อเสขบุคคลไม่ต้องศึกษาอะไรเลยหรือ?

 
lichinda
วันที่  7 ก.ค. 2551
หมายเลข  9178
อ่าน  1,222

มีสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่จำเป็นต้องศึกษา เราไม่ต้องไปอยากรู้ ไปอยากเห็น ไปอยากลอง ไม่ต้องไปสัมผัสเลย ได้แก่การทุจริต ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม แต่วิชาความรู้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเพื่อการเป็นพลเมืองดีของสังคมและประเทศชาติ เสขบุคคลไม่ศึกษาสิ่งที่ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสเลย แต่ต้องศึกษาสิ่งที่เป็นไปเพื่อความหมดไปจากกิเลสทั้งหลาย คือพระธรรมคำสอนของสมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อได้ศึกษาสำเร็จอรหันต์แล้ว ไม่ต้องศึกษาอีก คำถาม " ในครั้งพุทธกาล บางคนฟังพระธรรมครั้งเดียวก็สำเร็จพระอรหันต์ แม้ยังมีพระธรรมคำสอนที่ยังไม่ได้ศึกษาอีก ก็ไม่ต้องศึกษาอีก ใช่หรือไม่? "


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 8 ก.ค. 2551

ผู้ที่อ่านข้อความในพระไตรปิฎกจะพบข้อความว่า พระอรหันต์ท่านฟังธรรม หรือสนทนาธรรม ถามปัญหาธรรม จริงอยู่ พระอรหันต์ท่านไม่ต้องศึกษาเพื่อการดับกิเลสอีกแล้ว แต่ท่านศึกษาเพื่อรักษา เพื่อสืบทอดพระธรรมวินัย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชนรุ่นหลัง อนึ่งพระอรหันต์สาวกใช่ว่าท่านจะรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง บางสิ่งที่ท่านก็ไม่รู้ เช่นพระวินัยบัญญัติ เป็นต้น ท่านย่อมศึกษาในสำนักของพระอุปัชฌาย์ สำนักของพระอาจารย์ และต้องปฏิบัติตามพระวินัย ถือนิสัย เช่นกัน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.ค. 2551

ผู้ที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทำกิจที่ทำเสร็จแล้ว เปรียบเหมือนลูกจ้างที่รอเวลาเลิกงาน ท่านรอเวลาปรินิพพาน แต่ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ท่านทำสิ่งที่เป็นประโยชน์คือ เผยแพร่พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

คำถาม " ในครั้งพุทธกาล บางคนฟังพระธรรมครั้งเดียวก็สำเร็จพระอรหันต์ แม้ยังมีพระธรรมคำสอนที่ยังไม่ได้ศึกษาอีก ก็ไม่ต้องศึกษาอีก ใช่หรือไม่? " คำว่าศึกษาหรือสิกขานั้นก็คือ การอบรมศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อจุดประสงค์คือการดับกิเลส ซึ่งก็เริ่มจากการฟังให้เข้าใจก่อน เมื่อเข้าใจ ธรรมก็ทำหน้าที่ปฏิบัติ ไม่ต้องไปนั่งปฏิบิติ ขณะที่เข้าใจธรรมก็ปฏิบัติหน้าที่แล้ว ปรุงแต่งให้เข้าใจความจริงที่มีในขณะนี้ จนปัญญาถึงระดับที่ดับกิเลสได้ ก็เสร็จกิจหน้าที่คือศึกษาหรือสิกขา คือกิจหน้าที่คือดับกิเลสนั่นเอง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 8 ก.ค. 2551

ส่วนพระอรหันต์แต่ละรูปนั้น ก็สะสมบุญบารมีมาต่างกัน บางท่านก็มีปัญญาที่แตกฉานในพระไตรปิฎก บางองค์ก็ดับกิเลสอย่างเดียวเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้มีปัญญาแตกฉานรู้พระไตรปิฎก แต่ท่านก็เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ จึงควรเข้าใจว่า พระไตรปิฎกคือการแสดงสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้โดยนัยต่างๆ มากมายตามอัธยาศัยของสัตว์โลก พระอรหันต์ทำกิจคือ การศึกษาเสร็จแล้ว (ดับกิเลส) แต่ท่านก็เป็นผู้ยินดีในพระธรรม ฝักใฝ่ในพระธรรม ดังเช่น ท่านพระสารีบุตรและพระเถระรูปอื่นๆ ตั้งคำถามสนทนากันว่า ป่านี้จะงดงามด้วยภิกษุประเภทอะไร เป็นต้น และดังคำกล่าวของปัญจสิกขเทพบุตรที่ว่าน้องผู้มีรัศมีอันเปล่งปลั่งเป็นที่รักของพี่ ดุจลมเป็นที่ใคร่ของผู้มีเหงื่อ ดุจน้ำเป็นที่ปรารถนาของคนผู้กระหาย ดุจธรรมเป็นที่รักของพระอรหันต์ทั้งหลาย

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
พุทธรักษา
วันที่ 8 ก.ค. 2551

ศึกษา คือ การอบรมศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อจุดประสงค์คือ ดับกิเลสเริ่มจากการฟังให้เข้าใจก่อนเมื่อเข้าใจ ธรรมก็ทำหน้าที่ปฏิบัติขณะที่เข้าใจ ธรรม ก็ปฏิบัติหน้าที่แล้ว จนปัญญาถึงระดับที่ดับกิเลสได้ก็เสร็จกิจหน้าที่ คือการศึกษา กิจหน้าที่ คือดับกิเลสนั่นเอง.
(โดย....คุณแล้วเจอกัน)

ขออนุโมทนาค่ะ.
ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตาไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตามเหตุ ตามปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
lichinda
วันที่ 8 ก.ค. 2551

มีผู้กล่าวว่าผู้ฝักใฝ่ใคร่ในธรรม เห็นแก่ตัว ตัดช่องน้อย ปลีกวิเวก ไม่ทำประโยชน์แก่สังคม ผมชี้แจงว่าหากสังคมมีการให้ทาน ช่วยเหลือเจือจาน ผู้คนในสังคมอยู่ในศีลในธรรม ก็จะมีประโยชน์มหาศาล ส่วนผู้ที่จะบวชไม่สึก ถึงขั้นอรหันต์นั้นทำได้ไม่ง่าย จะมีไม่มาก และถ้ามีท่านก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมาก เพราะพระธรรมนั้นลึกซึ้งเข้าใจยากคำถาม "ด้วยเหตุอันใดหนอ เขาจึงมีความคิดเห็นว่าผู้ที่ศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นคนเห็นแก่ตัว ควรจะแนะนำเขาว่าอย่างไรดี"

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
wannee.s
วันที่ 8 ก.ค. 2551

คนที่ศึกษาธรรมเข้าใจจริงๆ ทำประโยชน์ให้สังคมได้ ข้อหนึ่ง ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน เพราะมีศีล 5 ข้อสอง ช่วยแนะนำธรรมที่ถูกต้องให้คนอื่นเข้าใจพระธรรมคำสอน ทำให้เขาเกิดปัญญาและเจริญกุศลขึ้นเป็นประโยชน์กับเขาทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไปด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ajarnkruo
วันที่ 8 ก.ค. 2551

คำถาม "ด้วยเหตุอันใดหนอ เขาจึงมีความคิดเห็นว่า ผู้ที่ศึกษาปฏิบัติธรรมเป็นคนเห็นแก่ตัว ควรจะแนะนำเขาว่าอย่างไรดี"

เรื่องความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นเรื่องที่ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นอนัตตาครับ แม้แต่ความคิดของเรา เราก็ห้ามไม่ได้ เพราะเป็นอนัตตาเช่นกัน จะต่างกันก็ตรงที่ความคิดเห็นของผู้ที่ศึกษาปฏิบัติธรรมนั้น มีความเข้าใจถูกว่า ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรม ที่ยังเป็นปุถุชน ยังเป็นผู้ที่มีกิเลสครบทุกประการเช่นเดียวปุถุชนผู้ไม่ได้ศึกษาปฏิบัติธรรม และมีความเห็นถูกว่า กิเลสก็เป็นธรรมะ เกิดกับจิตของใคร ล่วงออกมาทางใด ก็เหมือนๆ กันคือ เป็นอกุศล อกุศลไม่แบ่งแยกเพศ วัย ฐานะ และไม่มีทางที่จะเป็นกุศล เมื่อนั้นเราก็จะไม่เดือดร้อน และไม่เสียเวลาแก้ต่างความคิดเห็นของบุคคลอื่นครับ เพราะเราห้ามใครไม่ให้พูด หรือวิพากษ์ วิจารณ์ไม่ได้ แต่มีความคิดเห็นที่ถูกต้องเกิดขึ้นได้ เพราะอาศัยความเข้าใจในพระธรรมที่ได้ศึกษามา

เหตุนี้ สิ่งที่สำคัญมากกว่า คือจิตใจของเรา ว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ได้ยินได้ฟังสิ่งที่เขาพูด หากเขาพูดถูกต้อง เป็นความจริง ก็ควรค่าแก่การทบทวนและพินิจพิจารณาให้ได้เหตุและผลที่เหมาะสมโดยมีพระธรรมเป็นเครื่องตัดสิน หากคำที่เขากล่าวนั้น เป็นคำที่เตือนใจให้กุศลจิตเกิด และดึงเราออกจากความเป็นผู้ประมาท ก็น่าที่จะอนุโมทนาในคำนั้นจริงๆ แม้ผู้กล่าวจะกล่าวด้วยกุศลจิตหรืออกุศลจิตก็ตาม เพราะถ้าพูดกันจริงๆ แล้ว ทุกคนที่ยังมีโลภะ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ก็ล้วนแต่เป็นผู้เห็นแก่ตัวกันทั้งนั้น สำคัญอยู่ที่ว่า ปัญญาของผู้ใดจะเห็นถูกหรือไม่ว่าที่เห็นแก่ตัวนั้น ก็เป็นแต่เพียงธรรม ไม่ใช่คนกลุ่มนี้หรือคนกลุ่มนั้นเห็นแก่ตัว เพราะเห็นแก่ตัวก็ต้องเป็นเห็นแก่ตัว จะเป็นเสียสละไปไม่ได้ รวมทั้งไม่เป็นใครหรือของใครทั้งสิ้น และปัญญานั้นเมื่อค่อยๆ เห็นถูกเพิ่มขึ้นแล้ว จะเจริญจนมีกำลังพอที่จะขัดเกลาความเห็นแก่ตัวให้น้อยลงจนกระทั่งดับความเห็นแก่ตัวเป็นสมุจเฉทได้หรือไม่ด้วย

หากเขาพูดคำไหนก็ตามด้วยอกุศลจิต ด้วยความไม่รู้ ก็ควรอย่างยิ่งที่ผู้ศึกษาปฏิบัติธรรมจะอดทน มีความเมตตา หรือวางเฉยในคำนั้นๆ (รวมทั้งอดทนที่จะไม่พอกพูนอกุศลจิตที่เกิดเพราะคำชื่นชมสรรเสริญจากผู้อื่นด้วย) แต่ถ้าหากเรามีความกรุณาที่จะอนุเคราะห์ในความคิดเห็นของเขา ก็ควรจะกระทำด้วยความถูกต้องเหมาะสมกับบุคคลและกาลเทศะด้วย ที่สำคัญ คือ ต้องไม่พูดบิดเบือน เตือนด้วยคำจริง เตือนด้วยคำตรง เตือนด้วยพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
พุทธรักษา
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ความไม้รู้ ไม่เห็นคุณค่าของพระธรรม ทำให้เขาคิดเช่นนั้นจึงไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นมั่นคงแน่วแน่ในความเห็นถูกของตนต่อไป ศึกษาพระธรรมและปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อไป.
ผู้ทีประพฤติดีด้วยความเห็นถูกจริงๆ นอกจากไม่ทำความเดือดร้อนให้ใครแล้วยังมีชีวิตอยู่อย่างเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย เช่น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นตัวอย่างอันประเสริฐสุดทุกคาถาที่ทรงตรัสก็เพื่อสาระประโยชน์แก่สาวกทั้งสิ้นแล้วจะกล่าวว่า...เห็นแก่ตัวได้อย่างไร?

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
ตุลา
วันที่ 9 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
prakaimuk.k
วันที่ 9 ก.ค. 2551
ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
suwit02
วันที่ 9 ก.ค. 2551
สาธุ
 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
happyindy
วันที่ 9 ก.ค. 2551

* * * ขออนุโมทนาทุกความคิดเห็นค่ะ * * *

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
เมตตา
วันที่ 10 ก.ค. 2551

ขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ