เรียนถาม เรื่องเวทนาครับ?

 
natthaset
วันที่  3 ต.ค. 2550
หมายเลข  4995
อ่าน  1,071

เมื่อมีการผัสสะเกิดขึ้น ย่อมเกิดเวทนา โดยเฉพาะสุข ทุกข์ เห็นได้ชัดว่า เป็นเหตุให้รู้สึกเกิดตัวตนขึ้นมาทันตาเห็น (สัมผัสได้กับตัวเองครับ) เรียนถามว่า การรู้แจ้ง เบื่อหน่าย คลายกำหนัด จะทำให้เวทนาลดลง หรือชัดเจนขึ้น เวทนายังมีเหมือนเดิมใช่ไหมครับ แต่การผัสสะของผู้รู้ และผู้ไม่รู้ให้ผลต่างกันใช่ไหมครับ และสุขสูงสุดคือนิพพาน ไม่ได้เกิดจากผัสสะใช่ไหมครับ?

* * ถ้าเป็นที่อื่นผมไม่กล้าถามหรอกครับ เพราะกลัวโดนประชาทันฑ์ แต่เห็นว่าที่นี้เน้นเรื่องปัญญา เลยกล้าถาม ควรไม่ควร ขอความกรุณาแนะนำด้วยครับ!!!ความสังสัยเกิดจากใจจริงครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ตามหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยนัยปฏิจจสมุปบาท แสดงว่า เพราะผัสสะเป็นปัจจัยจึงมีเวทนา โดยปัจจัยหลายอย่าง มีสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัยเป็นต้น การรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมทำให้เบื่อหน่าย คลายกำหนัดย่อมทำให้เวทนาบางประเภทลดลง เช่น เวทนาที่เกิดกับอกุศล คือโลภะ โทสะ โมหะลดลงได้ตามสมควร พระนิพพานเป็นอสังขตธรรม ที่ว่าพระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง หมายถึงความไม่มีทุกข์ใดๆ เลย ในพระนิพพานไม่มีผัสสะ เวทนา หรือขันธ์ใดๆ เลยฉะนั้นจึงเป็นสุขอย่างยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
ครูโอ
วันที่ 3 ต.ค. 2550

การจะรู้ลักษณะของเวทนาเจตสิกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกับที่คุณ Natthaset ได้เข้าใจด้วยตนเอง...เป็นความจริงครับ เพราะเหตุว่า การเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วของนามธรรมนั้น ถ้าไม่ใช่เป็นผู้ที่เจริญฌาณตั้งแต่ขั้นปฐมฌาณขึ้นไป หรือเป็นผู้ที่สั่งสมปัญญามามากและเป็นผู้มีปรกติอบรมเจริญสติปัฏฐานโดยคล่องแล้ว ก็ไม่สามารถที่จะระลึกรู้สภาพของเวทนาเจตสิกที่เกิดขึ้นกับจิตแต่ละขณะโดยไม่ใช่อาการของตัวตนได้เลย เวทนาเจตสิกเป็นเจตสิกที่เป็นใหญ่ มีกำลัง ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติไว้ในพระไตรปิฏกว่า เวทนาต่างๆ เป็นอินทรีย์ มี ทั้งสิ้น ๕ ประการ ได้แก่

ขอเชิญอ่านจากพระสูตรครับ

อินทรีย์ ๕ ประการ [สุทธกสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ครูโอ
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ข้อความบางตอนจาก

อรรถกถาอรหันตสูตร

...พึงเห็นว่า อารมณ์ที่เป็นไปเหมือนไม้สีไฟอันล่าง ผัสสะเหมือนไม้สีไฟอันบนการเสียดสีของผัสสะเหมือนความร้อนระอุ เวทนาเหมือนไฟ. หรือพึงเห็นว่า อารมณ์ที่เป็นไป เหมือนไม้สีไฟอันบน ผัสสะเหมือนไม้สีไฟอันล่าง

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ครูโอ
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ข้อความบางตอนจาก

๙. อรหันตสูตร

อินทรีย์ ๕ อาศัยผัสสะเกิดเวทนา

[๙๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สุขินทรีย์ ย่อมอาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้น ภิกษุนั้นสบายกาย ก็รู้ชัดว่าสบายกาย ย่อมรู้ชัดว่าเพราะผัสสะเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนานั้นแหละดับไป เวทนาซึ่งเกิดแต่ผัสสะนั้นคือ สุขินทรีย์ที่อาศัยผัสสะอันเป็นที่ตั้งแห่งสุขเวทนาเกิดขึ้นนั้น ย่อมดับไป สงบไป

(ส่วน ทุกขินทรีย์ ๑ โสมนัสสินทรีย์ ๑ โทมนัสสินทรีย์ ๑ อุเบกขินทรีย์ ๑ ก็โดยนัยเดียวกันครับ)

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
ครูโอ
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ข้อความบางตอนจาก

๑๐. อุปปฏิกสูตร

อินทรีย์ ๕ มีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย

[๙๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไม่ประมาทมีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ทุกขินทรีย์เกิดขึ้น เธอย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่าทุกขินทรีย์นี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา และทุกขินทรีย์นั้น มีนิมิต มีเหตุ มีเครื่องปรุงแต่ง มีปัจจัย แต่จะอนุมานเอาว่า ทุกขินทรีย์นั้นไม่ต้องมีนิมิต ไม่มีเหตุไม่มีเครื่องปรุงแต่ง ไม่มีปัจจัย จักเกิดขึ้นได้ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เธอย่อมรู้ชัดทุกขินทรีย์ เหตุเกิดแห่งทุกขินทรีย์ ความดับทุกขินทรีย์ และข้อปฏิบัติเป็นที่ดับโดยไม่เหลือแห่งทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจารมีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่. ทุกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งทุกขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.

ก็โทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือ

ในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจารเพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่ โทมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งโทมนัสสินทรีย์และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.

ก็สุขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไปเข้าตติยฌาน ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข สุขินทรีย์เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่เหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งสุขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.

ก็โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เข้าจตุตถฌานไม่มีทุกข์ไม่มีสุข และละทุกข์ละสุขและดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ โสมนัสสินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งโสมนัสสินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.

ก็อุเบกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่มีเหลือในที่ไหน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ล่วงเนวสัญญานาสัญญายตน โดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ อุเบกขินทรีย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมดับไปไม่เหลือในที่นี้ ภิกษุนี้เรากล่าวว่า ได้รู้แล้วซึ่งความดับแห่งอุเบกขินทรีย์ และน้อมจิตเข้าไปเพื่อความเป็นอย่างนั้น.

จบสูตรที่ ๑๐จบสุขินทริยวรรคที่ ๔

การอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่ปรากฏให้รู้ได้เฉพาะในขณะนี้ ย่อมเป็นการดีกว่าการไปพยายามรู้สิ่งที่เกินกำลังจะรู้ได้ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

เมื่อมีการผัสสะเกิดขึ้น ย่อมเกิดเวทนาโดยเฉพาะ สุข ทุกข์ เห็นได้ชัดว่า เป็นเหตุให้รู้สึกเกิดตัวตนขึ้นมาทันตาเห็น (สัมผัสได้กับตัวเองครับ) ผัสสะเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา โดยปัจจัยต่างๆ และเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา โดยปัจจัยต่างๆ ตัณหาหรือโลภะ เมื่อเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัณหาหรือโลภะ ย่อมติดข้องกับความรู้สึกนั้น และความรู้สึกที่เป็นตัวตน ก็ด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ ดังนั้นเมื่อยังเป็นผู้หนาด้วยกิเลส เมื่อเวทนาเกิดย่อมยินดีพอใจ (ตัณหา) เป็นเราด้วยตัณหา เช่น เป็นเราที่ดีใจ ยินดีพอใจในความรู้สึกที่ยินดีพอใจนั้น ซึ่งการอบรมปัญญา (สติ ปัฏฐาน) ต้องรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเวทนาหรือตัณหา การอบรมปัญญา ไม่ใช่ไม่ให้เวทนาไม่เกิด เป็นไปไม่ได้ ไม่ใช่บังคับให้ตัณหาไม่เกิด ก็เป็นไปไม่ได้เช่นกัน แต่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธัมมะที่เกิด ไม่ว่าสภาพธัมมะใดเกิดขึ้นว่าเป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ต้องรู้ตรงนี้ก่อนนะ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 3 ต.ค. 2550

เรียนถามว่า การรู้แจ้ง เบื่อหน่าย คลายกำหนัด จะทำให้เวทนาลดลง หรือ ชัดเจนขึ้น เวทนายังมีเหมือนเดิมใช่ไหมครับ แต่การผัสสะของผู้รู้ และผู้ไม่รู้ให้ผลต่าง กันใช่ไหมครับ ส่วนเมื่อปัญญาเจริญมากขึ้น จนเป็นระดับสูง เวทนาก็มีเหมือนเดิม (เวทนาเจตสิก เกิด กับจิตทุกดวง) แต่แล้วแต่ระดับปัญญาของพระอริยบุคคลแต่ละขั้น เช่น พระอนาคามี ไม่มีโทมนัสเวทนาเลย เป็นต้น หรือแม้แต่ผู้มีปัญญามากเพราะอบรมสติปัฏฐาน เวทนา ที่เกิดก็ยังมีเหมือนเดิม แต่เมื่อเกิดแล้วผู้มีปัญญาย่อมไม่ยึดถือเวทนาที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรา แต่รู้ว่าเป็นธรรมครับ ผัสสะก็เช่นกัน เมื่อเกิดขึ้นผู้ไม่มีปัญญาย่อมยึดถือว่าเป็นเรา เมื่อยึดถือ ก็ย่อมเดือดร้อนกับสิ่งที่มากระทบ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่ดีหรือดีครับ ต่างกับผู้มีปัญญาเพราะรู้ว่าเป็นธรรมนั่นเอง ไม่ได้ยึดถือว่าผัสสะนั้นเป็นเรา

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 3 ต.ค. 2550

และสุขสูงสุดคือนิพพาน ไม่ได้เกิดจากผัสสะใช่ไหมครับ? พระนิพพาน เป็นสภาพธัมมะที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เกิดขึ้นและก็ไม่ปรุงแต่งจากสภาพธัมมะใดๆ เลย รวมทั้งผัสสะครับ

ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
wannee.s
วันที่ 3 ต.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
natthaset
วันที่ 4 ต.ค. 2550

ขอความนอบน้อมจงมีแก่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ขอบคุณมากๆ ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
natthaset
วันที่ 4 ต.ค. 2550

แต่รู้ตามความเป็นจริงของสภาพธัมมะที่เกิด ไม่ว่าสภาพธัมมะใดเกิดขึ้นว่า เป็นธรรมไม่ใช่เราครับ ต้องรู้ตรงนี้ก่อนนะ

เรียนถามท่าน "แล้วเจอกัน" ด้วยความเคารพยิ่งว่า สภาวธรรมที่เป็นตัวรู้นั้น เป็นอย่างไร ระดับไหนครับ แบบปุถุชนคิด พิจารณา ธรรมดารู้ได้ไหมครับ หรือต้องฝึก วิปัสสนาหรือสมถะขั้นไหนถึงจะจัดว่า เป็นผู้รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา (แต่ถ้าคิดผมก็คิดได้ชั่วขณะจิตที่เต็มไปด้วยกิเลส ไม่ฝังลึกในสันดานครับ ยกเว้นกิเลสฝังลึกสุดสายตาผมเลยครับ)

ขอบคุณครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 4 ต.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สภาวะธรรมที่เป็นหน้าที่รู้คือ นามธรรม เช่น จิต เจตสิก แต่รู้ในที่นี้ หมายถึงปัญญาและสติขั้นการอบรมวิปัสสนาครับ (สติปัฏฐาน) ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่า ธรรมคือ อะไรครับ เมื่อเข้าใจขั้นการฟัง และฟังไปเรื่องๆ ค่อยๆ เข้าใจ (ปัญญา) ก็จะเป็นปัจจัยให้สติและปัญญา (สติปัฏฐาน) ระลึกรู้ว่าเป็นธรรมที่มีในขณะนี้ รู้ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา แต่ที่สำคัญ การรู้หรือปัญญามีหลายระดับนะ ปัญญาขั้นคิดนึก ไม่ใช่ปัญญาขั้นสติปัฏฐาน ครับ ขอแนะนำให้ฟังให้เข้าใจก่อน โดยเบื้องต้นให้รู้ว่า ธรรมคืออะไรครับ ถ้าไม่เข้าใจตรงนี้ก็อบรมปัญญา (วิปัสสนา) ไม่ได้ และก็ไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะนี้เป็นธรรม ครับ ซึ่งจริงๆ เรายึดถือธรรมที่มีในขณะนี้ว่าเป็นเรา เช่น เห็นก็เป็นเราที่เห็น เป็นต้น เริ่มจากขั้นการฟังนะครับ ฟังให้เข้าใจก่อน ยังไม่ต้องไปไกล ต้องมีพื้นฐานที่ถูกต้องก่อนครับ ขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาที่ใฝ่ในพระธรรมครับ

เชิญคลิกอ่านที่นี่.....

ธัมมะคืออะไร?

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
chatchai.k
วันที่ 30 พ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
chatchai.k
วันที่ 30 พ.ค. 2564

ขอเชิญศึกษาพระธรรม...

รวมลิงก์เมนูต่างๆ ในเว็บไซต์

พระไตรปิฎก 

ฟังธรรม

วีดีโอ

ซีดี

หนังสือ

กระดานสนทนา

การที่ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม ทำให้มีความเข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏแล้วก็หมดไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหูทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จิตทุกขณะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมดไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ จากภพหนึ่งไปอีกภพหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ควรสั่งสมไปทุกภพทุกชาติ นั่นก็คือ กุศล (รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา ในชีวิตประจำวันด้วย)

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 8 มี.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ