ในพระพุทธศาสนามีวิธีแก้ความวิตกกังวลไว้อย่างไรบ้างครับ

 
ความเป็นกลาง
วันที่  26 ม.ค. 2549
หมายเลข  759
อ่าน  4,632

ความวิตกกังวลนับเป็นปัญหาสำคัญในชีวิตของผม (ไม่ทราบว่าท่านผู้อื่นนั้นเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่) เมื่อรวมและผนวกเข้ากับความกลัว ด้วยแล้ว นับเป็นปัญหาอันหนักหน่วงในชีวิตอย่างยิ่งเลยทีเดียว วันนี้ได้ฟังธรรมะบรรยายทางวิทยุทราบว่า จิตก็เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ได้เหมือนกัน

สำหรับตัวผมแล้วมีความคิดว่า ความวิตกกังวลนั้นก็น่าจะเป็นอินทรีย์ได้เหมือนกัน เนื่องจากมีลักษณะที่ใหญ่เอามากๆ เพราะแม้ว่าคนเราจะมีกินมีใช้จนเกินพอ ก็ยังมีความวิตกกังวล หรือคนหาเช้ากินค่ำก็วิตกกังวลทุกคนล้วนวิตกกังวล

คำถามของผมคือ

* ในพระพุทธศาสนามีวิธีแก้ความวิตกกังวลไว้อย่างไรบ้างครับ

* คำว่าคนเราล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ในแง่พระพุทธศาสนาคือให้เราตั้งหน้าตั้งตาประกอบกิจการงาน เช่น หารายได้เสริมใช่หรือไม่ครับ ทีนี้ถ้ามองในแง่ของผู้ประกอบการที่อาจจะไม่ได้ลงแรงแต่ลงทุนนั้น ควรจะต้องเพียรอย่างไรจึงจะสามารถระงับความวิตกกังวลของตัวเองได้ครับ เพราะถ้าคนพวกนี้เพียรมากเกินไป ก็คงมีปัญหาทุจริตคอรัปชันเพิ่มขึ้นอีก

ขอขอบคุณท่านอาจารย์ต่างๆ ของมูลนิธิฯ มากครับและขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไปครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 27 ม.ค. 2549

ความวิตกกังวลเป็นธรรมฝ่ายอกุศลธรรม อกุศลธรรมเหล่านี้จะละคือไม่ให้เกิดขึ้นอีกเลยด้วยปัญญาขั้นอริยมรรค คือโลกุตตรปัญญา สรุป คือ จะละความวิตกกังวลได้ด้วยการอบรมปัญญา

สำหรับข้อธรรมที่ว่า บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คำว่า ทุกข์ ในที่นี้หมายถึงทุกข์ในวัฏฏะ ผู้จะล่วงทุกในวัฏฏทุกข์นี้ได้ ต้องเป็นความเพียรในอริยมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ไม่ใช่ความเพียรอย่างอื่น

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2549

อริยสัจจ์ที่ ๔ ว่าดังนี้ “…ก็ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจจ์นี้แล คือ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ ซึ่งได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ฯ” มรรคมีองค์ ๘ หรืออริยมรรคนั้น เป็นการเจริญปัญญา รู้แจ้งสภาพธรรมทั้งหลายที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน เราเจริญปัญญาให้รู้ชัดในโลกทั้งภายในและภายนอก ไม่ใช่โดยการคาดคะเน แต่เป็นการรู้แจ้งด้วยตนเอง

รายละเอียดเพิ่มเติม

[เล่มที่ 30] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้าที่ 129

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2549

เมื่อพูดถึงสภาพธรรมใด ก็ควรจะรู้ว่าสภาพนั้นเป็นธรรมประเภทใด มิฉะนั้น ก็จะเข้าใจไม่ชัดเจน มรรคมีองค์ ๘ นั้นเป็นปรมัตถธรรมประเภทใด?ปรมัตถธรรมมี ๔ ประเภท คือ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน มรรคมีองค์ ๘ เป็นเจตสิกทั้ง ๘ องค์ เป็นโสภณเจตสิกเกิดกับโสภณจิตที่ระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป การระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปนั้นเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘

ขณะใดที่เจตสิกธรรมซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ นี้ ไม่เกิดกับโลกุตตรจิต (จิตที่รู้แจ้งนิพพาน) ขณะนั้นก็เป็นโลกียธรรม ขณะใดที่เจตสิกซึ่งเป็นมรรคมีองค์ ๘ เกิดกับโลกุตตรจิต ขณะนั้นก็เป็น โลกุตตรมรรค

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2549

มรรคมีองค์ ๘ เริ่มต้นด้วยอะไร

คงจะคุ้นหูกับคำว่า มรรคมีองค์ ๘ ซึ่งเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูก ความเห็นถูกเป็นอีกคำหนึ่งของปัญญา แต่มิจฉาทิฏฐิเป็นความเห็นผิด ไม่สามารถ ที่จะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นขอให้พิจารณาว่า ควรศึกษาหรือฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น เพราะว่าถ้ายังไม่มีความเข้าใจธรรมอย่างถูกต้องก็ยังมีความเป็นเราเต็มที่ แล้วก็มีความอยากที่จะปฏิบัติ

ถ้าไม่ศึกษาโดยละเอียดแล้ว คำว่า "ปฏิบัติ" มาจากรูปศัพท์ภาษาบาลี คือ "ปฏิ + ปติ" คำว่า "ปฏิ" คือ เฉพาะ และ คำว่า "ปติ" คือ ถึง หรือ เห็น เพราะฉะนั้น ปฏิบัติ จริงๆ ก็คือ สภาพธรรมที่เกิดขึ้นและสามารถที่จะระลึก คือ ถึงลักษณะของสภาพธรรมในขณะนี้ทีละลักษณะ เพราะว่าในขณะที่เห็น ไม่ใช่ในขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่ในขณะที่คิดนึก เป็นสภาพนามธรรม ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วมากทีเดียว เพราะฉะนั้นการที่จะสามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่เราเลย แต่ว่าเป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วดับเร็วมาก ไม่ใช่มีความเป็นเรา ที่อยากจะไปประจักษ์ความเกิดดับ ถ้าเป็นเราแล้วไม่สามารถที่จะประจักษ์ได้เพราะว่าต้องเป็นปัญญาความเห็นถูก สัมมาทิฏฐิ ที่อบรมเจริญจนถึงขั้นที่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมตามลำดับขั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
study
วันที่ 27 ม.ค. 2549

ตลอดชีวิตของเรานั้นไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ทุกข์

สภาพธรรมทั้งปวงที่ไม่เที่ยงนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง ฉะนั้น จึงเป็นทุกข์ ถึงแม้จะใช้คำว่า ทุกข์ ก็มิได้หมายเฉพาะ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์ เท่านั้น ทุกขอริยสัจจ์ คือ สภาพของสังขารธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ตลอดชีวิตของเรานั้น ไม่มีอะไรเลยที่ไม่ใช่ทุกข์ ถึงแม้ความรู้สึกเป็นสุขนั้น ก็เป็นทุกข์ เพราะไม่เที่ยง

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2549

สังขารธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดเป็นทุกข์

สังขารทั้งปวงเกิดแล้วก็ดับไป ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทดี หรือจิต ประเภทไม่ดี รูปงามหรือไม่งาม เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเหมือนกันหมด การเกิด ไม่เที่ยงนี่แหละเป็นทุกข์ เพราะไม่ดำรงอยู่ สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์นั้นไม่ใช่แต่ เฉพาะทุกข์กายที่เจ็บปวด ป่วยไข้ หรือทุกข์ที่ต้องลำบากเดือดร้อน ทุกข์ที่พลัด พรากจากสิ่งที่รัก หรือทุกข์ที่ประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รักเท่านั้น สังขารทั้งปวงเป็น ทุกข์เพราะสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงไม่ควรยึดถือว่าเป็นสุข บางท่านอาจสงสัยว่าจิตที่เพลิดเพลินยินดี เป็นสุขก็มี เหตุใดจึงถือว่าสังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ที่ว่าเป็นทุกข์นั้นเพราะจิตที่เพลิดเพลินยินดีเป็นสุขนั้นก็ไม่เที่ยง ฉะนั้น สังขารธรรม คือ จิต เจตสิก รูป ทั้งหมดเป็นทุกข์ เพราะจิต เจตสิก รูป ทั้งหมดไม่เที่ยง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 27 ม.ค. 2549

อริยสัจจ์ที่ ๒ คือ เหตุให้เกิดทุกข์

อริยสัจจ์ที่ ๒ คือ เหตุให้เกิดทุกข์ซึ่งได้แก่ตัณหา ในพระสูตรมีข้อความว่า “…ก็ทุกขสมุทัยอริยสัจจ์นี้แล คือ ตัณหา อันทำให้มีภพใหม่ประกอบด้วยความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ความเพลิดเพลินยิ่งนักในอารมณ์นั้นๆ ได้แก่ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา” ตราบใดที่ยังมีตัณหาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะใดก็ตาม ก็ยังมีปัจจัยให้เกิดอยู่ มีปัจจัยให้นามรูปและรูปธรรมเกิดขึ้น ฉะนั้นก็จะต้องเป็นทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 28 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ