สักกายทิฐิ กับ มานะ

 
suthon
วันที่  25 มิ.ย. 2550
หมายเลข  4100
อ่าน  4,428

ทำไมบุคคลที่เป็นพระโสดาบันละความเห็นผิดว่ามีสัตว์ ตัว ตน บุคคล ได้แล้ว ก็น่าจะละมานะ (ความถือตัวเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นและสิ่งอื่นๆ) ได้เช่นกัน ไม่น่าจะต้องอบรมปัญญาจนผ่านขั้นพระอนาคามีเลย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
study
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ควรทราบว่าทิฏฐิและมานะ เป็นอกุศลธรรมที่ต่างกัน คือ ทิฏฐิ หมายถึง ความเห็น ถ้ามีคำว่ามิจฉานำหน้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นผิดจากความจริงส่วน มานะ หมายถึง ความถือตัว ความสำคัญตัวว่า ดีกว่า เก่งกว่า สวยกว่า รวยกว่า เป็นต้น

ทิฎฐิพระโสดาบันละได้ ส่วนมานะ ต้องมีปัญญาระดับพระอรหันต์ จึงจะดับได้ พระโสดาบันดับได้เพียงบางส่วน

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่ ...

มานะ ๓ อย่าง [อรรถกถาสังคีติสูตร]

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
wannee.s
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

อย่าลืมว่าเราสะสมอวิชชามานานแสนนานนับชาติไม่ถ้วน การละกิเลสก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เช่น พระโสดาบันละความเห็นผิดและละกิเลสขั้นหยาบที่จะนำไปสู่อบายภูมิ ท่านละได้ แต่กิเลสก็ยังมีขั้นกลาง ขั้นละเอียด ถ้าจะละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ได้หมดก็ต้องเป็นพระอรหันต์

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
ajarnkruo
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

มานะ เป็นเจตสิกที่อยู่ในกิเลสขั้นลึก ชื่อว่า อนุสัยกิเลส เลยหรือครับ ถึงต้องอาศัยอรหัตมรรคจิตในการดับเป็นสมุทเฉท แล้วมานะ ที่เป็นเจตสิก อย่างหยาบมีหรือไม่ มีแบบไหนบ้าง ขอความกรุณาช่วยยกตัวอย่าง มานะเจตสิกที่มีในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาธรรมมะ ขอเรียนถามครับ

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ความเป็นเรา มีด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ (ความเห็นผิดว่าสัตว์ บุคคล) แม้จะดับการยึดถือว่าเป็นเราด้วยทิฏฐิแล้ว (พระโสดาบัน) แต่ความสำคัญตนด้วยมานะ เพียงการเปรียบเทียบ ว่าต่ำกว่า เสมอ ก็เป็นมานะแล้ว มานะเป็นอกุศลที่ละเอียดมาก ต้องเป็นพระอรหันต์จึงละได้ เราก็คิดตามความเข้าใจขั้นคิดนึก แต่เราก็ยังไม่ได้รู้ลักษณะของ มานะ จริงๆ ด้วยสติเกิดระลึกสภาพธัมมะที่เป็นมานะ ซึ่งจะทำให้เห็นความละเอียดของมานะ แม้ขั้นหยาบจนถึงละเอียด ซึ่งแล้วแต่ระดับปัญญาของบุคคลนั้นเองที่จะเห็นมานะครับ แต่พระโสดาบัน ท่านก็ละมานะที่หยาบได้แล้ว แต่ส่วนละเอียดก็ยังมี ดังนั้น ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ลึกซึ้ง ไม่รู้ได้ด้วยการตรึก ต้องด้วยปัญญาที่ประจักษ์สภาพธัมมะ แม้ มานะเจตสิก ครับ

ขออุทิศกุศลให้สรรพสัตว์

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

จากความเห็นที่ 3

มานะเจตสิก เป็นอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เช่นเดียวกับอนุสัยกิเลสประเภทอื่นๆ แต่อนุสัยกิเลสประเภทต่างๆ ก็จะละได้ บางประเภท เป็นพระโสดาบันก็ละได้ แต่ถ้ามานะแล้วต้องเป็นพระอรหันต์ มานะเจตสิกมีหลายระดับ ตามกำลังของกิเลส แต่พระอริยเจ้า แม้พระโสดาบัน จะไม่มีมานะที่เข้าใจผิดว่า ตัวเองบรรลุขั้นนี้เช่น พระโสดาบัน จะไม่มีความสำคัญผิด ด้วยมานะว่าเราเป็นพระอนาคามี เป็นต้น และมานะที่หยาบก็ตามกำลังของกิเลสครับ

ส่วนมานะในชีวิตประจำวัน ก็มี ๙ อย่างตามที่มูลนิธิยกมาครับ เช่น ดีกว่าเขา เสมอกว่าเขา ต่ำกว่าเขา เป็นต้น ต้องละเมื่อเป็นพระอรหันต์ ตัวอย่าง มานะในชีวิตประจำวัน เช่น เคยให้เงินขอทาน และก็คิดว่าให้เขาเพราะเขาลำบากกว่าเรา ขณะนั้นก็เปรียบเทียบแล้ว ว่าเขาต่ำกว่าก็เป็นมานะโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

เชิญคลิกอ่านได้ที่...

อธิมานะ [สัลเลขสูตร]

[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 269

อรรถกถาอัญญสูตรที่ ๖

อัญญสูตรที่ ๖

พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้

บทว่า อธิมานิโก ได้แก่ ประกอบด้วยความสำคัญว่าบรรลุแล้วในธรรมที่ยังไม่บรรลุ.

บทว่า อธิมานสจฺโจ ได้แก่ สำคัญว่าบรรลุแล้ว จึงกล่าวโดยสัจจะ.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

อรหัตตสูตร

ว่าด้วยผู้ควรและไม่ควรบรรลุอรหัตผล

[๓๔๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการ ย่อมเป็นผู้ไม่ควรเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัต ธรรม ๖ ประการเป็นไฉน คือ มานะ

ความถือตัว ๑

โอมานะ ความสำคัญว่าเลวกว่าเขา ๑

อติมานะ ความเย่อหยิ่ง ๑

อธิมานะ ความเข้าใจผิด ๑

ถัมภะ ความหัวดื้อ ๑

อตินิปาตะ ความดูหมิ่นตนเองว่าเป็นคนเลว ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่ละธรรม ๖ ประการนี้แล ย่อมเป็นผู้ไม่ควร เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งอรหัต.

 
  ความคิดเห็นที่ 8  
 
แล้วเจอกัน
วันที่ 25 มิ.ย. 2550

เชิญคลิกอ่านได้ที่...

มานะ...มิจฉามานะ [ปฏิสัมภิทามรรค]

 
  ความคิดเห็นที่ 9  
 
peem
วันที่ 18 ส.ค. 2562

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 10  
 
chatchai.k
วันที่ 7 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ