Thai-Hindi 16 Mar 2024

 
prinwut
วันที่  16 มี.ค. 2567
หมายเลข  47620
อ่าน  119

Thai-Hindi 16 Mar 2024


- (คุณอาช่าขอสนทนาเรื่องที่มีในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับว่าท่านอาจารย์จะสนทนาเรื่องอะไรก็ได้) ถ้าอย่างนั้นถาม ดร. ราเจส ดีไหม (สัญญานที่บ้าน ดร. ราเจสไม่ค่อยดีเท่าไหร่) ถ้าอย่างนั้นแล้วแต่คุณสุขินค่ะ

- (คุณสุขินเสนอให้ท่านอาจารย์ถามคำถาม คุณอาช่าเห็นด้วยจะได้รู้ว่าเข้าใจแค่ไหนจากที่เคยฟังมา นึกขึ้นได้ว่าปัจจัยก็มีอยู่ตลอดถ้าท่านอาจารย์ปรารถนาก็คุยเรื่องปัจจัยได้) เดี๋ยวนี้มีปัจจัยหรือเปล่า (มี) ปัจจัยอะไร (อารัมมณปัจจัย อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย วิปากปัจจัย)

- เดี๋ยวนี้สภาพธรรมปรากฏดีไหม (ไม่) เพราะอะไร (เพราะความไม่รู้เยอะมาก) เดี๋ยวนี้ไม่รู้อะไร (ไม่รู้ทุกอย่าง ไม่รู้ปัจจัย ไม่รู้เห็น ไม่รู้สิ่งที่เห็น)

- เพราะฉะนั้น “ไม่รู้” เป็นปัจจัยอะไร (คุณอาช่าตอบไม่ได้ นึกไม่ออก แต่รู้ว่าเมื่อมีแล้วเป็นปัจจัย และเป็นปัจจยุบบัน) ที่กล่าวทั้งหมดเป็นปัจจัยอะไร (อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย) ๒ ปัจจัยหรือ (เท่าที่จำได้) เป็นเหตุปัจจัยด้วยหรือเปล่า (ที่เคยได้ยินมาก่อนคร่าวๆ คือ เหตุปัจจัยคือ เจตสิก ๖ มีโลภะ โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ แต่ฟังน้อยยังไม่เข้าใจตามที่ท่านอาจารย์ถาม ยังไม่เข้าใจว่า อวิชชาเกิดเป็นเหตุปัจจัย)

- อวิชชา โมหะ มีจริงหรือเปล่า (มีจริง) อวิชชาเป็นเจตสิกอะไร (โมหะ) เป็นเหตุปัจจัยหรือเปล่า (เป็นเหตุปัจจัย) เป็นสหชาตปัจจัยหรือเปล่า (เป็น) เป็นสัมปยุตตปัจจัยหรือเปล่า (ไม่เคยได้ยินคำนี้)

- “สัมปยุตต์” หมายความถึงสภาพนามธรรมที่เกิดพร้อมกันแยกกันไม่ได้เลย เข้ากันสนิท เป็นสภาพรู้ด้วยกันเกิดพร้อมกัน (เข้าใจตรงนั้นแต่สหชาตปัจจัยต่างกับสัมปยุตตปัจจัยอย่างไร) เพราะฉะนั้น “ชาต” หมายความว่าอะไร “สหชาต” หมายความว่าอะไร (รบกวนท่านอาจารย์พูดถึงสหชาต)

- “ชาต” แปลว่าอะไร (เกิด) “สห” หมายความว่าอะไร (ด้วยกัน พร้อมกัน) เพราะฉะนั้นจิตกับเจตสิกเกิดพร้อมกันหรือเปล่า (พร้อมกัน) เพราะฉะนั้นอะไรเป็นสหชาตปัจจัย (จิต เจตสิก) จิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่อะไร (เจตสิก) และเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่อะไร (เป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต)

- เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจมั่นคง “สห” แปลว่า พร้อมกัน ด้วยกัน “ชาต” แปลว่า เกิด หมายความว่าเกิดพร้อมกันทันที ขณะเกิดต้องพร้อมกันแยกกันไม่ได้ เพราะฉะนั้นจิตเป็นสหชาตปัจจัยแก่เจตสิก เจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยแก่จิต แยกกันไม่ได้เลย อะไรก็ได้ที่เกิดพร้อมกันจะไม่ให้เกิดพร้อมกันได้ไหม

- “สัมปยุตต” หมายความว่าอะไร (ความหมายเดียวกันกับสหชาต) ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องมีคำว่าสัมปยุตตถ้าเป็นสหชาต (เข้าใจว่าถ้าใช้คนละคำกัน ความหมายก็ต้องต่างกัน แต่ไม่รู้) เพราะฉะนั้นต้องละเอียดถ้าคำเดียวกันก็ต้องความหมายอย่างเดียวกัน ถ้าคนละคำก็ต้องมีความหมายอื่นไม่ใช่ความหมายเดียวกันนั้น นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องละเอียด ไตร่ตรอง จนกระทั่งรู้ความต่างของแต่ละ ๑

- เพราะฉะนั้น “สัมปยุตต“ หมายความว่า เกิดพร้อมกัน เข้ากันสนิท รู้อารมณ์เดียวกัน ไม่ใช่เพียงต่างคนต่างกันแต่ละชนิดเกิดพร้อมกันแต่ยัง “เข้ากันได้สนิท” ด้วย เพราะฉะนั้นจิตเจตสิกเป็นสหชาตเกิดพร้อมกันแล้วก็เป็นสัมปยุตตปัจจัยด้วย จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก จิตเจตสิกเกิดพร้อมกันเป็นสหชาตปัจจัยเข้ากันได้เพราะรู้สิ่งเดียวกัน

- (คุณอาคิ่ลยังไม่ชัดเจนเรื่องความต่างของสหชาตปัจจัยกับสัมปยุตตปัจจัย) เพราะฉะนั้นต้องให้เขาคิดทีละเล็กทีละน้อยค่อยๆ เป็นความคิดที่ละเอียดขึ้นๆ เพราะว่า “สหชาต” อะไรก็ตามที่เกิดพร้อมโดยเป็นปัจจัย โดยเป็นปัจจัยให้อีกอย่างหนึ่งเกิดเป็นสหชาตปัจจัยเพราะฉะนั้นไม่ใช่ให้ตัวอย่างหยาบๆ ให้เขาเข้าใจหยาบๆ แต่ต้องเป็นการที่ให้เข้าใจละเอียดจริงๆ ว่า ธรรมต่างกันโดยปัจจัยต่างกัน เพราะฉะนั้นแต่ละปัจจัยถึงแม้ว่าคล้ายกันแต่ก็ต่างกัน ถ้าฟังแต่ตัวอย่างเข้าใจตามตัวอย่างแต่ไม่รู้ปัจจัยแต่ละปัจจัยก็ไม่สามารถที่จะชัดเจนได้ เพราะฉะนั้นแม้แต่คำว่า ”สหชาต“ เกิดพร้อมกัน ยังต้องมีคำว่า ”ปัจจัย“ ด้วย

- เพราะฉะนั้นมี ๒ คำ “ปจฺจย” กับ “ปจยุปฺปนฺน” และมีอีกคำคือ “ปัจจนิกธรรม” หมายความว่า ที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยและปัจจยุบบันนี้เลย (เพิ่งเคยฟังครั้งแรกขอทวนอีกครั้ง) “ปัจจนิกธรรม” หมายถึงธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับปัจจัยและปัจจยุบบันนี้เลย

- ปัจจยุบปันน มาจากคำว่า “ปจฺจย” กับ “อุปฺปนฺน” หมายความถึงสภาพที่เกิดเพราะปัจจัย (ขอทวนคำแปลอีกครั้ง) “อุปฺปนฺน” แปลว่า เกิด เกิดเพราะปัจจัยนั้น เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจธรรมจึงจะรู้ชัดเจนในแต่ละคำ ต้องละเอียดมากไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

- เพราะฉะนั้นสภาพธรรมที่เกิดเป็นปัจจัยมีปัจจยุบบันไหม (มี) ยกตัวอย่างสิคะ (จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิดขณะนั้นเจตสิกเป็นปัจจยุบบัน) จิตดับไปแล้วเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเป็นปัจจยุบบันของจิตได้ไหม (เป็นไปได้) ยกตัวอย่างจิต ๑ ขณะเกิดแล้วเป็นปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดต่อเป็นสหชาตปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้)

- เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจ ปฐวีธาตุเป็นปัจจัยให้อาโปธาตุเกิดหรือเปล่า (เป็นได้) แล้ววาโยธาตุเป็นปัจจัยให้ปฐวีธาตุเกิดได้ไหม (ได้) โดยปัจจัยอะไร (สหชาตปัจจัย) โดยสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) เพราะอะไร (เพราะว่าสัมปยุตตปัจจัยมีเฉพาะกับนามธรรม) เพราะฉะนั้นนี้เป็นความเข้าใจที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
prinwut
วันที่ 16 มี.ค. 2567

- เพราะฉะนั้นจิตเจตสิกที่เกิดพร้อมกันเป็นปัจจัยอะไร (สหชาตปัจจัยและสัมปยุตตปัจจัย) รูปที่เกิดพร้อมกันเป็นปัจจัยอะไร (สหชาตปัจจัย) เป็นสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) นี่คือเข้าใจแน่นอนมั่นคงเปลี่ยนไม่ได้ ให้รู้ว่าแต่ละอย่างอาศัยหลายปัจจัยทำให้เกิดขึ้นจึงไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพียงเกิดแล้วดับ ถ้าเราไม่ได้ฟังเลยจะไม่สามารถรู้ว่าแต่ละ ๑ เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่เราเลย

- เดี๋ยวนี้มีทั้งจิตและเจตสิกจะต้องคิดไหมขณะนี้ว่า จิตเกิดขึ้นโดยอาศัยเจตสิกและเกิดพร้อมกัน (ไม่เกี่ยวกับว่าจะคิดแต่เข้าใจว่าเกิดเป็นอย่างนี้) เพราะฉะนั้นเดี๋ยวนี้เข้าใจจิตหรือยัง เข้าใจเจตสิกหรือยัง (ยัง) นี่เป็นเหตุที่เราฟังเพื่อค่อยๆ เข้าใจความเป็นจริงของธรรมแต่ละ ๑ เพิ่มขึ้น ค่อยๆ ปลูกฝังความเข้าใจที่ละเอียดจนค่อยๆ รู้ว่า ไม่ใช่เราไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย

- ฟังเข้าใจเรื่องสหชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัยแต่ไม่รู้ลักษณะของจิตเดี๋ยวนี้และเจตสิกเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้นฟังอะไรเพื่อเห็นความลึกซึ้งความละเอียดอย่างยิ่งของสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ รู้ประโยชน์ว่าไม่สามารถที่จะบังคับปัญญาให้รู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ได้เลยถ้าไม่มีความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยที่ทำให้ค่อยๆ ละการยึดถือว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้นฟังธรรมเพื่อเข้าใจทีละน้อยมั่นคงว่ากำลังพูดถึงสิ่งที่กำลังมีเดี๋ยวนี้ เห็นความลึกซึ้งไหมว่า กว่าจะเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏต้องอาศัยการฟังความจริงและค่อยๆ เข้าใจความจริงทีละน้อยยิ่งขึ้น

- สิ่งที่เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นได้ไหม (ได้) โดยปัจจัยอะไร (เท่าที่นึกได้คือ อนันตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย) เพราะฉะนั้นจิตเดี๋ยวนี้เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้นโดยสหชาตปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) โดยสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) “มหาภูตรูป” ธาตุดินเป็นปัจจัยให้ธาตุน้ำเกิดขึ้นได้ไหม (ได้) โดยอะไร (สหชาตปัจจัย) โดยสัมปยุตตปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) มั่นคงแล้วนะคะ ค่อยๆ เข้าใจธรรมที่ต่างกัน จิต เจตสิก รูป แม้เป็นปัจจัยก็เป็นปัจจัยที่ต่างๆ กันไปก็ได้

- เห็นไหมว่า เราไม่ใช่พูดแต่เพียงชื่อ ไม่มีประโยชน์ที่เราจะจำชื่อ แต่ว่ามีประโยชน์ที่จะรู้ความจริงว่า ธรรมเป็นธรรมซึ่งเป็นอนัตตา

- เดี๋ยวนี้มีอะไร (เห็น) มีปัจจัยอะไรที่ทำให้เกิดเห็น (อารัมมณปัจจัย อนัตตรปัจจัย สมนันตรปัจจัย สหชาตปัจจัย สัมปยุตตปัจจัย เหตุปัจจัย วิปากปัจจัย) ดีมากนะคะที่นึกถึงวิปากปัจจัยได้ เคยได้ยินที่ไหนหรือเปล่า ”วิปากปจฺจย“ (คุณอาช่าไม่เคยสนทนาเรื่องแต่นึกได้ว่า ในเมื่อเห็นเป็นวิบากและเจตสิกที่เกิดพร้อมกันเป็นวิบากเกิดจากกรรมเดียวกันก็น่าจะมีวิปากปัจจัยเป็นวิปากปัจจัยด้วย)

- เพราะฉะนั้นวิปากปัจจัยขณะนี้เดี๋ยวนี้คืออะไร (เห็นเป็นวิปากปัจจัย) ดีมาก เห็นเป็นวิปากปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบันของเห็น (เจตสิกที่เกิดพร้อมจิต) เพราะฉะนั้นเจตสิกที่เกิดพร้อมจิตเป็นวิปากปัจจัยได้ไหม (น่าจะเป็นไปได้) ไม่ใช่เดา ไม่ใช่คิดเองแต่ต้องพิจารณาในเหตุผล ในเมื่อจิตเป็นวิปากปัจจัยเป็นกุศลอกุศลไม่ได้ เป็นปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยเป็น ”วิปากปัจจัย“ เพราะทั้ง ๒ อย่างเกิดขึ้นเพราะกัมมปัจจัยแต่ต่างกันที่กัมมปัจจัยทำให้จิตเจตสิกเกิดขึ้นเป็นวิบาก แต่จิตที่เป็นวิบากทำให้เจตสิกที่เป็นวิบากที่เกิดร่วมกันเกิดพร้อมกันเป็นวิบากด้วยกันจึงเป็นวิปากปัจจัยแก่กันและกัน

- ประโยชน์ของการที่เราพูดเรื่องนี้คืออะไร (เพื่อเพิ่มความเข้าใจและอุปนิสัยเดิมๆ ที่เราคิดว่ามีตัวตนมีเราจะได้เริ่มมีความมั่นคงว่า จริงๆ แล้วมีแต่ธรรมต่างๆ อย่างเช่นที่เราพูดถึงวิปากปัจจัยก็เข้าใจว่าถ้าไม่มีในอดีต เห็นตอนนี้ก็เกิดไม่ได้ เพื่อให้มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า ไม่มีเราเลย มีแต่ธรรมต่างๆ ที่มีปัจจัยจากอดีตและปัจจุบัน มีแต่ธรรมและปัจจัย)

- เพราะฉะนั้นขณะที่เรากำลังเข้าใจ ประโยชน์อะไร (ความเข้าใจทำให้ความไม่รู้น้อยลง) เพราะฉะนั้นความเข้าใจถูกเท่านั้นที่จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจความจริงว่า เป็นธรรมไม่ใช่เราและเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นนี่คือหนทางที่จะทำให้ค่อยๆ ละความเป็นเรา ค่อยๆ เข้าใจความจริงจนประจักษ์ เพราะฉะนั้นความเข้าใจนี้ถูกหรือผิด เป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์

- (คุณอาช่าสงสัยว่า เท่าที่ฟังมาเข้าใจว่า เห็นเป็นวิบากเกิดจากกรรมในอดีตและเจตสิกก็เกิดจากกรรมเดียวกันเป็นวิบากเหมือนกันและเป็นปัจจัยแก่กันและกัน ตอนนี้รู้ว่าเห็นเห็นสี ถามว่าสีเป็นอะไรที่เกี่ยวกับกรรมในอดีตไหม) ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดแต่ต้องรู้ว่า สี คืออะไร (เป็นรูปธรรม)

- รูปธรรมเป็นวิปากปัจจัยได้ไหม (เท่าที่พิจารณาสรุปว่า สีที่เห็นเห็นก็เป็นวิบากเหมือนกัน) วิบากหมายความถึงอะไร (เป็นผลของกรรม) รูปเป็นวิปากปัจจัยได้ไหม รูปเป็นวิบากได้ไหม (ได้) วิบากได้แก่อะไร (รูปเป็นวิบากไม่ได้เพราะวิบากหมายถึงเฉพาะนามธรรม) เห็นไหม ฟังแล้วต้องเข้าใจมั่นคงแน่นอนไม่ลืม รูปเป็นผลของกรรมได้แต่รูปเป็นวิบากไม่ได้ รูปเป็นผลของกรรมได้แต่รูปไม่เห็น รูปไม่ได้ยิน เกิดขึ้นเป็นผลของกรรมต่างๆ เท่านั้น

- ธรรมละเอียดลึกซึ้งถ้าเข้าใจผิดเรื่องนี้ก็จะทำให้เข้าใจผิดเรื่องอื่นได้ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะทำให้เข้าใจความจริง เห็นความลึกซึ้งของพระธรรมไหม เพราะฉะนั้นปัญญาที่สามารถประจักษ์ความจริงของนามรูปจะรู้ได้เลยว่า รูปเป็นรูป รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย รูปไม่ใช่สภาพรู้ไม่ว่ารูปนั้นจะเป็นรูปที่ละเอียดปานใดก็ตาม เพราะฉะนั้นความเข้าใจที่ละเอียดขึ้นๆ เท่านั้นที่จะทำให้รู้ว่า ธรรมละเอียดลึกซึ้งและนี่คือหนทางที่จะเข้าใจธรรมที่ละเอียดเพิ่มขึ้น

- อยากรู้อะไรอีกไหม อยากจะเข้าใจอะไรอีกไหม (คุณอาช่าตอนแรกเข้าใจว่า เห็นเป็นผลของกรรมและสีที่เห็นเห็นเป็นอารัมมณปัจจัย มีความคิดว่าสีเป็นผลของกรรมด้วยหรือเปล่า) หมายถึงรูปที่เห็นเป็นผลของกรรมด้วยหรือเปล่าใช่ไหม (ใช่ ขอให้ท่านอาจารย์พูดถึงอารมณ์ของเห็นตรงนี้้ว่า นอกจากเป็นอารัมมณปัจจัยแล้วเป็นอะไรอีก)

- อารัมมณปัจจัยมีอะไรบ้าง เรากำลังพูดถึงสิ่งที่ได้เข้าใจบ้างแล้วแต่ว่าความละเอียดที่จะต้องตรงที่จะทำให้สามารถรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่จะก็เป็นเราหรือเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดได้เลย ต้องเกิดขึ้นตามเหตุตาม “ปัจจัยเฉพาะ” ที่จะให้เกิดธรรมนั้นๆ ด้วย (ท่านอาจารย์ถามว่าอารัมมณปัจจัยคืออะไรใช่ไหม) ถามใหม่ก็ได้ อะไรก็ได้ที่ยังสงสัยจะได้ชัดเจน

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
prinwut
วันที่ 16 มี.ค. 2567

- (ให้ท่านอาจารย์พูดเรื่องอารัมมณปัจจัยว่าคืออะไร เพื่อความเข้าใจ) ต้องพูดอีกแล้วใช่ไหม (ใช่) “อารมฺมณ” ยังไม่พูดถึงปัจจัย อารัมมณะคืออะไร (รู้ตัวว่าแทบจะไม่รู้จักคำนี้เลยขอให้เริ่มต้นใหม่) จิตเป็นสภาพรู้เมื่อไหร่ที่จิตเกิดต้องรู้ จิตเกิดขึ้นรู้ต้องมี “สิ่งหนึ่ง” ที่จิตรู้ จิตรู้อะไรสิ่งนั้นเป็น “อารมฺมณ” ของจิต จิตไม่มีอารัมมณะได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นอารัมมณะเป็นปัจจัยให้จิตรู้เกิดขึ้น มีจิตไม่มีอารัมมณะได้ไหม (ไม่ได้) มีอารัมมณะไม่มีจิตได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นจิตเกิดรู้ “อารมฺมณ” สิ่งที่ถูกจิตรู้ ทั้งวันมีจิตทั้งวันมีอารัมมณะในขณะที่จิต ๑ เกิดต้องมีสิ่งที่เป็นอารัมมณะ ๑

- (สงสัยว่าสีเกี่ยวข้องกับกรรมในอดีตหรือไม่) ทำไมไปคิดเรื่องกรรม (ตอนนั้นคิดว่า เห็นเป็นผลของกรรมและเจตสิกที่เกิดกับเห็นก็เป็นผลของกรรมเดียวกัน ตอนที่เห็นอารมณ์ของเห็นก็เกิดเป็นผลของกรรมเดียวกันหรือเปล่า เข้าใจอย่างนั้น) เพราะฉะนั้นไม่ได้เข้าใจว่า ธรรมแต่ละ ๑ เป็นธรรมแต่ละ ๑ แต่คิดเอง (เข้าใจแล้วว่าคิดเอง)

- เพราะฉะนั้นไตร่ตรอง จิตเห็นอะไร (สี) เห็นสิ่งที่กระทบตาใช่ไหม สิ่งที่กระทบตามีจริง ไม่ต้องเรียกอะไรก็ได้แต่มีจริงๆ ใช่ไหม (ใช่) สิ่งที่กระทบตามีจริงๆ แน่นอนใช่ไหม (ใช่) ถ้าไม่เห็นจะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏที่กระทบตาได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นสิ่งที่กระทบตามีจริงเป็นอะไร (เป็นรูปอย่างหนึ่งที่เห็นได้) ไม่ใช่นามธรรมนะคะ (ไม่ใช่)

- เพราะฉะนั้นรูปต้องมีปัจจัยจึงเกิดได้ใช่ไหม เริ่มคิดละเอียดขึ้น รูปเกิดขึ้นโดยไม่มีปัจจัยได้ไหม (ไม่ได้) เพราะฉะนั้นปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปมีอะไรบ้าง (จำไม่ได้) มีปัจจัย ๔ ปัจจัยแต่ละปัจจัยทำให้เกิดรูป เพราะฉะนั้นรูปเกิดจากกรรม ๑ รูปที่เกิดจากจิต ๑ รูปที่เกิดจากอุตุ ๑ รูปที่เกิดจากอาหาร ๑ ปนกันไม่ได้ (นึกได้แล้วว่าเคยได้ยิน)

- เพราะฉะนั้นตั้งแต่นี้ให้ทราบว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปมี ๔ คือ กรรม ๑ จิต ๑ อุตุ ๑ อาหาร ๑ ไม่ใช่พร้อมกันทีละหนึ่ง รูปที่เกิดจากกรรมชื่อว่า “กัมมชรูป” “ช” แปลว่า เกิด รูปที่เกิดจากจิตชื่อว่า “จิตตชรูป” รูปที่เกิดจากความเย็นความร้อนชื่อว่า “อุตุชรูป” รูปที่เกิดจากอาหารชื่อว่า “อาหารชรูป”

- ”แข็ง“ กำลังกระทบแข็ง แข็งเป็นรูปที่เกิดจากอะไร เกิดจากกรรม หรือจิต หรืออุตุ หรืออาหาร (เกิดจากอุตุ) แน่ใจหรือ (ยกตัวอย่างโต๊ะที่ไปกระแทก) แข็งที่โต๊ะกับแข็งที่ตัวเกิดจากอะไร (ก็เกิดจากอุตุ) เพราะอะไร (ไม่เข้าใจ)

- รูปทุกรูปต้องมีสมุฏฐานให้เกิด ๑ สมุฏฐาน ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี เพราะฉะนั้นรูปที่เกิดจากกรรมต้องมีรูป ๘ รูปรวมกันอย่างน้อยที่สุดแต่ความจริงมีมากกว่านั้นเพราะเหตุว่า มีกรรมเป็นสมุฏฐาน

- เพราะฉะนั้นมีรูปเดียวที่สามารถกระทบตาคือสิ่งที่เรียกว่า สีก็ได้ สิ่งที่มองเห็นก็ได้ สิ่งที่ปรากฏก็ได้แต่ไม่ต้องเรียกอะไรเลยก็มีรูปนั้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเห็นอะไรที่ไหนเมื่อไหร่ รู้ไหมว่าเป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอะไร เพราะฉะนั้นก็ไม่สงสัยแล้วว่าขณะที่เห็นเป็นรูปที่เกิดจากอะไร

- (ในเมื่อท่านอาจารย์กล่าวถึงปัจจนิกธรรม จึงสงสัยว่า สีที่เห็นเช่นโทรศัพท์ตรงหน้านี้คือตัวอย่างของปัจจนิกธรรมใช่ไหม) ต้องเข้าใจ “ปัจจนิกธรรม” คือ ไม่ใช่ปัจจัยและปัจจยุบบันขณะนั้น ถ้าเราเข้าใจปัจจัยและปัจจยุบบันอย่างอื่นก็เป็นปัจจนิกเท่านั้นเอง เป็นเพียงชื่อให้รู้ว่า ขณะนั้นอะไรเป็นปัจจัย อะไรเป็นปัจจยุบบัน และอะไรไม่ใช่ปัจจัยและปัจจยุบบันเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าไม่พูดถึงคำนี้ เวลาที่ได้เห็นคำนี้ ได้ยินคำนี้ จะไม่รู้ว่าหมายความถึงอะไรเท่านั้นเอง

- (คุณอาช่ายินดีและดีใจที่ได้ฟังเพราะเข้าใจผิดมาตลอด เคยได้ยินว่าเห็นมี ๒ คือเป็นผลของกุศลกรรมและอกุศลกรรมและเคยได้ยินว่า ผลของกุศลกรรมหมายถึงตอนนั้นอารมณ์เป็นอิฏฐารมณ์ ผลของอกุศลกรรมหมายถึงตอนนั้นอารมณ์เป็นอนิฏฐารมณ์ เลยคิดเอาเองว่า อารมณ์เป็นผลของกรรม วันนี้ก็เข้าใจขึ้นว่าไม่เกี่ยวกัน) เพราะฉะนั้นทุกคำต้องชัดเจน

- พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสิ่งที่มีจริงที่เป็นธรรมทั้งหมดแต่ก็ต้องรู้ว่า ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายจะสามารถรู้อะไรได้บ้าง นี่เป็นคำถามให้คุณอาช่าตอบ (รู้ได้น้อยแต่ก็ยังดี) แต่คำถามยังไม่ได้ตอบ เราจะรู้ “อะไร” ได้บ้าง (ที่รู้ได้คือ เห็น ได้ยิน ที่คิด ความรู้สึก โกรธ ความติดข้อง อะไรแบบนี้ รู้ได้แค่นี้) รู้ได้เฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เท่านั้นตลอดชีวิตทุกชาติ จริงไหม (จริง)

- ขณะนี้กำลังรู้ทางไหน (เห็นอยู่หมายถึงทางปัญจทวาร) และมโนทวาร มโนทวารจะรู้ทุกอย่างที่รู้ได้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ต้องไม่ลืมถ้าไม่เข้าใจทุกคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตามที่ได้ประจักษ์แล้วจะไม่รู้ความจริงที่กำลังเห็น กำลังได้ยิน คิดนึกต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้เลย

- ธรรมมีจริงไหม (มี) รู้ได้ทางไหน (ทางปัญจทวารและทางมโนทวาร) มีทางอื่นอีกไหมที่จะรู้ได้ (ไม่) มั่นคงแล้วเพราะฉะนั้นยังไม่พอต้องเข้าใจขึ้นมั่นคงอีกจนกว่าจะค่อยๆ รู้ทีละ ๑ เพราะแม้ว่าชีวิตทุกขณะจะเป็นทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ได้ “ปรากฏดี” ตามความเป็นจริงเลยจริงไหม จะปรากฏดีเมื่อไหร่ (คาดการณ์ไม่ได้แต่เข้าใจว่า ถ้าจะถึงขั้นนั้นต้องเจริญความเข้าใจอีกนาน) เพราะฉะนั้นเริ่มจะปรากฏดีทีละน้อยเมื่อเข้าใจสิ่งที่กำลังมีจากที่ได้ฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

- ขอยินดีในกุศลของคุณสุขิน คุณอาคิ่ล คุณอาช่าและผู้ที่กำลังฟังอยู่ทุกท่านด้วยนะคะ สวัสดีค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
prinwut
วันที่ 16 มี.ค. 2567

ขอนอบน้อมบูชาคุณพระรัตนตรัยด้วยความเคารพสูงสุด

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ด้วยความเคารพยิ่ง

กราบยินดีในกุศลคุณสุขินในความเกื้อกูลและยินดีในกุศลคุณอาคิ่ล คุณอาช่า

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาคุณอัญชิสา (พี่สา) ในความอนุเคราะห์ช่วยตรวจทาน

กราบขอบพระคุณและกราบอนุโมทนาอาจารย์คำปั่นในกุศลทุกประการครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
khampan.a
วันที่ 16 มี.ค. 2567

กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
กราบยินดีในกุศลของคุณสุคิน ผู้ถ่ายทอดคำท่านอาจารย์เป็นภาษาฮินดี
ขอบพระคุณและยินดีในกุศลวิริยะของพี่ตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ที่ถอดคำสนทนาของท่านอาจารย์ ทุกคำ เป็นประโยชน์เกื้อกูลอย่างยิ่ง
และยินดีในกุศลของผู้ช่วยตรวจทานและยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านด้วยครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
siraya
วันที่ 18 มี.ค. 2567

ขอบพระคุณ และกราบอนุโมทนาในกุศลวิริยะของ คุณตู่ ปริญญ์วุฒิ เป็นอย่างยิ่ง ค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ