ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ

 
kchat
วันที่  21 ก.ค. 2550
หมายเลข  4321
อ่าน  2,156

สิ่งที่ปรากฏทางตาทำให้ดูเหมือนว่า มีผู้คนอยู่ร่วมกันในโลกนี้มากมายตามกาละและเทศะ แต่ถ้าประจักษ์ชัดในลักษณะของธาตุรู้ ซึ่งเป็นสภาพรู้ซึ่งเกิดขึ้นเห็นสิ่งที่ปรากฏในขณะนั้น จะรู้ได้ว่าชั่วขณะนั้นเป็นเพียงการเห็นเป็นเฉพาะโลกของการเห็นซึ่งไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่วัตถุสิ่งต่างๆ เพราะขณะนั้นเพียงเห็น ยังไม่ได้นึกถึงรูปร่างสัณฐานและเรื่องราวใดๆ ของสิ่งที่เห็น


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
guidance
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ด้วยความที่ศึกษา ธรรมะจากอาชีพ การเป็นอาชีพพยาบาล และเป็นครูผู้สอนนักเรียนพยาบาลมายาวนานถึง ๓๑ปี และการค้นคว้าทางจิต ทำให้เห็นทุกข์จากคนไข้ คนเจ็บ คนตาย เป็นตำราสอน ที่เห็นจริง อย่างที่พระพุทธเจ้า ทรงสอนไว้ จริงๆ ที่สุด คือเห็นทุกข์จากตนเองนี่แหละวิเศษสุด สอนตนเอง แรกๆ การเข้ามาสู่ธรรมะ เขาทั้งหลายไม่มีใครเห็นด้วย หาว่า เรา Abnormal (ช่างเขา) เราจะไป เราจะทำ ตั้งจิตไว้ ต้องแอบพักร้อน (ได้ปีละ ๑๐ วัน) ผ่อนหนาว ท่องเที่ยวไปหาธรรมะ (ที่แท้หาที่ตนเองนี่แหละ) กับเพื่อนฝูงนอกวงการ ซึ่งมีน้อยเหลือเกินค่ะ (ในขณะนั้น) ขอบคุณปัญหาและอุปสรรคทั้งปวง การสู่ธรรมผ่านอุปสรรคนานาวันนี้ขอบคุณอุปสรรคทั้งมวลนั้น ขออนุโมทนาบ้านธัมมะที่มุ่งบอกความจริงของชีวิต ให้โลก และสังคมได้รับรู้ ขออนุโมทนางานใหญ่หลวง ของ อาจารย์สุจินต์ และทีมงาน มาณ.ที่นี้ เป็นที่ยิ่ง

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
guidance
วันที่ 21 ก.ค. 2550

เรียน ท่านสมาชิกบ้านธรรมะ

สมาชิกทุกๆ ทุกท่าน ที่เคารพยิ่ง ข้าพเจ้าอยู่ที่จ.ลำปาง อยากรู้จัก สมาชิกบ้านธัมมะ ที่อยู่ใกล้กัน เผื่ออาจจะ ได้ไปฟังธรรม บ้านธัมมะด้วยกัน ในบางช่วง บางเวลาที่ทางบ้านธัมมะจัดขึ้น ถ้าจะกรุณาติดต่อข้าพเจ้าบ้างด้วยหมายเลขโทรศัพท์ 089-9545739 จึงขอขอบคุณยิ่ง ข้าพเจ้ายังไม่เคยไปที่นั่น

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ในอดีตสมัย ณ สาลวันอันเป็นที่แวะพักแห่งพวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงดับขันธปรินิพพานระหว่างไม้สาละคู่ หมดโอกาสที่สัตวโลกจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์อีกต่อไป พระผู้มีพระภาคประทานพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้ว ไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อทรงดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พุทธบริษัท ย่อมถวายความนอบน้อมสักการะพระธรรมอันประเสริฐสุดของพระผู้มีพระภาค ตามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย แม้ผู้ใด เห็นพระวรกายของพระองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์ หรือแม้ได้จับชายสังฆาฏิติดตามพระองค์ไป แต่ไม่รู้ธรรม ไม่เป็นธรรม ผู้นั้นก็หาได้เห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

พระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามี ๓ ขั้น

๑.ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย

๒.ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลสดับทุกข์

๓.ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

พระพุทธดำรัสที่ว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าย่อมเห็นตถาคต หมายถึงการเห็นธรรม รู้แจ้งธรรมที่พระผู้มีพระภาคตรัสรู้ คือ โลกุตตรธรรม ๙ ขั้นปฏิเวธ เป็นผลของการเจริญธรรมขั้นปฏิบัติ การเจริญธรรมขั้นปฏิบัติ ต้องอาศัยปริยัติ ด้วยเหตุนี้ปริยัติ คือ การศึกษาพระธรรมวินัยจึงเป็นสรณะ เป็นที่พึ่ง เป็นทางนำไปสู่พระพุทธศาสนาขั้นปฏิบัติและขั้นปฏิเวธ เป็นลำดับไป

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

พระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค ได้จดจำสืบต่อกันมาโดยมุขปาฐะคือ การท่องจำจากพระอรหันตสาวก ผู้กระทำสังคายนาพระธรรมวินัยเป็น ๓ ปิฏก เรียกว่าพระไตรปิฏก การท่องจำได้กระทำสืบต่อกันมาตราบจนกระทั่งได้จารึกเป็นตัวอักษรพระธรรมวินัยซึ่งพระอรหันตสาวกได้สังคายนาเป็น ๓ ปิฏกนั้น คือ

๑. พระวินัยปิฏก ๒. พระสุตตันตปิฏก ๓. พระอภิธรรมปิฏก

พระวินัยปิฏก เกี่ยวกับระเบียบข้อประพฤติปฏิบัติเพื่อพรหมจรรย์ขั้นสูงยิ่งขึ้นเป็นส่วนใหญ่ พระสุตตันปิฏก เกี่ยวกับหลักธรรมที่ทรงเทศนาแก่บุคคลต่างๆ ณ สถานที่ต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ พระอภิธรรมปิฏก เกี่ยวกับสภาพธรรมพร้อมทั้งเหตุและผลของธรรม ทั้งปวง

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ฉะนั้น พุทธศาสนานิกจึงควรพิจารณา และศึกษาให้รู้ว่าธรรมและความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจ และปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้นเป็นธรรม แต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้นเพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้นต่างกัน เพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

การที่หลงยึดความโลภ ความโกรธ และสภาพธรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้น เป็นความเห็นผิดเป็นความเข้าใจผิดเพราะธรรมเหล่านี้เกิดขึ้นแลัวก็ดับไปหมดไป เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย การหลงเข้าใจผิดว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลนั้นก็เพราะไม่รู้ความจริงของธรรมทั้งปวง เมื่อเห็นขณะใดก็ยึดการเห็นซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ได้ยินนั้นเป็นตัวตน เป็นเราเห็น เมื่อได้ยินก็ยึดสภาพธรรมที่ได้ยินนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้ยิน เมื่อได้กลิ่นก็ยึดสภาพธรรมที่ได้กลิ่นนั้นเป็นตัวตน เป็นเราได้กลิ่น เมื่อได้ลิ้มรสก็ยึดสภาพธรรมที่ลิ้มรสนั้นเป็นตัวตน เป็นเราลิ้มรส เมื่อคิดถึงนึกเรื่องใดก็ยึดสภาพธรรมที่คิดนึกเป็นตัวตน เป็นเรานึกคิด เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมทั้งปวงแล้ว พระองค์ก็ทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัท ให้รู้ว่า สภาพธรรมทั้งปวงนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นปรมัตถธรรม คือ เป็นสภาพธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของธรรมสภาพนั้นๆ ได้ ไม่ว่าใครจะรู้หรือไม่ก็ตาม ใครจะเรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดภาษาใดหรือไม่เรียกสภาพธรรมนั้นด้วยคำใดๆ เลยก็ตาม สภาพธรรมนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงได้เลยสภาพธรรมใดที่เกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ดังที่พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่ ท่านพระอานนท์ว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว มีแล้ว ปัจจัยปรุงแต่งแล้ว มีความทำลายเป็นธรรมดา

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

เมื่อความไม่รู้ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และยึดถือสภาพธรรมที่เกิด ดับว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลแล้ว ก็ย่อมทำให้เกิดความยินดีพอใจหลงยึดถือเพิ่มพูนยิ่งขึ้นในยศฐาบรรดาศักดิ์ ชาติตระกูล วรรณะ เป็นต้น ความจริงนั้นสิ่งที่มองเห็นเป็นเพียงสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิดที่เกิดขึ้น เพราะปัจจัยต่างๆ กัน

 
  ความคิดเห็นที่ 11  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

การหลงยึดสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล นั้น อุปมาเหมือนคนเดินทาง ในที่ซึ่งย่อมเห็นเหมือนกับว่ามีเงาน้ำอยู่ข้างหน้า แต่เมื่อเข้าใกล้ เงาน้ำก็หายไปเพราะแท้จริงหามีน้ำไม่ เงาน้ำที่เห็นเป็นมายา เป็นภาพลวงตาฉันใด การเข้าใจผิดว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นตัวตน เป็นสัตว์เป็นบุคคลเพราะความไม่รู้ เพราะความจำ เพราะความยึดถือก็ฉันนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 12  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

คำว่า สัตว์ บุคคล หญิง ชาย เป็นต้นนั้น เป็นเพียงคำบัญญัติให้รู้ความหมายของสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน เป็นต้น อีกประการหนึ่ง ย่อมจะเห็นได้ว่าวัตถุสิ่งของต่างๆ เสียงต่างๆ กลิ่นต่างๆ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว และเรื่องต่างๆ นั้นถึงแม้จะวิจิตรสักเพียงใด ก็จะปรากฏให้รู้ไม่ได้ ถ้าไม่มีสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ซึ่งได้แก่การเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว การรู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และการนึกคิด

 
  ความคิดเห็นที่ 13  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

สภาพธรรมที่รู้สิ่งต่างๆ เช่น สภาพธรรมที่รู้สี สภาพธรรมที่รู้เสียง สภาพธรรมที่รู้กลิ่น สภาพธรรมที่ลิ้มรส สภาพธรรมที่รู้เย็น รู้ร้อน รู้อ่อน รู้แข็ง รู้ตึง รู้ไหว สภาพธรรมที่รู้ความหมายของสิ่งต่างๆ และสภาพธรรมที่คิดนึกเรื่องต่างๆ เป็นต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติเรียกสภาพธรรมรู้สิ่งต่างๆ นั้นว่า จิต ปรมัตถ์ธรรมมี ๔ ประเภท

จิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่ในการรู้สิ่งที่ปรากฏ เช่น เห็น ได้ยิน เป็นต้น จิตทั้งหมดมี ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท โดยพิเศษ

เจตสิก เป็นสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่ง ที่เกิดร่วมกับจิตรู้สิ่งเดียวกับจิต ดับพร้อมจิต และเกิดที่เดียวกับจิต เจตสิก แต่ละเจตสิกมีลักษณะ และกิจต่างกันตาม

ประเภทของเจตสิกนั้นๆ เจตสิกทั้งหมดมี ๕๒ ประเภท

รูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่สภาพรู้ เช่น สี เสียง กลิ่น รส เป็นต้น รูปทั้งหมดมี ๒๘ รูป

นิพพาน เป็นธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์ นิพพาน ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งให้เกิดขึ้น นิพพานจึงไม่เกิดดับ

 
  ความคิดเห็นที่ 14  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ฉะนั้น พุทธศาสนานิกจึงควรพิจารณา และศึกษาให้รู้ว่าธรรมและ ความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง

 
  ความคิดเห็นที่ 15  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ขอเชิญชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงรับฟังและร่วมสนทนาธรรม ถ่ายทอดสดจาก..

มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา กรุงเทพ ผ่านระบบสื่อสารทางไกลมายังบ้านธัมมะ เชียงใหม่

ท่านสามารถซักถามปัญหาได้โดยตรงจาก..ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ประธานมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

ทุกวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 13:00 – 17:00 น.

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โทร 053 43 1678 หรือ 02 468 0239

 
  ความคิดเห็นที่ 16  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 17  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 18  
 
wannee.s
วันที่ 21 ก.ค. 2550

เมื่อไม่สามารถ ให้สติเกิดได้ ตามความปราถนา ก็จะต้องบำเพ็ญกุศลทุก

ประการ ทุกโอกาส เพื่อที่จะเป็นบารมีให้ถึงฝั่ง คือการดับกิเลสเป็นสมุจเฉท

 
  ความคิดเห็นที่ 19  
 
worrasak
วันที่ 4 ต.ค. 2559

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 20  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 7 ต.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 21  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 7 ต.ค. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 22  
 
Muthitas
วันที่ 28 ก.พ. 2567

สาธุครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ