ทุกขเวทนา......

 
oom
วันที่  4 มี.ค. 2551
หมายเลข  7685
อ่าน  3,977

ทุกขเวทนาที่เกิดจากการนั่งสมาธิ เช่น ความเจ็บปวด ซึ่งผู้ที่นั่งสมาธิก็พิจารณาความเจ็บปวดไป เห็นอาการลักษณะความเจ็บปวดนั้น เป็นเหมือนคลื่น และตามดูจนอาการนั้นดับไป ทำให้ใจของผู้ปฏิบัติอิ่มเอิบเบิกบานมีความสุข ซึ่งการปฏิบัติแบบนี้ถือว่าถูกต้องแล้วใช่หรือไม่ เพราะได้เห็นการเกิดดับ ของรูปนามกรณีนี้ เป็นเพื่อนที่ไปปฏิบัติมาแล้วมาเล่าให้ฟังว่า เขานั่งสมาธิแล้วเกิดเวทนา ซึ่งส่วนใหญ่ ดิฉันและเพื่อนจะสนใจธรรมะเหมือนๆ กัน ถ้ามีเวลาก็จะมาสนทนากันเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ป้าจาย
วันที่ 4 มี.ค. 2551

เวทนามีสาม ทุกขเวทนา สุขเวทนา และอุเบกขาเวทนา เราจะรู้จักแค่ทุกขเวทนาหรือคะ อย่างอื่นเราจะข้ามไปหรือไร เวทนาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ จำเป็นหรือไม่ว่าต้องรู้เฉพาะเวลาไปนั่งอย่างที่เพื่อนของคุณเล่ามา นั่งๆ แล้วเมื่อย หรือ เป็นเหน็บ ก็เกิดได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อยแล้วก็หาย พิจารณากันได้ค่ะ ไม่ต้องรอไปนั่งในห้อง ปัญญาขั้นเห็นความเกิดดับของรูปนามนั้น ยังห่างไกลจากพวกเรามากนัก

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 4 มี.ค. 2551

ปัญญาไม่จำกัดสถานที่ค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 4 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ควรเข้าใจพื้นฐานว่า ทุกข์ที่แท้จริงในอริยสัจคืออะไร ถ้าไม่เมื่อย ขณะนี้เป็นทุกข์ไหม หรือต้องไปทำให้เมื่อย จึงจะรู้ทุกข์ การเข้าใจขั้นการฟัง จึงนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ทุกข์คือสภาพธรรมที่เกิดขึ้นและดับไป ขณะนี้ มีสภาพธรรมที่เป็นทุกข์ไหม หรือเฉพาะแค่เวทนาที่เป็นทุกข์ สภาพเห็น เป็นทุกข์ไหม ควรรู้หรือไม่ควรรู้ เสียงเป็นทุกข์ไหม (เกิดขึ้นและดับไปไหม) ดังนั้น ถ้าเข้าใจ ก็ไม่ต้องไปนั่ง ไปหาทุกข์ เพราะมีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน เพราะสภาพธรรมทั้งหลายที่มีจริงในขณะนี้เป็นทุกข์

อีกประเด็นคือ การตามรู้ หรือดูจิต ได้อธิบายไปหลายครั้งแล้วว่า สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครหรือตัวตนที่ไปตามดู ขณะนั้นเป็นเพียงการคิดนึก ไม่ใช่ขณะที่เป็นสติปัฏฐานที่ระลึกลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ครับ

อีกประเด็น การศึกษาและปัญญา ต้องเกิดขึ้นและเจริญตามลำดับ ต้องเริ่มจากฟังให้เข้าใจก่อน ธรรมทำหน้าที่เอง ไม่ใช่ไปทำ ไปนั่ง ที่สำคัญปัญญา ไม่ใช่รู้การเกิดดับของสภาพธรรมก่อน แต่ต้องรู้ว่าเป็นนามธรรมและรูปธรรมก่อนครับ ตามลำดับของวิปัสสนาญาณ ประเด็นสุดท้าย ความอิ่มเอิบ ปิติ ไม่ใช่เครื่องหมายในการตัดสินว่า ถูกต้องหรือปัญญาเกิด โสมนัสเวทนา เกิดกับโลภะก็ได้ และเกิดร่วมกับความเห็นผิดและการปฏิบัติผิดก็ได้ครับ ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
shumporn.t
วันที่ 4 มี.ค. 2551

ถ้าเข้าใจว่า ขณะที่ปวดแล้วหายปวดนั้น เป็นการเห็นการเกิดดับของนามธรรม ก็เป็นการเข้าใจผิด เพราะเป็นธรรมดา เมื่อปวดแล้วก็ต้องหายปวดเป็นของปกติ มิได้เป็นคุณวิเศษอะไรเลย ผู้ที่สามารถเห็นการเกิดดับ ของนามรูป ต้องเป็นผู้ที่ผ่านวิปัสสนาญาณขั้นแรกก่อน คือ นามรูปปริจเฉทญาณ รู้ความต่างกันของนามธรรมและรูปธรรมในขณะนี้เสียก่อน จึงจะสามารถไปสู่วิปัสสนาญาณขั้นที่สอง คือ ปัจจยปริคหญาณ คือ รู้ความเป็นปัจจัย ว่า ขณะที่เห็นนี้ เกิดเพราะปัจจัยอะไร จึงจะสามารถเห็นการเกิดดับของนามธรรมและรูปธรรม เป็นวิปัสสนาญาณขั้นที่สามที่กล่าวนี้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ปวดแล้วหายปวด จะเป็นการเห็นการเกิดดับได้ง่ายอย่างนี้ การเห็นการเกิดดับ ต้องเป็นวิปัสสนาญาณเท่านั้น เพราะถ้าผ่านวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน ๑๖ ขั้น ก็ถึงความเป็นพระโสดาบัน ดับกิเลสได้เป็นสมุเฉท

ที่ว่าเห็นการเกิดดับ เข้าใจว่าเป็นความคิดเท่านั้น วิปัสสนาภาวนา เป็นหนทางละ ไม่ใช่ทางที่ทำให้ติดข้องพอใจในการกระทำใดๆ เป็นหนทางที่ให้เห็นกิเลสตามความเป็นจริง รู้แล้วละ แม้กระทั้งความอิ่มเอิบใจ ก็ต้องรู้ตามความเป็นจริง มิใช่หลงหรือติดข้อง ต้องการให้เกิดแบบนั้นอีก นั่งเพื่อให้เกิดอย่างนั้นอีก ถึงแม้จะไม่เกิดบ่อย หรือไม่ได้เกิดได้ง่ายๆ ความสุขแบบนั้น ก็ต้องการให้เกิดแบบนั้นอีก เป็นความติดข้องต้องการ มิใช่หนทางละเลย โลภะเป็นสิ่งที่เห็นยาก เข้าใจยาก พระพุทธองค์ทรงกล่าวเตือนไว้ ขอให้เป็นผู้ละเอียด หมั่นฟังธรรมของท่านอาจารย์สุจินต์ให้มากๆ มาเจอแล้วอย่าได้ทิ้งไปเลย เพราะต้องมีความอดทนและฟังธรรมเป็นเวลาที่ยาวนานจริงๆ ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
oom
วันที่ 5 มี.ค. 2551

สงสัยว่า ในปัจจุบันที่เขาสอนให้นั่งสมาธิบ่อยๆ ทำให้จนเป็นอุปนิสัย ทำเพื่ออะไร ซึ่งคนส่วนใหญ่ ก็นิยมไปนั่งสมาธิกัน ตามวัดต่างๆ รวมทั้งดิฉันด้วย แต่ตอนนี้ ดิฉันไม่ค่อยได้ไปแล้ว เพราะนั่งสมาธิไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่จะอยู่ตามปกติในชีวิตประจำวัน ระลึกได้บ้าง ไม่ได้บ้างตามเหตุปัจจัย

ดิฉันฟังที่ท่านอจ.สุจินต์สอน ดิฉันเข้าใจค่ะว่าสมาธินั้น ไม่จำเป็นต้องไปนั่งก็ได้ ในชีวิตประจำวัน สมาธิก็สามารถเกิดได้คือ เมื่อเราทำอะไร มีจิตจดจ่อตั้งมั่น ก็ถือว่ามีสมาธิแต่ต้องเป็นสัมมาสมาธิด้วย คือต้องตั้งมั่นในด้านกุศลต่างๆ

ซึ่งเวทนาที่ว่าก็เหมือนกัน ในชีวิตประจำวันก็มีอยู่แล้ว คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ซึ่งก็ตามรู้ตามความเป็นจริง ซึ่งเพื่อนของดิฉันก็ทราบค่ะ แต่จะชอบไปนั่งสมาธิมาก เขาถูกจริตกัน ส่วนดิฉันชอบอยู่ตามปกติ แต่ถ้ามีโอกาส ก็ไปบ้างค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 5 มี.ค. 2551

ถ้าไม่แน่ใจว่า ข้อปฏิบัติ ที่ใครเขาทำตามๆ กัน ไปอยู่ในที่เดียวกัน แล้วก็ทำเหมือนๆ กัน จะถูกหรือผิด ก็ไม่ควรรีบหรือใจร้อนไปทำแบบเดียวกันกับเขาดีกว่าครับ ยิ่งภายหลัง ถ้ารู้ว่าทางนั้นผิดก็ไม่ทำเลยดีที่สุด เพราะข้อปฏิบัติผิดทั้งหมดมาจากความเห็นผิด เราต้องค่อยๆ แยกให้ละเอียดลึกลงไป พิจารณาว่าทุกการกระทำ ทุกข้อปฏิบัติ ต้องมีคำตอบที่ชัดเจน และตรวจสอบได้ว่าตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าไม่แน่ใจ ลองนำคำถามนี้ ไปถามผู้ที่สอนเองก่อนก็ได้ครับ คิดว่าถ้าผู้สอนเข้าใจ เขาต้องสามารถอธิบายได้ครบถ้วนและเป็นเหตุผลครับ

ตัวอย่างคำถาม

๑. ทำไมต้องให้นั่งสมาธิเหมือนๆ กัน

๒. ไม่นั่งสมาธิแล้ว ทุกขเวทนาเกิดได้ไหม แล้วจะรู้ทันลักษณะเวทนานี้ได้ยังไง ถ้าขณะที่เกิดปวดนั้น ไม่ได้นั่งสมาธิอยู่

๓. การรอให้ทุกขเวทนาเกิด ภายหลังจากนั่งสมาธินานๆ เพื่อประโยชน์อะไร

๔. จากข้อ ๓. มีคำสอนอย่างนั้นในพระไตรปิฎกไหม เล่มไหน

๕. คิดถึงคลื่นตอนนี้ โดยไม่ต้องนั่งสมาธิให้เจ็บปวดได้ไหม ทำไมถึงคิดได้

๖. เห็นการเกิดดับของรูปนาม ที่เห็นเป็นรูปอะไร นามอะไร และโดยปัจจัยอะไรบ้าง ที่ทำให้เห็นได้อย่างนั้น

๗. ขณะที่ไม่นั่งสมาธิ แล้วบางทีทำไมรู้สึกอิ่มเอิบกว่านั่งสมาธิ

เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
oom
วันที่ 5 มี.ค. 2551

เคยไปปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่ อาจารย์ก็จะสอนครบ ตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ คือ ให้ดูกาย เวทนา จิตและธรรม รู้ตามฐานทั้ง ๔ ซึ่งการนั่งสมาธิ ก็อยู่ในฐานกายานุสติปัฏฐานหนึ่ง ที่เราต้องพิจารณาว่า ขณะที่นั่งนิ่งๆ นั้น เป็นอย่างไร การพิจารณาจริงๆ ก็พิจารณาได้ทั้งกาย และจิต แต่ส่วนใหญ่ก็จะเห็นเวทนาชัดว่าอื่นๆ เช่น ปวดเมื่อย หรือความฟุ้งซ่าน เพราะไม่เคลื่อนไหวร่างกาย

ในชีวิตประจำวัน ถึงเราไม่นั่งสมาธิ อาการต่างๆ แบบนั้น เราก็พบอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ในวันหนึ่งๆ บางครั้ง เราไม่มีสติระลึกรู้เท่านั้นเอง เพราะเรามัวแต่วุ่นวายไปกับการทำงาน เรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่ถ้ามีเวลาว่างจากภาระต่างๆ ไปในสถานที่เฉพาะ ก็เหมือนเราได้ให้เวลากับตัวเราเองมากขึ้น จากประสบการณ์ของตัวเอง การทำงานในวันหนึ่งๆ ดิฉันรู้ว่า ไม่ค่อยมีสติระลึกรู้เท่าทันในขณะที่ทำงานเลย มันทำไปเหมือนอัตโนมัติจริงๆ จะมีรู้ตัวบ้างก็น้อยมาก แต่ก็ดีขึ้นกว่าก่อนๆ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 5 มี.ค. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขออนุญาตอธิบายซ้ำ ในเรื่องของทุกข์อีกครั้งว่า คืออะไร (ความเห็นที่ ๓ ได้อธิบายไปแล้ว) เรามักคิดว่าทุกข์ คือทุกขเวทนาเท่านั้น แต่ทุกขอริยสัจนั้น คือสภาพธรรมที่เกิดดับ (ตามพระไตรปิฎก) สภาพธรรมใดมีจริง เกิดขึ้นและดับไป เป็นทุกขอริยสัจ เป็นสิ่งที่ควรรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เสียงเกิดขึ้นและดับไปไหม เป็นทุกขอริยสัจ กลิ่นเกิดขึ้นและดับไปไหม เป็นทุกขอริยสัจ โทสะมีจริง เกิดขึ้นและดับไปไหม เป็นทุกขอริยสัจ

ดังนั้น การจะรู้ทุกข์ ทุกข์มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน โทสะเป็นทุกข์ไหม ถามอีกครั้งครับ ตอนทำงานมีโทสะไหม ทุกข์อยู่ในชีวิตประจำวันหรือเปล่าครับ หรือมีตอนนั่งครับ อาจกล่าวว่า ก็ชีวิตประจำวัน วุ่นวายสติไม่เกิด เหตุผลเพราะปัญญาไม่พอ และยังไม่เข้าใจว่าธรรมคืออะไร และทุกข์คืออะไร จึงไปนั่ง ไปหา ไม่ใช่สติแต่เป็นโลภะ ความต้องการ จดจ้องอย่างละเอียดที่อยากจะรู้ว่าขณะนั้นเป็นทุกข์อย่างไร ต้องมั่นคงว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สติก็เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ถ้าคิดที่จะหลีกหนีไปหาที่สงบ แล้วคิดว่าสติจะเกิดง่ายกว่า ขณะนั้น ก็ลืมคำว่าอนัตตาอีกแล้วครับ ในพระไตรปิฎกแสดงว่า สติ จำปรารถนาในที่ทั้งปวง คือ สติสามารถเกิดได้ในทุกที่ แต่ไม่มีข้อความว่า ในที่สงบจะเกิดง่ายกว่า โลภะเขาพาเราไปได้ทั่ว ดังนั้น ขอให้กลับมาฉุกคิดกับคำว่า ธรรมทั้งหลาย เป็นอนัตตาอีกครั้ง ในการจะไปนั่งและหาที่สงบ ให้สติเกิดครับ

ขออนุโมทนาครับ ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
oom
วันที่ 6 มี.ค. 2551

ขอบพระคุณมากค่ะ ที่ให้ธรรมะเป็นทาน ทำให้มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ที่ถามเรื่องต่างๆ นั้น เพราะต้องการตรวจสอบดูว่า ตนเองเข้าใจถูกต้องหรือไม่ และเห็นว่ายังมีที่สอนการปฏิบัติธรรมมากมายหลายสำนัก จึงชอบไปศึกษาแนวทางการสอนจากสถานที่ต่างๆ ตามที่โอกาสอำนวย เพราะปัจจุบันก็เรียนพระอภิธรรมอยู่ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ