ปรารถนาอเหตุกวิบาก หรือ บรมสุข

 
คุณย่า
วันที่  17 เม.ย. 2551
หมายเลข  8287
อ่าน  1,158

สนทนาธรรมที่มูลนิธิ ฯ
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
ถอดเทป โดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล

ประเชิญ ผมขอพูดอีกมุมหนึ่งครับ พูดถึงทั่วๆ ไป เนื่องจากความรักตัวตน ความไม่รู้ และการยึดถือตัวตนนี้มีมากก็เลยแสวงหาแต่สิ่งที่ดี ปรารถนาแต่สิ่งที่ดีต้องการแต่วิบากที่ดี นี่ก็เพราะความรักตัวตนเพราะความเป็นเรา คือจริงๆ แล้วถ้าหากว่ารู้จริงๆ อย่างที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนี่ กล่าวถึงโดยทั่วไปเป็นเรื่องที่ยาว คือในสมัยครั้งพุทธกาล พระผู้มีพระภาค หรือพระสาวก เมื่อเกิดเหตุการณ์คือสิ่งที่ไม่ดี เกิดขึ้นกับพระองค์เองหรือผู้ใดผู้หนึ่งก็ตาม พระองค์ก็ไม่ได้โทษใครๆ ว่าเป็นคนอื่นเพราะอะไร เพราะพระองค์ทรงทราบว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นสมควรแก่กรรมที่เคยทำมาแล้ว อันนี้พูดถึงวิบากกรรมที่ได้รับทั้งฝ่ายที่ดีและไม่ดี โดยมากเราก็ไม่ปรารถนาวิบากกรรมที่ไม่ดี แต่ถ้าไม่มีเหตุที่จะให้ผลที่ไม่ดีเกิดขึ้น ผลนั้นก็ไม่เกิดแต่เพราะมีเหตุที่สมควรที่จะให้วิบากนั้นเกิดขึ้น ผลนั้นจึงเกิดขึ้นแม้ว่าจะปรารถนาต้องการวิบากที่ดี สิ่งที่ดีๆ กับชีวิตก็ไม่ได้ตามปรารถนา เพราะเหตุที่ได้ทำนั้นไม่ดีและผลที่เกิดขึ้นนั้นก็ต้องตามเหตุ โดยมากคนจะปรารถนาแต่ผลของกรรมที่เป็นฝ่ายวิบาก แต่จริงๆ มีใครสนใจบ้างไหมที่ท่านอาจารย์ กล่าวถึงก็เป็นเพียง “วิญญาณจริยา” เท่านั้นเอง คือวิบาก แล้วก็เป็น “อเหตุกวิบาก” ด้วยคือที่ปรารถนา จะเห็น จะได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องสัมผัสสิ่งที่ดี นั่นเป็นเพียง “อเหตุกวิบาก” เท่านั้น แต่เหตุที่จะทำให้ไม่ต้องกังวล หรือไม่ต้องทุกข์ หรือมาเวียนว่ายตายเกิด เพราะสิ่งเหล่านี้อีก ซึ่งสำคัญกว่าใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา ในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้ความจริงนี้ คือ เหตุที่จะทำให้เกิดสุขจริงถึงขั้นที่เรียกว่า บรมสุข น่าจะสนใจตรงนี้ใช่ไหมครับ เพราะว่านี่คือเหตุที่แท้จริงที่จะทำให้ถึงสุข ปรารถนาสุข ต้องทำเหตุแห่งความสุข ไม่ใช่ปรารถนา แต่ไปทำเหตุแห่งความทุกข์หรือไปทำสิ่งอื่นซึ่งไม่ตรงกับเหตุที่ต้องการ

เพราะฉะนั้น ในเรื่องของการศึกษาอบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้ความจริงนี้ เป็นสิ่งที่ในขั้นต้น รู้ความจริง ละคลายการยึดถือว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา อันนี้ก็ระดับหนึ่งที่จะทำให้คลาย และไม่ไปโทษบุคคลอื่น และยิ่งปัญญาระดับขั้นพระโสดาบันพระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ ยิ่งเรียกว่าเป็นสุขมากเลยสำหรับปัญญาขั้นนั้น ไม่มีการยึดถือ ไม่มีนิวรณ์มารบกวนจิตใจเลย อันนี้จะเป็นสุขมากๆ และโดยเฉพาะเมื่อพระอรหันต์ท่านปรินิพพานแล้ว ท่านไม่ต้องเกิดอีก อันนี้ยิ่งสุขมากๆ เลยคือไม่มีทุกข์เลย ไม่มีขันธ์เกิดขึ้นอีกเลย เพราะว่าถ้าปรารถนาสุขจริงๆ ควรกระทำเหตุและเหตุที่ควรกระทำอย่างยิ่งก็คือเหตุของการที่จะดับทุกข์ทั้งหมดในสังสารวัฎฎ์ ก็คือกิเลสนั่นแหละครับ

บุษบง คุณประเชิญพูดถึง “จริยา,วิญญาณจริยา” ก็ หมายถึงเฉพาะอเหตุกจิตใช่ไหมคะ “อัญญาณ- จริยา”

ประเชิญ “ วิญญาณจริยา” หมายถึง “อเหตุกจิต” เป็น วิบากและกิริยา

บุษบง และถ้าเป็น “อัญญาณจริยา” ก็เป็นอกุศลจิต ๑๒ ดิฉันเรียนถามตรงที่ “ญาณจริยา” จะหมายถึง โสภณจิต, รูปาวจรจิต, อรูปาวจรจิต, โลกุตตรจิต ด้วยไหมคะ

ประเชิญ ถ้าเป็นขั้นสูงสุดท่านกล่าวถึง “ปัญญาในมรรค” อันนี้เป็นขั้นสูงสุด แต่ที่รองลงมาเป็นปัญญาขั้น โลกียะทั้งหลายที่ประกอบด้วยปัญญา คือจิตที่ประกอบด้วยปัญญาเหล่านั้นเป็นชวนะ ก็ควรจะเป็น “ญาณจริยา”ด้วย แต่โดยตรงจริงๆ ก็คือปัญญาขั้นมัคค อันนี้ท่านแสดงไว้ในปฎิสัมภิทามรรค


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
wannee.s
วันที่ 17 เม.ย. 2551

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ท่านทั้งหลาย จงทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ครบถ้วน ด้วยความไม่ประมาท

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 24 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ