หลักการอยู่ร่วมกันในการใช้ชีวิตประจำวัน

 
oom
วันที่  19 เม.ย. 2551
หมายเลข  8339
อ่าน  4,485

ในการใช้ชีวิตประจำวัน เราต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนหลากหลาย ต่างจิต ต่างใจกัน การอยู่กับคนที่ไม่ค่อยมีความเกรงใจกัน หรือเอาแต่ใจตัวเอง เราควรจะใช้หลักธรรมข้อใดบ้างจึงจะอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ขอข้อคิดเห็นจากท่านผู้อ่านด้วยค่ะ

สำหรับตัวเองคิดว่าน่าจะใช้

1. ขันติ

2. ความเมตตา

3. การให้อภัย และปล่อยวาง


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 19 เม.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สภาพธรรมฝ่ายดี เช่น ขันติ เมตตา รวมทั้งกุศลธรรมประการต่างๆ ย่อมไม่ทำให้ตนเองและผู้อื่นเดือดร้อน จึงเริ่มจากตัวเองที่จะสะสมกุศลธรรมโดยเริ่มจากการฟังธรรมที่ถูกต้องให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจมากขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็มากขึ้น เมื่อมีกุศลธรรมเกิดมากขึ้นก็ย่อมทำความเดือดร้อนกับผู้อื่นและสังคมน้อยลงด้วย เริ่มจากตัวเองเป็นสำคัญ สมกับพระพุทธพจน์ที่ว่า ผู้รักษาตนชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 19 เม.ย. 2551

แต่ควรเข้าใจอีกประการหนึ่งว่า ธรรมทุกอย่างต้องมีเหตุจึงจะเกิดขึ้น กุศลธรรมก็ต้องมีเหตุจึงเกิดขึ้น จึงไม่ใช่บอกว่าให้มีเมตตา มีขันตินะ และจะเกิดขึ้นได้ หรือจะเอาไปใช้ในเมื่อยังไม่มีก็เอาไปใช้ไม่ได้ ดังนั้น จึงเริ่มจากการฟังพระธรรมนั่นเอง กุศลประการต่างๆ จึงเกิดขึ้นได้จากการฟังพระธรรม ไม่มีเราที่จะนำหรือพยายามเอาไปใช้ แต่สะสมเหตุคือการฟังพระธรรม

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 19 เม.ย. 2551

และประการที่สำคัญทีสุด ปัญญาหรือความเห็นถูก เมื่อเกิดขึ้นก็ย่อมทำให้กุศลธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้นตามความเห็นถูก เช่น เมตตา เป็นต้น และการจะเป็นคนดีเพื่อให้สังคมสงบสุขนั้น ไม่ใช่เพียงคนดีที่มีเมตตา และขันติเท่านั้นเพราะก็ยังมีกิเลสอยู่โดยไม่รู้เลย หากไม่ศึกษาพระธรรมอย่างถูกต้อง ซึ่งการเข้าใจความจริงที่เป็นสัจจธรรมว่า คืออะไร เพื่อละความไม่รู้และดับกิเลส อันเป็นต้นเหตุให้เป็นคนไม่ดีนั่น คือกิเลสนั่นเองดีเท่าไรก็ไม่พอ ตราบใดที่ยังมีกิเลส หนทางเดียว คืออบรมปัญญาเพื่อละความเห็นผิดว่าเป็นเราและเข้าใจว่าเป็นธรรม

ขออนุโมทนา ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ajarnkruo
วันที่ 19 เม.ย. 2551

ควรอยู่ให้ได้โดยไม่เดือดร้อนกับทุกบุคคลในทุกสถานที่ครับ เพราะถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็คงจะไม่ต้องไปอยู่ในที่นั้น คงจะไปอยู่ในที่อื่นแล้ว

เหตุปัจจัยที่ดี ย่อมทำให้พบเจอคนดี ส่วนเหตุปัจจัยที่ไม่ดีก็ย่อมทำให้พบเจอคนพาล เลือกไม่ได้ หนีไม่พ้น แต่ก็อาจจะเข้าใจจากการฟังพระธรรมได้มากขึ้นว่า ทุกสิ่งที่ต้องประสบโดยไม่ได้คาดคิด ล้วนแต่เป็นเพราะกรรมทั้งนั้น ที่เป็นสภาพธรรมะที่จัดสรรให้วิบากเกิดขึ้นเป็นไป ตั้งแต่เกิดจนตาย

เพราะคนดี คนพาล ไม่ใช่แค่เพียงการเห็นพฤติกรรมภายนอกของบุคคลอื่นๆ แต่ต้องเป็นการรู้วาระจิตของตนก่อนว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ขณะที่เห็น ได้ยิน..คิดนึกอย่างนั้นและรู้ละเอียดขึ้นไปจนกระทั่งว่า กุศล หรือ อกุศลนั้น ก็ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน มีจริงและเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ใคร

ขณะที่จิตเป็นกุศล ย่อมได้ชื่อว่าเป็นคนดี ส่วนขณะที่จิตเป็นอกุศลก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นคนพาล จะป่วยการณ์เป็นทุกข์ไปใย ในเมื่อเกิดกับใครก็เหมือนๆ กัน เมื่อเป็นผู้ที่ตรง ไม่มีอคติ ก็ย่อมจะสามารถเจริญขันติ เพิ่มพูนเมตตา ให้อภัยได้เร็วหรือจนกระทั่งอาจวางเฉยได้ เพราะเกิดปัญญาเข้าใจว่า สัตว์ทั้งหลายล้วนแต่มีกรรมเป็นของๆ ตน ไม่จำเป็นต้องยินดี ยินร้าย ในการกระทำหรือพฤติกรรมของผู้อื่นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
wannee.s
วันที่ 19 เม.ย. 2551

คนที่มีปํญญาอยู่ที่ไหนก็มีความสุข ไม่ว่าเขาจะเป็นคนดี หรือเป็นคนไม่ดี ปํญญาก็รู้ว่าทั้งหมดเป็นธรรมะ และรู้ว่าการที่เราเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส กระทบสัมผัส ที่ดีหรือไม่ดีก็เป็นผลของกรรม การที่เราจะมีเมตตา ขันติ หรือแม้แต่การให้อภัย ก็ขึ้นอยู่กับปัญญาตัวเดียวค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
aiatien
วันที่ 19 เม.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
narong.p
วันที่ 20 เม.ย. 2551

การที่คิดว่าจะใช้ ขันติ เมตตา หรือการให้อภัย นั้น ต้องเริ่มต้นว่าเรามีแล้วหรือยัง มีความเข้าใจเพียงใด หากยังไม่เข้าใจถูกในสภาพธรรม แล้วจะเอา ขันติ เมตตา จากที่ไหน มาใช้ จึงต้องตั้งต้นอบรมให้เข้าใจจริงๆ

ว่า ธรรม คืออะไร และศึกษาจนมีความเข้าใจถูกในสภาพธรรมว่า ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล และบังคับบัญชาไม่ได้ เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
oom
วันที่ 21 เม.ย. 2551

ขอบคุณค่ะที่ให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ที่เป็นประโยชน์

กรณีที่มีลูกน้องแล้วชอบหลบเลี่ยงงาน ทั้งๆ ที่มอบหมายงานให้ทำ ก็ไม่ค่อยสนใจและไม่เกรงใจเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ควรจะทำอย่างไรดี (ลูกน้องอายุมากกว่าเรา)

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
ajarnkruo
วันที่ 21 เม.ย. 2551

ศึกษาธรรมะ เข้าใจธรรมะ ไม่ลืมว่าเป็นธรรมะ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
prissna
วันที่ 22 เม.ย. 2551

อยู่ร่วมกันแบบเข้าใจว่า ทุกคน (รวมทั้งตัวเราด้วย) มีกิเลส เข้าใจตัวเองจะเข้าใจคนอื่น แต่เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้แต่การป้องกันตัวเองให้ห่างจากคนพาลและคบแต่กัลยาณมิตรเป็นสิ่งที่ควร เพราะลำพังปัญญาของเราอาจไม่พอที่จะต้านทานกิเลสได้ ยามประมาทมิตรยอมแนะนำให้ดี แม้ไม่ถูกใจก็ควรฟัง แต่คนพาลย่อมนำพาไปในทางหายนะแม้ด้วยคำหวาน ลูกน้องทำผิด ไม่ว่าแก่หรือหนุ่ม ควรตักเตือน เช่น เรียกมาคุเป็นการส่วนตัวไม่ใช่ไปพูดให้คนอื่นรู้กันทั่วบริษัท เวลาทำดีก็ควรชมอย่างเปิดเผย (ให้คนอื่นรู้ด้วย) ถ้าเขาป่วยควรรักษา ถ้าเขาหายแล้วควรสอนให้ขยันทำงาน ถ้าพูดไม่ฟังค่อยๆ ดำเนินการขั้นเด็ดขาดต่อไปการเป็นนายคนต้องมีทั้งพระเดช พระคุณ แต่ต้องรู้จักใช้ให้เหมาะจึงจะครองใจผู้ใต้บังคับบัญชาได้ แล้วจะสบายทั้งเจ้านายและลูกน้องควรศึกษาเพิ่มเติมจากพระพุทธพจน์ เช่น เรื่อง "ทิศ ๖" เป็นต้น.

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ