อุเบกขาเกิดขึ้นโดยไม่เคยผ่านพรหมวิหารที่เหลือได้ไหม

 
suthon
วันที่  16 ก.ค. 2551
หมายเลข  9283
อ่าน  1,485

อยากทราบว่า สภาพธรรมที่เรียกว่าอุเบกขานั้น สามารถเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นๆ โดยที่ฅนนั้นๆ ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์เกี่ยวกับ เมตตา กรุณา มุทิตา มาก่อนได้หรือไม่ เพราะจำได้ว่า การเจริญอัปปมัญญา 4 นั้น สภาพอุเบกขาเป็นสภาพธรรมสุดท้าย และเห็นชัดในญาณสุดท้ายในรูปญาณ (ถ้าจำไม่ผิด)


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 18 ก.ค. 2551

ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค หัวข้ออุเบกขาพรหมวิหาร อธิบาย ผู้ที่จะเจริญอุเบกขาพรหมวิหารต้องผ่านการเจริญฌาน ๔ ในพรหมวิหาร ๓ ข้างต้นเสียก่อนจึงจะเจริญอุเบกขาพรหม-วิหารได้ แต่ในชีวิตประจำวันของผู้อบรมเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่ว่าการจะมีอุเบกขาไม่ได้เสียเลย คือ ย่อมมีได้บ้างตามโอกาสอันสมควร เช่น บางเหตุการณ์ไม่อยู่ในฐานะที่จะเมตตา หรือกรุณา หรือ มุทิตาได้ ก็ควรพิจารณาความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ajarnkruo
วันที่ 19 ก.ค. 2551

อุเบกขาในพรหมวิหาร ๔ ได้แก่ ความเป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่เอนไปเพราะรักบ้าง ชังบ้าง ด้วยปัญญาที่มั่นคงในความที่สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของๆ ตน การที่จะเจริญพรหมวิหาร ๔ ได้นั้นต้องอาศัยการเจริญปัญญาในขั้นของสมถภาวนา แต่โดยปรมัตถ์อุเบกขาในที่นี้ ก็คือ ตัตรมัชฌัชตตราเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับปัญญาเจตสิก และโสภณเจตสิกอื่นๆ ซึ่งก็สามารถเป็นธรรมะเครื่องระลึกของผู้มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ที่เข้าใจในเรื่องของการเจริญสมถภาวนาโดยนัยของวิปัสสนาภาวนาได้เช่นกัน
ในปุถุชน ผู้ไม่ได้ฌานจิต ขณะที่กุศลจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น จะไม่ขาดเจตสิกดวงนี้เกิดร่วมด้วยเลย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะปรากฏลักษณะให้สติปัฏฐานระลึกได้หรือไม่ว่าเป็นธรรมะอย่างหนึ่ง ถ้าไม่ปรากฏ ก็อาจจะเป็นเพียงปัญญาในขั้นการคิดพิจารณาถึงเรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดกับของคนหรือสัตว์ในเรื่องกรรมและผลของกรรมด้วยกุศลจิต ซึ่งทำให้เกิดความสงบของจิตได้ แต่ไม่ใช่สติปัฏฐานครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 19 ก.ค. 2551

การเจริญพรหมวิหาร 4 ในชีวิตประจำวัน แล้วแต่ว่าขณะนั้นเมตตาเด่น หรือกรุณาเด่นหรือมุทิตาเด่นหรืออุเบกขาเด่น เช่น พ่อแม่เมตตาลูก เมื่อลูกเดือดร้อนก็ช่วยเหลือ เมื่อลูกได้ดีก็ยินดีด้วย เมื่อช่วยไม่ได้จริงๆ ก็วางใจเป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์ไปด้วย จิตในขณะที่เป็นอุเบกขาเป็นกุศลจิต คิดถึงทุกคนมีกรรมเป็นของตนเองค่ะ

แต่ถ้าเป็น อุเบกขาบารมี คือ ธรรมที่ทำให้ถึงฝั่ง คือ การอบรมเจริญสติปัฏฐาน ขณะนั้นไม่มีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ มีแต่นามรูปเป็นอารมณ์ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
prakaimuk.k
วันที่ 20 ก.ค. 2551

อุเบกขาเป็นเรื่องยากและละเอียดกว่าที่เคยเข้าใจทั่วๆ ไปค่ะ เมื่อค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ พิจารณาตาม ก็ทำให้ค่อยๆ เข้าใจชัดเจนขึ้น....

ขออนุโมทนาผู้ตั้งกระทู้และผู้ตอบทุกๆ ความคิดเห็นค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ