อย่างไร แค่ไหน ถูกต้อง และอย่างไร แค่ไหนไม่ถูกต้อง

 
บ้านธัมมะ
วันที่  19 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6223
อ่าน  944

ภิ. ขออนุญาต ความหมายของคำว่า “ถูกต้อง” สภาวะธรรมหรือสภาพธรรมที่ถูกต้อง สภาวะธรรมหรือสภาพธรรมที่ปรากฏที่ถูกต้อง มีความหมายและมีขั้นตอน ข้อแม้อย่างไรที่จะพิสูจน์ได้ว่า อย่างไร แค่ไหน ถูกต้อง และอย่างไร แค่ไหนไม่ถูกต้อง

อ. ถูกต้องตรงกับสภาพธรรมที่มีจริงที่กำลังปรากฏ

ภิ. ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้อะไรมาเลย แต่ถ้าได้เห็น เข้าใจ สัมผัสหรือสำเหนียกพิสูจน์ได้ว่า สภาวะธรรมที่ปรากฏนั้นถูกต้อง ก็คือว่า เรารู้จริง รู้ถูกต้องอย่างนั้นหรือ

อ. ถ้าไม่มีการศึกษาให้เข้าใจ ก็จะรู้ไม่ได้เลย อย่างตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีนามธรรมและรูปธรรมซึ่งเป็นธรรมที่แยกขาดจากกัน รูปธรรมเป็นธรรมที่มีจริง แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แต่เวลาที่กระทบสัมผัสกาย บางคนอาจจะเข้าใจว่ารูปสามารถที่จะมีความรู้สึกได้ เพราะไม่เข้าใจว่า แท้ที่จริงในขณะนั้นมีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รูป แต่อาศัยรูปเกิดขึ้น เช่น ขณะนี้ทางตา มีเห็น ถ้าไม่มีจักขุปสาท คือประสาทตา ซึ่งเป็นรูปพิเศษที่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา

ถ้าใครก็ตามที่กรรมไม่เป็นปัจจัยให้ปสาทรูปเกิด สิ่งที่ปรากฏทางตาในขณะนี้จะปรากฏไม่ได้ นี่คือความถูกต้องตามความเป็นจริงว่าสภาพธรรมที่แม้มีจริง แต่ว่าต้องมีปัจจัยที่จะทำให้มีสภาพเห็นสิ่งนั้นๆ จึงปรากฏคนตาบอดไม่รู้ลักษณะของสีสัน วรรณะเลย สีสันวรรณะไม่ปรากฏ เพราะไม่มีปัจจัยที่จะให้มีธาตุรู้สี หรือเห็นเกิดขึ้น นี่คือความถูกต้อง แต่ถ้าเป็นเรา ก็หมายความว่า ไม่เข้าใจอะไรเลย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 5 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ