ขอเรียนถามเรื่องเมตตา...กับการเจริญสติ

 
พุทธรักษา
วันที่  22 พ.ย. 2550
หมายเลข  5630
อ่าน  1,345

จากการฟัง เข้าใจว่า

๑. เมตตา คือ ความเป็นมิตร หวังประโยชน์เกื้อกูล เกิดขึ้นโดยมีบัญญัติ (คนหรือสัตว์) เป็นอารมณ์

๒. ส่วนการเจริญสติ มีปรมัตถ์ (นามและรูป) เป็นอารมณ์ เมื่อสภาพธรรมที่เป็นเมตตาเกิดและดับไปแล้ว สติจึงจะเกิดระลึกได้ว่า ไม่มีเราที่เมตตา ไม่มีคนหรือสัตว์ที่ได้รับความเมตตา เป็นจิตคนละขณะกับข้อ ๑

๓. สภาพธรรมข้อ ๑. เป็นกุศลจิตที่ประกอบด้วยปัญญาขั้นสมถภาวนา

๔. สภาพธรรมข้อ ๒. เป็นเมตตาที่ประกอบด้วยปัญญาขั้นวิปัสสนาเป็นเมตตาบารมี

๕. เมตตาบารมี จะต้องเกิดโดยข้อ ๑. เกิดก่อนและข้อ ๒. เกิดตามลำดับเสมอ ผิดถูกประการใด กรุณาแนะนำ เพื่อเป็นธรรมทานด้วยค่ะ

ขออนุโมทนา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 22 พ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัยข้อ

๑. ถูกต้องครับ เมตตา คือความเป็นมิตร นำประโยชน์ไปให้ โดยไม่ได้หวังอะไร แม้ความเป็นที่รัก เพราะเมตตากับโลภะใกล้กัน เมตตา ไม่ติดข้องและเมตตามีสัตว์ บุคคลเป็นอารมณ์ มีเมตตากับต้นไม้ ไม่ได้ เป็นต้น

ข้อ ๒. ถูกต้องครับ การเจริญสติปัฏฐาน ที่เป็นวิปัสสนาต้องมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ เหตุผลเพราะเพื่อละความยึดถือว่าเป็นสัตว์ บุคคล (เป็นบัญญัติ) ดังนั้น สติปัฏฐานจึงมีปรมัตถ์เป็นอารมณ์เพื่อรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ สิ่งของ การที่กุศลที่เป็นเมตตาเกิดขึ้น สติปัฏฐานจะต้องเกิดขึ้นรู้ในขณะที่กุศลจิตที่เป็นเมตตาดับไปแล้ว คนละขณะครับ เพราะขณะที่เป็นเมตตา ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานแต่สติปัฏฐานสามารถเกิดต่อรู้ว่าเมตตาเป็นธรรมไม่ใช่เรา หลังจากเมตตาดับไปครับ เพราะกุศลจิตที่เป็นเมตตาก็เป็นธรรม เป็นปรมัตถ์ สติปัฏฐานจึงมีกุศลจิตที่เป็นเมตตาเป็นอารมณ์ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 22 พ.ย. 2550

ข้อ ๓. เมตตาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เช่น คิดอยากให้เขามีความสุข หรือมีเมตตาทางกาย วาจา เป็นต้น ที่เกิดเพียงชั่วขณะนั้นไม่ใช่กุศลขั้นสมถภาวนา เพราะกุศลขั้นสมถภาวนาจะต้องประกอบด้วยปัญญาเสมอ คือ รู้ลักษณะของกุศลที่เป็นเมตตาแล้ว รู้ว่าควรจะเจริญอย่างไรให้กุศลที่เป็นเมตตาเกิดขึ้นบ่อยๆ จนถึงอัปนาสมาธิ ดังนั้น ต้องมีปัญญาทีรู้ลักษณะของเมตตา (แต่ไม่ได้รู้ว่าเป็นธรรม) แล้วอบรมให้เจริญขึ้นจนแนบแน่น จึงเป็นกุศลระดับสมถภาวนาที่ประกอบด้วยปัญญา แต่เมตตาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นสมถ คือสงบจากกิเลสเพียงชั่วขณะ แต่ไม่ใช่กุศลระดับสมถภาวนาและกุศลที่เป็นเมตตาสามารถเกิดโดยไม่มีปัญญาก็ได้ แต่สมถภาวนาต้องมีปัญญาเสมอ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 22 พ.ย. 2550

ข้อ ๔. ถ้ามีเมตตาเป็นอารมณ์ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็ขาดบารมีไม่ได้แน่นอนครับเป็นเมตตาบารมีและเป็นปัญญาบารมีด้วยครับ

ข้อ ๕. จากคำถามหมายความว่าเมตตาบารมีจะต้องเป็นลักษณะ คือ เมตตาเกิดแล้วสติปัฏฐานเกิด ระลึกรู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา จึงเป็นเมตตาบารมีเท่านั้น ไม่เสมอไปครับ

เมตตาบารมีไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีสติปัฏฐานเกิดระลึกลักษณะของเมตตาจึงเป็นเมตตาบารมี แต่กุศลที่เป็นเมตตาเกิดขึ้น อันเป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส มีปัญญา (ไม่ใช่ถึงขั้นสติปัฏฐาน) และเห็นโทษของกิเลสและการเกิด เป็นต้น ก็เป็นเมตตาบารมีได้ โดยไม่ต้องจำเป็นที่จะเป็นสติปัฏฐาน ดังเช่น อดีตชาติของพระโพธิสัตว์ ที่มีเมตตาบารมีได้ โดยไม่ต้องมีสติปัฏฐานเกิดร่วมด้วยเสมอ แต่กุศลที่เป็นเมตตาของท่านเกิดขึ้นเพราะเห็นโทษของกิเลสและน้อมจิตไปเพื่อสิ้นกิเลสและช่วยสัตว์โลก เป็นต้น

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 23 พ.ย. 2550

ผู้ที่มีเมตตา ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ เช่น พระโพธิสัตว์ ท่านเคยเกิดเป็นสุวรรณสาม ท่านเจริญเมตตาเป็นปกติ ท่านถูกพระราชาที่ออกมาล่าสัตว์ยิง ท่านก็ไม่โกรธ พูดกับพระราชาด้วยวาจาอ่อนหวาน ภายหลังพ่อแม่ของสุวรรณสามตั้งสัจจกิริยา ท่านก็รอดชีวิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Komsan
วันที่ 23 พ.ย. 2550
ขออนุโมทนาครับ
 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แช่มชื่น
วันที่ 24 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
poon^poon
วันที่ 25 พ.ย. 2550

ขออนุโมทนาเช่นกันค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 29 ส.ค. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ