จะเป็นไปในลักษณะใดที่ชื่อว่า ท่านเคารพธรรม

 
chatchai.k
วันที่  30 ก.ย. 2565
หมายเลข  44442
อ่าน  114

สำหรับพุทธบริษัทในครั้งนี้ เคยหวนระลึกถึงการเคารพธรรมบ้างไหมว่า จะเป็นไปในลักษณะใดที่ชื่อว่าท่านเคารพธรรม ท่านหนักในธรรม ท่านปฏิบัติ หรือมีชีวิตอยู่เพื่อธรรมอย่างไรบ้าง

ที่ว่าเคารพในธรรม หรือว่ามั่นคงในคำสอน ก็มีตั้งแต่ในขั้นการฟัง จน กระทั่งถึงขั้นของการปฏิบัติ เช่น ธรรมที่ได้ฟังในพระธรรมวินัยนี้ทั้งหมดทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คำว่าเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังรู้รส กำลังรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กำลังคิดนึก กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ โดยการฟังก็ทราบว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อมีการหนักในธรรม เคารพในธรรมที่ได้ฟัง แล้วมีความเข้าใจด้วยว่า สภาพธรรมทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตาจริงๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เป็นตัวตน แล้วจะปฏิบัติธรรมอย่างไร จึงจะให้ผลตรง และชื่อว่ามั่นคงในธรรมที่ได้ยินได้ฟัง

การปฏิบัติธรรม ต้องเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า ลักษณะที่แท้จริงของสภาพธรรมนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลนั่นเอง การปฏิบัติต้องให้ได้ผลตรงกับสภาพธรรมที่ได้ศึกษา ที่ได้ยินได้ฟัง

เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะกำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังเป็นสุข กำลังเป็นทุกข์ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมจะต้องปฏิบัติให้ตรง ให้รู้ว่าสภาพธรรมทุกๆ ขณะนี้ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา ถ้าปฏิบัติอย่างนี้ รู้อย่างนี้ จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ที่มั่นคงในพระสัทธรรมที่ได้ยินได้ฟัง คือ ผลจะต้องตรงกับสภาพธรรมตามความเป็นจริง และเหตุก็จะต้องตรงที่จะให้ผลเช่นนั้นเกิดขึ้นด้วย

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังก็น่าที่จะได้คิดว่า ในขณะที่กำลังนั่ง นอน ยืน เดิน พูด นิ่ง คิด ประกอบกิจการงาน มีการเห็น มีการได้ยิน มีความสุข มีความทุกข์ มีการคิดนึกต่างๆ ในขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา เมื่อไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลแล้ว สภาพธรรมที่ปรากฏก็จะต้องเป็นลักษณะของนามธรรมหรือเป็นลักษณะของรูปธรรม นามธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รูปธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะประจักษ์ลักษณะที่เป็นนามธรรมที่เกิดดับ ถ้าสติไม่ระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ก็ไม่มีโอกาสที่จะประจักษ์ลักษณะที่เป็นรูปธรรมที่กำลังเกิดดับอยู่ในขณะนี้นั่นเอง

นี่เป็นเหตุ ตรง และธรรมดา แต่ผู้ฟังจะต้องพิจารณาด้วยความแยบคายว่า ท่านได้เจริญข้อประพฤติปฏิบัติถูกต้องอย่างนี้หรือเปล่า คือ สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง รู้ว่าขณะนี้สติกำลังระลึกสภาพที่เป็นนามธรรม หรือว่าสภาพที่เป็นรูปธรรม ทางตา หรือทางหู หรือทางจมูก หรือทางลิ้น หรือทางกาย หรือทางใจ โดยที่ไม่ต้องเอ่ยชื่อ คือ ไม่ต้องนึกว่า ขณะนี้กำลังระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมทางตา หรือว่าขณะนี้กำลังระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมทางหู ไม่ต้องเอ่ยชื่อ ไม่ต้องนึกอย่างนี้ เพราะสภาพลักษณะของนามธรรมรูปธรรมทางตาก็กำลังปรากฏ หรือนามธรรมรูปธรรมทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจก็กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น สติระลึกตรงลักษณะให้ถูกต้อง เพื่อปัญญาจะได้รู้ชัดจริงๆ ในลักษณะที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมเสียก่อน แล้วภายหลังเมื่อมีความรู้ชัดมากขึ้น ชินขึ้น ละคลายมากขึ้น ก็ย่อมจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรมได้

ถ้าท่านผู้ใดเจริญสติเป็นปกติ ระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต สราคจิต หรือโทสมูลจิต หรือไม่ว่าจะเป็นกำลังเห็น กำลังได้ยิน สุขเวทนา ทุกขเวทนา ตามปกติ จะมีผู้หนึ่งผู้ใดไปยับยั้งผู้ที่เจริญสติเป็นปกติ ไม่ให้รู้ลักษณะของรูปธรรมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ไหม

ถ้าผู้นั้นเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเป็นปกติ ผู้นั้นก็จะต้องประจักษ์ความเกิดขึ้นและดับไปของนามธรรมและรูปธรรม โดยที่ผู้อื่นก็ไม่สามารถจะไปยับยั้งว่า ไม่ให้รู้ ไม่ให้ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป

โลภมูลจิต สราคจิต เป็นของธรรมดาที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ใครสามารถประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของโลภมูลจิตได้ ผู้นั้นก็ต้องเป็นผู้ที่สติระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิต ส่วนผู้ใดที่ไม่ระลึกอย่างนี้ ทั้งๆ ที่ได้ศึกษามาว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สังขารธรรมทั้งหลาย ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่สติของผู้นั้นไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมตามปกติ ไม่เคยระลึกรู้ลักษณะของโลภมูลจิตของสราคจิตเลย ใครก็ดลบันดาลให้ผู้นั้นประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของโลภมูลจิตของสราคจิตไม่ได้ นี่เป็นเหตุเป็นผลตามธรรมดาที่ท่านผู้ฟังจะพิจารณาได้ว่า เหตุกับผลจะต้องตรงกัน


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 140


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ