แนวทางการศึกษาธรรมะ

 
chamnt
วันที่  26 พ.ค. 2548
หมายเลข  90
อ่าน  1,167

1. นอกเหนือจากการฟังธรรมจากท่านอาจารย์สุจินต์แล้ว ควรฟังธรรมจากอาจารย์ท่านอื่นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ขอคำแนะนำรายชื่ออาจารย์ท่านอื่นๆ และแหล่งที่สามารถค้นคว้าศึกษาได้

2. ในการศึกษาพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกาต่างๆ ซึ่งมีมากมายหลายเล่ม เราควรจะเริ่มศึกษาอย่างไร ควรเริ่มต้นจากคัมภีร์เล่มใด และลำดับถัดๆ ไปควรเป็นเล่มใด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 26 พ.ค. 2548

๑. ฟังจากอาจารย์ท่านใดก็ได้ที่ท่านพูดตรงกับพระไตรปิฎกและอรรถกถา

๒. เริ่มศึกษาเล่มใดก็ได้ แต่ถ้าอ่านง่ายก็เริ่มจากพระสูตรขุททกนิกายคาถาธรรมบทชาดก อังคุตตรนิกาย สังยุตตนิกาย แต่ที่ไม่ควรขาดคือ ปรมัตถธรรม พระอภิธรรมปิฎก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 พ.ค. 2548

พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้พระอภิธรรม

คำว่า อภิ แปลว่า ยิ่งใหญ่ อภิธรรม คือ ธรรมที่ยิ่งใหญ่ เพราะเป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงเทศนาธรรมทั้งปวงที่ทรงตรัสรู้ พระองค์ทรงเคารพธรรมที่ทรงตรัสรู้ พระองค์มิได้ทรงเทศนาว่าธรรมทั้งปวงอยู่ในอำนาจของพระองค์ ปรมัตถธรรม หรือ อภิธรรม มิใช่ธรรมที่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะปรมัตถธรรมเป็นธรรมที่มีจริง ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก เป็นการรู้ความจริงของปรมัตถธรรม ตามสภาพลักษณะของปรมัตถธรรมนั้นๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 พ.ค. 2548

ควรฟังธรรมจากอาจารย์ท่านอื่นใดเพิ่มเติมอีกหรือไม่

บุคคลใดที่นำพระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดง และแสดงได้ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ก็สมควรฟังบุคคลนั้น ผู้ฟังสามารถพิจารณาไตร่ตรองจนเกิดความเข้าใจ เป็นปัญญาของผู้ฟังเอง หากเกิดความสงสัย ก็สามารถสอบทานกับพระธรรมวินัยซึ่งอยู่ในพระไตรปิฎก

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 พ.ค. 2548

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓๖ หน้าที่ ๕๐๑

ปุคคลปสาทสูตร

ว่าด้วยโทษของการเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล

[๒๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลายโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

บุคคลใดย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตรเขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์ยกวัตรเสียแล้วเขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ

เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๑

อีกประการหนึ่ง บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์บังคับให้เขานั่งที่สุดสงฆ์เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ถูกสงฆ์บังคับให้นั่งในที่สุดสงฆ์เสียแล้วเขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ

เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๒

อีกประการหนึ่งบุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นหลีกไปสู่ทิศเสียเขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ หลีกไปสู่ทิศเสียแล้วเขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ

เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๓

อีกประการหนึ่งบุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นลาสิกขาเขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ลาสิกขาเสียแล้วเขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ

เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๔

อีกประการหนึ่งบุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นกระทำกาละเสียเขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ กระทำกาละเสียแล้วเขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ

เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคลข้อที่ ๕

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษในความเลื่อมใสที่เกิดในบุคคล ๕ ประการนี้แล

จบปุคคลปสาทสูตรที่ ๑๐

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 พ.ค. 2548

พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึง การเห็นธรรม รู้แจ้งธรรม ที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ เป็นผลของการเจริญธรรมขั้นปฏิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติต้องอาศัยปริยัติ ด้วยเหตุนี้ปริยัติ คือ การศึกษาพระธรรมวินัยจึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งเป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติและขั้นปฏิเวธเป็นลำดับไป พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคได้จดจำสืบต่อกันมาโดยมุขปาฐะ คือ การท่องจำจากพระอรหันตสาวกผู้กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็น ๓ ปิฏก เรียกว่า พระไตรปิฏก การท่องจำได้กระทำสืบต่อกันมา ตราบจนกระทั่งได้จารึกเป็นตัวอักษร

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 พ.ค. 2548

พระธรรมวินัยซึ่งพระอรหันตสาวกได้สังคายนาเป็น ๓ ปิฏกนั้น คือ

๑. พระวินัยปิฏก เกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่

๒. พระสุตตันปิฏก เกี่ยวกับหลักธรรมที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่

๓. พระอภิธรรมปิฏก เกี่ยวกับสภาพธรรมพร้อมทั้งเหตุและผลของธรรมทั้งปวง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 26 พ.ค. 2548

ควรจะเริ่มศึกษาอย่างไร ควรเริ่มต้นจากคัมภีร์เล่มใด

พุทธศาสนานิกควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง ความจริงที่ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจ และปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้น เป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ธรรมทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน ท่านจะศึกษาโดยเริ่มอ่านพระไตรปิฎกเล่มใดก็ได้ ที่ท่านอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ หากอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็สามารถสนทนาและสอบถามจากผู้ที่ศึกษาและมีความเข้าใจที่ถูกต้อง

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 พ.ค. 2548

ศึกษาคำสอนในพระพุทธศาสนาเพื่ออะไร

พระพุทธศาสนาเป็นคำสอนให้เกิดปัญญา เพราะว่าเป็นคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ เพราะฉะนั้น เมื่อผู้ฟังได้มีโอกาสฟัง ก็สามารถจะเข้าใจได้ว่า ขณะที่ฟังมีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในสิ่งที่กำลังได้ยิน ได้ฟังมากน้อยแค่ไหน หรือว่าขณะนั้นมีความต้องการอย่างอื่น คือ ต้องการที่จะทำ ต้องการที่จะเห็น ต้องการที่จะรู้ โดยที่ไม่ทราบเลยว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาแต่เป็นโลภะ ในชีวิตประจำวันที่เราใช้คำต่างๆ เช่น คำว่า สติกับปัญญา เราอาจจะคิดว่าเราเข้าใจแล้ว พอพูดถึงสติก็ดูเหมือนเข้าใจ พูดถึงปัญญาก็เหมือนเข้าใจ แต่ว่าไม่ตรงกับสภาพธรรม เพราะว่าถ้าพูดถึงสภาพธรรมที่เป็นสติต้องเป็นโสภณธรรมฝ่ายดี จะเกิดกับอกุศลไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะที่ทำอะไรด้วยความติดข้อง พอใจ ตั้งอกตั้งใจทำ แล้วคิดว่าขณะนั้นเป็นสติไม่ถูกต้อง เพราะว่าถ้าเป็นสติต้องเป็นโสภณ เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวัน สติจะเกิดกับจิตที่เป็นกุศล นี่เป็นคร่าวๆ แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียด สติเป็นโสภณ ย่อมเกิดกับจิตประเภทอื่นหรือชาติอื่น เช่น วิบาก ผลของกรรมที่เป็นกุศลวิบาก หรือว่าเป็นกิริยาจิตก็ได้ แต่การศึกษาโดยละเอียดจะทำให้เราเริ่มเข้าใจถูก มีความเห็นถูกว่าเป็นสภาพธรรมที่มีจริง อาศัยการฟังและขณะที่ฟังก็ต้องฟังด้วยดี ด้วยความตั้งใจที่จะเข้าใจในสิ่งที่ได้ฟัง สามารถที่จะพิจารณาได้ว่า สิ่งที่ได้ยินได้ฟังถูกต้องหรือไม่ ถ้าสิ่งนั้นไม่ถูกต้อง อันนั้นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าถูกต้อง หมายความว่าตรงต่อสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงแล้ว การฟัง คือ การศึกษาแต่ละครั้งก็จะทำให้เข้าใจธรรมขึ้น ปัญญาก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ จนกว่าจะเป็นสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่เราจะไปทำ แต่เพราะปัญญามีความเข้าใจถูกต้องเพิ่มขึ้นตามลำดับ เพราะฉะนั้น ก็เป็นปัจจัยปรุงแต่ง เป็นสังขารขันธ์ ที่จะทำให้สติอีกระดับหนึ่งเกิดขึ้นเป็นสติปัฏฐาน

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ