คันถปลิโพธ ได้แก่ ความกังวลในการศึกษา

 
chatchai.k
วันที่  14 ก.ย. 2565
หมายเลข  43842
อ่าน  242

ประการที่ ๙ คันถปลิโพธ ได้แก่ ความกังวลในการศึกษา สำหรับบางท่านก็เป็นปลิโพธ บางท่านก็ไม่เป็น เพราะเหตุว่าเมื่อมีชีวิตอยู่ แล้วรู้ว่าสิ่งไรเป็นประโยชน์ก็ควรจะทำ อย่างการศึกษาเล่าเรียนเป็นประโยชน์แน่ ถ้าไม่ศึกษาไม่เล่าเรียนก็ไม่รู้ ไม่ฉลาด อาจจะเข้าใจด้วยความคิดความเข้าใจของตนเองซึ่งอาจผิดก็ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นยิ่ง ถึงแม้ว่าเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็ยังศึกษาพระธรรมวินัย

เพราะฉะนั้น ก็ควรพิจารณาว่า สำหรับการศึกษาการสาธยายธรรมนั้นเป็นคันถปลิโพธหรือไม่ ถ้าเป็น เป็นกับบุคคลบางท่าน ไม่เป็นกับบุคคลบางท่าน

ในวิสุทธิมรรค มีตัวอย่างว่า พระเถระท่านเป็นผู้ชำนาญในมัชฌิมนิกาย ท่านได้ไปสู่สำนักของท่านพระเทวเถระผู้อยู่ที่มลยวิหาร และขอเรียนการประพฤติปฏิบัติธรรม พระเถระก็สอบถามท่านว่า ในการศึกษาปริยัติของท่านนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ซึ่งพระเถระผู้ชำนาญมัชฌิมนิกายก็ตอบว่า ท่านชำนาญในมัชฌิมนิกาย พระเทวเถระก็กล่าวว่า มัชฌิมนิกายนั้นรักษายาก เพราะเหตุว่าเมื่อสาธยายมูลปัณณาสก์ มัชฌิมปัณณาสก์ก็ต่อเข้ามาเรื่อยๆ เมื่อสาธยายมัชฌิมปัณณาสก์ ปัณณาสก์อื่นๆ ก็เข้ามา หรือว่าต่อไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ก็จะเป็นเครื่องขัดขวาง ไม่ทำให้กัมมัฏฐานเจริญ

พระเถระผู้ชำนาญในมัชฌิมนิกายก็กล่าวว่า ท่านจะเพียรเจริญกัมมัฏฐานจะไม่เหลียวแลการสาธยายอีกต่อไป แล้วท่านก็ไม่ได้สาธยายธรรมถึง ๑๙ ปี ปีที่ ๒๐ ท่านก็บรรลุพระอรหันต์ เมื่อภิกษุทั้งหลายมาเพื่อจะสาธยายธรรม ท่านก็กล่าวว่า ท่านไม่ได้เหลียวแลปริยัติถึง ๒๐ ปี แต่ว่าท่านมีการสั่งสมได้ทำไว้ในปริยัตินั้น เพราะฉะนั้น ท่านก็ให้ภิกษุเหล่านั้นสาธยายตั้งแต่ต้นจนจบ โดยที่ท่านไม่ได้มีความเคลือบแคลงสงสัยในพยัญชนะเลย

นี่เป็นตัวอย่างที่กล่าวถึงคันถปลิโพธนั้นเป็นสำหรับบางท่าน และไม่เป็นสำหรับบางท่าน

อีกตัวอย่างหนึ่งนั้น ในมหาวิหารมีพระเถระท่านหนึ่ง ชื่อ จุฬาภยะ เป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฎก แต่ว่ายังไม่ได้เรียนอรรถกถา

สำหรับคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาคงจะทราบแล้วว่าแบ่งเป็นชั้นๆ ที่เป็นพระบาลี ที่ได้ทรงแสดงรวบรวมไว้นั้นเป็นพระไตรปิฎก และมีข้อความที่อธิบายข้อความในพระไตรปิฎกนั้น เป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา

พระเถระชื่อ จุฬาภยะ ท่านเป็นผู้ชำนาญในพระไตรปิฎก แต่ว่าท่านยังไม่ได้เรียนอรรถกถา แล้วท่านก็ให้คนตีกลองป่าวร้องประกาศว่า ท่านจะบรรยายปิฎกทั้ง ๓ ในบริษัทที่ศึกษานิกายทั้ง ๕ นิกายทั้ง ๕ นั้นก็ได้แก่ นิกายของพระสูตร คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย

เมื่อพระอุปัชฌายะของท่านทราบ ท่านก็เห็นว่าพระจุฬาภยะเถระนั้นเป็นผู้ที่ทรงพระไตรปิฎกก็จริง แต่เมื่อไม่ได้ศึกษาอรรถกถา ท่านก็ไม่ทราบว่าจะมีความเข้าใจถูกต้องชัดเจนในพระไตรปิฎกนั้นมากน้อยเพียงไร

พระอุปัชฌาย์ของท่านก็ให้ท่านไปฟังธรรมที่สำนักของท่านพระธรรมรักขิตเถระ ซึ่งท่านพระธรรมรักขิตเถระก็กล่าวว่า

ธรรมดาภิกษุย่อมจะมาถามท่านเป็นครั้งคราว ในทีฆนิกายบ้าง ในมัชฌิมนิกายบ้าง ส่วนสูตรอื่นๆ ที่เหลือนั้น ท่านไม่ได้ดูมาประมาณ ๓๐ ปีแล้ว แต่เอาอย่างนี้เถอะ ตอนกลางคืนให้ท่านจุฬาภยเถระมาสาธยายให้ท่านฟัง แล้วตอนกลางวันท่านจะชี้แจงให้ทราบว่า ผิดถูกอย่างไร ท่านพระจุฬาภยะเถระก็กระทำอย่างนั้น ชาวบ้านก็ได้ทำปะรำใหญ่ที่ข้างประตูบริเวณ แล้วก็มาฟังธรรมกันทุกวัน

ท่านพระธรรมรักขิตเถระก็ได้เอาสูตรที่พระจุฬาภยเถระท่องบ่นในตอนกลางคืนนั้น มากล่าวสอบในเวลากลางวัน และสังเกตเห็นว่า ท่านพระจุฬาภยะนั้นมีปฏิภาณสูงกว่าท่านเอง เพราะฉะนั้น ท่านก็ได้เข้าไปนั่งบนเสื่อใกล้ๆ พระจุฬาภยะ แล้วก็ขอให้ท่านจุฬาภยเถระสอนเรื่องการปฏิบัติธรรมแก่ท่าน ท่านพระจุฬาภยเถระก็กล่าวว่า ตัวท่านเองนั้นมาฟังธรรมในสำนักของท่านพระธรรมรักขิตเถระมิใช่หรือ ท่านจะบอกสิ่งที่ท่านธรรมรักขิตเถระไม่รู้อย่างไรได้ ซึ่งท่านพระธรรมรักขิตเถระก็ได้กล่าวว่าอันทางของบุคคลผู้ไปถึงแล้วนั้น เป็นอย่างหนึ่ง

ซึ่งหมายความว่า ผู้ปฏิบัติธรรมและได้บรรลุมรรคผลแล้วนั้นย่อมจะชี้แจง บอกทางปฏิบัติได้ถูกต้องกว่าผู้ที่เพียงรู้ขั้นปริยัติเท่านั้น ที่ท่านธรรมรักขิตเถระกล่าวอย่างนั้น เพราะท่านได้เห็นปฏิภาณของท่านพระจุฬาภยเถระ แล้วก็คงจะได้ทราบว่า ท่านพระจุฬาภยเถระนั้นเป็นพระโสดาบันแล้ว

ท่านพระจุฬาภยเถระเมื่อได้แสดงทางปฏิบัติแก่ท่านพระธรรมรักขิตเถระแล้วท่านก็ได้กลับไปที่โลหะปราสาท ต่อมาท่านได้ทราบว่าพระธรรมรักขิตเถระปรินิพพานแล้ว ท่านก็ได้กล่าวสรรเสริญท่านพระธรรมรักขิตเถระในท่ามกลางภิกษุทั้งหลายว่า

อรหัตมรรคสมควรแก่พระธรรมรักขิตเถระผู้เป็นอาจารย์ของท่าน อาจารย์ของท่านเป็นผู้ซื่อตรง

คำว่า เป็นผู้ซื่อตรง มีความหมายว่า เป็นผู้ไม่มีมายา ไม่มีสาไถย ไม่อวดดี เป็นอาชาไนยบุคคล จึงยอมนั่งบนเสื่อใกล้ธัมมันเตวาสิกของตน และขอให้ศิษย์แสดงทางปฏิบัติแก่ท่าน

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า คันถะ การศึกษานั้นไม่เป็นปลิโพธแก่ภิกษุเห็นปานนี้

บางท่านคิดว่า การศึกษานั้นจะขัดขวางการเจริญสติปัฏฐาน แต่ความจริงเป็นการอุปการะให้เข้าใจการปฏิบัติถูกต้องขึ้น ถ้าเข้าใจการเจริญสติปัฏฐานมากขึ้น สติก็เกิดได้บ่อยขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านที่เริ่มเจริญสติคงจะสังเกตได้ว่า ความรู้ในขั้นต้นนั้นยังไม่ชัด สติยังไม่มาก บางครั้งก็ระลึกได้มาก บางครั้งก็ระลึกได้น้อย แต่เครื่องวัดคือ เมื่อระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปแล้ว ปัญญาเพิ่มขึ้นแล้วหรือยัง การที่จะบรรลุอริยสัจธรรมได้นั้น ปัญญาจะต้องเพิ่มขึ้น มากขึ้น ชัดเจนขึ้น และผู้เจริญสติย่อมทราบได้ว่า ปัญญาเพิ่มมากขึ้น เพราะอาศัยการระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปเพียงชั่วขณะนิดๆ หน่อยๆ ที่สติระลึกได้

บางท่านก็เข้าใจว่ารู้แล้ว เพียงนิดหน่อยเท่านั้น ก็บอกว่า รู้แล้วๆ รู้แล้วก็ไม่เห็นมีอะไร แต่ความจริงยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังไม่ใช่แม้พระโสดาบันบุคคล เพราะฉะนั้น รู้แล้วยังไม่ได้ เพียงแต่รู้โดยการฟัง แล้วก็อาศัยสติระลึกทีละเล็กทีละน้อย แต่สภาพจริงๆ ของนามและรูปที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ในวันหนึ่งๆ นั้นมากที่ปัญญาจะต้องรู้ชัดเพิ่มขึ้นจนกว่าจะละคลายได้ อย่าเพิ่งคิดว่ารู้ชัด อย่าเพิ่งคิดว่า การที่น้อมพิจารณาว่า สภาพนั้นไม่เที่ยง เกิดขึ้นนิดเดียวแล้วก็หมดไป นั่นจะเป็นลักษณะของปัญญาที่ประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไปของนามและรูปจริงๆ เพราะเหตุว่าปัญญานั้นจะต้องเจริญมากขึ้น มากกว่านั้นมากทีเดียว เป็นความสมบูรณ์ของปัญญาเป็นขั้นๆ

ท่านศึกษาธรรม ท่านฟังธรรม เพื่อจุดประสงค์ คือ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่เป็นเครื่องกั้น ไม่ขัดขวางการเจริญสติ แม้ในขณะที่ฟัง ก็ฟังเรื่องของของจริง ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เพราะฉะนั้น ถ้าฟังแล้วก็รู้ว่า สติสามารถระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้ ในขณะนั้นก็ไม่มีอะไรกั้น สติอาจระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจได้แม้ในขณะที่ฟัง

การฟังเป็นการเตือนให้น้อมระลึกรู้ลักษณะของนามและรูป ถ้าเผลอไป หลงลืมสติไป การฟังก็อาจจะทำให้สติระลึกขึ้นได้ แล้วพิจารณานามและรูปที่กำลังปรากฏตามปกติ ปัญญาที่รู้แจ้งอริยสัจนั้นไม่ใช่ปัญญาที่รู้อย่างอื่น เป็นปัญญาในขณะที่กำลังรู้สิ่งที่ปรากฏของจริงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั่นเอง

โดยมากท่านผู้ฟังคิดว่า การเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าการเจริญวิปัสสนานั้นต้องทำ แต่ความจริงเป็นการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดปรากฏแล้วในขณะนี้ บางท่านอาจเข้าใจว่า การศึกษาปริยัติ คันถธุระ กับวิปัสสนาธุระนั้นเป็นคนละเรื่อง ไม่ต้องรีรอ แล้วก็ไม่ต้องกลัวสติด้วย เมื่อสติระลึกรู้ขึ้นมาได้ในขณะใดแล้ว ปัญญาก็พิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในขณะนั้น ไม่ใช่ว่าท่านที่ต้องการเจริญสติปัฏฐานไม่ฟังธรรมเลย อย่างนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะเหตุว่าการฟังธรรมอุปการะมาก ให้ผู้ที่เจริญสติพิจารณารู้ลักษณะของนามและรูปได้ชัดขึ้น แล้วก็สามารถน้อมระลึกถึง สภาพความจริงของธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะที่ได้ฟังธรรม แล้วละคลายการยึดถือ สภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้

ในพระไตรปิฎกนั้น บรรดาพระภิกษุ อุบาสก อุบาสิกาก็เจริญสติ แต่ว่าทั้งๆ ที่เจริญสติกันเป็นปกติในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าขาดการฟังธรรม ไม่สามารถน้อมระลึกถึงสิ่งที่จะทำให้ละคลายการติด การยึดถือนามรูปที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังธรรม จึงมีประโยชน์มากที่จะทำให้เมื่อถึงกาละที่สมควร อินทรีย์แก่กล้า การที่ได้ฟังธรรมก็ทำให้น้อมระลึกถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในลักษณะที่ทำให้เกิดการละคลายได้ในขณะนั้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 64

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 65

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

การศึกษา การฟังธรรมไม่กั้นการเจริญสติปัฏฐาน

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย


เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ