อย่างนี้จะเรียกได้ว่าสติมีกำลังหรือยัง

 
Nareopak
วันที่  11 ก.ค. 2550
หมายเลข  4237
อ่าน  1,223

เรื่องที่ ๑ เห็นเพื่อนกำลังรับประทานอาหาร มีอาหารที่เราชอบ ใจนึกอยากจะขอรับประทานบ้าง (ทั้งๆ ที่ทานอาหารอิ่มแล้ว) มีตัวความคิดผุดขึ้นมาว่า มันเป็นกิเลส กิเลสมันอยากกินจึงยับยั้งใจให้หายอยากได้

เรื่องที่ ๒ มีความไม่พอใจเกิดขึ้นเกือบจะโต้แย้งออกไปแต่ใจหนึ่งบอกว่าเถียงไปก็เหนื่อยเปล่า ไม่เถียงก็ไม่เหนื่อย จึงระงับความไม่พอใจลงได้ที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะเรียกได้ว่ามีสติเกิดขึ้นและสติเริ่มมีกำลังหรือยังคะ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 12 ก.ค. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สติเป็นธรรมฝ่ายดี เมื่อกุศลเกิด ย่อมมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่สตินั้นก็มีหลายระดับ เช่นเดียวกับปัญญาก็มีหลายระดับครับ สติมีหลายระดับ สติขั้นการให้ทาน สติขั้นศีล จนถึงสติขั้นสติปัฏฐาน และวิปัสสนาญาณหรือ สติขั้นโลกุตตร คำว่าสติมีกำลัง ทางธรรมใช้คำว่า สติพละ (พละมี ๕ คือ ศรัทธาพละ วิริยะพละ สติพละ สมาธิพละ ปัญญาพละ) ดังนั้น พละ ๕ นั้น เกิดได้ทั้งนัย สมถและวิปัสสนา ดังนั้น สติพละจึงเป็นสติขั้นเจริญวิปัสสนา คือการอบรมสติปัฏฐานจนถึงขั้นวิปัสสนาญาณ จึงเป็นสติพละ (สติที่มีกำลัง) สติทำหน้าที่ระลึกและกั้นกระแสกิเลสไม่ให้เกิด ขณะที่สติขั้นสติปัฏฐานเกิดจนถึงระดับวิปัสสนาญาณ (สติพละ) ขณะนั้นเป็นสติที่ระลึกสภาพธัมมะที่มีจริงในขณะนี้ ด้วยการแทงตลอดธรรมตามความเป็นจริงจึงเป็นสติที่มีกำลังครับ

เรื่องที่ ๑ เห็นเพื่อนกำลังรับประทานอาหาร มีอาหารที่เราชอบใจนึกอยากจะขอรับประทานบ้าง (ทั้งๆ ที่ทานอาหารอิ่มแล้ว) มีตัวความคิดผุดขึ้นมาว่า มันเป็นกิเลส กิเลสมันอยากกิน จึงยับยั้งใจให้หายอยากได้
เป็นสติที่ระดับขั้นคิดนึก ไม่ใช่ระดับวิปัสสนา จึงไม่ใช่สติพละ (สติที่มีกำลัง) เพราะขณะนั้น ก็เป็นเราที่มีกิเลสและก็เป็นเราที่พยายามที่จะหยุด ไม่ได้รู้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา เป็นธรรม (สติขั้นวิปัสสนา สติพละ)

เรื่องที่ 2 มีความไม่พอใจเกิดขึ้นเกือบจะโต้แย้งออกไปแต่ใจหนึ่งบอกว่า เถียงไปก็เหนื่อยเปล่า ไม่เถียงก็ไม่เหนื่อย จึงระงับความไม่พอใจลงได้
เช่นเดียวกันกับเรื่องที่ ๑ ครับ เป็นสติขั้นคิดนึก ที่จะงดเว้นไม่โต้ตอบออกมาทาง กาย วาจา แต่ก็ยังเป็นเราที่โกรธ เป็นเราที่คิดจะไม่โต้ตอบจึงไม่ใช่สติที่มีกำลังครับ ดังนั้นที่สำคัญที่สุดการอบรมปัญญานั้นจะต้องเริ่มให้ถูกว่า จะละกิเลสอะไรก่อนคือ ละความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน ซึ่งก็เริ่มรู้จักว่าธรรมคืออะไร และธรรมก็มีอยู่ในชีวิตประจำวัน โกรธก็เป็นธรรม แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรมก็ยึดถือว่าเราโกรธ หรือก็ยึดถือว่าเป็นเราที่งดเว้นที่จะไม่โต้ตอบ ก็เป็นเราอยู่ดีครับ ต้องละกิเลสคือความยึดถือว่าเป็นเราก่อนครับ ไม่ใช่ดับโทสะก่อน ซึ่งขณะใดที่สติระลึกว่าเป็นธรรมจนถึงวิปัสสนาญาณจึงเป็นสติพละ สติที่มีกำลังครับ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่ไกล ขอให้เริ่มให้ถูกก่อนว่า ธรรมคืออะไรครับ นี่จะเป็นหนทางที่จะไปสู่สติพละ สติที่มีกำลัง เป็นขั้นวิปัสสนาครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 12 ก.ค. 2550

สติต้องเป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนาเท่านั้น สติเป็นเครื่องกั้นอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น และกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น การสนทนาเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูก ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าใครมีสติเกิดขึ้นมากหรือน้อย ต้องเป็นปัญญาของคนนั้นเองที่จะรู้ว่าขณะนั้นเป็นสติหรือไม่ ต้องสะสมการฟังมากๆ ขึ้น ปัญญาจะทำหน้าที่เองเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Nareopak
วันที่ 13 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนา กับท่านทั้งสอง (แล้วเจอกัน, wannee.s)

สติขั้นการให้ทาน เช่น เวลาจะให้ทานต้องพิจารณาก่อนหรือไม่ว่า จะเป็นประโยชน์ต่อผู้รับหรือไม่

สติขั้นศีล เช่น เมื่อจะกระทำการใดๆ ให้พึงระลึกอยู่เสมอว่าผิดศีลหรือไม่ ไม่ทราบว่าที่กล่าวมาจะเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องหรือไม่ ขอความกรุณาช่วยอธิบายหรือยกตัวอย่างที่สามารถทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้นด้วยค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 13 ก.ค. 2550

สติที่เป็นไปในการให้ทาน ถ้าเป็นพระภิกษุ เงิน ไม่เป็นประโยชน์ต่อท่าน กับเป็นโทษอีกด้วย สำหรับฆราวาส การให้สุรา การเลี้ยงหนัง ไม่เป็นทาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้รับ สติที่เป็นขั้นศีล สำรวมระวังงดเว้นทุจริตทางกาย ทางวาจา ไม่ล่วงศีล ๕ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Nareopak
วันที่ 14 ก.ค. 2550

ขอขอบพระคุณค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ajarnkruo
วันที่ 15 ก.ค. 2550

ขออนุโมทนา ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
udomjit
วันที่ 17 ก.ค. 2550

อนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
ไรท์แจกแล้วไง
วันที่ 21 ก.ค. 2550

ถ้าเถียงแล้วไม่เหนื่อย จะเถียงไหม

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
yu_da2554hotmail
วันที่ 13 พ.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ