อิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์ ใช้อะไรเป็นตัวแยกครับ มีตัวชี้วัดชัดเจนไหมครับ

 
เริ่มหัดเดิน
วันที่  3 มิ.ย. 2566
หมายเลข  46046
อ่าน  288

อิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์
ปกติจะอิงอะไรเป็นตัวชี้วัดครับครับ
ว่าอะไรเรียกว่าอารมณ์น่าใคร่ อะไรเรียกไม่น่าใคร่?

เช่น นาย ก. ได้กลิ่นปลาร้าแล้วไม่ยินดี ไม่ชอบ
นาย ข. ได้กลิ่นปลาร้าแล้วชอบ ยินดี
หรือบางคนได้กลิ่นน้ำหอมกลิ่นนึงก็ชอบแต่อีกคนได้กลิ่นแล้วไม่ชอบ

ถ้าตามตัวอย่างข้างต้นแสดงว่าตัวอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์นั้น
ไม่มีแน่นอนแต่แปรเปลี่ยนไปตามการปรุงแต่งของผู้รับผัสสะใช่ไหมครับ?
ตัวอารมณ์นั้นไม่ได้มีอยู่ในสภาพของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้นๆ จริง.
... ... ... ... .
อีกข้อสงสัยเรื่องนี้คือ

ถ้าอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์
ขึ้นอยู่กับการปรุงแต่งของผู้รับผัสสะเป็นหลัก
ไม่ได้มีความหมายในตัวของมันเอง
แสดงว่าพระอรหันต์ท่านจะไม่เจออิฏฐารมณ์กับอนิฏฐารมณ์อีกแล้วใช่ไหมครับ
เพราะไม่ได้ปรุงแต่งอะไร

แต่ทำไมเห็นบางที่บอกว่า
พระอรหันต์ยังเจออิฏฐารมณ์-อนิฏฐารมณ์
แต่ท่านไม่มีกิเลสกับอารมณ์นั้นครับ

ขอบคุณและอนุโมทนาครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 มิ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า อิฏฐารมณ์ กับ อนิฎฐารมณ์ คืออะไร

อิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนา น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ดีปานกลาง เช่น สี เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายที่สวยงาม เป็นที่น่าปรารถนาของคนทั่วไปส่วนใหญ่ แต่ไม่ถึงกับประณีตจนเป็นทิพย์ กุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ปานกลาง มีอิฏฐารมณ์เป็นอารมณ์ ส่วนกุศลวิบากที่เกิดจากกุศลกรรมที่ประณีต จะมีอติอิฏฐารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง เป็นอารมณ์

อนิฏฐารมณ์ เป็นอารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจ หมายถึง อารมณ์ที่ไม่ดี เป็นสภาพที่หยาบทราม ไม่ประณีต เช่น ซากศพ เสียงดังมาก กลิ่นเหม็น รสเผ็ดจัด โผฏฐัพพะที่แข็งเกินไป เป็นต้น เพราะอกุศลกรรม เป็นเหตุ จึงทำให้อกุศลวิบากเกิดขึ้น รู้อารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์

ดังนั้น เครื่องวัดว่าเป็นอิฏฐารมณ์หรืออนิฏฐารมณ์ นั้น จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับการชอบ หรือ ไม่ชอบ แต่อย่างใด


สิ่งที่จะได้เข้าใจเป็นเบื้องต้นต่อไป คือ

วิบาก ซึ่งเป็นจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ที่เป็นผลของกรรม นั้น มาจากเหตุ คือ กรรม ทั้งกุศลกรรม และอกุศลกรรม เมื่อเป็นเช่นนี้วิบากจึงมีทั้งกุศลวิบากและอกุศลวิบากตามควรแก่เหตุ การที่จะกล่าวว่า เห็นอะไรบ้างเป็นกุศลวิบาก หรือ เห็นอะไรบ้างเป็นอกุศลวิบาก ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะสิ่งที่บ่งบอกว่าเป็นกุศลวิบาก หรือ อกุศลวิบาก นั้น ไม่ได้อยู่ที่ความพอใจความชอบใจ หรือ ความไม่ชอบใจ แต่ที่พอจะพิจารณาได้ว่าเป็นกุศลวิบากทางตา เช่น
เห็นพระรูปของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เห็นสิ่งที่ส่วนใหญ่รู้กันว่าสิ่งนี้งดงาม เป็นต้น
ส่วนอกุศลวิบากทางตา เช่น เห็นสิ่งที่ไม่น่าดูประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเห็นซากศพ เห็นอุจจาระ เป็นต้น แต่บางสิ่งที่ไม่ได้แสดงไว้อย่างชัดเจนก็ยากที่จะตัดสินว่าเป็นอะไร ซึ่งไม่ใช่ฐานะของเราที่จะไปตัดสินในทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอะไร แต่ที่ชัดเจนที่สุด คือ ถ้าเป็นกุศลวิบากทางตา ต้องเห็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ ซึ่งเป็นอิฎฐารมณ์ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นอกุศลวิบาก ทางตา ก็เห็นสิ่งที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ ซึ่งเป็นอนิฏฐารมณ์



พระอรหันต์ เป็นผู้ที่ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง จึงเป็นผู้คงที่ คือ ไม่หวั่นไหวไปด้วยกิเลสใดๆ เลย เพราะเหตุว่าท่านดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ -หน้าที่ ๕๘๔ ดังนี้

พระอรหันต์ชื่อว่า เป็นผู้คงที่ ในอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ดี) และอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่ดี) อย่างไร พระอรหันต์ เป็นผู้คงที่ แม้ในลาภแม้ในความเสื่อมลาภ แม้ในยศ แม้ในความเสื่อมยศ แม้ในสรรเสริญ แม้ในนินทา แม้ในสุข แม้ในทุกข์ หากว่า ชนทั้งหลาย พึงลูบไล้แขนข้างหนึ่งแห่งพระอรหันต์ ด้วยเครื่องหอม พึงถากแขนข้างหนึ่งด้วยมีด พระอรหันต์ย่อมไม่มีความยินดีในการลูบไล้ด้วยเครื่องหอมโน้น และไม่มีความยินร้ายในการถากด้วยมีดโน้น เป็นผู้ละการยินดียินร้ายเสียแล้ว เป็นผู้ล่วงเลยการดีใจและการเสียใจแล้ว เป็นผู้ก้าวล่วงความยินดีความยินร้ายเสียแล้ว พระอรหันต์ ชื่อว่า เป็นผู้คงที่ ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ อย่างนี้


ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

... ยินดีในกุศลของทุกๆ ท่านครับ ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เริ่มหัดเดิน
วันที่ 8 มิ.ย. 2566

อนุโมทนาสาธุครับอาจารย์
ขอบพระคุณมากครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ