ตายแล้วต้องไปเสวยกรรมในนรก สวรรค์ หรือ มาเกิดใหม่

 
kdl003
วันที่  18 พ.ย. 2548
หมายเลข  523
อ่าน  2,288

ตอนนี้ชักเริ่มงง เมื่อมีเด็กมาถามว่า จิต เจตสิก หรือวิญญาน ของคนที่เมื่อตายแล้วต้องไปเสวยกรรมในนรก สวรรค์ หรือ มาเกิดใหม่ จะอธิบายให้เด็กระดับมัธยมปลายถึงมหาวิทยาลัยเข้าใจ ได้ง่ายๆ อย่างไร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 18 พ.ย. 2548

ถ้าอธิบายโดยนัยของโวหารของชาวโลกที่ว่า ผู้ใดทำกรรมชั่ว เมื่อกรรมนั้นให้ผลนำเขาเกิดในอบายภูมิเสวยความทุกข์ ผู้ใดทำกรรมดีเมื่อกรรมนั้นให้ผลนำเขาเกิดในสุคติโลกสวรรค์เสวยความสุข ผู้ใดละกรรมดีกรรมชั่วได้แล้วย่อมไม่เกิดอีก (พระอรหันต์ดับขันธปรินิพพาน) โดนนัยปรมัตถธรรมมีเพียง จิต เจตสิก รูป เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ไม่มีการไปการมา เรื่องปรมัตถธรรม และเรื่องกรรมเป็นเรื่องละเอียดมาก ควรศึกษาในพระไตรปิฎกและอรรถกถา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 พ.ย. 2548

การฟังธรรม ศึกษาธรรม เพื่อที่จะให้เข้าใจธรรมที่ละเอียด จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น เช่น ต้องมีความเข้าใจความหมายของ คำว่า จิต วิญญาณ กรรม และวิบากการฟังธรรมทุกครั้ง ก็เพื่อให้เกิดความเห็นถูก ซึ่งเป็นปัญญา ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 พ.ย. 2548

คำว่า จิต และ วิญญาณ มีความหมายเหมือนกัน คือ เป็นนามธรรม ชึ่งเป็นสภาพรู้สภาพธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ เช่น สภาพธรรมที่รู้สี สภาพธรรมที่รู้เสียง สภาพธรรมที่รู้กลิ่นสภาพธรรมที่ลิ้มรส สภาพธรรมที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว สภาพธรรมที่รู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และ ที่คิดนึกเรื่องต่างๆ เป็นต้น

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เรียกสภาพธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ นั้นว่า จิต จิตซึ่งเป็นปรมัตถธรรมที่เกิดขึ้นรู้อารมณ์นั้น เกิดขึ้นได้ เพราะมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้นเมื่อไม่มีปัจจัยจิตก็เกิดไม่ได้ เช่น เมื่อเสียงไม่เกิดขึ้นกระทบหู จิตได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้จิตแต่ละประเภท จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตประเภทนั้นๆ จิตไม่ใช่เราไม่ใช่ตัวตนของเรา จิตไม่เทียง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา การที่ใช้คำว่าจิตบ้าง คำว่าวิญญาณบ้าง ก็เพื่อแสดงลักษณะของจิตแต่ละประเภทให้รู้ว่าถ้าเป็นจิตที่อาศัยจักขุปสาท คือ ตา เกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เรียกว่าจักขุวิญญาณ ถ้าเป็นจิตได้ยินเสียงก็เป็นจิตอีกประเภทหนึ่ง เป็นโสตวิญญาณ เพราะเป็นสภาพรู้ที่อาศัยโสตปสาทจึงเกิดขึ้นได้ยินเสียง จิตได้ยิน และ จิตเห็นต่างประเภทกัน เพราะเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดจิตเห็น และเหตุปัจจัยให้เกิดจิตได้ยินต่างกัน ฉะนั้น จิตเห็นและจิตได้ยินจึงไม่ใช่จิตประเภทเดียวกัน เมื่อใช้คำว่าจิตก็หมายถึง สภาพรู้ ธาตุรู้ เมื่อใช้คำว่าวิญญาณ ก็จำแนกออกไปเป็น

จิตที่เห็นเป็น จักขุวิญญาณ

จิตที่ได้ยินเป็น โสตวิญญาณ

จิตที่ได้กลิ่นเป็น ฆานวิญญาณ

จิตที่ลิ้มรสเป็น ชิวหาวิญญาณ

จิตที่รู้โผฏฐัพพะเป็น กายวิญญาณ

จิตที่คิดนึกเป็น มโนวิญญาณ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 พ.ย. 2548

จิตเกิดดับเร็วมาก เกิดดับสลับกันสืบต่อกันไป ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะจิตที่ดับไปเป็นอนันตรปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อทันที จุติจิต คือ จิตดวงสุดท้ายของชาตินี้ที่ทำกิจเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ เมื่อดับแล้ว จิตที่เกิดต่อทำปฏิสนธิกิจ คือ สืบต่อจากชาติก่อน ปฏิสนธิจิตเป็นจิตดวงแรกของชาตินี้เกิดต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ไม่มีระหว่างคั่นเลย ไม่มีจิตอื่นคั่นระหว่างจุติจิตของชาติก่อนกับปฏิสนธิจิตของชาตินี้ จิตเห็นทำทัสนกิจ (เห็น) ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจจิตได้ยินก็ทำสวนกิจ (ได้ยิน) ไม่ได้ทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้น จิตที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตดวงเดียวเท่านั้นที่ทำปฏิสนธิกิจ เพราะฉะนั้น จิตเห็นจะเป็นปฏิสนธิจิตไม่ได้เลย

ปฏิสนธิจิต หมายความ ถึงจิตดวงแรกของชาตินี้ ทำกิจสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนเท่านั้น มีขณะเดียว ในชาติหนึ่งมีปฏิสนธิจิตขณะเดียว แต่ว่ามีจักขุวิญญาณหลายขณะได้ตามเหตุตามปัจจัย

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 พ.ย. 2548

กรรมใดได้กระทำแล้วก็เป็นเหตุให้เกิดผล คือ วิบากแก่ผู้กระทำกรรมนั้นตามควร แก่โอกาสของกรรมนั้นๆ ผู้กระทำกรรม จึงเป็นผู้รับผลของกรรมโดยมีกรรมเป็นกำเนิด คือ เป็นเหตุให้เกิด สุคติภูมิและทุคติภูมิ เมื่อเกิดมาแล้ว ก็มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เมื่อถึงโอกาสของอกุศลกรรมให้ผล ขณะนั้นก็มีอกุศลกรรมเป็นพวกพ้อง มีความวิบัติต่างๆ เกิดขึ้น แม้จากญาติ มิตรสหาย บริวาร และ คนอื่นๆ เมื่อถึงโอกาสของกุศลกรรมให้ผลก็ตรงข้ามกับผลของอกุศลกรรม เพราะฉะนั้น ทุกคนจึงมีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 18 พ.ย. 2548

กรรมเป็นเรื่องที่มีจริง มีความสลับซับซ้อนมาก และเป็นเรื่องปกปิด ไม่มีผู้ใดสามารถพยากรณ์เรื่องกรรมได้ นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีทั้งกรรมที่ได้กระทำแล้ว (อโหสิกรรม) และ กรรมในปัจจุบัน

ท่านพระสารีบุตรได้จำแนกกรรมเป็น ๑๒ ประเภท คือ อโหสิกรรม ๖ และ กรรมในปัจจุบัน ๖ รวมเป็น กรรม ๑๒

อโหสิกรรม ๖ อย่าง ได้แก่

กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมได้มีแล้ว ๑

กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมไม่ได้มีแล้ว ๑

กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมมีอยู่ ๑

กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมไม่มีอยู่ ๑

กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมจักมี ๑

กรรมได้มีแล้ว ผลของกรรมจักไม่มี ๑

กรรมในปัจจุบัน ๖ อย่าง ได้แก่

กรรมมีอยู่ ผลของกรรมมีอยู่ ๑

กรรมมีอยู่ ผลของกรรมไม่มี ๑

กรรมมีอยู่ ผลของกรรมจักมี ๑

กรรมมีอยู่ ผลของกรรมจักไม่มี ๑

กรรมจักมี ผลของกรรมจักมี ๑

กรรมจักมี ผลของกรรมจักไม่มี ๑

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
kdl003
วันที่ 18 ก.พ. 2549

กลับมาอ่านอีกที ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
pornpaon
วันที่ 21 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
chatchai.k
วันที่ 10 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ