ทุกข์คืออะไร? ขอถามตามความเข้าใจของท่านทั้งหลายในข้อนี้

 
teezaboo
วันที่  12 ก.พ. 2565
หมายเลข  42048
อ่าน  636

เพราะข้าพเจ้าเริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา จึงเริ่มจาก อริยสัจ 4

ภิกษุทั้งหลาย! ความจริงอันประเสริฐ มีสี่อย่างเหล่านี้, สี่อย่างเหล่าไหนเล่า? สี่อย่างคือ ความจริงอันประเสริฐ คือทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือเหตุให้เกิดทุกข์, ความจริงอันประเสริฐคือความดับไม่เหลือของทุกข์, และความจริงอันประเสริฐคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์.

ภิกษุทั้งหลาย! ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์ เป็นอย่างไรเล่า?

คือ :- ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่นห้าอย่าง.

ห้าอย่างนั้นอะไรเล่า? คือ :-

รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ.

ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เรากล่าวว่า ความจริงอันประเสริฐคือทุกข์.

ดังนี้ข้าพเจ้าจึงเริ่มศึกษาความหมายของคำว่า ทุกข์ ที่พระพุทธเจ้ากล่าวถึงก่อน

ความเป็นทุกข์ เพราะทนได้ยาก หมายความว่าอย่างไรได้บ้าง

ความเป็นทุกข์ เพราะเป็นของปรุงแต่ง หมายความว่าอย่างไรได้บ้าง

ความเป็นทุกข์ เพราะมีความแปรปรวน เปลี่ยนไปเป็นประการอื่น หมายความว่าอย่างไรได้บ้าง

ขอถามความเข้าใจของทุกท่านแลกเปลี่ยนความเข้าใจกัน

ความเป็นทุกข์สามลักษณะ ในความเข้าใจข้าพเจ้า

ความเป็นทุกข์ เพราะทนได้ยาก ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า คือ ไม่สามารถคงในสิ่งเดิมได้ตลอดไป ทนอยู่ไม่ได้ นั้นเอง

ความเป็นทุกข์ เพราะเป็นของปรุงแต่ง ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า คือ เมื่อขันธ์ 5 ของเรา ได้สัมผัส ความแปรปรวนคือทุกข์แล้ว เมื่อเรายังมีความยืดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 เราจึงไหลตามไปในกระแสความแปรปรวน คือทุกข์ จึงเกิดทุกข์ขึ้น ขันธ์ 5 จึงมีการแปรปรวนเกิดการปรุงแต่งไปต่างๆ นาๆ เกิด และ ดับ ไป ขันธ์ 5 จึงเกิดทุกข์ขึ้น

ความเป็นทุกข์ เพราะมีความแปรปรวน เปลี่ยนไปเป็นประการอื่น ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า คือ ทุกสิ่งที่มีการแปรปรวน เปลี่ยนไปเป็นประการอื่น สิ่งนั้นคือทุกข์ ดั่งที่กล่าว เมื่อเรายังยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 อยู่แล้ว เราย่อมเกิดความแปรปรวน เกิดการเกิด และเกิดการดับ อยู่ตลอดเวลา ไม่มีสงบ ไม่เกิดวิเวก สิ่งอื่นที่มีความแปรปรวน เปลี่ยนไปเป็นประการอื่น ก็คือทุกข์ ธาตุธรรมชาติ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ ความร้อน เวลา ความเย็น วัตถุทุกอย่างเป็นทุกข์ เรายังยึดมั่นถือมั่นขันธ์ 5 ก็จะเกิดทุกข์อยู่เสมอ ย่อมมีแต่ความแปรปรวนเกิด ดับ ขึ้นไม่มีสงบ ไม่เกิดวิเวกเลย

เช่นนี้ จากความเข้าใจของข้าพเจ้าที่อธิบายพอสังเขปแล้ว จึงสรุปตามความเข้าใจว่า เมื่อตายไป ขันธ์ 5 ดับ แล้วทำไมยังเกิด ภพ ชาติ ต่อได้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นในทุกข์ ที่ขันธ์ 5 เป็นตัวกลางนั้นแล เป็นกระแสแห่งความแปรปรวนให้เกิดเป็นสิ่งอื่น ต่อไปนั้นเอง

ความเข้าใจต่อมา ทุกข์ ไม่ใช่ความรู้สึกไม่ดี หรือความรู้สึกดี ทุกข์เป็นชื่อ ที่เรียกแทนสิ่งที่มีความแปรปรวนเปลี่ยนไปเป็นสิ่งอื่น สิ่งที่ทนได้ยาก สิ่งที่เป็นของปรุงแต่ง ซึ่งความหมาย 3 อย่างนี้ ก็เพียงพอจะพอจะสรุปได้ กล่าวได้ถึง ทุกสิ่ง ที่สัมผัสได้จากขันธ์ 5 เลยทีเดียว

ท่านทั้งหลายคิดเห็นอย่างไร โปรดชี้แนะข้าพเจ้าด้วยเถิด เพราะสิ่งนี้เป็นเพียงความเข้าใจ ยังศึกษาไม่ลึกซึ้งพอ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
teezaboo
วันที่ 12 ก.พ. 2565

ขอแก้ตรง ทุกข์ ไม่ใช่ความรู้สึกไม่ดี หรือความรู้สึกดี แต่เป็นทั้งสองอย่าง และเป็นทุกอย่างที่สัมผัสจากขันธ์ 5

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 13 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เมื่อกล่าวถึงทุกข์ แล้ว ไม่ได้มุ่งหมายถึงเพียงเฉพาะทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ เท่านั้น แต่หมายรวมถึงสภาพธรรมที่มีจริง ที่เกิดตามเหตุตามปัจจัยแล้วดับไปทั้งหมด ซึ่งได้แก่ ขันธ์ ๕ (รูปขันธ์ เวทนา-ขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์) หรือ ที่จำแนกเป็นปรมัตถธรรม ๓ ได้แก่ จิต (วิญญาณขันธ์) เจตสิก (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์) รูป (รูปทั้งหมด ๒๘ รูป) เท่านั้น ที่เป็นทุกข์ เป็นสภาพธรรมที่ทนอยู่ไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้นด้วยความเกิดดับ เพราะเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก อย่างแท้จริง จากที่ไม่รู้มาก่อน ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะสิ่งที่จะเข้าใจนั้น มีจริงในขณะนี้ มีจริงทุกๆ ขณะของชีวิต และสามารถเข้าใจจนถึงที่สุด คือ เข้าใจว่าเป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละหนึ่งๆ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ทั้งหมดทั้งปวงนั้นจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 13 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
teezaboo
วันที่ 13 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Witt
วันที่ 14 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
Sea
วันที่ 21 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ