วิสุทธิมรรค คืออะไร

 
บ้านธัมมะ
วันที่  18 ธ.ค. 2550
หมายเลข  6129
อ่าน  7,367

คำนำจากหนังสือวิสุทธิมรรค (เมื่อพิมพ์ครั้งแรก)

วิสุทธิมรรค เป็นปกรณ์พิเศษที่พระเถระชาวชมพูทวีปผู้มีชื่อเสียงรูปหนึ่งได้รจนาขึ้น เมื่อพระพุทธศาสนาล่วงไปได้ประมาณ ๑,๐๐๐ ปี ที่ลังกาทวีป พระเถระรูปนี้คือ พระพุทธโฆสะ เป็นที่รู้จักกันมากในเมืองไทย และในเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง เพราะท่านได้ทำหนังสือทางพระพุทธศาสนาที่เป็นภาษามคธไว้มาก งานใหญ่ที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงเราทั้งหลาย ก็คือ งานแปลคัมภีร์อรรถกถาพระไตรปิฎก จากภาษาสีหฬ เป็นภาษามคธ หรือภาษาบาลี

ในเมืองไทยได้เรียนคัมภีร์ที่ท่านทำไว้เป็นภาษามคธ ตั้งแต่ประโยค ๓ คือ อรรถกถาธรรมบท จนถึงประโยค ๙ คือ วิสุทธิมรรค โดยเฉพาะหนังสือวิสุทธิมรรคเป็นเรื่องที่นิยมศึกษากันมาก นับถือว่าเป็นปกรณ์สำคัญปกรณ์หนึ่ง เพราะท่านพระพุทธโฆสะได้ประมวลธรรมในพระไตรปิฎก มาแสดงไว้เป็นหมวดๆ ตั้งแต่ศีลและสมาธิ ปัญญา โดยลำดับ วิธีแต่งเหมือนอย่างแต่งกระทู้ หรือเรียงความแก้กระทู้ธรรมในปัจจุบัน คือขยายความย่อให้พิสดาร บทกระทู้ของวิสุทธิมรรค ว่าด้วยไตรสิกขา ซึ่งเป็นหัวข้อใหญ่ในพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น นับว่าเป็นบทกระทู้ของหัวใจการปฏิบัติธรรมทีเดียว ท่านพระพุทธโฆสะแต่งอธิบายโดยวิจิตรพิสดารอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ได้อ้างพระพุทธวจนะเป็นอาคตสถานไว้ในที่นั้นๆ ทั่วไป แสดงว่าท่านมีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก สามมารถยกเอาธรรมที่ว่าด้วยศีล มารวมไว้ในหมวดศีล ยกเอาธรรมที่เกี่ยวกับสมาธิมารวมไว้ในหมวดสมาธิยกเอาธรรมที่กล่าวถึงปัญญามารวมไว้ในหมวดปัญญา โดยปันออกเป็นนิเทศๆ รวมทั้งหมด ๒๓ นิเทศ และประวัติแห่งการแต่งวิสุทธิมรรคปกรณ์ของท่านก็คล้ายกับการแต่งสอบไล่ เพราะพระเถระชาวสีหฬได้ออกกระทู้ให้ท่านแต่งดูก่อน

เมื่อท่านทำได้เป็นที่พอใจ จึงจะยอมยกคัมภีร์อรรถกถาภาษาสีหฬ ให้ท่านแปลเป็นภาษามคธต่อไป ท่านพระพุทธโฆสะได้ทำสำเร็จอย่างรวดเร็วและดียิ่ง เป็นที่พอใจของพระเถระชาวสีหฬทั้งปวง ฉะนั้น คัมภีร์วิสุทธิมรรคนี้จึงเป็นวิทยานิพนธ์สอบความรู้ของท่านพระพุทธโฆสะ ที่รับรองกันว่า เป็นชั้นเยี่ยม มาตั้งแต่เบื้องต้น และเป็นที่รับรองกันในหมู่นักศึกษาตลอดมา วิสุทธิมรรคปกรณ์นี้

แม้จะได้ใช้เป็นหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกภาษาบาลีแห่งคณะสงฆ์ประเทศไทยมานาน แต่สำนวนแปลเป็นภาษาไทยยังมีน้อย และที่เป็นหลักฐานก็มีเพียงบางตอนที่เป็นการแปลเฉลยข้อสอบสนามหลวง นักเรียนต้องคัดลอกจากผู้ได้รวบรวมไว้มาศึกษากัน จะอาศัยสำนวนที่แปลกันภายนอกของแต่ละบุคคลก็ไม่ค่อยให้ความแน่ใจนัก

มหามกุฎราชวิทยาลัยได้ปรารภจะให้มีฉบับแปลของมหากุฎ ฯ เพื่อเป็นอุปกรณ์การศึกษาและเพื่อให้เป็นหนังสืออ่านได้ทั่วไปสำหรับผู้ที่มุ่งหาความรู้ และเป็นคู่มือในการปฏิบัติพระพุทธศาสนา จึงได้ขอให้ท่านผู้ทรงคุณวุฒิมากท่านช่วยกันแปลและตรวจแก้เพื่อให้เป็นฉบับแปลของมหามกุฎราชวิทยาลัย บัดนี้ได้ทำเสร็จ ๒ นิเทศคือ สีลนิเทศและธุดงคนิเทศ รวมเข้าเป็นตอนที่หนึ่ง กำลังแปลและตรวจพิมพ์นิเทศต่อไปโดยลำดับ

มหามกุฏราชวิทยาลัย
ในพระบรมราชูปถัมภ์
สิงหาคม ๒๕๐๘


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
ปูเสื่อ
วันที่ 31 ส.ค. 2559

เป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 14 มิ.ย. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ