บางเวลาจิตรู้ลมหายใจหรือคำบริกรรมเอง ด้วยความเข้าใจว่าไม่ใช่เราที่ตั้งใจรู้ หรือตั้งใจคิดคำบริกรรม จะให้ทิ้งสิ่งที่รู้หรือทำอย่างไรรู้

 
ucat97
วันที่  30 ก.ค. 2565
หมายเลข  43413
อ่าน  418

การที่เคยฝึกสมาธิแบบรู้ลมหายใจ หรือบริกรรมพุทโธมาเป็นเวลานานนับกว่าสิบปี แต่คงได้แค่ขนิกสมาธิ ไม่ถึงขั้นปฐมฌาน แม้ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เพราะเป็นการตั้งใจและคิดว่าเป็นนเราที่ไปรู้ลม ขอถามว่า จะมีการสะสมที่จิต เจตสิกบ้างหรือไม่เพียงใด เพราะบางครั้งขณะนอนก็รู้สึกที่ลมหายใจหรือคำบริกรรมพุทโธขึ้นเองโดยไม่ได้ตั้งใจ และเห็นว่าขณะลมหายใจปรากฏเป็นธรรมที่กำลังปรากฏและกายปสาทกระทบลมที่ไหว ทำให้เกิดจิตรู้ และเกิดความเข้าใจว่าไม่เป็นเราที่รู้ลมแต่เป็นจิตสัมผัส ความเข้าใจนี้ถูกต้องหรือไม่ และหากจิตรู้ลมต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ปล่อย โดยมีความรู้ความเข้าใจว่าไม่ใช่เรารู้ อย่างนี้จะเป็นสัมมาสมาธิหรือไม่อย่างไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 30 ก.ค. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อานาปานสติ เป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง ส่วนใหญ่แล้ว จะทำ โดยไม่คำนึงถึงความถูกผิดว่าเป็นอย่างไร เพราะเหตุว่า
ถ้าทำไปแล้ว ไม่รู้ ไม่เข้าใจอะไร เต็มไปด้วยความงงงวย นั่น ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเลย ไม่ใช่เหตุที่จะทำให้กุศลธรรมและปัญญาเจริญขึ้นได้เลย มีแต่จะทำให้อกุศลธรรม มีความไม่รู้ เป็นต้น เกิดมากขึ้น

การเจริญสติปัฏฐานไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ว่าเป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยการฟังในสิ่งที่มีจริงเนืองๆ บ่อยๆ พิจารณาเหตุผลแล้วก็เจริญเหตุให้สมควรแก่ผลด้วย ข้อสำคัญประการหนึ่งก็คือ จะต้องไม่เข้าใจผิดว่าเป็นสติปัฏฐานเฉพาะบางสิ่งบางประการ หรือ เลือกเจาะจงเฉพาะบางนามธรรม บางรูปธรรม แต่ต้องเข้าใจให้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่าทุกอย่างที่เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ นั้น เป็นสติปัฏฐานทั้งสิ้น เพราะเป็นที่ตั้งให้สติสัมปชัญญะเกิดขึ้นระลึกรู้ตามความเป็นจริงได้ ลมหายใจก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย เพราะลมหายใจเป็นส่วนหนึ่งของกาย เป็นสภาพที่ปรุงแต่งกาย และเคยยึดถือว่าเป็นลมหายใจของเรา เป็นเราหายใจ แต่ขณะที่สติปัฏฐานเกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ คือ ธาตุดิน ธาตุไฟ หรือธาตุลม เริ่มที่จะเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะอย่างนั้นเอง คือ เป็นธาตุที่ไม่รู้อารมณ์ (คือเป็นรูปธรรม) เป็นการถ่ายถอนความเข้าใจผิดที่เคยยึดถือว่าเป็นเราที่หายใจ หรือเป็นลมหายใจของเรา ทั้งนี้ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกรู้ลักษณะใด โดยไม่จำกัดและไม่เจาะจง เพราะเป็นอนัตตาไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ข้อที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ความเข้าใจถูกตั้งแต่ต้น ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ศึกษา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกตั้งแต่เบื้องต้น ไม่ขาดการฟังพระธรรม เพราะเมื่อมีความเข้าใจตั้งแต่ต้นแล้ว ก็สามารถทำให้เข้าใจในคำแต่ละคำ และรู้หนทางที่ถูกต้อง ที่จะไม่ไปทำในสิ่งที่ผิด ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 31 ก.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ucat97
วันที่ 1 ส.ค. 2565

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ

สาธุ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ