อานาปาณสติ .. มหาสติปัฏฐานสูตร

 
อิคิว
วันที่  5 ต.ค. 2550
หมายเลข  5024
อ่าน  2,291

พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 14 ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ 274 หน้า 210-211

มหาสติปัฏฐานสูตร

กายานุปัสสนาอานาปานบรรพ

[ ๒๗๔ ] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่ อย่างไรเล่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปแล้วสู่ป่าก็ดี ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ดี ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรงดำรงสติเฉพาะหน้า เธอย่อมมีสติหายใจเข้าย่อมมีสติหายใจออก เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหาย-ใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร (คือลมหายใจเข้าและหายใจออก) หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ฉันใด นายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ฉลาด เมื่อชักเชือกกลึงยาว ก็รู้ชัดว่า เราชักเชือกกลึงยาว หรือเมื่อชักเชือกกลึงสั้น ก็รู้ชัดว่า เราชักเชือกกลึงสั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุก็ฉันนั้นนั่นแหละ เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว หรือเมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น หรือเมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง หายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ดังนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายในบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย เป็นภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นกายในกาย ทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรม-ดา คือ ความเสื่อมไปในกายบ้าง ย่อมพิจารณาเห็นธรรมดา คือ ทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมไปในกายบ้าง ก็หรือสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่ากายมีอยู่ แต่เพียงสักว่าเป็นที่รู้ แต่เพียงสักว่าเป็นที่อาศัยระลึก เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่ด้วย ย่อมไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลกด้วย

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ อยู่อย่างนี้ จบข้อกำหนดว่าด้วยลมหายใจเข้าออก


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
อิคิว
วันที่ 5 ต.ค. 2550

พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 14 ทีฆนิกาย มหาวรรค หน้า 292-298

อรรถกถามหาสติปัฏฐานสูตร

อานาปานบรรพ

กำหนดลมอัสสาสะปัสสาสะ (ลมหายใจเข้า-ออก)

ก็คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนนายช่างกลึง หรือลูกมือของนายช่างกลึงผู้ขยัน (การกลึงในสมัยพุทธกาลใช้เชือกในการชักแกนที่จับวัตถุที่ต้องการจะกลึงให้หมุน แล้วใช้ไบมีดจ่อเพื่อกลึงวัตถุที่หมุนนั้นแต่ปัจจุบันใช้มอเตอร์ในการหมุนแกน) นี้เป็นเพียงอุปมาเท่านั้น คำว่า ในกายภายใน ก็ดีนี้เป็นเพียงอัปปนาเท่านั้น แต่อัปปนานั้นก็ย่อมไม่มาในคำนั้น มาแต่อุปจารกัมมัฏฐานที่เหลือ แต่ก็ยังมาไม่ถึง คำว่า ผู้ขยัน หมายถึง ผู้ฉลาด (ผู้ชำนาญ) คำว่า ชักเชือกกลึงยาวก็ดี ความว่า เหยียดมือ เหยียดเท้า ชักเชือกยาวในเวลากลึงกลองช่องพิณเป็นต้น ซึ่งเป็นของใหญ่ ชักเชือกกลึงสั้นก็ดี ความว่า ชักเชือกกลึงสั้นๆ ในเวลากลึงของเล็กๆ น้อยๆ เช่นงา และลิ่มสลักเป็นต้นคำว่า ฉันนั้นเหมือนกันแล ความว่า แม้ภิกษุนี้ก็ฉันนั้น เมื่อหายใจเข้ายาวที่เป็นโดยระยะยาว และระยะสั้นก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว ฯลฯ คอยสำเหนียกอยู่ว่า เราหายใจออกยาวดังนี้ เมื่อเธอสำเหนียกอยู่อย่างนี้ ฌาน ๔ ย่อมเกิดในนิมิตแห่งลมหายใจเข้า-ออก เธอออกจากฌานแล้ว จะกำหนดลมหายใจเข้า-ออก หรือ องค์ฌานได้ ในการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ภิกษุประกอบกัมมัฏฐาน ในลมหายใจเข้า-ออก ย่อมกำหนดรูปอย่างนี้ว่า ลมหายใจเข้า-ออก เหล่านี้ อาศัยกรัชกาย (ร่างกาย, กายที่เกิดจากธุลี) ชื่อว่าวัตถุ มหาภูตรูป ๔ กับ อุปาทายรูป ชื่อว่า กรัชกาย ต่อแต่นั้น จึงกำหนดในนามธรรม ซึ่งมีผัสสะเป็นที่ ๕ (๑.เวทนา ๒. สัญญา๓.เจตนา ๔.วิญญาณ ๕.ผัสสะ) มีรูปนั้นเป็นอารมณ์ ครั้นกำหนดนามรูปอย่างนี้ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ค้นหาปัจจัย แห่งนามรูปนั้นอยู่ เห็นปฏิจสมุปบาทมีอวิชชาเป็นต้นแล้ว ข้ามพ้นความสงสัยเสียได้ว่านี้เป็นเพียงปัจจัย และธรรมที่เกิดขึ้นเพราะปัจจัยเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์หรือบุคคล ตัวตน จึงยกนามรูปกับทั้งปัจจัย ขึ้นสู่ไตรลักษณ์เจริญวิปัสสนาอยู่ ย่อมบรรลุอรหัตโดยลำดับ นี้เป็นทางปฏิบัติออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุผู้เจริญกัมมัฏฐาน กำหนดนามรูปว่า องค์ฌานเหล่านี้อาศัยอะไร อาศัยวัตถุรูป กรัชกายชื่อว่าวัตถุรูป องค์ฌานจัดเป็นนาม กรัชกายจัดเป็นรูป เมื่อจะแสวงหาปัจจัยแห่งนามรูปนั้น จึงเห็นปัจจยาการ (อา-การที่เป็นปัจจัยแก่กัน คือ ปฏิจจสมุปบาท) มีอวิชชาเป็นต้น จึงข้ามความสงสัยเสียได้ว่า นี้เป็นเพียงปัจจัยและธรรมอาศัยปัจจัยเกิดขึ้นไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตน จึงยกนามรูปพร้อมทั้งปัจจัยขึ้นสู่ไตรลักษณ์ เจริญวิปัสสนา บรรลุพระอรหัตโดยลำดับ นี้เป็นมุขของการออกจากทุกข์จนถึงพระอรหัตของภิกษุรูปหนึ่ง คำว่า อิติ อชฺฌตฺตํวา ในกายภายใน ความว่า พิจารณาเห็นกายในกาย คือลมหายใจเข้า-ออกของตนอยู่อย่างนี้ คำว่า หรือ ภายนอก ความว่า หรือพิจารณาเห็นกายในกาย คือลมหายใจเข้า-ออกของคนอื่นอยู่ คำว่า ทั้งภายในทั้งภายนอก ความว่า หรือในกายคือ ลมหายใจเข้า -ออกของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาล ด้วยคำนี้พระผู้มีพระภาค-เจ้าตรัส กาลที่ภิกษุนั้นไม่หยุดกัมมัฏฐานที่คล่องแคล่ว ให้กาย คือลมหายใจเข้า-ออก สัญจรไปมาอยู่ ก็กิจทั้งสองนี้ย่อมไม่ได้ในเวลาเดียวกัน คำว่า พิจารณาเห็นธรรมดา คือความเกิด ความว่า ลมอาศัยสูบของช่างทอง ๑ ลูกสูบ๑ ความพยายามอันเกิดแต่ลูกสูบนั้น ๑ จึ งจะสัญจรไปมาฉันใด กาย คือลมหายใจเข้า-ออกก็อาศัยกรัชกาย ๑ ช่องจมูก ๑ จิต ๑ของภิกษุ จึงหายใจเข้า-ออกได้ฉันนั้น ภิกษุเห็นธรรมมีกายเป็นต้น ซึ่งมีความเกิดเป็นธรรมดา ท่านเรียกว่า พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดในกาย คำว่า พิจารณาธรรม คือความเสื่อมก็ดี ความว่า เมื่อสูบถูกนำออกไปแล้ว เมื่อลูกสูบแตกแล้ว เ มื่อความพยายามอันเกิดแต่ลูกสูบนั้น ไม่มี ลมนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ฉันใด เมื่อกายแตกแล้ว เมื่อช่องจมูกถูกกำจัดเสียแล้ว และเมื่อจิตดับแล้ว ชื่อว่ากาย คือลมหายใจเข้า-ออก ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุเห็นอยู่อย่างนี้ว่า ลมหายใจเข้า-ออกดับ เพราะกายเป็นต้นดับ ดังนี้ ท่านเรียกว่าพิจารณาธรรมคือ ความเสื่อมในกาย คำว่า พิจารณาเห็นธรรม คือความเกิด และความเสื่อม หมายความว่า พิจารณาเห็นความเกิดตามกาล ความเสื่อมตามกาล

คำว่า สติของเธอปรากฏชัดว่ากายมีอยู่ ความว่า สติของภิกษุนั้นเข้าไปตั้งเฉพาะอย่างนี้ว่า กายแลมีอยู่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ของตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร คำว่า เพียงเท่านั้น นี้เป็นเครื่องกำหนดเขตแห่งประโยชน์ ท่านอธิบายว่า สติที่เข้าไปตั้งอยู่นั้น หาใช่เพื่อประโยชน์อย่างอื่นไม่ ที่แท้ก็เพียงเพื่อประโยชน์สักว่า ความรู้ คือ ประมาณแห่งความรู้ยิ่งๆ ขึ้นไป และประมาณแห่งสติเท่านั้น อธิบายว่า เพื่อความเจริญแห่งสติสัมปชัญญะ คำว่า ไม่ถูกกิเลส อาศัยอยู่ ความว่า ไม่ถูกกิเลสอาศัย ด้วยอำนาจแห่งกิเลสเป็นที่อาศัย คือตัณหา และ ทิฏฐิอยู่ คำว่า ไม่ยึดถือสิ่งไรๆ ในโลกด้วย ความว่า ไม่ถือสิ่งไรๆ ในโลก คือรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญานว่า นี้เป็นตัวของเรา นี้มีในตัวของเรา อานาปานสติเป็นอริยสัจ ๔ ในอานา-ปานบรรพนั้น สติที่กำหนดลมหายใจเข้า-ออก เป็นอารมณ์เป็นทุกข์สัจ ตัณหามีในก่อนอันยังทุกขสัจ นั้นให้ตั้งขึ้นเป็นสมุทัยสัจ ความไม่เป็นไปแห่ง สัจจะทั้งสอง เป็นนิโรธสัจ (พระนิพพาน) อริยมรรคที่กำหนดรู้ทุกขสัจ ละสมุทัยสัจมีนิโรธสัจเป็นอารมณ์ เป็นมรรคสัจ ภิกษุโยคาวจร ขวนขวายด้วยอำนาจ สัจจะ ๔ อย่างนี้ย่อมพ้นทุกข์ได้ฉะนี้ นี้เป็นทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ จนบรรลุพระอรหัตของภิกษุผู้ตั้งมั่นแล้ว ด้วยอำ-นาจแห่งลมหายใจเข้า-ออกรูปหนึ่งฉะนี้แล จบอานาปานบรรพ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
อิคิว
วันที่ 5 ต.ค. 2550

ลมหายใจเข้าออกของใคร ตอบว่า ไม่ใช่ของใคร ใครหายใจเข้าออก ตอบว่า ไม่มีใครหายใจเข้าออกหายใจเข้าออกเพราะเหตุใด ตอบว่า เพราะ จิตเกิดวาโยจึงเกิด เป็นอาการเรียกว่า ลมหายใจเข้าออกไม่ใช่สัตว์ บุคคล

อานาปาณสติทั้งสุขุมและลึก เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนาสมดังคำว่าเลือก 1 ได้ถึง 2 (Two In One)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
wannee.s
วันที่ 5 ต.ค. 2550

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ของมหาบุรุษค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 5 ต.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

อานาปานสติ เป็นอารมณ์ที่ละเอียด แต่ก็ต้องไม่ลืมคำนี้เสมอ คำว่า "อนัตตา" บังคับ บัญชาไม่ได้ การอบรมโดยนัย สมถและวิปัสสนา ไม่มีตัวตนที่จะเลือกอารมณ์ เช่น จะ เลือกเป็นไปในอานาปานสติ เป็นต้น แล้วแต่สติและปํญญาว่าจะเกิดระลึกรู้สภาพธัมมะ อะไร ซึ่งอาจรู้สภาพธัมมะที่มีจริงในขณะนี้ เช่น เห็น ได้ยิน เสียง เป็นต้นก็ได้ครับ ขอ ให้เข้าใจความจริงก่อนนะครับว่า การศึกษาพระไตรปิฎกไม่ว่าในส่วนใดหรืออภิธรรม ก็เื่พื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มีในขณะนี้ว่าไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงธรรม และ อภิธรรมก็มีอยู่ในขณะนี้เองครับ เพียงแต่ว่า เราจะรู้ชื่อหรือจะเข้าใจความจริงของ อภิธรรมที่มีอยู่ในขณะนี้ รู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา นี่คือจุดประสงค์ของการอบรมปัญญา ดับกิเลสครับ แม้ขณะที่หายใจ ก็มีสภาพธัมมะที่มีจริง คือ เย็น ร้อน ที่อาศัยเนื่องอยู่ กับลมหายใจ แต่ก็แล้วแต่สติว่าจะเกิดระลึกสภาพธัมมะอะไรครับ แต่เบื้องต้นใน การอบรมปัญญาและการศึกษาธัมมะที่ถูกคือ เพื่อเข้าใจความจริงของสภาพธัมมะที่มี ในขณะนี้ว่าเป็นธรรม เพราะอภิธรรมอยู่ในชีวิตประจำวัน

ขออนุโมทนาครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ครูโอ
วันที่ 6 ต.ค. 2550

สภาพธัมมะใดเกิดปรากฏ ถ้าสติเกิด สติก็ระลึกไปในสภาพธัมมะนั้นๆ แต่ถ้าสติไม่เกิดระลึกเท่าไรก็เป็นตัวตนที่ระลึก การจะระลึกรู้ที่ลมหายใจได้...ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ โดยสามารถที่จะพิจารณาสภาพธัมมะที่เกิดอย่างคล่องแคล่ว แม้เพียงแผ่วเบา เล็กน้อย แต่สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มเจริญปัญญา สติเกิดบ้างนิดๆ หน่อยๆ ลมหายใจไม่ได้ปรากฏให้รู้ได้ตลอด เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังการข้ามไปเลือกเฟ้นให้สติระลึกสภาพธัมมะตามความต้องการ ซึ่งปกติจะเป็นไปตามกำลังของ โลภะ อยู่เสมอ นี่คือความละเอียดขั้นต้นครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
อิคิว
วันที่ 9 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 16 มิ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
chatchai.k
วันที่ 18 มิ.ย. 2564

ขอเชิญอ่านเพิ่มเติม...

มหาสติปัฏฐานสูตร

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ