ปฐมทานสูตร .. ทาน ๘ ประการ

 
บ้านธัมมะ
วันที่  14 ธ.ค. 2550
หมายเลข  5851
อ่าน  1,054

[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกายอัฏฐกกนิบาต เล่ม ๔ - หน้าที่ 472

ทานวรรคที่ ๔

๑. ปฐมทานสูตร

[๑๒๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้ ๘ ประการเป็นไฉน คือ บางคนหวังได้จึงให้ทาน ๑ บางคนให้ทานเพราะกลัว ๑บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาให้แก่เราแล้ว ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เขาจักให้ตอบแทน ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่าทานเป็นการดี ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เราหุงหากิน ชนเหล่านี้หุงหากินไม่ได้ ๑ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่ชนเหล่านี้ผู้ไม่หุงหากินไม่สมควร ๑ บางคนให้ทานเพราะนึกว่า เมื่อเราให้ทานกิตติศัพท์อันงามย่อมฟุ้งไป ๑ บางคนให้ทานเพื่อประดับปรุงแต่จิต ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทาน ๘ ประการนี้แล

จบ ปฐมทานสูตรที่ ๑


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
suwit02
วันที่ 21 ธ.ค. 2550
อยากทราบว่า สาเหตุแห่งการให้ทานแต่ละข้อนั้น มีความละเอียดประณีตของใจต่างกันอย่างไรบ้างครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
study
วันที่ 24 ธ.ค. 2550

สาเหตุแห่งการให้ทานที่แตกต่างกันเพราะการสะสมมาต่างกัน อนึ่ง ในปัจจุบันหากมีการสะสมการฟังความเข้าใจพระธรรมมากขึ้น สภาพจิตย่อมประณีต ตามความเข้าใจความจริงตามนัยของพระธรรมนั่นเอง ขอเชิญอ่านคำอธิบายจากอรรถกถาครับ

อรรถกถาปฐมทานสูตรที่ ๑

วรรคที่ ๔ ปฐมทานสูตรที่ ๑ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.

บทว่า อาสชฺช ทานํ เทติ ความว่า บุคคลบางคน ให้ทานเพราะประจวบเข้า คือพอเห็นปฏิคาหกมาถึง นิมนต์ให้ท่านนั่งครู่หนึ่งกระทำสักการะแล้วจึงให้ทาน ย่อมไม่ลำบากใจว่า จักให้. บทว่า ภยา ได้แก่ เพราะกลัวครหาว่าเป็นผู้ไม่ให้เป็นผู้ไม่ทำ หรือเพราะกลัวอบายภูมิ. บทว่า อทาสิ เม ความว่า ให้ด้วยคิดว่าผู้นี้ได้ให้สิ่งชื่อนี้แก่เราในกาลก่อน. บทว่า ทสฺสติ เม ความว่าให้ด้วยคิดว่า ผู้นี้จักให้สิ่งชื่อนี้แก่เราในอนาคต. บทว่า สาหุ ทานํ ความว่า ให้ด้วยคิดว่า ขึ้นชื่อว่าทานยังประโยชน์ให้สำเร็จ คือดีได้แก่อันบัณฑิตมีพระพุทธเจ้าเป็นต้นสรรเสริญแล้ว. บทว่า จิตฺตาลงฺการจิตฺตปริกฺขารตฺถํ ทานํ เทต ความว่า ให้เพื่อประดับและตกแต่งจิตในสมถะและวิปัสสนา เพราะว่าทานย่อมทำจิตให้อ่อนโยน บุคคลผู้ได้รับทาน ย่อมมีจิตอ่อนโยนดีว่าเราได้แล้วแม้บุคคลให้ทานนั้น ก็ย่อมมีจิตอ่อนโยนว่า เราให้ทานแล้ว.เพราะฉะนั้น ทานนั้นชื่อว่า ย่อมทำจิตของบุคคลทั้ง ๒ ฝ่าย ให้อ่อนโยน เพราะเหตุนั้นนั่นแล. ท่านจึงตรัสว่า อทนฺตทมนํ การฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก ดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

อทนฺตทมนํ ทานํ อทานํ ทนฺตทูสกํ อเนน ปิยวาเจน โอณมนฺติ มนมฺติ จ

การให้ทานเป็นเครื่องฝึกจิตที่ยังไม่ได้ฝึก การไม่ให้ทานเป็นเครื่องประทุษร้ายจิตที่ฝึกแล้ว ชนทั้งหลายมีจิตโอนอ่อน และน้อมลงด้วยปิยวาจานี้ ก็บรรดาการให้ทาน ๘ ประการนี้ การให้ เพื่อประดับจิตเท่านั้น เป็นสูงสุดแล

จบ อรรถกถาปฐมทานสูตรที่ ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 22 มิ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ