สติปัฏฐาน ๔ มีลำดับการพิจารณาอย่างไรหรือไม่

 
บ้านธัมมะ
วันที่  21 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6443
อ่าน  4,225

ถาม การพิจารณาอารมณ์ที่มากระทบกับทวารทั้ง ๖ ทีละทวารนี้เป็นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ หรือเปล่าคะ เพราะเมื่อพิจารณารูปที่มากระทบทางทวารแต่ละทวาร ก็จะเข้าใจนามที่รู้รูปนั้น (จิตเห็น จิตได้ยิน ฯลฯ) ก็จะระลึกไปถึงวาระของจิตต่างๆ ๑๗ ขณะ หลังจากนามที่รู้รูป ดับไปแล้ว ซึ่งไม่มีทางจะเห็นทันได้เลยเพราะเร็วมาก มาระลึกตามหลังว่าโวฏฐัพนะจิต ตัดสินว่าไม่ควรให้เกิดเป็นอกุศล หรือกุศลชวนจิตสืบต่อกัน ๗ ขณะ ให้เป็นผัสสะเฉยๆ เพื่อพิจารณาเวทนาที่เกิดร่วมด้วยว่าเป็นเวทนาใด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไตรลักษณ์ ก็ยังคงปรากฏกับสภาพธรรมที่กำลังพิจารณาอยู่เสมอ โดยไม่ใช่เป็นการท่องจำ จึงไม่แน่ใจว่า ลำดับของสติปัฎฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม นี้ มีลำดับการพิจารณาอย่างไรหรือไม่ หรือพิจารณาพร้อมๆ กันไปหรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้คะ

ตอบ สติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นการแสดงอารมณ์ของสติปัฏฐาน หรือสภาพธรรมที่สติปัฏฐานระลึก เพื่อให้ปัญญาที่เกิดร่วมด้วยศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าปัญญาจะรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรมนั้นตามความเป็นจริง กาย เวทนา จิต ธรรม เมื่อว่าโดยปรมัตถธรรมแล้วก็คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเอง ซึ่งจิต เจตสิก รูปก็สามารถปรากฏหรือเป็นอารมณ์ได้ทางทวารทั้ง ๖

การรู้อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง ๖ มีเป็นปกติอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน (ถ้าบุคคลนั้นไม่พิการ) แต่การที่สติปัฏฐานจะเกิดขึ้น ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏก็ต้องมาจากเหตุ คือการเข้าใจอย่างมั่นคงในความที่ทุกอย่างเป็นธรรม (ตามพระพุทธพจน์ที่ว่า ธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา)

สติปัฏฐาน ไม่ใช่การคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรม สติปัฏฐาน คือสติที่เกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เหมือนกับการเห็น ไม่ต้องคิดก็เห็น การได้ยิน ไม่ต้องคิดก็ได้ยิน การเห็น การได้ยินมาจากเหตุ คือกรรมที่ได้ทำไว้แล้ว สติปัฏฐานก็โดยนัยเดียวกัน ไม่ใช่การคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรม ไม่คิดก็เป็นสติปัฏฐาน

สติปัฏฐานเกิดจากเหตุ คือความเข้าใจอย่างมั่นคงในสภาพธรรม การคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรม เกิดจากเหตุคือ การได้ยิน ได้ฟัง การศึกษาพระธรรม การพิจารณาพระธรรม การสนทนา การสอบถาม แต่การคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรม ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน จะห้ามไม่ให้คิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรมไม่ได้ เพราะธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า ขณะใดเป็นการคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรม ขณะใดเป็นสติปัฏฐาน ที่เกิดขึ้นระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ การคิดนึกเรื่องราวของสภาพธรรมตามเหตุ ตามที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ เป็นความเข้าใจที่ถูกต้องขั้นหนึ่ง (สุตมยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการฟัง และจินตามยปัญญา ปัญญาที่สำเร็จจากการคิดพิจารณา) เป็นกุศลอย่างหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่ก็ไม่ใช่สติปัฏฐาน

สติปัฏฐาน เป็นกุศลขั้นที่สูงที่สุดในพระพุทธศาสนา และจะมีเฉพาะในกาลสมัยที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่เท่านั้น (กุศลขั้น ทาน ศีล สมถะ มีอยู่ในกาลสมัยที่ไม่ต้องมีพระพุทธศาสนา) เป็นกุศลขั้นที่ทำให้สามารถหมดกิเลสเป็นสมุจเฉท เป็นพระอริยบุคคลได้การที่จะเข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน เป็นเรื่องยาก ต้องค่อยๆ ฟัง และค่อยๆ พิจารณาไป เมื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน มีความมั่นคงในความที่ทุกอย่างเป็นธรรม สติปัฏฐานก็สามารถเกิดขึ้นระลึกลักษณะของสภาพธรรม เพื่อให้ปัญญาศึกษาลักษณะของสภาพธรรมนั้นบ่อยๆ เนืองๆ จนกว่าจะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรม สติปัฏฐานเกิดขณะไหน ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ อยู่ที่มีเหตุปัจจัยพร้อมหรือไม่ เพราะสติปัฏฐานก็เป็นธรรม และธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา

การแสดงลำดับของสติปัฏฐาน ๔ เป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน โดยเรียงลำดับเป็น กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นลำดับแห่งเทศนาของ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า อารมณ์ใดจะปรากฏก่อนก็ได้แล้วแต่เหตุปัจจัย เหมือนกับการแสดงลำดับอารมณ์ที่ปรากฏ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธัมมารมณ์) ก็ไม่ได้หมายความว่าอารมณ์จะปรากฏเรียงลำดับ เป็นทางตา หู ..... เช่นนั้น จะรู้อารมณ์ใดก่อนก็ได้


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
เข้าใจ
วันที่ 25 มิ.ย. 2555

กราบขอบพระคุณบ้านธัมมะครับ

ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
peem
วันที่ 16 พ.ย. 2561

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
เฉลิมพร
วันที่ 22 พ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 17 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 3 พ.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ