เรื่องสญชัย ... วันเสาร์ ๔ ส.ค. ๒๕๕๐

 
บ้านธัมมะ
วันที่  4 ส.ค. 2550
หมายเลข  4444
อ่าน  3,313

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

สนทนาธรรมที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

วันเสาร์ ๔ ส.ค. ๒๕๕๐

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

เรื่องสญชัย

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้า ๑๑๖

นำการสนทนาโดย ..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ส.ค. 2550

[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ - หน้า ๑๑๖

เรื่องสญชัย (โดยย่อ)

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ทรงปรารภความไม่มาของสญชัย (ปริพาชก) ซึ่งสองพระอัครสาวกกราบทูลแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "อสาเร สารมติโน" เป็นต้น อนุปุพพีกถา ในเรื่องสญชัย นั้น ดังต่อไปนี้:-

ประวัติพระสารีบุตร และ โมคคัลลานะ

ความพิสดารว่า เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่ทรงอุบัติแล้วนั่นแล ได้มี บ้านพราหมณ์ ๒ ตำบล คือ อุปติสสคาม ๑ โกลิตคาม ๑ ในที่ไม่ไกลแต่กรุงราชคฤห์ ในสองบ้านนั้น ในวันที่นางพราหมณีชื่อ สารี ในอุปติสสคามตั้งครรภ์นั่นแล แม้นางพราหมณีชื่อ โมคคัลลี ในโกสิตคาม ก็ตั้งครรภ์. ได้ยินว่า ตระกูลทั้งสองนั้น ได้เป็นสหายเกี่ยวพัน สืบเนื่องกันมาถึง ๗ ชั่วตระกูลทีเดียว พราหมณ์ผู้สามีได้ให้พิธีบริหารครรภ์แก่พราหมณีทั้งสองนั้น ในวันเดียวกันเหมือนกัน โดยกาลล่วงไป ๑๐ เดือน นางพราหมณีทั้งสองนั้นก็คลอดบุตร ในวันขนานชื่อ พวกญาติตั้งชื่อบุตรของสารีพราหมณีว่า "อุปติสสะ" เพราะเป็นบุตรของตระกูลนายบ้าน ในตำบลอุปติสสคาม ตั้งชื่อ บุตรของโมคคัลลีพราหมณีว่า "โกลิตะ" เพราะเป็นบุตรของตระกูล นายบ้านในตำบลโกลิตคามนอกนี้. เด็กทั้งสองนั้นถึงความเจริญแล้ว ได้ถึงความสำเร็จแห่งศิลปะทุกอย่าง.

สมัยต่อมาทั้งสองบวชแล้วในสำนักของสญชัย จำเดิมแต่เขาทั้งสองบวชแล้วสญชัยก็ได้ถึงความเลิศด้วยลาภและยศอย่างเหลือเฟือ ทั้งสองเรียนจบลัทธิสมัยของสญชัยโดยสองสามวันเท่านั้น จึงถามว่า "ท่านอาจารย์ลัทธิที่ท่านรู้ มีเพียงเท่านี้ หรือมีแม้ยิ่งกว่านี้" เมื่อสญชัยตอบว่า"มีเพียงเท่านี้แหละ เธอทั้งสองรู้จบหมดแล้ว" เขาทั้งสองจึงคิดกันว่า "เมื่อเป็นอย่างนี้ การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ ในสำนักของท่านผู้นี้ก็ไม่ มีประโยชน์ เราทั้งสองออกมาเพื่อแสวงหาโมกขธรรม โมกขธรรมนั้น เราไม่สามารถให้เกิดขึ้นได้ในสำนักของท่านผู้นี้

สมัยต่อมาพระศาสดาเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ โดยลำดับ ทรงรับเวฬุวัน แล้วประทับอยู่ในเวฬุวัน ในกาลนั้น พระอัสสชิเถระ ในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ระหว่าง พระอรหันต์ ๖๑ องค์ ที่พระศาสดาทรงส่งไปเพื่อประกาศคุณพระรัตนตรัย ด้วยพระดำรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ ชนเป็นอันมากเถิด"

เมื่ออุปติสสะได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิเถระ ได้เป็นพระโสดาบันแล้ว และได้กล่าวธรรมที่ตนได้ฟังมาแก่โกลิตะ เมื่อโกลิตะฟังได้เป็นพระโสดาบัน อุปติสสะกล่าวว่า "สหาย เราจักบอกอมตะที่เราทั้งสองบรรลุ แก่สญชัยปริพาชก ผู้อาจารย์ของเราบ้าง ท่านรู้อยู่ก็จักแทงตลอด เมื่อไม่แทงตลอด เชื่อพวกเราแล้วจักไปยังสำนักพระศาสดา สดับเทศนาของพุทธบุคคลทั้งหลายแล้ว จักทำการแทงตลอดซึ่งมรรคและผล"

ลำดับนั้น ทั้งสองคนก็ได้ไปสู่สำนักของท่านสญชัย สญชัยพอเห็น เขาจึงถามว่า "พ่อทั้งสอง พวกพ่อได้ใครที่แสดงทางอมตะแล้วหรือ" สหายทั้งสองจึงเรียนว่า "ได้แล้วขอรับ ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก พระธรรมก็อุบัติขึ้นแล้ว พระสงฆ์ก็อุบัติขึ้นแล้ว ท่านอาจารย์ประพฤติธรรมเปล่า ไร้สาระ เชิญท่านมาเถิด เราทั้งหลาย จักไปยังสำนักพระศาสดา"

ส. ท่านทั้งสองไปเถิด ข้าพเจ้าไม่สามารถ.

สห. เพราะเหตุไร

ส. เราเทียวเป็นอาจารย์ของมหาชนแล้ว การอยู่เป็นอันเตวาสิกของเรานั้น เช่นกับเกิดความไหวแห่งน้ำในตุ่ม เราไม่สามารถอยู่เป็นอันเตวาสิกได้.

สห. อย่าทำอย่างนั้นเลย ท่านอาจารย์

ส. ช่างเถอะ พ่อ พ่อพากันไปเถอะ เราจักไม่สามารถ

สห. ท่านอาจารย์ จำเดิมแต่กาลแห่งพระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น ในโลก มหาชนมีของหอมระเบียบดอกไม้เป็นต้นในมือไปบูชาพระองค์ เท่านั้น แม้กระผมทั้งสองก็จักไปในที่นั้นเหมือนกัน ท่านอาจารย์จะทำ อย่างไร

ส. พ่อทั้งสอง ในโลกนี้ มีคนเขลามากหรือมีคนฉลาดมากเล่า

สห. คนเขลามากขอรับ ท่านอาจารย์ อันคนฉลาดมีเพียงเล็กน้อย.

ส. พ่อทั้งสอง ถ้ากระนั้น พวกคนฉลาดๆ จักไปสู่สำนักพระสมณโคดม พวกคนเขลาๆ จักมาสู่สำนักเรา พ่อไปกันเถิด เราจักไม่ไป.

สหายทั้งสองนั้นจึงกล่าวว่า "ท่านอาจารย์ ท่านจักปรากฏเอง" ดังนี้ แล้วหลีกไป และเข้า เฝ้าพระศาสดาได้อุปสมบทแล้ว

สมัยต่อมา ท่านได้ทูลเล่าเรื่องอันเป็นปัจจุบัน (เกิดขึ้นเฉพาะหน้า) ทั้งหมดว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (ครั้ง) ข้าพระองค์ ยังเป็นผู้ครองเรือนอยู่ไปดูมหรสพบนยอดเขา" ดังนี้เป็นต้น จนถึงการ แทงตลอดโสดาปัตติผลจากสำนักพระอัสสชิเถระแล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่ พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งสองนั้น ไปยังสำนักของท่านอาจารย์สญชัย ประสงค์จะนำท่านมาสู่บาทมูลของพระองค์ แจ้งว่าลัทธิของท่านไม่มีสาระ แล้วกล่าวอานิสงส์ในการมาที่นี่ ท่านสญชัยตอบว่า 'บัดนี้ชื่อว่าการอยู่ เป็นอันเตวาสิกของเรา ย่อมเป็นเช่นกับการถึงความกะเพื่อมแห่งน้ำในตุ่ม เราไม่สามารถจะอยู่เป็นอันเตวาสิกได้' เมื่อข้าพระองค์บอกว่า 'ท่าน อาจารย์ เวลานี้ มหาชนมีมือถือวัตถุมีของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น จักไปบูชาเฉพาะพระศาสดา ท่านจักเป็นอย่างไร' ตอบว่า 'ก็ในโลก นี้ คนฉลาดมากหรือคนเขลามาก' เมื่อข้าพระองค์ตอบว่า 'คนเขลา มาก' ก็กล่าวว่า ถ้ากระนั้น พวกคนฉลาดๆ จักไปสำนักพระสมณโคดม พวกคนเขลาๆ จักมาสำนักของเรา เธอทั้งสอง ไปเถอะ' ไม่ปรารถนาจะมา พระเจ้าข้า”

พระศาสดาทรงสดับคำนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย สญชัย ถือสิ่งที่ไม่มีสาระว่า 'มีสาระ' และสิ่งที่มีสาระว่า 'ไม่มีสาระ' เพราะ ความที่ตนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ส่วนเธอทั้งสอง รู้สิ่งเป็นสาระโดยความเป็นสาระ และสิ่งอันไม่เป็นสาระโดยความไม่เป็นสาระ ละสิ่งที่ไม่เป็นสาระเสีย ถือเอาแต่สิ่งที่เป็นสาระเท่านั้น เพราะความที่ตนเป็นบัณฑิต"

ดังนี้แล้ว ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า อสาเร สารมติโน สาเร จาสารทสฺสิโน เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา. สารญฺจ สารโต ญตฺวา อสารญฺจ อสารโต เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา "ชนเหล่าใด มีปกติรู้ในสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็น สาระ และเห็นในสิ่งอันเป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริผิดเป็นโคจร ย่อมไม่ ประสพสิ่งอันเป็นสาระ ชนเหล่าใด รู้สิ่งเป็นสาระ โดยความเป็นสาระ และสิ่งไม่เป็นสาระโดยความไม่ เป็นสาระ ชนเหล่านั้น มีความดำริชอบเป็นโคจร ย่อมประสพสิ่งเป็นสาระ"

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 4 ส.ค. 2550

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บาทพระคาถาว่า อสาเร สารมติโน ความว่า สภาพนี้ คือ ปัจจัย ๔ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ธรรมเทศนาอันเป็นอุปนิสัย แห่งมิจฉาทิฏฐินั้น ชื่อว่าเป็นอสาระ ผู้มีปกติเห็นในสิ่งอันไม่เป็นสาระ นั้นว่า "เป็นสาระ"

บาทพระคาถาว่า สาเร จาสารทสฺสิโน ความว่า สภาพนี้ คือ สัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ ธรรมเทศนาอันเป็นอุปนิสัยแห่งสัมมาทิฏฐินั้นชื่อว่า เป็นสาระ ผู้มีปกติเห็นในสิ่งที่เป็นสาระนั้นว่า "นี้ไม่เป็นสาระ" สองบทว่า เต สารํ เป็นต้น ความว่า ชนเหล่านั้น คือ ผู้ถือมิจฉาทิฏฐินั้นตั้งอยู่ เป็นผู้มีความดำริผิดเป็นโคจร ด้วยสามารถแห่งวิตก ทั้งหลาย มีกามวิตกเป็นต้น ย่อมไม่บรรลุสีลสาระ สมาธิสาระ ปัญญาสาระ วิมุตติสาระ วิมุตติญาณทัสสนสาระ และพระนิพพานอันเป็นปรมัตถสาระ

บทว่า สารญฺจ ความว่า รู้สาระมีสีลสาระเป็นต้นนั่นนั้นแลว่า "นี้ชื่อว่าสาระ" และรู้สิ่งไม่เป็นสาระ มีประการดังกล่าวแล้วว่า "นี้ไม่ เป็นสาระ."

สองบทว่า เต สารํ เป็นต้น ความว่า ชนเหล่านั้น คือบัณฑิต ผู้ยึดสัมมาทัสสนะอย่างนั้นตั้งอยู่ เป็นผู้มีความดำริชอบเป็นโคจร ด้วยสามารถแห่งความดำริทั้งหลาย มีความดำริออกจากกามเป็นต้น ย่อมบรรลุ สิ่งอันเป็นสาระ มีประการดังกล่าวแล้วนั้น.

ในกาลจบคาถา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผล เป็นต้น เทศนาได้เป็นประโยชน์แก่ชนผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล

เรื่องสญชัย จบ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Buppha
วันที่ 4 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนา สาธุ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
udomjit
วันที่ 5 ส.ค. 2550

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
olive
วันที่ 10 ส.ค. 2550

ขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
chatchai.k
วันที่ 15 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ