ใจที่เต้นตุบๆ ขณะฝึกวิปัสสนากรรมฐานอันตรายหรือไม่คะ

 
medulla
วันที่  13 พ.ย. 2548
หมายเลข  515
อ่าน  1,534

ดิฉันได้ฝึกวิปัสสนากรรมฐานแบบ มโนสัมผัส มโนวิญญาณ มโนทวาร ให้ความรู้สึกสัมผัสแผ่ซ่านไปที่หัวใจ (ทั้งยืน เดิน นั่ง นอน) จะรู้สึกตุบๆ ที่หัวใจน่ะค่ะ และรู้สึกถึงความเกิดดับ แต่บางทีรู้สึกว่า แม้จะไม่ได้ออกเรี่ยวออกแรงอะไรแต่เรารู้สึกได้ถึงแรงบีบเต้นของหัวใจตลอด จนเกิดความลังเลสงสัยว่าที่กระทำอยู่นี้ถูกต้องหรือไม่คะเนื่องจากจะมีความรู้สึกเร็วที่หัวใจตลอดเวลา กลัวจะเป็นโรคหัวใจค่ะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 13 พ.ย. 2548

การอบรมวิปัสสนาภาวนา ผลคือรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงและละกิเลสได้ตามลำดับขั้นจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ ถ้าอบรมวิปัสสนาไม่ถูกต้อง ย่อมมีอาการแปลกๆ มากมายควรศึกษาหลักธรรมในพระไตรปิฎกและอรรถกถาให้เข้าใจก่อน เพื่อเป็นหลักที่ถูกต้องตามพระธรรมคำสอน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 พ.ย. 2548

พุทธศาสนิกชนควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร

ความจริงที่พระองค์ตรัสรู้ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง ความจริงที่พระองค์ตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้น เป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 13 พ.ย. 2548

จะทำวิปัสสนาอย่างไร

เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดนั้น

สัมมาสังกัปปะ คือ วิตกเจตสิก ก็ตรึก คือ จรดในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ และปัญญาเริ่มศึกษาพิจารณาลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อย

จนกว่าความรู้จะเพิ่มขึ้น ความรู้จะเกิดขึ้น และเจริญขึ้นได้จากการพิจารณารู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งปรากฏในขณะที่สติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น

ขณะนี้สติจะเกิดขึ้นระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมหรือรูปธรรมที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางหนึ่งทางใดก็ได้ ทีละลักษณะ

พิจารณาศึกษารู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น รู้ชัดในลักษณะที่ต่างกันของนามธรรมและรูปธรรม

ในที่สุดก็จะชินกับสภาพของนามธรรมและรูปธรรมมากขึ้นเมื่อชินแล้ว ความรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมก็เพิ่มขึ้นอีก

ไม่ว่านามธรรมใดรูปธรรมใดจะเกิด ณ สถานที่ใด สติและปัญญาก็สามารถเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ในขณะนั้น ได้ตามปรกติตามความเป็นจริง

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญสติปัญญา ความรู้ใดที่ได้อบรมให้เกิดขึ้นแล้วความรู้นั้นก็จะเพิ่มขึ้น และละคลายความไม่รู้ให้ลดน้อยลงไปด้วย

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
pornpaon
วันที่ 17 ธ.ค. 2551
ขออนุโมทนาค่ะ
 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ