ความหมายของคำว่า ไม่ประมาท และ ไม่แน่นอน

 
ค่อยๆศึกษา
วันที่  22 พ.ย. 2564
หมายเลข  40769
อ่าน  403

ความไม่ประมาท คืออะไรครับ

ความไม่แน่นอน คือ อะไรครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 23 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ก่อนอื่นก็ต้องเข้าใจคำว่าประมาท และ ไม่ประมาทให้ถูกต้องว่าคืออะไรก่อนครับ

การประมาท คือ ขณะที่ไม่มีสติ ซึ่งสติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี ขณะที่ไม่มีสติ ที่ชื่อว่า ความประมาท หมายถึง ขณะที่เป็นอกุศล ดังนั้น ขณะใดก็ตาม ที่เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะมาก หรือ น้อย ชื่อว่าประมาทแล้วในขณะนั้นครับ

ความไม่ประมาท หมายถึง ขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต ดังนั้น ขณะใดที่เป็นกุศลจิตไม่ว่าจะเป็นกุศลจิตขั้นใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ศีล ภาวนา ขณะนั้นชื่อว่าไม่ประมาท เพราะมีสติ อยู่โดยไม่ปราศจากสติในขณะนั้น ดังนั้น ความประมาท จึงไม่ใช่ความหมายทางโลก ที่ทำอะไรด้วยความประมาท ข้ามถนน ไม่ดู ก็กล่าวว่าประมาท นั่นไม่ใช่ความหมายของความประมาทที่ถูกต้อง ครับ

ซึ่งเราก็ต้องยอมรับความจริงข้อหนึ่งว่ายังเป็นปุถุชน ดังนั้น อกุศลจิตเกิดได้บ่อยๆ มากในชีวิตประจำวัน หากเทียบกับกุศล ดังนั้น ก็ชื่อว่า โดยมาก ใช้ชีวิตด้วยความประมาท เพราะโดยมากเป็นอกุศล ชื่อว่าประมาทโดยมาก แต่ ที่สำคัญ แม้จะมีการดูหนัง ฟังเพลง และแม้จะไม่ดูหนัง ฟังเพลง ก็เกิดอกุศลจิตได้บ่อยเป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ก็ชื่อว่าประมาทเป็นประจำ แต่ผู้ที่เป็นปุถุชน ก็มี ๒ ประเภท คือ พาลปุถุชน ปุถุชนผู้มืดบอด ไม่สนใจอบรมปัญญาฟังพระธรรมเลย และ กัลยาณปุถุชน ปุถุชนที่ดีงาม คือ แม้จะเกิดอกุศลจิตบ่อย และเป้นผู้ประมาทโดยมาก แต่ก็ยังมีการฟังพระธรรม สนใจพระธรรม อบรมปัญญาและทำกุศลบ้าง ซึ่งขณะนั้นไม่ประมาท และนำไปสู่การละกิเลส ที่นำมาซึ่งความประมาทได้จนหมดสิ้นในอนาคต ครับ

ดังนั้น การใช้ชีวิตของกัลยาณปุถุชน ก็เป็นธรรมดาที่มากด้วยอกุศล แต่ก็ไม่ทิ้ง และไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาที่จะให้กับสิ่งที่ประเสริฐ คือ การฟังพระธรรม ขณะนั้น ชื่อว่า ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทแล้ว ครับ สำคัญที่เข้าใจถูกครับว่า ยังประมาท แต่ก็สามารถดำเนินชีวิตด้วยรู้จักตัวธรรม ขณะที่ประมาท ที่เป็นอกุศลว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา นี่คือ หนทางที่เป็นความไม่ประมาท และละกิเลสที่เป็นความประมาททั้งปวง ครับ

ความไม่น่นอน คือ ความไม่เที่ยง อันเป็นลักษณะของไตรลักษณ์อธิบายดังนี้ ครับ

ไตรลักษณ์ หรือ ไตรลักษณะ หรือจะเรียกว่า สามัญญลักษณะก็ได้ (ลักษณะทั่วไป ของสภาพธรรม) คือ ลักษณะ ๓ ประการ ของสภาพธรรมที่มีจริง ที่มีปัจจัยปรุงแต่งที่เกิดขึ้นและดับไป อันเป็นลักษณะของสภาพธรรมที่ทั่วไป สามัญ กับทุกสภาพธรรมที่เกิดขึ้น และดับไป คือ สภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิกและรูป จะต้องมีลักษณะทั่วไป ๓ ประการ อันเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่า เมื่อมีลักษณะ ๓ ประการนี้ ชื่อว่าเป็นสภาพธรรมที่เป็น สังขารธรรม ที่เกิดขึ้นและดับไปครับ ลักษณะ ๓ ประการ (ไตรลักษณ์) ของสภาพธรรมที่เป็น จิต เจตสิก รูป คือ

อนิจจัง สภาวะ ลักษณะที่ไม่เที่ยงหมายถึง ลักษณะที่เป็นสาธารณะแก่สังขารธรรมทั้งปวง จิต เจตสิก รูป เป็นอนิจจัง เพราะมีอนิจจลักษณะ คือ มีการเกิดขึ้นและดับไป อนิจจลักษณะ เป็นลักษณะหนึ่งในลักษณะ ๓ (ไตรลักษณ์ หรือสามัญญลักษณะ)

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 23 พ.ย. 2564

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ความไม่ประมาท ซึ่งได้แก่ ขณะที่มีสติ เป็นกุศลจิต มีความหมายที่ตรงกันข้ามกับความประมาท

ตามข้อความใน พระอภิธรรมปิฎก วิภังคปกรณ์ ดังนี้

“ความปล่อยจิตไป ความเพิ่มพูนการปล่อยจิตไปในกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ) หรือ ความกระทำโดยไม่เคารพ ความกระทำโดยไม่ติดต่อ ความกระทำไม่มั่นคง ความประพฤติย่อหย่อน ความทอดทิ้งฉันทะ ความทอดทิ้งธุระ ความไม่เสพให้มาก ความไม่ทำให้เจริญ ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งใจจริง ความไม่ประกอบเนืองๆ ในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย, ความประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย ความประมาท กิริยาที่ประมาท สภาพที่ประมาท สภาพที่ประมาท อันใด มีลักษณะเช่นว่านี้ นี้เรียกว่า ความประมาท ความไม่ประมาท ในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย พึงทราบโดยนัยตรงกันข้ามกับลักษณะของความประมาท ว่าโดยย่อ คือ ขณะที่ไม่ปราศจากสติ ชื่อว่า ความไม่ปรมาท"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเตือนเพื่อให้พุทธบริษัทเป็นผู้ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท อยู่เสมอ มีชีวิตอยู่ ก็เพื่อประโยชน์ คือ ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา น้อมประพฤติตามพระธรรมไม่ละเลยโอกาสแห่งการเจริญกุศลในชีวิตประจำวัน


สำหรับสิ่งที่มีจริงที่ไม่เที่ยงนั้น ก็ต้องฟังให้เข้าใจว่า มีในขณะนี้จริงๆ ซึ่งเป็นธรรมที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ทุกขณะไม่พ้นไปจากอนิจจธรรมเลย เพราะเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน แม้จะไม่เรียกชื่อ แต่ความเป็นจิรงของสภาพธรรมก็ไม่เปลี่ยน เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น โดยประมวลแล้ว ธรรมที่มีจริงๆ ที่ไม่เที่ยงนั้น ก็คือ ขันธ์ (สภาพที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่า) ทั้ง ๕ นั่นเอง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่ละหนึ่งๆ ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลอย่างสิ้นเชิง

ขันธ์ ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) ๑ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) ๑ สัญญาขันธ์ (ความจำ) ๑ สังขารขันธ์ (ได้แก่ เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ๕๐ ประเภท มี ผัสสะ เป็นต้น) ๑ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ๑ แต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็เกื้อกูลให้เริ่มเข้าใจ ว่า ต้องมีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งใดก็ตามที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด เป็นขันธ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ไม่ได้ยั่งยืนเลย ไม่เที่ยง เพราะต้องดับไป ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วปรากฏ เมื่อมีสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น จึงปรากฏว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดแน่นอนเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ

ไม่มีใครทำอะไรให้เกิดขึ้นได้ แต่ธรรมเกิดแล้ว มีแล้วในขณะนี้ จากที่ไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปไม่มีอะไรเหลือ ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ควรหรือที่จะหลงติดข้องหลงยึดถือในสิ่งที่ไม่มี เพราะเพียงเกิดแล้วก็ดับไป? ธรรมเป็นสิ่งที่ควรศึกษาอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ทุกขณะในชีวิตประจำวันโดยไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน ทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อความเข้าใจถูก ว่า ไม่มีเรา ไม่ใช่เรา ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 23 พ.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
ค่อยๆศึกษา
วันที่ 25 พ.ย. 2564

ขอบพระคุณครับ ขออนุโมทนาทุกท่านครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
Smornmas
วันที่ 17 พ.ค. 2565

กราบขอบพระคุณและอนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ