คนมือใหม่ จะรู้กายรู้ใจอย่างไร?

 
จ่าหนาน
วันที่  17 ส.ค. 2551
หมายเลข  9593
อ่าน  2,564

ผมก็มือใหม่ อยากจะตามรู้กายรู้ใจ แต่ก็ยากมาก จิตสับสนวุ่นวายอยู่ตลอด การตามรู้กายรู้ใจ ผมเข้าใจว่า ในขณะที่เราตื่นอยู่ ทุกขณะที่เราทำอะไรก็ตาม เราจะตามรู้ตลอดจากสื่อที่เข้ามาจากทางทวารทั้ง ๖ เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างใหนมาแรงเราก็ยึดอันนั้นเพียงอย่างเดียว คือ การตามดูห่างๆ ไม่เข้าไปร่วมด้วย เช่นการมองเห็น ก็แค่มองเห็นไม่ตีความว่าเป็นอะไร ได้ยินเสียงก็ไม่ตีความหมายว่าหมายความว่าอะไรยากมากๆ ครับ ถ้าผมจะยึดเกาะ พุธโธ ไว้ตลอด คิดเอาเองว่าเหมือนเราหัดเดินเราก็จะเกาะราวก่อน พอแข็งแรงเดินเก่งค่อยไปเรื่อยๆ ดูที่ใหนก็ได้ จะง่ายกว่าที่จะตามรู้กายรู้ใจ มั้ยครับ และถูกทางมั๊ยครับ การยึด พุธโธ ตลอด (เมื่อมีสติระลึกได้) เป็นการทำสมาธิหรือไม่ และที่เขาหลับตานั่งสมาธิก็คือการฝึกจิตให้นิ่ง ไม่ให้คิดสับสนวุ่นวาย ใช่มั๊ยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prachern.s
วันที่ 18 ส.ค. 2551

ควรทราบว่าเรื่องการศึกษาพระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก การจะรู้ตามพระธรรมที่เราศึกษาจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ยากและละเอียด ยากยิ่งกว่าการศึกษาตามปริยัติอีกหลายเท่า ดังนั้น จึงไม่ควรรีบร้อนที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือทำตามบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยที่เรายังไม่เข้าใจจริงๆ แม้แต่คำว่า ตามรู้กายรู้ใจ ก็เช่นกัน ควรทราบว่ากายคืออะไร ใจคืออะไร จะรู้กายใจตามความเป็นจริงได้อย่างไร รู้จริงๆ ด้วยอะไร รู้ขณะไหนรู้อย่างไร ดังนั้น จึงไม่ควรประมาทว่ารู้แล้ว เข้าใจแล้ว ควรศึกษาโดยละเอียด และรอบคอบ เพื่อที่จะไม่เป็นผู้ปฏิบัติผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุติ..

ขอเชิญคลิกอ่านเรื่องภาวนาที่ ..

อยากทราบวิธีการภาวนาค่ะ ถามเรื่องการภาวนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 18 ส.ค. 2551

ถ้าอยากแล้วจะยิ่งยากครับ เพราะขณะที่อยากนั้น จิตใจหวั่นไหว สับสน วุ่นวาย ไม่สงบเต็มไปด้วยความต้องการที่จะรู้ ความต้องการผล แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้ทั้งหมด เป็นไปเพื่อการรู้จักธรรมตามความเป็นจริงของธรรม ไม่ได้ทรงบอกให้สาวกทำตามโดยขาดการพิจารณาด้วยความรอบคอบ แต่ทรงแสดงธรรมให้สาวกใส่ใจฟังสาระที่จะได้ยินให้ดี จากนั้นก็คิดไตร่ตรองจนเกิดความรู้ เป็นปัญญาของตนเอง ซึ่งเมื่อรู้ถูกต้องขึ้น ก็จะค่อยๆ เริ่มละความไม่รู้ได้ แต่ถ้ายังไม่รู้ ขาดความเป็นผู้มีเหตุผล ก็จะมีการยึดติดในข้อปฏิบัติที่ผิดๆ ด้วยความเห็นผิดอื่นๆ ตามมาเพราะความไม่รู้นั้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นโทษร้ายแรง เพราะไม่ทำให้พ้นทุกข์ครับ

การละกิเลสไม่ใช่เรื่องที่ง่ายและรวดเร็วเลย จะละข้ามขั้นตอนก็ไม่ได้ พระพุทธองค์จึงทรงแสดงหนทางซึ่งเป็นทางสายกลางไว้ตลอด ๔๕ พรรษาโดยละเอียด เพื่อให้สาวกทั้งหลายได้ฟัง แล้วก็ศึกษาพระธรรมที่ตรัสไว้โดยความไม่ประมาท โดยความไม่เป็นผู้ที่รู้เพียงผิวเผิน ถ้าหากว่า เราเป็นผู้หนึ่งที่กำลังแสวงหาความจริงที่เป็นสัจจธรรม ไม่ว่าจะเคยศึกษามามากมายเท่าไรแล้วก็ตาม พักเรื่องข้อปฏิบัติเดิมๆ ที่เคยกระทำมา แล้วตั้งต้นด้วยการค่อยๆ ศึกษาพระธรรมขั้นพื้นฐานที่ถูกต้อง ตอนนี้ก็ยังไม่สายครับ ถ้าเหตุเริ่มถูก ผลก็ย่อมถูกด้วย เริ่มด้วยความเข้าใจที่ชัดเจนว่า "ธรรมคืออะไร" ก่อนนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 18 ส.ค. 2551

สภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เป็นสิ่งที่ควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง เพราะเหตุว่าพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง เป็นเรื่องของสภาพธรรมในชีวิตประจำวันทั้งหมดเป็นสภาพธรรมที่เริ่มมาตั้งแต่เกิดมาในโลกนี้ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบ-สัมผัส คิดนึก ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ แก่ชรา เจ็บ และในที่สุดก็ต้องตายสูญสิ้นความเป็นบุคคลนี้ไม่กลับมาเป็นบุคคลนี้อีกเลย แต่ละขณะที่ชีวิตดำเนินไปนั้น ล้วนเป็นธรรมทั้งหมด ตราบใดที่ยังมีอวิชชา ความไม่รู้ ยังมีโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ สังสารวัฏฎ์ ก็ยังไม่จบสิ้น ยังต้องเกิดและต้องตายอยู่ร่ำไป เพราะฉะนั้นแล้ว ไม่ต้องไปคิดทำอะไรด้วยความไม่รู้ ด้วยความเป็นตัวตน แต่ต้องอาศัยการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม หมั่นอบรมเจริญปัญญา ไปเรื่อยๆ ช่วงเวลาที่ชีวิตยังมีอยู่ เป็นไปอยู่นี้ จึงควรที่จะเป็นโอกาสของการอบรมเจริญปัญญา เพิ่มพูนความเข้าใจถูก เห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงซึ่งย่อมจะเป็นสิ่งที่ดีที่ประเสริฐกว่าการพอกพูนกิเลสอกุศล (พร้อมทั้งความเห็นผิด) ให้หนาแน่นขึ้น ดังนั้น จึงไม่มีหนทางอื่น นอกจากการอบรมเจริญปัญญา ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ปริศนา
วันที่ 18 ส.ค. 2551

ขณะที่สติเกิดคือ การน้อมไปที่จะรู้ว่าเสียงปรากฏรู้ว่าเสียงเท่านั้น (ไม่มีอื่น) ที่ปรากฏ.ขณะสติเกิดไม่ใช่ขณะที่กังวลขณะกังวล สติระลึกรู้ได้ว่า "กังวล"มีลักษณะอย่างไร ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
paderm
วันที่ 18 ส.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จากที่อ่านมาพอสรุปคำถามของคุณจ่าหนานได้ว่า อยากจะเริ่มจากการทำพุธโธก่อน เพราะคิดว่าง่ายกว่าการจะไปตามดูกาย ตามดูใจ ขออธิบายให้เข้าใจเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ จากคำกล่าวที่ว่า ถ้าผมจะยึดเกาะ พุธโธ ไว้ตลอด คิดเอาเองว่าเหมือนเราหัดเดินเราก็จะเกาะราวก่อน พอแข็งแรงเดินเก่งค่อยไปเรื่อยๆ ดูที่ใหนก็ได้ จะง่ายกว่าที่จะตามรู้กายรู้ใจ มั้ยครับ และถูกทางมั๊ยครับ การยึด พุทโธ ตลอด (เมื่อมีสติระลึกได้) เป็นการทำสมาธิหรือไม่

การอบรมปัญญาที่ถูกต้องคือรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมไม่ใช่เรา แล้วอะไรคือสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือธรรม ธรรมคือสิ่งที่มีจริง คือ นามธรรมและรูปธรรม สิ่งใดมีจริงนั้นเป็นธรรม ขณะนี้เองครับ เห็นมีจริงไหม เสียงมีจริงไหม เป็นธรรมครับ แต่ต้องไม่ลืมพื้นฐานที่สำคัญนะครับ ว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา และทุกอย่างเป็นธรรมด้วย การที่จะไปรู้ความจริงอย่างนั้นได้ ไปทำทันทีเช่น ไปทำพุทโธเลย หรือว่าควรฟังให้เข้าใจก่อนว่าธรรมคืออะไร ในขั้นการฟัง ลองพิจารณาดูครับ ว่าควรฟังให้เข้าใจก่อนว่าธรรมคืออะไรหรือไปทำทันที เราอยากพบธรรมใช่ไหมครับ อยากรู้ความจริง แต่ความจริงคืออะไรต้องฟังให้เข้าใจว่าความจริงคือธรรม ต้องเริ่มจากฟังให้เข้าใจก่อนนะครับ ส่วนเรื่องที่กล่าวไว้ว่าต้องเข้าใจเรื่องอนัตตานั้น จะโยงมาถึงประเด็นเรื่องพุทโธครับ การจะรู้ความจริงเป็นเราที่จะรู้หรือว่าเป็นหน้าที่ของปัญญาครับ อันนี้ให้คิดครับ ถ้ายังไม่มีปัญญาขั้นการฟังให้เข้าใจก่อน ปัญญาขั้นปฏิบัติจะเกิดได้ไหมครับ การที่จะไปกำหนดพุทโธ เป็นตัวเราที่มีความต้องการ หรือเป็นหน้าที่ของธรรมคือ ปัญญาครับ บังคับให้สติตามดูพุทโธ ตามใจชอบได้ไหมในเมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไมได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
paderm
วันที่ 18 ส.ค. 2551

อีกประเด็นที่ควรสนทนากันครับ

จากคำกล่าวที่ว่า ผมเข้าใจว่า ในขณะที่เราตื่นอยู่ ทุกขณะที่เราทำอะไรก็ตาม เราจะตามรู้ตลอดจากสื่อที่เข้ามาจากทางทวารทั้ง 6 เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างใหนมาแรงเราก็ยึดอันนั้นเพียงอย่างเดียว คือ การตามดูห่างๆ ไม่เข้าไปร่วมด้วย เช่น การมองเห็น ก็แค่มองเห็นไม่ตีความว่าเป็นอะไร ได้ยินเสียงก็ไม่ตีความหมายว่าหมายความว่าอะไรยากมากๆ ๆ ๆ ครับ

เห็นไหมครับ ตามที่กล่าวมาเราจะต้องมีความรู้พื้นฐานว่าธรรมคืออะไรและที่สำคัญมากๆ คือธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ลองสังเกตประโยคที่คุณได้อธิบายมา ลองสังเกตดูนะครับว่า ขัดกับหลักอนัตตาบังคับบัญชาไม่ได้หรือเปล่า สติที่ตามดูเป็นธรรมไหม สติเป็นธรรมเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไมได้ อีกประเด็นหนึ่งคือการเจริญวิปัสสนาเรามักลืมว่า ปัญญารู้อะไรในขณะนั้น อย่างเช่น การตามดูแล้วเฉยๆ ไม่รู้อะไร ไม่ปรุงแต่งไปกับสิ่งนั้น ขณะนั้นปัญญารู้อะไร ไม่เช่นนั้นก็ไม่ใช่การอบรมวิปัสสนาเพราะเป็นเรื่องของการเจริญขึ้นของปัญญาครับ ไม่ใช่เพียง เฉยๆ กับสิ่งที่เห็น ได้ยิน แต่ปัญญารู้อะไรในขณะนั้น ปัญญาเจริญจึงสามารถดับกิเลสได้ แต่ถ้าเฉยๆ กับสิ่งที่เห็น ก็เป็นเราที่เฉยๆ ไมได้ละความยึดถือว่าเป็นสัตว์บุคคลตัวตนครับ ยังยึดว่าเป็นเราที่เฉยๆ ครับ อย่างไรก็ตามขอฝากให้คุณจ่าหนานได้ฟังไฟล์ธรรมดีๆ ซึ่งจะช่วยปูพื้นฐานในความเข้าใจก่อนนะครับ ธรรมไม่ต้องรีบแต่ขอให้เริ่มต้นถูกครับ

ขออนุโมทนาที่สนใจพระธรรมครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
paderm
วันที่ 18 ส.ค. 2551

เชิญคลิกฟังที่นี่ครับ

การศึกษาธรรมไม่ใช่ให้คิดว่าฟังแล้วต้องไปทำ

ฟังให้เข้าใจว่าเป็นธรรม

ปัญญาเริ่มต้นจากการฟังพระธรรม

นอกจากฟังพระธรรมแล้วมีวิธีอื่นอีกไหม

ธรรมะคือสิ่งที่มีจริง

สิ่งที่มีจริงเป็นนามธรรมหริอรูปธรรม

อย่างไรก็ตามมีไฟล์ธรรมดีๆ อีกมากครับ รวมทั้งหนังสือในเวปนี้ที่ทำให้เข้าใจเพิ่มเติม

และเชิญร่วมสนทนาเพิ่มเติมได้ครับ ถ้ายังสงสัยประการใด ขออนุโมทนาครับอุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
คนเจ้าโทสะ
วันที่ 19 ส.ค. 2551

คำถามของคุณจ่าหนานเคยเป็นคำถามของดิฉัน

ท่านอาจารย์ตอบดิฉันว่า ฟังให้เข้าใจ

ดิฉันเคารพท่านอาจารย์มาก จึงทำอย่างเดียวคือ พยายามเข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง

และฟังบ่อยๆ ไม่สร้างเงื่อนไขอื่นๆ อีก

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
pornpaon
วันที่ 19 ส.ค. 2551

เคย "ทำ" แบบนั้นแบบนี้มามาก แต่เป็นการเสียเวลาเปล่า เพราะทำไปด้วยความไม่เข้าใจ ทำไปด้วยความเป็นตัวตน อยากได้ อยากรู้ อยากเป็น แต่ไม่ถูกทาง

ทั้งหมดที่ผ่านมา เป็นไปด้วยอำนาจของโลภะ พร้อมด้วยความเห็นผิด จนเมื่อฟังท่านอาจารย์นานเข้าจึงรู้ว่าต้อง เริ่มที่ความเข้าใจ... ฟังจนกว่าจะเข้าใจ...

อย่าเพิ่งรีบไปทำอะไรเลยค่ะ ธรรมะมิใช่ง่าย ค่อยๆ ฟังไปก่อนนะคะ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
swl
วันที่ 19 ส.ค. 2551

ความสนใจที่จะศึกษาพระธรรมเป็นสภาพธรรมอย่างหนี่งที่เกิดขึ้นตามการสะสมมา แต่ด้วยความไม่รู้ เราจึงคิดว่าเป็นเราที่อยากศึกษาธรรมะ ใช่หรือไม่คะ และเมื่อเราฟังพระธรรมมากขึ้น ทำให้เข้าใจได้ว่าความสนใจนี้เป็นกุศลจิตที่ควรเจริญ จึงเพียรที่จะศึกษามากขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ก็เรียกว่าสภาพธรรมอีกประเภทหนี่งกำลังทำกิจของความเพียรอยู่แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ จากนั้นอาจมีความไม่เข้าใจในข้อธรรม ความสงสัยเกิดขึ้น ก็เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งทำกิจอีก สลับกันไปตลอด ซึ่งทั้งหมด คือสภาพธรรม ไม่ใช่เรา จากที่ฟังพระธรรมมาและพิจารณาตามเช่นนี้ถูกต้องหรือไม่คะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
paderm
วันที่ 19 ส.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ทุกอย่างเป็นธรรม แต่เมื่อเพิ่งเริ่มศึกษาพระธรรม ปัญญาก็ยังไม่มาก ก็เป็นธรรมดาที่ยังมีเราที่จะทำ ที่จะเพียร ที่สำคัญความสนใจพระธรรมก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่ไมได้หมายความว่า ความสนใจที่เป็นฉันทะ จะต้องเป็นกุศลเสมอไป สนใจในพระธรรม แต่เป็นพระธรรมในทางผิด ก็เป็นฉันทะที่เกิดกับอกุศล แม้ความเพียร ความเพียรเกิดกับกุศลและอกุศลก็ได้ อาจกล่าวว่ามีความเพียรที่จะศึกษาพระธรรม แต่ถ้าเป็นความเพียรในหนทางผิด พระพุทธเจ้าไม่ทรงให้เพียรในสิ่งนั้นเพราะเป็นอกุศล เพียรในทางผิดครับ ซึ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ก็เป็นธรรม ไม่ว่าความเข้าใจและความสงสัยก็เป็นธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ซึ่งก็เป็นความจริงอย่างนั้น จนกว่าจะรู้จริงๆ ด้วยสติและปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ไม่ใช่ขั้นคิดนึกและพิจารณาครับ

ขออนุโมทนา
อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 20 ส.ค. 2551

ขออนุโมทนาทุกคำตอบครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
wannee.s
วันที่ 20 ส.ค. 2551

เริ่มต้นต้องรู้ว่ามีสติกับหลงลืมสติต่างกันอย่างไร กำลังเห็นที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นเช้า

สาย บ่าย เย็น การเห็นไม่ใช่เรา เป็นสภาพรู้เท่านั้น รู้อย่างนี้ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
จ่าหนาน
วันที่ 22 ส.ค. 2551

ผมได้อ่านทุกคำตอบแล้ว รู้สึกดีและอบอุ่นใจมาก เหมือนอยู่ในหมู่ญาติพี่น้องจึงขอขอบคุณทุกท่านเป็นอย่างสูง ผมก็ต้องศึกษาต่อไป ให้มีความรู้เพียงพอก่อนปัญญาคงจะเริ่มก่อเกิดนะครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
Komsan
วันที่ 24 ส.ค. 2551

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
คุณ
วันที่ 27 ส.ค. 2551
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของสหายธรรมทุกท่านค่ะ
 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ