ภาษาบาลีสัปดาห์ละคำ [คำที่ ๖๑๑] อสฺสก

 
Sudhipong.U
วันที่  31 พ.ค. 2566
หมายเลข  46037
อ่าน  290

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ อสฺสก

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อสฺสก อ่านตามภาษาบาลีว่า อัด - สะ - กะ มาจากคำว่า (ไม่ ซึ่งเป็นคำปฏิเสธ) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า สก (ของตน) [ซ้อน สฺ] จึงรวมกันเป็น อสฺสก แปลว่า ไม่มีของตน แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเพียงสิ่งที่เกิดแล้วดับไป แล้วจะไปเป็นของตนได้อย่างไร

ข้อความในปปัญจสูทนี อรรถกถา มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ รัฏฐปาลสูตร แสดงความเป็นจริงของคำว่า อสฺสก ไว้ดังนี้

บทว่า อสฺสโก คือ ไม่มีของตน เว้นจากของที่เป็นของตน

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค ปัญจวัคคิยสูตร ได้แสดงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เกิดดับว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จึงไม่ควรที่จะมีความเห็นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า?

ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา?

ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า

(เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน)


ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง สามารถพิสูจน์ได้ทุกขณะว่าเป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ว่าจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก ดีใจ เสียใจ ติดข้องยินดีพอใจ หงุดหงิด โกรธ ขุ่นเคือง ไม่พอใจ เป็นต้น ล้วนเป็นธรรม คือ เป็นสิ่งที่มีจริง ทั้งหมด, ธรรม ไม่ได้หมายถึงเพียงสภาพธรรมฝ่ายดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายรวมถึงสิ่งที่มีจริงทั้งหมด ชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปนั้นไม่พ้นไปจากธรรมเลย เมื่อไม่ได้ศึกษา ย่อมไม่สามารถจะรู้ได้ว่าเป็นธรรม เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกขณะเป็นธรรม มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป เกิดขึ้นเป็นไปอยู่ตลอดเวลา จิต เจตสิก รูปนั้น เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ที่ไม่เที่ยงนั้นเพราะเกิดแล้วดับไป สภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไปนั้น เป็นทุกข์ เป็นทุกข์เพราะเหตุว่าตั้งอยู่ไม่ได้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา และ เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ เป็นลักษณะที่ทั่วไปแก่สภาพธรรมที่เป็นสังขารธรรมซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมด

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ สิ่งที่มีจริงที่พระองค์ทรงแสดง พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริง พระองค์ทรงแสดงธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา ก็เป็นจริงอย่างนั้น ตามความเป็นจริงของสภาพธรรม เพราะความหมายของอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นสภาพธรรมที่ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน สัตว์ บุคคล เป็นสภาพธรรมที่บังคับบัญชาไม่ได้ และปฏิเสธต่ออัตตา (ตัวตน) อย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น

ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย ทุกขณะเป็นสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป เช่น ความโกรธ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ศรัทธา ความผ่องใสแห่งจิต เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความละอายต่อบาป เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความจำ เป็นธรรมอย่างหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นต้น ทั้งหมดนั้น เป็นธรรม แต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตนอย่างสิ้นเชิง ไม่มีใครเป็นเจ้าของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดได้เลย จึงไม่มีของตนจริงๆ เพราะมีแต่ธรรมที่เกิดแล้วดับไปเท่านั้น ได้ยินเมื่อสักครู่นี้ ก็เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่ง เป็นธาตุชนิดหนึ่ง แม้แต่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เมื่อครู่นี้ ดับไปแล้ว ไม่มีใครเป็นเจ้าของการเห็น เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับไป

ดูเหมือนว่าแต่ละคนคิดว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ แต่ทรัพย์สมบัตินั้นก็ไม่รู้ว่ามีคนเป็นเจ้าของเพราะเป็นแต่เพียงรูปธรรมเท่านั้น และทรัพย์สมบัติก็ต้องเสื่อมสลายไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้จริงๆ และแม้แต่ผู้ที่กล่าวว่าตนเองเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติก็ต้องจากไป ซึ่งความจริงก็จากอยู่ทุกขณะ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมเกิดแล้วก็ดับไป แต่ละขณะๆ เป็นอย่างนี้ ซึ่งผู้ที่จะเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ ก็ต้องมีปัญญา แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่ใช่เพราะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ปัญญาเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ที่เข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริง เกิดขึ้นเพราะอาศัยเหตุปัจจัย ไม่ใช่ว่ามีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิดได้ ต้องอาศัยเหตุหลายอย่างหลายประการด้วยกัน กล่าวคือ ต้องมีศรัทธาที่จะฟัง ที่จะศึกษา เพราะเคยเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริงมาแล้ว จึงทำให้เป็นผู้ที่สนใจที่จะฟัง ที่จะศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เมื่อได้ฟัง ได้ศึกษา พิจารณาไตร่ตรองในเหตุในผล ปัญญาก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ

ชีวิตประจำวันแสดงถึงความเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีใครทำให้สิ่งหนึ่งสิ่งใดเกิดขึ้นได้เลย และไม่มีใครเป็นเจ้าของสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วย ดังนั้น การตั้งต้นในการฟังในการศึกษาให้เข้าใจว่า ธรรม คือสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อได้ฟังได้ศึกษาต่อไปด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ความติดข้องและความเห็นผิด เป็นต้น ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการอบรมเจริญจนกว่าปัญญาจะถึงความสมบูรณ์พร้อมในที่สุด

ขอเชิญติดตามอ่านคำอื่นๆ ได้ที่..

บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chvj
วันที่ 1 มิ.ย. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ