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
khampan.a
วันที่ 6 เม.ย. 2549

ชีวิตของเพศบรรพชิตเป็นเพศที่จะต้องขัดเกลาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งก็แล้วแต่อัธยาศัย ของแต่ละบุคคล เพราะคนเราสั่งสมมาแตกต่างกัน ในยุคปัจจุบันนี้ไม่ว่าจะเป็น บรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็สามารถที่จะศึกษาธรรมได้เหมือนๆ กัน

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
khampan.a
วันที่ 6 เม.ย. 2549

แม้แต่ในสมัยพุทธกาล ผู้ที่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น ก็มีทั้งเพศบรรพชิต และเพศคฤหัสถ์

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 29 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ