[คำที่ ๕๔๑] โลภาภิภูต

 
Sudhipong.U
วันที่  4 ม.ค. 2565
หมายเลข  41874
อ่าน  440

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โลภาภิภูต”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

โลภาภิภูต อ่านตามภาษาบาลีว่า โล - พา - พิ - พู - ตะ มาจากคำว่า โลภ (ความติดข้อง, โลภะ) กับคำว่า อภิภูต (ผู้ถูกครอบงำ) รวมกันเป็น โลภาภิภูต หมายถึง บุคคลผู้ถูกโลภะครอบงำ เมื่อกล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เมื่อโลภะ เกิดขึ้นกับใคร ก็หมายรู้ได้ว่าบุคคลผู้นั้น เป็นผู้ถูกโลภะครอบงำ เป็นผู้เป็นไปตามกำลังของโลภะ ซึ่งก็คือ โลภะ นั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมโลภะความติดข้องมากขึ้นๆ ก็สามารถทำทุจริตกรรมเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนได้ ในขณะที่เบียดเบียนผู้อื่นก็เป็นการเบียดเบียนตนเอง เพราะอกุศลของตนทำร้ายจิตของตนเอง และยังเป็นเหตุให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้าอีกด้วย โดยไม่มีใครทำให้เลย

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร แสดงความเป็นจริงของบุคคลผู้ถูกโลภะครอบงำ ดังนี้

“คนโลภ ย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ภัททิยสูตร แสดงความเป็นจริงของบุคคลผู้ถูกโลภะครอบงำแล้ว มีแต่จะทำสิ่งที่ไม่ดี เท่านั้น ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามภัททิยลิจฉวี ว่า “ดูกร ภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภ ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้ พูดเท็จก็ได้ ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้ ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือ?”

ภัททิยลิจฉวี กราบทูลว่า “อย่างนั้น พระเจ้าข้า”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก เตือนให้ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทุกประการ เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตไม่พ้นไปจากธรรม มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตอยู่อย่างแท้จริง เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองเต็มไปด้วยกิเลสมากมายเพียงใด เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกคนที่เกิดมา ก็เต็มไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ ว่าโดยสภาพธรรมแล้วก็คือ โลภเจตสิก ซึ่งมีมากเหลือเกิน ติดข้องในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็ดี ที่ประสบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีความติดข้อง มีความต้องการไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกเกี่ยวโยง ยึด ผูกพันอย่างแน่นหนากับรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทำให้เห็นว่า เป็นผู้ถูกโลภะครอบงำ รึงรัด ผูกพันไว้ เกี่ยวประสานไว้ไม่ให้พ้นไปได้เลย ไม่ยอมปล่อยให้เป็นกุศล และไม่ยอมปล่อยให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ด้วย

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ถ้าถูกโลภะความติดข้องยินดีพอใจครอบงำแล้ว โลภะจะให้ทำอะไรก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตน ความติดข้องยินดีพอใจที่มีอยู่เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหาให้ทำสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามอำนาจของโลภะ สำหรับบุคคลผู้มีความติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ แม้ว่าจะได้ทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด ก็ยังไม่พอแก่กำลังของความติดข้องยินดีพอใจ ไม่มีวันเต็มเลยสำหรับความติดข้องยินดีพอใจ ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีความติดข้องต้องการอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของอกุศลธรรม สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เพราะเมื่อโลภะเกิดปรากฏ ปัญญาก็สามารถที่จะเห็นโลภะได้ตรงตามความเป็นจริง รากฐานที่สำคัญก็คือ ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ซึ่งเกื้อกูลให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน

บุคคลผู้ที่ฟังพระธรรม และมีปกติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็จะเห็นความลึกซึ้ง เห็นความเหนียวแน่นของโลภะความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งมีทุกวัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความพอใจในทรัพย์ ความพอใจในบุคคล ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รักนั้น ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในภพหนึ่งๆ ถ้าสามารถที่จะระลึกถอยไปได้ ก็จะเห็นได้ว่าความพอใจในสัตว์บุคคล ในญาติพี่น้อง ในมิตรสหาย ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รัก ในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาแล้ว ย่อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่า โลภะในวันนี้จะมาจากไหน ถ้าไม่เคยได้สะสมโลภะมาเลย นี้คือความเหนียวแน่นของโลภะที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ โลภะไม่มีทางที่จะหมดไปได้โดยอย่างอื่น แต่จะหมดไปได้ด้วยการอบรมเจริญปัญญา เพราะเหตุว่า กิเลสทั้งหลายทั้งปวง จะถูกดับได้ด้วยปัญญาเท่านั้น

การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ถ้าในชีวิตประจำวันไม่สะสมกุศลประการต่างๆ ไม่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเลย ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลธรรมเกิดพอกพูนทับถมมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาให้เบาบางลงได้ และที่สำคัญ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ก็สามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลาย และเป็นหนทางที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว เพราะทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านำไปสู่ปัญญา ทำให้เกิดปัญญา คือความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่มีทุกขณะตามความเป็นจริง


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 4 ม.ค. 2565

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
petsin.90
วันที่ 6 ม.ค. 2565

กราบอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ