นั่งสมาธิแล้วยิ่งเครียดกว่าเดิม ควรไปต่อหรือพักไว้ก่อน

 
ก้องภพ No.1
วันที่  31 ม.ค. 2565
หมายเลข  41990
อ่าน  853

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าผมเป็นเด็กวัยรุ่นคนนึงที่สนใจศึกษาธรรมะมาตั้งแต่เด็กแล้ว (ตั้งแต่ประถมต้นๆ) แต่มาปฏิบัติธรรมจริงๆ จังตอน ม.1 และช่วงนั้นผมทำสมาธิทุกวันได้นานสุดวันละเกือบชั่วโมง (ถ้านับทุกอิริยาบถนะ) พอออกจากสมาธิก็รู้สึกใจนิ่งๆ สบายๆ แล้วผมก็เริ่มรักษาศีล 5 วันพระก็ศีล 8 ฟังธรรมจากยูทูปทุกคืน ทุกอย่างดูดีหมด มาตอน ม.3 ผมรู้สึกว่ามันไม่เหมือนเดิมแล้ว จากที่นั่งได้เกือบชั่วโมงลดเหลือไม่ถึง 10 นาที แถมเวลานั่งก็มีแต่ภาพหลอนไปหมด รู้สึกยิ่งทำยิ่งเครียด เป็นมาประมาณ 7 เดือนแล้ว ผมควรทำต่อไปหรือจะพักทำสมาธิไว้ก่อนดีครับ ขอผู้รู้มาตอบด้วยครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 1 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

อะไรก็ตาม ที่ทำไปแล้ว ไม่ได้ทำให้เข้าใจถูก เต็มไปด้วยความงวยงง ไม่รู้ความจริง นั่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งพระองค์ทรงแสดงพระธรรม นานถึง ๔๕ พรรษา โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง ถ้าไม่ได้ฟังคำของพระธรรมขององค์เลย ไม่มีทางที่จะเข้าใจถูก ไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่า อะไรถูก อะไรผิด

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจตั้งแต่คำว่า สมาธิ ว่าสมาธิ คือ อะไร? สมาธิเป็นความตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเป็นเจตสิกธรรมหนึ่งที่จะต้องเกิดร่วมกับจิตทุกขณะ ทุกประเภท ไม่มีเว้น ดังนั้น ทุกขณะมีสมาธิเกิดแน่นอน แต่ที่น่าพิจารณาคือ ถ้าเกิดกับอกุศล ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเกิดกับกุศล ก็เป็นสัมมาสมาธิ เพราะเป็นความถูกต้อง ในขณะที่เป็นกุศล จะเป็นอกุศลไม่ได้

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ

และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ อกุศลสมาธิ เช่น การนั่งสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ ซึ่งขณะนั้นเป็นไปกับด้วยความต้องการ อยากจะสงบ โดยที่ไม่รู้เลยว่า ความสงบ เป็นเรื่องของกุศลธรรม อกุศลสมาธิไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป

ในสมัยพุทธกาล อุบาสก อุบาสิกา ผู้เป็นเพศฆราวาส ไม่ได้ทำอะไรให้ชีวิตผิดปกติ เพราะท่านเข้าใจว่า ธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน การเจริญอบรมปัญญา ความสงบจึงไม่ต้องไปทำอะไรให้ผิดปกติโดยการนั่งสมาธิ แต่ท่านเข้าใจถูกและอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน และก็ทำกิจการงาน ดังเช่น คฤหัสถ์ในปัจจุบันด้วย ดังเช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่เป็นพ่อค้า และ เป็นอริยสาวก และ อบรมปัญญาเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน มีการให้ทาน รักษาศีล อบรมปัญญา โดยไม่ได้ไปปลีกวิเวก หาที่นั่งสงบเลย เพราะ ความสงบ คือ จิตใจที่เป็นกุศลที่เกิดได้ในชีวิตประจำวันเพราะจิตที่ดีสงบ ไม่ได้เลือก

ดังนั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องสมาธิ ในสมัยพุทธกาลว่า สมาธิ มี สองอย่าง คือ สัมมาสมาธิ และ มิจฉาสมาธิ สมาธิใดที่เป็นความตั้งมั่น ที่ไม่ได้หมายถึง จะต้องไปนั่งสมาธิ แต่ขณะแม้เพียงขณะจิตเดียวก็มีสมาธิ แต่เป็นความตั้งมั่น ขณะจิตที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยที่รู้ความจริงที่เป็นวิปัสสนาภาวนา ขณะนั้นก็มีสมาธิด้วย และเป็นสัมมาสมาธิ ที่เป็น สมาธิที่ควรเจริญ

ส่วนการกระทำที่ได้แต่ความนิ่ง ไม่ทำให้เกิดปัญญาความรู้ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงว่าเป็น มิจฉาสมาธิ เป็นสมาธิที่ไม่ดี ไม่ถูกต้อง เพราะเกิดกับอกุศลจิต มี โลภะ และโมหะ เป็นต้น คือ มีความต้องการที่จะทำ อยากที่จะสงบ อันเป็นความต้องการที่เป็นโลภะ และขณะที่นิ่งก็ไม่รู้อะไร ขณะนั้นก็มีโมหะเกิดร่วมด้วย พระพุทธเจ้าทรงติเตียนมิจฉาสมาธิว่าไม่ควรเจริญ ครับ

ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ ไม่ใช่การนั่งสมาธิ ถ้าไม่เข้าใจ ก็ปฏิบัติผิด ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้นได้เลย เมื่อคนส่วนใหญ่ไม่รู้ความจริง จึงมีความประพฤติปฏิบัติที่ผิดตามความเห็นที่ผิด ปฏิบัติธรรมนั้น สำคัญคือความเข้าใจ และเป็นชีวิตปกติ

จะเห็นได้จริงๆ ถึงแม้ว่าจะมีคำว่า “ปฏิบัติธรรม” ปรากฏในคำสอนที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถ้าไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม แต่เป็นการปฏิบัติผิด ไม่เป็นไปเพื่อความเข้าใจขึ้นของปัญญา ในขณะที่ปฏิบัติผิดนั้น ก็เพิ่มพูนโลภะความติดข้องต้องการ และความเห็นผิดให้เพิ่มขึ้น แท้ที่จริงแล้ว การปฏิบัติธรรมเป็นการอบรมเจริญปัญญา เพื่อรู้สภาพธรรมที่ปรากฏ คือ รู้นามธรรมและรูปธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งเริ่มต้นด้วยการศึกษาให้เข้าใจในสภาพธรรมที่เป็นปรมัตถธรรมโดยประเภทต่างๆ ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่างๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้องแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุปัจจัยให้สติและปัญญาเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ สติและปัญญาเกิดขึ้น ระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นการถึงเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ตามความเป็นจริง โดยที่ไม่เลือกสถานที่ กาลเวลา และไม่มีการเจาะจงที่จะรู้สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ทั้งหมดล้วนเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน

สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป ไม่มีใครบังคับให้สมาธิเกิดหรือไม่เกิดได้ เพราะทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น ไม่ปราศจากสมาธิเลย

ในคำสอนทางพระพุทธศาสนา แสดงถึงมิจฉาสมาธิ และ สัมมาสมาธิ ถ้าเป็นไปกับอกุศลแล้ว เป็นมิจฉาสมาธิทั้งหมด ถ้าเป็นไปกับกุศล เป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญาเพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นสัมมาสมาธิ

เชิญอ่านคำบรรยายท่าน อ.สุจินต์เพิ่มเติมครับ

ท่าน อ.สุจินต์ สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิและสัมมาสมาธิ สมาธิที่เป็นมิจฉา เป็นอกุศลก็มี สมาธิที่เป็นสัมมา เป็นกุศลก็มี ในพระไตรปิฎกแสดงไว้ ๒ อย่าง ความจริงก็เป็น ๒ อย่าง ถ้าสมาธินั้นไม่เกิดกับปัญญาก็ต้องเป็นมิจฉา ขณะใดที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยก็เป็นกุศล เป็นสัมมา เพราะฉะนั้น เรื่องของปัญญาเป็นเรื่องที่ต้องเข้าใจถูกจริงๆ ว่า ปัญญาคืออะไร ปัญญารู้อะไร ปัญญาจะเจริญขึ้นได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะมีปัญญามากๆ แต่ไม่รู้อะไรเลย แล้วไปคิดว่า ถ้าไปนั่งสมาธิแล้วปัญญาจะเกิดมากๆ เหตุกับผลไม่ตรงกันเลย นั่งสมาธิแล้วไม่รู้ว่าอะไรเป็นธรรมะ เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าเป็นปัญญาได้อย่างไร แต่ขณะนี้ที่ฟัง ยังไม่ต้องไปไหน เพียงได้ยิน แล้วก็พิจารณาให้เข้าใจ ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็เป็นปัญญา ไม่ใช่เรา

ท่าน อ.สุจินต์ ถ้าย้อนไปถึงสมัย ๒,๕๐๐ กว่าปี สมมติว่าเป็นที่พระวิหารแห่งหนึ่งแห่งใด คนที่ไปฟังพระธรรมก็ยังมีโลภะ โทสะ โมหะเหมือนกับคนยุคนี้สมัยนี้ แต่ว่าในขณะที่ฟังมีการสะสมมาที่จะเข้าใจสิ่งที่พระผู้มีพระภาคตรัส และพิจารณารู้ความจริงในขณะนั้นได้ จิตในขณะนั้นสงบ ประกอบพร้อมทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ไม่จำเป็นต้องไปรักษาศีลมาก่อน ซึ่งเมื่อไรจะได้ศีลครบก็ไม่ทราบ ไม่จำเป็นต้องไปทำอย่างอื่นมาก่อน แต่ในขณะนั้นเองเพราะมีความเข้าใจ ขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นมีสมาธิด้วย ไม่ต้องไปทำสมาธิต่างหาก

เพราะฉะนั้น จะเอาสมาธิที่ไม่มีความเข้าใจ หรือว่าจะเข้าใจ เพราะเหตุว่าในขณะนั้นก็มีสมาธิด้วย โดยที่ว่าไม่ใช่เราต้องไปทำ แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่เกิดพร้อมกันอยู่เอง เพราะถ้าไม่มีสมาธิ ไม่เข้าใจ ไม่พิจารณา ไม่ตั้งใจฟัง ปัญญาก็เกิดไม่ได้ แต่ว่าเวลาที่มีปัญญา ก็หมายความว่า ขณะนั้นต้องมีความสงบของจิตใจแล้ว ขณะที่เข้าใจ ขณะนั้นสงบจากอกุศล

ขออนุโมนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 1 ก.พ. 2565

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก็ขอให้ตั้งต้นที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ สิ่งที่ผิด ต้องทิ้งทันที
ครับ

ขอเชิญศึกษาเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ความเข้าใจเรื่องสมาธิ

เครียดแล้วทำสมาธิจะแย่กว่าไม่ได้ทำอย่างไร

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 2 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
Witt
วันที่ 3 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Sea
วันที่ 23 ก.พ. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
มังกรทอง
วันที่ 23 ก.พ. 2565

ถ้ามีความเข้าใจในความเป็นธรรม ค่อยๆ (เข้าใจว่า) เป็นธรรมขึ้น ก็เห็นโทษของอกุศล เพราะว่าอกุศลทั้งหลายมาจากการที่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม แต่เข้าใจผิดว่าเป็นเรา เพราะฉะนั้น ถ้าใครก็ตามมีความเข้าใจ มีปัญญาเกิดขึ้น เห็นความไม่ใช่เรายิ่งขึ้น ปัญญานั้นก็นำไปสู่กุศลทั้งปวง

น้อมกราบอนุโมทนาสาธุ สาธุ สาธุ ขอรับ

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 23 ก.พ. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ