มหาสติปัฏฐานสูตร .. สัมปชัญญบรรพ

 
อิคิว
วันที่  16 ต.ค. 2550
หมายเลข  5141
อ่าน  2,474

พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

เล่มที่ 14 ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ 276 หน้า 212-213

มหาสติปัฏฐานสูตร

สัมปชัญญบรรพ

[ ๒๗๖ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้ออื่นยังมีอยู่อีก ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ (ความเป็นผู้รู้พร้อม) ในการก้าวไปข้างหน้า และถอยกลับมาข้างหลัง ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการแลไปข้างหน้า แลเหลียวไปข้างซ้ายข้างขวา ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการคู้อวัยวะเข้า เหยียดอวัยวะออก ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ย่อมเป็นผู้ทำ สัมปชัญญะ ในการกินดื่ม เคี้ยว และลิ้ม ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะ ในการถ่ายอุจจาระและ ปัสสาวะ ย่อมเป็นผู้ทำสัมปชัญญะในการเดิน ยืน นั่ง หลับ ตื่น พูด และความเป็นผู้นิ่งอยู่ ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเป็นภายนอก บ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความ เกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็น ธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียง สักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่ อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น กายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้

จบ สัมปชัญญบรรพ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
อิคิว
วันที่ 16 ต.ค. 2550

พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 688-720

อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร

บทว่า สมฺปชานการี โหติ ความว่า เป็นผู้ประกอบกิจทุกอย่างด้วยสัมปชัญญะ (ความรู้ตัว) เป็นปกติ หรือเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวนั่นแหละเป็นปกติ เพราะว่า เธอทำความรู้สึกตัวอยู่ทีเดียว ในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ไม่ว่าในอิริยาบถไหนๆ ก็ไม่เว้นสัมปชัญญะ.

สัมปชัญญะ ๔

สัมปชัญญะ ในคำว่า สมฺปชานการี นั้นมี ๔ อย่างคือ สาตถกสัมปชัญญะ ๑ สัปปายสัมปชัญญะ ๑ โคจรสัมปชัญญะ ๑ อสัมโมหสัมปชัญญะ ๑

๑. สาตถกสัมปชัญญะ บรรดาสัมปชัญญะทั้ง ๔ อย่างนั้น การไม่ไปตามอำนาจความคิดที่เกิดขึ้นทีเดียว ในเมื่อคิดจะก้าวไป กำหนดผลได้ผลเสีย (ก่อน) ว่าการไปที่นี้ จะมีประโยชน์แก่เรา หรือไม่มี แล้วถือเอาแต่ประโยชน์ชื่อว่าสาตถกสัมปชัญญะ

๒. สัปปายสัมปชัญญะ ส่วนการกำหนด สัปปายะ และ อสัปปายะ (ความสบายหรือไม่สบาย) ในการเดินนั้นแล้ว กำหนดเอาสัปปายะ ชื่อว่า สัปปายสัมปชัญญะ

๓. โคจรสัมปชัญญะ แต่การเรียนเอา โคจระ กล่าวคือกรรมฐาน ซึ่งเป็นที่ชอบใจของตน ในจำนวนกรรมฐาน ๓๘ ประการ แล้วรับเอากรรมฐานนั้นเดินไปในที่โคจรเพื่อภิกขาจาร ชื่อว่า โคจรสัมปชัญญะ สำหรับผู้มีสัปปายะที่มีประโยชน์ที่กำหนดแล้วอย่างนี้.

๔. อสัมโมหสัมปชัญญะ ส่วนการไม่หลงลืม ในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น ชื่อว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ อสัมโมหสัมปชัญญะนั้น พึงทราบอย่างนี้. ภิกษุในพระศาสนานี้ เมื่อก้าวไปข้างหน้า หรือถอยกลับ จะไม่ลืมเหมือนอันธปุถุชน (หลง) ไปว่า อัตตาก้าวไปข้างหน้า อัตตาให้เกิดการก้าวไปข้างหน้า หรือว่าเราก้าวไปข้างหน้า เราให้เกิดการก้าวไปข้างหน้า ในการก้าวไปข้างหน้าเป็นต้น เมื่อเกิดความคิด (จิต) ขึ้นว่า เราจะไม่หลงลืมก้าวไปข้างหน้า วาโยธาตุที่มีจิตเป็นสมุฏฐาน เมื่อให้เกิดวิญญัติขึ้น จะเกิดขึ้นพร้อมกับจิตดวงนั้นนั่นเอง.

อริยสัจในสัมปชัญญะ ในที่นี้ สติที่กำหนดด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการ เป็นทุกขสัจตัณหาเดิมที่ยังสติให้ปรากฏ (เป็นสมุฏฐานของสติ) เป็นสมุทัยสัจการไม่เป็นไปของสติและตัณหาเดิมทั้ง ๒นั้น เป็นนิโรธสัจ อริยมรรคมีประการดังที่กล่าวมาแล้ว เป็นมรรคสัจ พระโยคาวจรขวนขวาย ด้วยอำนาจสัจจะทั้ง ๔ อย่างนี้แล้ว จะบรรลุ ความดับ (ตัณหา) เพราะฉะนั้นจึงเป็นช่องทางแห่งธรรมเป็นเหตุนำออกจากทุกข์ จนถึงพรอรหัต ด้วยอำนาจแห่งพระโยคาวจร ผู้กำหนดด้วยสัมปชัญญะ ๔ ประการ รูปหนึ่งแล

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ครูโอ
วันที่ 18 ต.ค. 2550

ปุถุชน เป็นผู้ที่มีปรกติหลงลืมสติ จึงควรที่จะเจริญสติทุกเมื่อ ที่สติจะมีปัจจัยให้เกิดได้ โดยไม่พยายามไปเลือกเฟ้น หรือไปเพ่งที่อิริยาบถด้วยความมีอัตตา หรือเป็นตัวตนทั้งแท่งที่รู้ว่า นี้นั่งนี้นอน นี้ยืน นี้เดิน ซึ่งจะไม่หลุดพ้นไปจากสักกายทิฏฐิที่เหนียวแน่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้วได้เลย

พระอรหันต์ เท่านั้นที่ไม่หลงลืมสติ ไม่ว่าจะอิริยาบถนั่ง นอน ยืน หรือเดิน อิริยาบถไหน ท่านก็เจริญสติสัมปชัญญะได้ตลอดทุกขณะ เพราะเหตุว่าท่านดับความเห็นผิดว่า ท่านนั่ง นอน ยืน เดิน รวมไปถึงอนุสัยกิเลสทุกประการ โดยเฉพาะ"อวิชชา" เป็นสมุทเฉทครับ

ถ้าเป็นไปได้จะขอรบกวนคุณอิคิว ช่วยเกริ่นอธิบายสักนิด ก่อนอัญเชิญพระสูตรให้สหายธรรมท่านอื่นๆ ได้อ่าน เพื่อปูทางให้การอ่านไม่ติดๆ ขัดๆ เห็นสมควรว่าดีไหมครับ ส่วนตัวผมคิดว่าจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อสหายธรรมหลายท่านที่อาจจะตีความพระสูตรผิดไปได้ เพราะพระสูตรนั้นลึกซึ้งด้วยอรรถและพยัญชนะ ยากยิ่งที่จะเพียงอ่านผ่านๆ แล้วตรึกคิดเอาเองครับ

ขออนุโมทนามา ณ ที่นี้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
อิคิว
วันที่ 19 ต.ค. 2550

ขอบพระคุณสำหรับคำชี้แนะ บังเอิญกระผมเองก็ขาดความชำนาญในการอธิบาย เกรงว่าถ้าอธิบายสั้นไปผู้อ่านก็จะไม่เข้าใจยิ่งขึ้นอธิบายมากไปก็จะพาเข้ารกเข้าพงไปเสียอีก ด้วยคิดว่าพระไตรปิฎกนั้นสมบูรณ์ทั้งอรรถะและทั้งพยัญชนะ แล้วถ้าจะค่อยๆ พิจารณาไป สอบถามผู้รู้บ้าง ฟังการแสดงธรรมบ้างก็จะเข้าใจได้ แต่ที่ยกมาเพียงสั้นๆ ย่อๆ ก็เพราะเกรงว่าจะทำให้ใช้เนื้อที่มากเกินไป แต่ก็ได้ระบุพระสูตรที่ยกมาแสดงไว้ด้วยก็เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถไปค้นคว้าอ่านจากพระไตรปิฎกได้เอง อย่างไรก็ตามต่อไปกระผมจะพยายามเกริ่นอธิบายให้ดีที่สุดเท่าที่ปัญญาของกระผมจะทำได้ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 16 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 18 มิ.ย. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

มหาสติปัฏฐานสูตร

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ