มุนิสูตรที่ ๑๒ ว่าด้วยคนที่เป็นมุนี
[เล่มที่ 46] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 501
อุรควรรคที่ ๑
มุนิสูตรที่ ๑๒
ว่าด้วยคนที่เป็นมุนี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 46]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 501
มุนิสูตรที่ ๑๒
ว่าด้วยคนที่เป็นมุนี
[๓๑๓] ภัยเกิดแต่ความเชยชม ธุลี คือราคะ โทสะ และโมหะ ย่อมเกิดแต่ที่อยู่ ที่อันมิใช่ที่อยู่และความไม่เชยชมนี้แล พระพุทธเจ้าผู้เป็นมุนีทรงเห็น (เป็นความเห็น ของมุนี).
ผู้ใดตัดกิเลสที่เกิดแล้ว ไม่พึงปลูก ให้เกิดขึ้นอีก เมื่อกิเลสนั้นเกิดอยู่ ก็ไม่พึง ให้หลั่งไหลเข้าไป บัณฑิตทั้งหลายกล่าว ผู้นั้นว่าเป็นมุนีเอก เที่ยวไปอยู่ ผู้นั้นเป็นผู้ แสวงหาคุณอันใหญ่ ได้เห็นสันติบท.
ผู้ใดกำหนดรู้ที่ตั้งแห่งกิเลส ฆ่าพืช ไม่ทำยางแห่งพืชให้หลั่งไหลเข้าไป ผู้นั้นแล เป็นมุนี มีปรกติเห็นที่สุดแห่งความสิ้นไป แห่งชาติ ละอกุศลวิตกเสียแล้ว ไม่เข้าถึง การนับว่าเป็นเทวดาและมนุษย์.
ผู้ใดรู้ชัดภพ อันเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งปวง ไม่ปรารถนาภพอันเป็นที่อาศัยอยู่เหล่านั้นแม้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 502
ภพหนึ่ง ผู้นั้นแลเป็นมุนี ปราศจากกำหนัด ไม่ยินดีแล้ว ไม่ก่อกรรม เป็นผู้ถึงฝั่งโน้น แล้วแล.
อนึ่ง ผู้ครอบงำธรรมได้ทั้งหมด รู้ แจ้งธรรมทุกอย่าง มีปัญญาดี ไม่เข้าไปติด (ไม่เกี่ยวเกาะ) ในธรรมทั้งปวง ละธรรมได้ ทั้งหมด น้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา นักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี.
อนึ่ง ผู้มีกำลังคือปัญญา ประกอบ ด้วยศีลและวัตร มีจิตตั้งมั่น ยินดีในฌาน มีสติ หลุดพ้นจากเครื่องข้อง ไม่มีกิเลสดุจ หลักตอ ไม่มีอาสวะ นักปราชญ์ย่อมประกาศ ว่าเป็นมุนี.
หรือผู้เป็นมุนี (มีปัญญา) ไม่ประมาท เที่ยวไปผู้เดียว ไม่หวั่นไหวเพราะนินทาและ สรรเสริญ ไม่สะดุ้งหวาดเพราะโลกธรรม เหมือนราชสีห์ ไม่สะดุ้งหวาดเพราะเสียง ไม่ข้องอยู่ในตัณหาและทิฏฐิ เหมือนลมไม่ ข้องอยู่ในตาข่าย ไม่ติดอยู่กับโลก เหมือน ดอกบัวไม่ติดอยู่กับน้ำ เป็นผู้นำ ไม่ใช่ผู้ที่ ใครๆ อื่นจะพึงนำไปได้ นักปราชญ์ย่อม ประกาศว่าเป็นมุนี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 503
หรือแม้ผู้ใดไม่ถึงความยินดีหรือยินร้าย ในเรื่องที่ผู้อื่นกล่าววาจาด้วยอำนาจ การชมหรือการติ เหมือนเสามีอยู่ที่ท่าเป็นที่ ลงอาบน้ำ ผู้นั้นปราศจากราคะ มีอินทรีย์ ตั้งมั่นดีแล้ว นักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็น มุนี.
หรือแม้ผู้ใดแลดำรงตนไว้ซื่อตรง ดุจกระสวย เกลียดชังแต่กรรมที่เป็นบาป พิจารณาเห็นกรรมทั้งที่ไม่เสมอ และที่เสมอ (ทั้งผิดทั้งชอบ) ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศ ว่าเป็นมุนี.
หรือแม้ผู้ใดยังหนุ่มแน่นหรือปูนกลาง สำรวมตน ไม่ทำบาป เป็นมุนี มีจิตห่างจาก บาป ไม่โกรธง่าย ไม่ว่าร้ายใครๆ ผู้นั้น นักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี.
หรือแม้ผู้ใดอาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้ เป็นอยู่ ได้ก้อนข้าวแต่ส่วนที่ดี ส่วนปาน กลางหรือส่วนที่เหลือ ไม่อาจจะกล่าวชม ทั้งไม่กล่าวทับถมให้ทายกตกต่ำ ผู้นั้นนักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 504
หรือแม้ผู้ใดไม่หมกมุ่นอยู่ในรูปแห่ง หญิงอะไรๆ ที่กำลังเป็นสาวเป็นผู้รู้เที่ยวไป อยู่ ปราศจากความยินดีในเมถุน ไม่กำหนัด หลุดพ้นแล้วจากควานมัวเมาประมาท ผู้นั้น นักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี.
หรือแม้ผู้รู้จักโลก เห็นปรมัตถประโยชน์ ข้ามพ้นโอฆะและสมุทร เป็นผู้คงที่ ตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ขาดแล้ว อันทิฏฐิ หรือตัณหาอาศัยไม่ได้แล้ว ไม่มีอาสวะ ผู้นั้น นักปราชญ์ย่อมประกาศว่าเป็นมุนี.
คนทั้งสองไม่เสมอกัน มีที่อยู่และ ความเป็นอยู่ไกลกัน คือ คฤหัสถ์เลี้ยงลูกเมีย ส่วนภิกษุไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา มีวัตรงาม คฤหัสถ์ไม่สำรวมเพราะบั่นรอนสัตว์อื่น ภิกษุ เป็นมุนี สำรวมเป็นนิตย์ รักษาสัตว์มีชีวิตไว้.
นกยูงมีสร้อยคอเขียว บินไปในอากาศ ยังสู้ความเร็วของหงส์ไม่ได้ในกาลไหนๆ ฉันใด คฤหัสถ์ทำตามภิกษุผู้เป็นมุนี สงัด เงียบ เพ่งอยู่ในป่าไม่ได้ ฉันนั้น.
จบมุนิสูตรที่ ๑๒
จบอุรควรรคที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 505
อรรถกถามุนิสูตร
มุนิสูตรเริ่มด้วยคาถาว่า สนฺถวาโต ภยํ ชาตํ ดังนี้ :-
มีอุบัติอย่างไร? สูตรทั้งหมดนั่นเทียว ไม่มีอุบัติเดียวกัน จริงอยู่ ในมุนิสูตรนี้ คาถา ๔ คาถาข้างต้นมีอุบัติอย่างนี้ก่อน ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มี พระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ กรุงสาวัตถี หญิงยากจนคนหนึ่ง ใกล้วัดในบ้าน เป็นม่ายผัวตาย จึงให้บุตรบวชในภิกษุทั้งหลาย แม้ตนเองก็บวชในภิกษุณี ทั้งหลาย เธอแม้ทั้งสองเข้าจำพรรษาในกรุงสาวัตถี ประสงค์จะเยี่ยมกันและกัน บ่อยๆ มารดาได้อะไรแล้วก็นำไปให้บุตร แม้บุตรได้อะไรแล้วก็นำไปให้ มารดา คบหากันทั้งเย็น ทั้งเช้าอย่างนี้ แจกสิ่งของที่ได้แล้วๆ ให้กัน ยินดี ไต่ถามสุขทุกข์ หมดความระแวง. เธอทั้งสองคลุกคลีกัน เพราะเห็นกันเนืองๆ อย่างนี้ ก็มีความคุ้นเคย เพราะความคลุกคลี มีช่องเพราะความคุ้นเคย มีจิต ถูกราคะเข้ามากล้ำกราย บรรพชิตสัญญา และมาตุปุตตสัญญา ก็อันตรธานไป แต่นั้น ก็ทำการล่วงละเมิดเขตแดน เสพอสัทธรรม และถึงความไม่มียศ พากันสึกอยู่ในท่ามกลางเรือน.
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระพุทธองค์ทรง ติเตียนว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษย่อมรู้หรือหนอว่า มารดาไม่กำหนัด จัดในบุตร ก็หรือบุตรไม่กำหนัดจัดในมารดา ดังนี้แล้ว ทรงยังภิกษุทั้งหลาย ให้สลดใจ ด้วยสูตรที่เหลือมีอาทิว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราไม่เห็นแม้รูป หนึ่งอื่น แล้วตรัสว่า เพราะเหตุนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 506
ภิกษุพึงเว้นมาตุคาม ดุจน้ำทองแดง เหมือนเว้นพิษร้ายกาจ เหมือนเว้นน้ำมัน ที่เดือดพล่าน ฉะนั้น
จึงทรงภาษิต คาถา ๔ คาถา อันพึงน้อมเข้ามาในตนเหล่านี้ว่า ภัย เกิดแต่ความเชยชม เพื่อทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอีก.
ในคาถานั้น สันถวะ (ความเชยชม) ในกาลก่อนกล่าวไว้เป็น ๓ อย่าง คือ ตัณหา ทิฏฐิ และ มิตรเภท ในที่นี้ ประสงค์เอา ตัณหาสันถวะ และ ทิฏฐิสันถวะ หมายถึงสันถวะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงดู เหมือนภัยเกิดแต่ความเชยชมของโมฆบุรุษนั้น ก็ภัยนั้น เป็นภัยเกิดแต่กิเลสอันมีกำลัง เพราะตัณหามีความเป็นผู้ใคร่ที่จะเห็น กันเนืองๆ ของภิกษุนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้เธอไม่อาจเพื่อดำรงอยู่ ได้ประพฤติผิด ในมารดา หรือเป็นมหาภัย มีการติเตียนตนเป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุให้ทิ้งศาสนา สึกไป ฉะนั้น.
บทว่า นิเกตา ได้แก่ ประเภทแห่งอารมณ์ที่กล่าวไว้ โดยมีอาทิว่า ดูก่อนคฤหบดี อารมณ์ที่พัวพันด้วยรูปนิมิตและการแผ่ไปแห่งที่อยู่ เรียกว่า นิเกตสารี ผู้เที่ยวไปในบ้าน.
บทว่า ชายเต รโช ความว่า ธุลีคือ ราคะ โทสะ และ โมหะ ย่อม เกิด. มีอธิบายอย่างไร มีอธิบายว่า ก็ภัยแต่ความเชยชมเกิดแก่ภิกษุนั้นอย่าง เดียว ก็หามิได้ โดยที่แท้แล ภัยนั่นใดมีอาสวะเป็นอารมณ์ เรียกว่า นิเกตะ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 507
เพราะอรรถว่าเป็นที่อยู่ของกิเลสทั้งหลาย บัดนี้ ธุลีย่อมเกิดแต่ภัยนั้น คือ แต่ที่อยู่มากขึ้น เพราะความที่ภิกษุนั้นเป็นผู้ทำลายสังวร เพราะความเป็นผู้ ล่วงละเมิดเขตแดน อันเป็นเหตุให้เธอมีจิตเศร้าหมอง จักถึงความพินาศ ย่อยยับ อีกอย่างหนึ่ง พึงประกอบสองบทนั่นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกท่านจงดู เหมือนภัยนี้เกิดแต่ความเชยชมของโมฆบุรุษนั้น และเหมือน ธุลีเกิดแต่ที่อยู่ของปุถุชนทั้งปวง ฉะนั้น.
ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นทรงติเตียนการเห็นของปุถุชน ด้วยเนื้อความ ก่อนนี้ โดยประการทั้งปวงแล้ว เมื่อจะทรงสรรเสริญการเห็นของพระองค์ จึง ตรัสเนื้อความหลังว่า อนิเกตํ ที่อันมิใช่ที่อยู่ ดังนี้.
ในคาถานั้น พึงทราบอนิเกตะ โดยปฏิเสธนิเกตะตามที่กล่าวแล้ว อสันถวะ โดยปฏิเสธสันถวะ คำทั้งสองแม้นั่น เป็นชื่อของพระนิพพาน. บทว่า เอตํ เว มุนิทสฺสนํ ความว่า ที่อันมิใช่ที่อยู่และความไม่เชยชมนี้แล อันมุนี ผู้รู้เห็นแล้ว. ในคาถานั้น นิบาตว่า เว พึงเห็นในอรรถอันน่าประหลาดใจ. ก็อธิบายนี้ว่า เมื่อมารดาและบุตรปฏิบัติผิด ด้วยอำนาจที่อยู่และความเชยชม ที่อันมิใช่ที่อยู่และความไม่เชยชม ชื่อนี้แล อันมุนีเห็นแล้วว่า โอ! ไม่เคยมี ดังนี้ เป็นอันสำเร็จแล้ว ด้วย เวนิบาต นั้น. อีกอย่างหนึ่ง การเห็นของมุนี แม้เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มุนิทัสสนะ ชื่อว่า ทัสสนะ เป็นของควร เป็นของ ชอบใจ อธิบายว่า ย่อมควรและย่อมชอบใจ.
พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๒ บทว่า โย ชาตมุจฺฉิชฺช ความว่า ผู้ใดพยายามอยู่โดยประการที่จะละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ตัดกิเลสที่เกิดแล้ว คือ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 508
มีแล้ว บังเกิดแล้ว ในวัตถุไรๆ นั่นแล ด้วยยังคุณให้เกิดในวัตถุนั้น และ กิเลสแม้ยังไม่มาแล้วใด เรียกว่า เกิดอยู่ ด้วยลักษณะกำลังเป็นไป ในที่ใกล้ อันเป็นไปอยู่ เพราะความเป็นกิเลสมุ่งหน้า เพื่อเกิดขึ้น ด้วยการประชุมปัจจัย มีรูปเห็นปานนั้น ไม่พึงปลูกกิเลสนั้นให้เกิดขึ้นอีก อธิบายว่า พยายามอยู่ โดยประการที่จะมีความไม่เกิดขึ้นแห่งอกุศลที่ยังไม่เกิด ชื่อว่า ไม่พึงให้กิเลส เกิดขึ้น.
ถามว่า ก็จะไม่พึงให้กิเลสเกิดขึ้นอย่างไร?
ตอบว่า ไม่พึงให้กิเลสนั้นหลั่งไหลเข้าไป คือ ไม่พึงให้ปัจจัยที่เป็น เหตุให้กิเลสนั้นเกิดหลั่งไหลเข้าไป ไม่พึงรวมเข้าไว้ ไม่พึงปลูกกิเลสนั้นให้เกิด ขึ้นอีก ด้วยการทำให้อ่อนกำลังในการก่อตัวอย่างนี้.
อีกอย่างหนึ่ง ผู้ศึกษาพึงทราบการประกอบในคาถานี้อย่างนี้ว่า เพราะ กิเลสทั้งหลายที่เป็นไปในอดีตก็ดี ก็ตัดด้วยมรรคภาวนา ที่เป็นปัจจุบันก็ดี ไม่ปลูกด้วยความไม่มีกิเลสส่วนอดีต ที่เป็นอนาคตก็ดี ไม่ให้หลั่งไหลเข้าไปสู่ ความสืบต่อแห่งจิต เพราะไม่มีกิเลสส่วนปัจจุบันนั้น ด้วยการทำลายความ สามารถแห่งการเกิดเสีย เพราะฉะนั้น ผู้ใดตัดกิเลสที่เกิดแล้ว ด้วยอริยมรรค ภาวนา ไม่พึงปลูกให้เกิดขึ้นอีก และเมื่อกิเลสนั้นเกิดขึ้นอยู่ ก็ไม่พึงให้กิเลส แม้ที่เป็นอนาคตหลั่งไหลเข้าไป บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า เป็นมุนีเอก เที่ยวไปอยู่ และผู้นั้นเป็นผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ได้เห็นสันติบท.
บทว่า เอกํ ความว่า ชื่อว่า เอก เพราะปราศจากกิเลส หรือ ชื่อว่า เอก เพราะอรรถว่า ประเสริฐที่สุด. บทว่า มุนี ได้แก่ เป็นมนี
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 509
หรือเป็นเอกในมุนีทั้งหลาย. บทว่า จรนฺตํ ความว่า เที่ยวไปอยู่ ด้วยความ บริบูรณ์ด้วยอาการทั้งปวง ด้วยโลกัตถจริยา และด้วยจริยาที่เหลือทั้งหลาย.
บทว่า อทฺทกฺขิ ความว่า ได้เห็นแล้ว. บทว่า โส ความว่า พุทธมุนีที่ตรัสไว้ว่า ผู้ใดตัดกิเลสที่เกิดแล้ว ชื่อว่า ไม่พึงปลูกให้เกิดขึ้นอีก เพราะความเป็นผู้สามารถในการไม่ปลูก และในการไม่ให้หลั่งไหลเข้าไป เมื่อ กิเลสนั้นเกิดอยู่ ก็ไม่พึงให้หลั่งไหลเข้าไป. บทว่า สนฺติปทํ ได้แก่ส่วนแห่ง สันติ. ผู้ศึกษาพึงทราบเนื้อความอย่างนี้ว่า ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่ ได้เห็น อัจจันตสันติ ในโลกที่ตามเห็นอย่างนี้ว่า ประเสริฐที่สุด ในบรรดาสมมติสันติ ตทังคสันติและอัจจันตสันติ ทั้ง ๓ อันต่างโดยทิฏฐิ ๖๒ วิปัสสนา และนิพพาน.
พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๓ บทว่า สงฺขาย ได้แก่ นับแล้ว กำหนดแล้ว พิจารณาแล้ว ได้แก่รู้โดยตามความเป็นจริงแล้ว อธิบายว่า กำหนด รู้แล้ว ด้วยทุกขปริญญา.
บทว่า วตฺถูนิ ความว่า ที่ตั้งแห่งกิเสสทั้งหลาย อันต่างด้วยขันธ์ อายตนะและธาตุ ซึ่งเป็นที่ตั้งให้บุคคลนี้ติดอยู่ในโลกอย่างนี้. บทว่า ปมาย พีชํ ความว่า พืช คือ อภิสังขารวิญญาณแห่งวัตถุเหล่านั้นใด ฆ่า คือ เบียดเบียนทำลายพืชนั้น. อธิบายว่า ละขาดแล้ว ด้วยสมุจเฉทปหาน.
บทว่า สิเนหมสฺส นานุปฺปเวจฺเฉ ความว่า พืชนั้นเปียกชุ่มด้วย ยาง คือ ตัณหาและทิฏฐิ พึงงอกงามเป็นวัตถุตามที่กล่าวแล้วนั้น ด้วยอำนาจ แห่งปฏิสนธิต่อไป ไม่ทำยางแห่งพืชนั้นให้หลั่งไหลเข้าไป อธิบายว่า ไม่ทำยาง นั้นให้หลั่งไหลเข้าไป ด้วยมรรคภาวนา ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อยางแห่งพืชนั้น.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 510
บทว่า ส เว มุนิ ชาติกฺขยนฺตทสฺสี ความว่า พุทธมุนีนั้น คือ เห็นปานนั้น ชื่อว่า มีปกติเห็นที่สุดแห่งความสิ้นไปแห่งชาติ เพราะความที่ นิพพานอันเป็นที่สิ้นสุดแห่งชาติและมรณะอันมุนีเห็นแล้ว ด้วยนิพพานสัจฉิ- กิริยา ละวิตกเสียแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงการนับ คือ ละอกุศลวิตกแม้ ๙ ประเภท ด้วยสัจจภาวนาทั้งสี่นี้ บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ กระทำโลกัตถจริยา ชื่อว่า ไม่เข้าถึงการนับว่า เป็นเทวดาและมนุษย์ ด้วยการบรรลุอนุปาทิเสสนิพพาน. ธาตุ เพราะความสิ้นไป แห่งจริมวิญญาณโดยลำดับ อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็น เนื้อความในคาถานี้อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ยังไม่ปรินิพพานนั่นแล ย่อมเข้าถึงการ นับว่า บุคคลนี้กำหนัดแล้ว หรือ ประทุษร้ายแล้ว เพราะยังไม่ละวิตกมีกาม วิตกเป็นต้นฉันใด ละวิตกเสียแล้ว ไม่เข้าถึงการนับ ฉันนั้น.
พึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๔ บทว่า อญฺาย ความว่า รู้แล้วโดย นัยมีความไม่เที่ยงเป็นต้น. บทว่า สพฺพานิ ได้แก่ ไม่มีส่วนเหลือ. บทว่า นิเวสนานิ ได้แก่ ภพทั้งหลายมีกามภพเป็นต้น เพราะสัตว์ทั้งหลายย่อม อาศัยอยู่ในภพเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ภพอันเป็นที่อาศัยอยู่.
บทว่า อนิกามยํ อญฺตรมฺปิ เตสํ ความว่า ไม่ปรารถนาภพ อันเป็นที่อาศัยอยู่เหล่านั้นแม้ภพหนึ่ง เพราะเห็นโทษอย่างนี้ พุทธมุนีนั้น คือ เห็นปานนั้น ชื่อว่า ปราศจากกำหนัด เพราะความเป็นผู้ปราศจากกำหนัด คือ ตัณหาแล้ว และชื่อว่า ไม่ยินดีแล้ว เพราะความเป็นผู้ปราศจากกำหนัด นั้นแล ด้วยกำลัง คือมรรคภาวนา ไม่ก่อกรรม คือ ไม่ทำโดยประการที่ บุคคลพวกหนึ่ง ยังไม่ปราศจากกำหนัดเลย แต่ปฏิญญาว่า เราไม่ยินดีแล้ว.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 511
บทว่า นายูหติ ความว่า ไม่ทำกุศลหรืออกุศล ซึ่งเกิดแก่ภพอัน เป็นที่อาศัยอยู่นั้นๆ เพราะเหตุไร เพราะเป็นผู้ถึงฝั่งโน้นแล้ว อธิบายว่า เพราะมุนีเห็นปานนั้น เป็นผู้ถึงฝั่งโน้นแล้วแห่งภพอันเป็นที่อาศัยอยู่ทั้งปวง คือ พระนิพพาน.
ครั้นทรงติเตียนการเห็นของปุถุชนแล้ว ทรงสรรเสริญการเห็นของ พระองค์ด้วยคาถาที่ ๑ ด้วยประการฉะนี้แล้ว ทรงสรรเสริญการบรรลุสันติบท ของพระองค์ เพราะความไม่มีกิเลสทั้งหลายซึ่งปุถุชนยังไม่สงบระงับ ด้วย คาถาที่ ๒ ทรงสรรเสริญการละวิตกไม่เข้าถึงการนับของพระองค์ ด้วยสัจจภาวนาทั้งสี่ในที่ตั้งแห่งกิเลสซึ่งปุถุชนยังไม่ละวิตก แล้วเข้าถึงการนับอย่างนั้นๆ ด้วยคาถาที่ ๓ ทรงสรรเสริญการไม่ก่อกรรมของพระองค์แม้ต่อไป เพราะไม่ มีตัณหาในภพอันเป็นที่อาศัยอยู่ ซึ่งปุถุชนปรารถนายิ่งนัก ก่อกรรมเพราะ ภวตัณหา ด้วยคาถาที่ ๔ ทรงจบเทศนาในการอุบัติครั้งแรก ด้วยยอดคือ พระอรหัตด้วยคาถาทั้งสี่นั่นแล.
คาถาว่า สพฺพาภิภู ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
มหาบุรุษทรงทำมหาภิเนษกรมณ์แล้ว ทรงบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ โดยลำดับ เสด็จไปสู่กรุงพาราณสี เพื่อประโยชน์แก่การยังพระธรรมจักรให้ เป็นไป ทรงพบอุปกาชีวกในระหว่างโพธิมัณฑ์และตำบลคยา และผู้อันอุปกาชีวกทูลถามว่า ท่านผู้มีอายุ อินทรีย์ทั้งหลายของท่านผ่องใสแล จึงตรัส พระดำรัสว่า เราเป็นผู้ครอบงำธรรมทั้งปวง ดังนี้เป็นต้น อุปกาชีวก ทูลว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 512
เฮ้ย! อาวุโส สั่นศีรษะสวนทางหลีกไป และไปถึงนาควิกคามแห่งหนึ่ง ใน วังคชนบทโดยลำดับ หัวหน้าพรานเนื้อเห็นอุปกาชีวกนี้นั้น ก็คิดว่า โอ! สมณะมักน้อยไม่นุ่งแม้ผ้า สมณะนี้เป็นอรหันต์ในโลก แล้วนำไปสู่เรือน อังคาสด้วยรสเนื้อ และพร้อมกับบุตรภรรยาไหว้เขาผู้บริโภคแล้ว นิมนต์ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงอยู่ในที่นี้แหละ ผมจะบำรุงด้วยปัจจัย ได้จัด โอกาสที่อยู่ให้ อุปกาชีวกนั้น ก็อยู่ในที่นั้น.
พรานเนื้อ เมื่อเนื้อทั้งหลายไม่หนีไกลเพื่อเที่ยวไปในประเทศที่เย็น สมบูรณ์ด้วยน้ำในคิมหกาล เมื่อจะไปในประเทศนั้น จึงสั่งธิดา ชื่อว่า ฉาวา ว่า เจ้าจักบำรุงอรหันต์ของพวกเราโดยเคารพ แล้วไปพร้อมกับบุตรและน้อง ชายทั้งหลาย ก็นางเป็นคนน่าดูถึงพร้อมด้วยสัดส่วน ในวันที่ ๒ อุปกาชีวกมา สู่เรือน เห็นทาริกานั้นเข้าใกล้ชิดเพื่ออังคาสถูกราคะครอบงำ ไม่อาจเพื่อบริโภค ถือภาชนภัตรไปสู่ที่อยู่ เก็บภัตรไว้ในที่สุดข้างหนึ่ง คิดว่า ถ้าเราได้นางฉาวา จะเป็นอยู่ ถ้าไม่ได้ จักตาย ดังนี้ ปราศจากอาหารนอนอยู่ ในวันที่ ๗ พราน เนื้อกลับมาแล้วถามธิดาถึงประพฤติการณ์ของอุปกาชีวก นางพูดว่า มาใน วันหนึ่งเท่านั้น แล้วไม่เคยมาอีก พรานเนื้อคิดว่า เราจักเข้าไปหาอุปกาชีวก นั้นไต่ถามดู ด้วยเพศที่มานั่นแหละ จึงมาในขณะนั้นทีเดียว ลูบเท้าถามว่า ท่านผู้เจริญไม่ผาสุกหรือ อุปกาชีวกทุรนทุราย กลิ้งไปมาอยู่นั่นเทียว พราน เนื้อนั้นกล่าวว่า จงพูดเถิด ท่านผู้เจริญ ผมอาจเพื่อทำสิ่งใด จักทำสิ่งนั้น ทั้งหมด อุปกาชีวกกล่าวว่า ถ้าได้นางฉาวา จะเป็นอยู่ ถ้าไม่ได้ ผมตายใน ที่นี้แหละประเสริฐกว่า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 513
มาควิก. ท่านผู้เจริญ ก็ท่านรู้ศิลปะอะไรบ้าง.
อุปถะ. ไม่รู้เลย.
มาควิก. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ท่านไม่รู้ศิลปะอะไรเลย ไม่อาจเพื่อดำรง ฆราวาสได้.
อุปกาชีวกนั้นกล่าวว่า ข้าพเจ้าไม่รู้ศิลปะอะไรเลย แต่ข้าพเจ้าจักเป็น ผู้นำเนื้อของท่านและขายเนื้อ ฝ่ายพรานเนื้อกล่าวว่า พวกเราชอบการขายเนื้อ นั่นแล จึงให้ผ้าเนื้อหนานำสู่เรือนให้ธิดา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมของเขาทั้งสองนั้น บุตรก็เกิดแล้ว เขาจึงตั้งชื่อบุตรนั้นว่า สุภัททะ นางฉาวาพูด เสียดสีอุปกะ ด้วยเพลงขับกล่อมบุตร อุปกะนั้นเมื่อไม่ทนต่อคำเสียดสีนั้น จึง กล่าวว่า แน่ะ แม่คนสวย ฉันจะไปสู่สำนักของพระอนันตชิน แล้วมุ่งหน้า ต่อมัชฌิมประเทศหลีกไป.
ก็โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ใกล้กรุงสาวัตถี ลำดันนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งภิกษุทั้งหลายก่อนทีเดียวว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมาถามอยู่ว่า พระอนันตชิน ท่านทั้งหลาย พึงแสดงเราต่อผู้นั้น ฝ่ายอุปกะแลมาสู่กรุงสาวัตถี โดยลำดับนั่นเทียว ยืนอยู่ ในท่ามกลางวิหารถามว่า สหายของเรา ชื่อ อนันตชิน มีอยู่ในวิหารนี้ ท่านอยู่ ที่ไหน? ภิกษุทั้งหลายนำอุปกะนั้นไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมอันสมควรแก่อุปกะนั้น ในที่สุดแห่งเทศนา อุปกะ ได้ดำรงอยู่ในอนาคามิผล.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 514
ภิกษุทั้งหลายฟังประพฤติการณ์ในกาลก่อนของอุปกะนั้นแล้ว ยังถ้อยคำให้ตั้งขึ้นว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมแก่สมณเปลือยปราศจากสิริ ก่อน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้การตั้งขึ้นแห่งถ้อยคำนั้น เสด็จออกจากพระคันธกุฏิ ประทับนั่งบนพุทธาสนะ ด้วยปาฏิหาริย์ อันสมควรแก่ขณะนั้น ตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนาเรื่อง อะไรหนอ ภิกษุเหล่านั้นทูลบอกเรื่องทั้งหมด แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ตถาคตไม่แสดงธรรม เพราะไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ธรรมเทศนาของตถาคตปราศจากมลทิน ใครๆ ไม่อาจเห็นโทษในธรรมเทศนานั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อุปกะได้เป็นอนาคามีในบัดนี้ เพราะอุปนิสัย แห่งธรรมเทศนานั้น ได้ทรงภาษิตคาถานี้ ซึ่งแสดงความที่พระองค์ทรงมี เทศนาอันไม่มีมลทิน.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่า ผู้ครอบงำธรรมได้ทั้งหมด เพราะ ความที่พระองค์เป็นผู้อันธรรมเหล่านั้นไม่ครอบงำ ด้วยการละฉันทราคะใน ขันธ์ อายตนะ และธาตุทั้งปวง ที่มีอาสวะ และเพราะความที่พระองค์ทรง เป็นไปครอบงำธรรมเหล่านั้นหมดไว้ด้วยพระองค์เอง ชื่อว่า รู้แจ้งธรรม ทุกอย่าง เพราะความที่ธรรมเหล่านั้น และสรรพธรรมเหล่าอื่น อันพระองค์ ทรงรู้แจ้งโดยอาการทั้งปวง ชื่อว่า มีปัญญาดี เพราะความที่พระองค์ทรงถึง พร้อมแล้วด้วยเมธาอันงาม ซึ่งสามารถในการทรงแสดงธรรมทั้งปวง ชื่อว่า ไม่เข้าไปติดในธรรมทั้งปวงเหล่านั้น เพราะไม่มีความติด คือ ตัณหาและทิฏฐิ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 515
ทั้งหลาย ซึ่งเป็นเหตุให้คนเข้าไปติดในธรรมทั้งปวง อันต่างด้วยขันธ์ที่มีอาสวะ เป็นต้น ชื่อว่า ละธรรมได้ทั้งหมด เพราะความที่พระองค์ไม่มีฉันทราคะ ในสรรพธรรมเหล่านั้น และเพราะพระองค์ทรงละธรรมเหล่านั้นทั้งหมด ดำรง อยู่ ชื่อว่า น้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา มีอธิบายว่าน้อมไปยิ่งแล้ว เพราะความที่พระองค์ทรงน้อมไปแล้วโดยพิเศษในนิพพานอันเป็นที่สิ้นตัณหา ด้วยจิตอันโน้มไปในอุปธิวิเวก.
บทว่า ตํ วาปิ ธีรา มุนิ เวทยนฺติ ความว่า สัตว์ ผู้นักปราชญ์ ทั้งหลายย่อมประกาศ คือ ย่อมรู้แม้ผู้นั้นว่า เป็นมุนี.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยังพระองค์ให้แจ่มแจ้งว่า ท่านทั้งหลายจงดู มุนีนี้เป็นผู้ประเสริฐยิ่งเพียงใด เทศนาของมุนี ผู้ประเสริฐยิ่งเพียงนั้นจะมี มลทินแต่ที่ไหน จริงอยู่ วาศัพท์ ในบทว่า ตํ วาปิ ธีรา นี้มีความแจ่มแจ้ง เป็นอรรถ ส่วนอาจารย์บางพวกกล่าวว่า อุปกะแม้เห็นพระตถาคตในกาลนั้น ไม่เชื่อแล้วว่า พระตถาคตนี้เป็นพุทธมุนี ภิกษุทั้งหลาย ยังถ้อยคำให้ตั้งขึ้น อย่างนี้แล้ว ต่อแต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงว่า จงเชื่อก็ตาม ไม่เชื่อก็ตาม แต่นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศผู้นั้นว่า เป็นมุนี จึงตรัสคาถา นี้แล.
คาถาว่า ปญฺาพลํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
คาถานี้ตรัสปรารภพระเรวตเถระ ในคาถานั้น บัณฑิตพึงทราบการ บรรพชาจำเดิมแต่ต้นของพระเรวตเถระ การบรรลุคุณวิเศษของท่านผู้บวชแล้ว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 516
อยู่ที่วัดป่าตะเคียน โดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในคาถานี้ว่า คาเม วา ยทิ วารญฺเ และการเสด็จไปและการเสด็จกลับในป่าตะเคียนนั้นของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จกลับแล้ว ภิกษุแก่รูปหนึ่งลืมรองเท้าจึงกลับมาเห็น รองเท้าแขวนที่ต้นตะเคียน ถึงกรุงสาวัตถี เมื่อนางวิสาขาอุบาสิกาถามว่า ข้า แต่ท่านผู้เจริญ โอกาสเป็นที่อยู่ของพระเรวตเถระเป็นที่รื่นรมย์หรือ เมื่อพูด รุกรานภิกษุทั้งหลายที่กล่าวสรรเสริญ จึงกล่าวว่า แน่ะ อุบาสิกา ภิกษุเหล่านั้น พูดเท็จ ภูมิประเทศไม่งาม เศร้าหมองอย่างยิ่ง ป่าตะเคียนนั่นเล่า ก็ขรุขระ เขาฉันอาคันตุกภัตรของนางวิสาขาแล้ว เพ่งโทษภิกษุทั้งหลายผู้ประชุมที่โรง กลมในภายหลังภัตร กล่าวว่า ดูก่อนผู้มีอายุ สิ่งอันจะพึงรื่นรมย์ในเสนาสนะ ของพระเรวตะพวกท่านเห็นแล้วหรือ?
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้เหตุการณ์นั้นแล้ว จึงเสด็จออกจากพระคัน ธกุฎีเสด็จถึงท่ามกลางบริษัท ด้วยปาฏิหาริย์อันสมควรแก่ขณะนั้น ประทับนั่ง บนพุทธาสนะตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอ นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้อยคำเกิดขึ้นปรารภพระเรวตเถระ พระเรวตเถระเป็นนวกรรมอย่างนี้จักกระทำ สมณธรรมในกาลไหน? พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรวตะ ไม่ได้เป็นนวกรรม เรวตะเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ทรงปรารภพระเรวตะนั้น แล้ว จึงตรัสคาถานี้ เพื่อทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่า ผู้มีกำลัง คือ ปัญญา เพราะความ เป็นผู้ประกอบด้วยกำลังคือปัญญา อันสำเร็จการทำให้อ่อนกำลังและการละ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 517
กิเลส หรืออันต่างด้วย การแสดงฤทธิ์และการอธิษฐาน ชื่อว่า ประกอบด้วย ศีลและวัตร เพราะความเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยปาริสุทธิศีลสี่ และธุตังควัตร ชื่อว่า มีจิตตั้งมั่น ด้วยมรรคสมาธิ ผลสมาธิ และอิริยาปถสมาธิ ชื่อว่า ยินดีในฌาน เพราะความเป็นผู้ยินดีแล้วด้วยฌานอันต่างด้วยอุปจารฌานและ อัปปนาฌาน หรือในฌาน ชื่อว่า มีสติ เพราะความเป็นผู้ถึงความไพบูลย์ ด้วยสติ ชื่อว่า หลุดพ้นจากเครื่องข้อง เพราะความเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่อง ข้อง คือราคะเป็นต้น ชื่อว่า ไม่มีกิเลสดุจหลักตอ ไม่มีอาสวะเพราะไม่มี กิเลสดุจตะปูตรึงใจ ๕ อย่าง และไม่มีอาสวะ ๔ อย่าง.
บทว่า ตํ วาปิ ธีรา มุนิ เวทยนฺติ ความว่า อนึ่ง สัตว์ทั้งหลาย ผู้บัณฑิตย่อมประกาศแม้ผู้นั้น ผู้ประกอบด้วยคุณคือปัญญาเป็นต้น ผู้ปราศจาก โทษ คือ เครื่องข้องเป็นต้น ว่าเป็นมุนี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสรรเสริญ พระเรวตเถระว่า ท่านทั้งหลายจงดู พระขีณาสวมุนีนี้ เป็นผู้ประเสริฐสุด เพียงใด พระมุนีนั้นพึงเห็นว่า เป็นนวกรรม หรือว่าจักกระทำสมณธรรมใน กาลไหนอย่างไร เพราะพระมุนีนั้น ยังวิหารธรรมนั้นให้จบแล้ว ด้วยกำลัง คือ ปัญญา หาให้จบด้วยการทำนวกรรมไม่ พระมุนีนั้นทำกิจเสร็จแล้ว จัก ไม่ทำสมณธรรมในบัดนี้ ก็ วาศัพท์ ในคาถานี้ มีการทำให้แจ่มแจ้งเป็นอรรถ ดังนี้แล.
คาถาว่า เอกํ จรนฺตํ ดั้งนี้ มีอุบัติอย่างไร?
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จถึงกรุงกบิลพัสดุ์ตามลำดับ ตั้งแต่ ควงโพธิมัณฑ์ ครั้นสมาคมแห่งพระบิดาและโอรสเป็นไปอยู่ พระผู้มีพระภาค-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 518
เจ้า ผู้อันพระเจ้าสุทโธทนะทรงพระปราโมทย์ ตรัสพระดำรัสเป็นต้นอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ในเวลาเป็นคฤหัสถ์ทรงนุ่งผ้าทั้งหลายมีผ้ากาสี เป็นต้น ซึ่งทอในคันธกรัณฑกะ บัดนี้ ทรงผ้าปังสุกุลทั้งหลายที่ตัดแล้ว อย่างไร เมื่อจะทรงแนะนำพระราชา จึงตรัสคำมีอาทิว่า
ดูก่อนพระบิดา พระองค์ตรัสถึงผ้า กาสีที่ทอเป็นผืนใด ผ้าปังสุกุลดีกว่าผ้ากาสี นั้น ผ้าปังสุกุลนั่น อาตมภาพปรารถนา ยิ่งนัก ดังนี้.
เมื่อจะทรงแสดงสภาพของพระองค์ยิ่งกว่าโลกธรรมทั้งหลาย จึงตรัส คาถา ๗ บทนี้ เพื่อทรงแสดงธรรมแก่พระราชา.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่า ผู้เดียว ด้วยคุณทั้งหลาย กล่าวคือ บรรพชาเป็นต้น ชื่อว่า เที่ยวไป ด้วยจริยาทั้งหลายมีอิริยาบถเป็นต้น ชื่อว่า มุนี เพราะถึงพร้อมด้วยโมเนยยธรรม ชื่อว่า ไม่ประมาท เพราะไม่มีความ ประมาทในฐานะทั้งปวง ชื่อว่า ไม่หวั่นไหว ด้วยอำนาจแห่งความยินร้ายและ ความยินดีในเพราะนินทาและสรรเสริญเหล่านี้ คือ นินทา อันต่างด้วย การด่าและการครหาเป็นต้น และการสรรเสริญ อันต่างด้วยการชมเชยคุณ เป็นต้น ก็โลกธรรมแม้ ๘ อย่าง พึงทราบว่า ตรัสแล้วในคาถานี้ โดยมี นินทาและการสรรเสริญเป็นประธาน.
ชื่อว่า ไม่สะดุ้งหวาด เพราะไม่เข้าถึงการผิดปกติในเพราะโลกธรรม ทั้งแปด หรือเพราะไม่มีความสะดุ้งหวาด ในเพราะเสนาสนะที่สงัด เหมือน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 519
ราชสีห์ไม่สะดุ้งหวาดในเพราะเสียงมีเสียงกลองเป็นต้น ไม่ข้องอยู่ในข่าย คือ ตัณหาและทิฏฐิด้วยมรรคทั้งสี่ เหมือนลมไม่ข้องอยู่ในตาข่าย อันต่างด้วย ตาข่ายที่ทำด้วยด้ายเป็นต้น ชื่อว่า ไม่ติดอยู่กับโลก เพราะละได้แล้วซึ่งความ ติด คือ ตัณหาและทิฏฐิ อันเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายติดอยู่กับโลก ดุจดอกปทุม แม้เกิดขึ้นโลกแต่ไม่ติดอยู่กับน้ำ ชื่อว่า เป็นผู้นำ ด้วยมรรคนั้น เพราะยัง มรรคให้ถึงนิพพานให้เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่า ไม่ใช่ผู้ที่ใครๆ อื่นจะพึงนำไปได้ เพราะความที่พระองค์ทรงแสดงมรรคแก่เทวดาและมนุษย์เหล่าอื่น แต่พระองค์ ไม่มีใครๆ อื่นที่จะพึงแสดงมรรคนำไปได้ นักปราชญ์ย่อมประกาศแม้ผู้นั้น ว่าเป็นมุนี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประกาศพระองค์ให้แจ่มแจ้งดังพรรณนา มานี้. บทที่เหลือในคาถานี้ มีนัยกล่าวแล้วนั่นแล.
คาถาว่า โย โอคหเณ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสรู้เองโดยเฉพาะครั้งแรก ทรงมีลาภสักการะ ใหญ่ให้เป็นไปแล้ว ไม่มีปริมาณเพราะอาศัยพระอภินีหารคุณอันต่างด้วยบารมี ๑๐ อุปปารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ ที่ทรงบำเพ็ญตลอดสี่อสงไขยและแสนกัป พระคุณที่ทรงบำเพ็ญบารมีทั้งหลายแล้วทรงอุบัติในดุสิตภพ พระคุณที่ประทับ อยู่ในดุสิตภพนั้น พระมหาวิโลกนคุณ การก้าวลงสู่พระครรภ์ การอยู่ใน พระครรภ์ การเสด็จออกจากพระครรภ์ การย่างพระบาท การทรงแลดูทิศ การบันลือดุจพรหม การมหาภิเนษกรมณ์ มหาปธาน การตรัสรู้ การประกาศ พระธรรมจักร มรรคญาณสี่ ญาณที่ไม่หวั่นไหวในปริญญาแปด * ทศพลญาณ ญาณกำหนดคติห้า พุทธญาณ ๑๔ อย่าง คือ อสาธารณญาณ ๖ อย่าง
* ยุ. ปริสาสุ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 520
พุทธญาณอันไม่ทั่วไปแก่สาวก ๘ อย่าง ญาณกำหนดพุทธคุณ ๑๘ อย่าง ปัจจเวกขณญาณ ๑๙ อย่าง พระคุณตั้งแสนมีญาณวัตถุ ๗๗ อย่างเป็นต้น เดียรถีย์ทั้งหลายไม่ทนต่อมหาลาภสักการะอันไม่มีปริมาณนั้น จึงใช้นางจิญจ- มาณวิกาก่ออัปยศให้เกิดขึ้นแก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในท่ามกลางบริษัทสี่ โดย นัยที่กล่าวแล้ว ในคาถานี้ว่า เอกธมฺมมตีตสฺส ดังนี้ ภิกษุทั้งหลายสนทนา กันเพราะอัปยศนั้นเป็นปัจจัยว่า ครั้นอัปยศชื่อแม้เห็นปานนี้ เกิดขึ้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงมีพระทัยเป็นอย่างอื่นเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง ทราบเรื่องนั้นแล้ว เสด็จออกจากพระคันธกุฎี เสด็จถึงท่ามกลางบริษัท โดย ปาฏิหาริย์ อันสมควรแก่ขณะนั้น ประทับนั่ง บนพุทธาสนะ ตรัสเรียกภิกษุ ทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนาเรื่องอะไรหนอ ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลบอกเรื่องทั้งหมด แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้คงที่ในเพราะโลกธรรม ทั้งแปด ดังนี้แล้ว ตรัสคาถานี้ เพื่อประโยชน์แก่การทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ เหล่านั้น.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า พวกตระกูลสูงก็ตาม พวกตระกูลต่ำก็ตาม ขัดตัวที่เสาสี่เหลี่ยม หรือแปดเหลี่ยมที่เขาฝังไว้เพื่อประโยชน์แก่การขัดตัวที่ ท่าน้ำ คือ ท่าสำหรับเป็นที่อาบน้ำของมนุษย์ทั้งหลาย เสาจะฟุบลง หรือ ฟูขึ้น เพราะการขัดตัวนั้น ก็หามิได้ ฉันใด แม้ผู้ใดไม่ถึงความยินดีหรือยินร้าย ในเรื่องที่ผู้อื่นกล่าววาจาด้วยอำนาจการชม หรือ การติ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีอธิบายอย่างไร มีอธิบายว่า ผู้อื่นจะเป็นเดียรถีย์ หรือพวกอื่น กล่าววาจา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 521
ชั้นสูงด้วยอำนาจแห่งการชม หรือวาจาชั้นต่ำด้วยอำนาจแห่งการติเป็นที่สุดใน เรื่องใด ผู้ใดไม่ถึงความยินดีหรือยินร้ายในเรื่องนั้น เป็นเหมือนเสาที่มีอยู่ที่ท่า เป็นที่ลงอาบน้ำ เพราะความเป็นผู้คงที่ฉะนั้น.
บทว่า ตํ วีตราคํ สุสมาหิตินฺทฺริยํ ความว่า ผู้นั้น ชื่อว่า ปราศจาก ราคะ เพราะไม่มีราคะในเพราะอิฏฐารมณ์ และชื่อว่า มีอินทรีย์ตั้งมั่นดีแล้ว เพราะไม่มีโทสะและโมหะในเพราะอนิฏฐารมณ์ หรือมีอินทรีย์ตั้งมั่นโดยดีแล้ว อธิบายว่า มีอินทรีย์อันรักษาแล้ว คือ มีอินทรีย์อันคุ้มครองแล้ว. พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงสรรเสริญพระองค์ว่า นักปราชญ์ย่อมประกาศแม้ผู้นั้นว่า เป็น มุนี คือ ย่อมประกาศว่า เป็นพุทธมุนี จิตของพุทธมุนีนั้น จักเป็นประการอื่น อย่างไรได้. บทที่เหลือมีนัยที่กล่าวแล้วนั่นแล.
คาถาว่า โย เว ิตตฺโต ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
ได้ยินว่า ธิดาเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ลงจากปราสาท ไปสู่ โรงทอผ้า ในปราสาทชั้นล่าง เห็นคนทั้งหลายสอดกระสวยอยู่ จึงถือเอานิมิต อันเปรียบกับกระสวยนั้น โดยความที่กระสวยนั้นเป็นธรรมชาติตรงว่า โอหนอ! สัตว์ทั้งปวงละความคดทางกายและทางวาจา พึงเป็นผู้มีจิตตรง เหมือนกระสวย นางแม้ขึ้นสู่ปราสาทแล้ว ก็นั่งนึกถึงนิมิตนั้นแลบ่อยๆ ก็เมื่อนางปฏิบัติแล้ว อย่างนี้ ไม่นานนัก อนิจจลักษณะก็ปรากฏ และแม้ทุกขลักษณะและอนัตตลักษณะ ก็ปรากฏโดยทำนองนั้นเหมือนกัน.
ลำดับนั้น ภพแม้ทั้งสามก็ปรากฏแก่นางดุจถูกไฟไหม้ พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงรู้นางผู้กำลังเห็นแจ้งอย่างนั้น ประทับนั่ง ณ พระคันธกุฎีเทียว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 522
ทรงเปล่งแสงสว่าง นางเห็นแสงสว่างนั้นนึกว่า นี้อะไร เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ดุจประทับนั่งข้างๆ แล้ว ลุกขึ้นยืนประคองอัญชลี ลำดับนั้น พระผู้มี พระภาคเจ้าทรงทราบว่านางมี สัปปายะ จึงตรัสคาถานี้ ด้วยอำนาจแห่ง พระธรรมเทศนา.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ผู้ใดแลชื่อว่าดำรงตนไว้ เพราะไม่มีความ เจริญ และความเสื่อม เพราะความเป็นผู้มีจิตเป็นเอกัคคตา และเพราะความ เป็นผู้มีวิมุตติอันไม่กำเริบ และเพราะไม่มีการเข้าไปสู่ระหว่างภพ เพราะความ เป็นผู้สิ้นชาติและสังสารหมดแล้ว ชื่อว่า ซื่อตรงดุจกระสวย เพราะละความ คดทางกาย วาจา และใจได้แล้ว หรือ เพราะไม่มีการลุอคติ ชื่อว่า เกลียดชัง แต่กรรมที่เป็นบาป คือ เกลียดชังกรรมทั้งหลายที่เป็นบาป ดุจเกลียดคูถ และ มูตร ฉะนั้น เพราะความเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยหิริและโอตตัปปะ อธิบายว่า ย่อม ละอาย. จริงอยู่ โดยการแยกประโยค ตติยาวิภัตติ ในอรรถแห่งทุติยาวิภัตติ ย่อมสำเร็จในศัพทศาสตร์.
บทว่า วีมํสมาโน วิสมํ สมญฺจ ความว่า พิจารณาเห็น คือ ใคร่ครวญกรรมที่ไม่เสมอมีความไม่เสมอทางกายเป็นต้น และกรรมที่เสมอมี ความเสมอทางกายเป็นต้น ด้วยมรรคปัญญา โดยให้สำเร็จปหานกิจและภาวนากิจ นักปราชญ์ย่อมประกาศแม้ผู้นั้นผู้สิ้นอาสวะแล้วว่า เป็นมุนี มีอธิบาย อย่างไร มีอธิบายว่า ผู้ใดแลพิจารณาเห็นกรรมทั้งที่ไม่เสมอและที่เสมอ ด้วย มรรคปัญญา โดยนัยตามที่กล่าวแล้ว เป็นผู้ดำรงตนไว้ ผู้นั้นเป็นผู้ตรงดุจ กระสวยอย่างนี้ ไม่ถึงการล่วงละเมิดอะไรๆ ชื่อว่า ย่อมเกลียดชังแต่กรรม
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 523
ที่เป็นบาป นักปราชญ์ย่อมประกาศผู้นั้นว่า เป็นนุนี เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงมุนีผู้ขีณาสพว่า เป็นเช่นนี้ จึงตรัสคาถา ด้วยอดคือพระอรหัต ในที่สุดเทศนา ธิดาเศรษฐีดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ผู้ศึกษาพึงเห็น เนื้อความแห่ง วาศัพท์ในคาถานี้ ใช้ในวิกัป หรือ สมุจจัย.
คาถาว่า โย สญฺตตฺโต ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
ได้ยินว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ เมืองอาฬวี ช่างหูก คนหนึ่งในนครอาฬวี สั่งธิดาผู้มีอายุ ๗ ปี ว่า ดูก่อนแม่ เมื่อวันวาน กระสวย ยังเหลืออยู่ เจ้ากรอหลอดด้ายให้เพียงพอแล้ว พึงไปสู่โรงทอผ้าโดยเร็ว อย่า ประพฤติชักช้านัก นางรับคำว่า ดีละ ช่างหูกนั้นไปสู่โรงงานแล้ว ยืนเลือก เส้นด้ายอยู่ ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าออกจากมหากรุณาสมาบัติแล้ว ตรวจดูโลก ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผล ของทาริกานั้น และธรรมาภิ- สมัย ของสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ในเวลาจบเทศนา ทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระแต่ เช้าเทียว ทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าสู่พระนคร มนุษย์ทั้งหลายเห็นพระผู้มี พระภาคเจ้าแล้วคิดว่า ในวันนี้ จะพึงมีใครที่จะทรงอนุเคราะห์แน่แท้ พระผู้มี พระภาคเจ้าจึงเสด็จเข้าไปแต่เช้าตรู่ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มี พระภาคเจ้าประทับยืนอยู่ที่ทางซึ่งนางทาริกากำลังไปสู่สำนักของบิดา.
ชาวนครทั้งหลายปัดกวาดประเทศนั้น ปราบพื้น โปรยดอกไม้ ผูก เพดาน ปูอาสนะ พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งบนอาสนะที่ปูแล้ว หมู่มหาชน ยืนแวดล้อม ทาริกานั้นถึงประเทศนั้นแล้ว เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้อันมหาชน แวดล้อมแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกทาริกา นั้นมาแล้ว จึงตรัสว่า แน่ะทาริกา เจ้ามาจากไหน?
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 524
ทา. ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. เจ้าจักไปไหน?
ทา. ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ไม่ทราบหรือ?
ทา. ทราบ พระพุทธเจ้าข้า.
ภ. ทราบหรือ?
ทา. ไม่ทราบ พระพุทธเจ้าข้า.
มนุษย์ทั้งหลายฟังดังนั้นแล้ว ก็โพนทะนาว่า ดูเถิด ท่านผู้เจริญ ทาริกานี้ แม้มาจากเรือนของตน ถูกพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถาม ก็ทูลว่า ไม่ทราบ และแม้กำลังไปสู่โรงงานทอผ้า ก็ทูลว่า ไม่ทราบ ถูกตรัสว่า ไม่ทราบ หรือ ก็ทูลว่า ทราบ ถูกตรัสว่า ทราบหรือ ก็ทูลว่า ไม่ทราบ ย่อมทำคำพูด ทั้งปวงขัดแย้งกันทีเดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะทำเนื้อความนั้นให้ ปรากฏแก่มนุษย์ทั้งหลาย จึงตรัสถามว่า เราถามอย่างไร? เจ้าตอบอย่างไร? นางกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ใครๆ ย่อมไม่รู้ดิฉันว่า ดิฉันมาจากเรือนไปสู่โรงงานทอผ้า ก็หามิได้ โดยที่แท้ พระองค์ตรัสถามดิฉัน ด้วยอำนาจแห่งปฏิสนธิว่า มาจากไหน ตรัสถามด้วย อำนาจแห่งจุติว่า จักไปไหน และดิฉันไม่ทราบว่า มาจากไหน จากนรก หรือ จากเทวโลก เพราะดิฉันไม่ทราบว่า จักไปแม้ที่ไหน นรก หรือ เทวโลก เพราะฉะนั้น จึงทูลว่า ไม่ทราบ แต่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายถึงมรณะ จึงตรัสถามดิฉันว่า ไม่ทราบหรือ และดิฉันทราบว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงต้อง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 525
ตายแน่นอน ด้วยเหตุนั้น จึงทูลว่า ทราบ ต่อจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงหมายถึงกาลมรณะ จึงตรัสถามดิฉันว่า ทราบหรือ? และดิฉันไม่ทราบว่า จักตายเมื่อไร ในวันนี้ หรือพรุ่งนี้ ด้วยเหตุนั้น จึงทูลว่า ไม่ทราบ ดังนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาปัญหาที่ทาริกานั้นวิสัชนาแล้วๆ ว่า ดีละ ดีแล้ว ฝ่ายหมู่มหาชนได้ให้สาธุการถึงพันครั้งว่า ทาริกานี้เป็นบัณฑิต ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ทาริกามีสัปปายะ เมื่อจะทรงแสดง พระธรรม จึงตรัสคาถานี้ว่า
โลกนี้มืด ในโลกนี้น้อยคนนักย่อม เห็นแจ้ง น้อยคนไปสู่สวรรค์ ดุจนกติดข่าย น้อยตัวที่จะหลุดจากข่าย ฉะนั้น ดังนี้.
ในเวลาจบคาถา ทาริกานั้นดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้ธรรมาภิสมัย.
นางทาริกานั้นไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไปสู่สำนักบิดา บิดาเห็น นาง จึงโกรธว่า มาช้านัก จึงใส่กระสวยอย่างแรง กระสวยพุ่งไปทิ่มท้องของ ทาริกา นางได้ทำกาละในที่นั้นนั่นแล เขาเห็นแล้ว พิจารณาดูว่า เราไม่ได้ ประหารธิดาของเรา โดยที่แท้ กระสวยพุ่งออกมาโดยแรงไปทิ่มท้องของธิดานี้ เธอยังเป็นอยู่หรือไม่หนอ เห็นนางตายแล้ว จึงคิดว่า มนุษย์ทั้งหลายรู้เราว่า คนนี้ฆ่าธิดา ก็จะพึงเล่าลือเปิดเผย ด้วยเหตุนั้น แม้พระราชาก็จะพึงลงอาชญา อย่างหนัก เอาเถิด เราจักหลบหนีไปก่อน.
เขาหลบหนีเพราะกลัวอาชญา ไปถึงโอกาสเป็นที่อยู่ของภิกษุทั้งหลาย ผู้เรียนกรรมฐานในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว อยู่ในป่า และเข้าไปหา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 526
ภิกษุเหล่านั้น ไหว้แล้ว ขอบรรพชา ภิกษุเหล่านั้นให้เธอบวชแล้ว ให้ กรรมฐานเกี่ยวด้วยหมวดห้ามีหนังเป็นที่สุด เธอเรียนกรรมฐานนั้น เพียร พยายาม ไม่นานนัก ก็บรรลุพระอรหัต และภิกษุเหล่านั้น เป็นอาจารย์และ อุปัชฌาย์ของเธอ ลำดับนั้น ในมหาปวารณา ภิกษุทั้งหมดนั่นแล ได้ไปสู่ สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคิดว่า จักปวารณาวิสุทธิปวารณา.
พระผู้มีพระภาคเจ้าครั้นปวารณาเสด็จออกพรรษาแล้ว มีพระภิกษุสงฆ์ แวดล้อม เสด็จเที่ยวจาริกในคามและนิคมเป็นต้น เสด็จไปสู่เมืองอาฬวีโดย ลำดับ ก็มนุษย์ทั้งหลายในเมืองอาฬวีนั้น นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ทำ ทานทั้งหลาย เห็นภิกษุนั้นแล้ว พากันกล่าวเสียดสีว่า ท่านฆ่าธิดาแล้ว บัดนี้ มาเพื่อฆ่าใคร ดังนี้ เป็นต้น ภิกษุทั้งหลายได้ฟังดังนั้นแล้ว ในเวลาบำรุง เข้าไปเฝ้าแล้ว ทูลเรื่องนั่นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนี้ไม่ได้ฆ่าธิดา ธิดานั้นตายตามกรรมของตน เมื่อ จะทรงประกาศความที่ภิกษุนั้นเป็นมุนีผู้ขีณาสพ อันมนุษย์ทั้งหลายรู้ได้ยาก จึงตรัสคาถานี้ เพื่อทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ผู้ใดสำรวมตน ด้วยการสำรวมศีล ในกรรมทวารทั้งสาม ย่อมไม่ทำบาปมีการเบียดเบียนเป็นต้น ด้วยกาย หรือด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็เป็นหนุ่มคือตั้งอยู่ในวัยหนุ่ม หรือปูนกลาง คือตั้งอยู่ในวัยกลาง เป็นเถระตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย โดยนัยนั่นแล ไม่ทำบาปนั้นแม้ในกาลไหนๆ เพราะเหตุไร เพราะมีตนสำรวมแล้ว อธิบายว่า เพราะมีจิตห่างจากบาปทั้งปวง ด้วยวิรัติอันยอดเยี่ยม.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 527
บัดนี้ พึงทราบโยชนาและอธิบายแห่งบทเหล่านี้ว่า มุนิ อโรสเนยฺโย น โส โรเสติ กิญฺจิ ดังนี้ :
ผู้นั้น เป็นมุนีผู้ขีณาสพ ไม่โกรธง่าย คือ เป็นผู้ไม่ควรเพื่อว่าร้าย คือ เพื่อกระทบ เพื่อเบียดเบียนด้วยกายหรือด้วยวาจา โดยนัยมีอาทิอย่างนี้ว่า ผู้ฆ่าธิดา หรือว่าเป็นช่างหูก เพราะแม้เขาไม่ว่าร้ายใครๆ คือ ไม่กล่าวร้าย อะไรๆ คือ ไม่กระทบ ไม่เบียดเบียนว่า เราฆ่าธิดาของเรา ท่านฆ่าหรือผู้ เช่นกับท่านฆ่าเป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้นั้นแม้อันบุคคลไม่พึงว่าร้าย โดยที่แท้ เป็นผู้อันบุคคลพึงนอบน้อมทีเดียว โดยนัยที่กล่าวแล้วว่า จงหยุดเถิด นาค ท่านอย่าฆ่านาค จงทำการนอบน้อมแก่นาค * ดังนี้.
ในบาทคาถาว่า ตํ วาปิ ธีรา มุนิ เวทยนฺติ นี้ พึงทราบการ จำแนกบทอย่างนี้ว่า นักปราชญ์เท่านั้น ย่อมประกาศผู้แม้นั้นว่า เป็นมุนี ก็ใน บาทคาถานั่นมีอธิบายว่า มนุษย์ผู้พาลเหล่านั้นไม่รู้ผู้นั้นว่า ผู้นี้ไม่ควรว่าร้าย ดังนี้ ย่อมว่าร้าย ส่วนมนุษย์เหล่าใดเป็นนักปราชญ์ มนุษย์ผู้เป็นนักปราชญ์ เหล่านั้นเทียว ย่อมประกาศแม้ผู้นั้นว่า เป็นมุนี คือ ย่อมรู้ว่า ผู้นี้เป็นมุนี ผู้ขีณาสพดังนี้แล.
คาถาว่า ยทคฺคโต ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
ได้ยินว่า ในกรุงสาวัตถี มีพราหมณ์คนหนึ่งชื่อว่า ปัญจัคคทายก เขาเมื่อข้าวกล้าทั้งหลายสำเร็จอยู่ ย่อมให้ทานอันเลิศ ๕ ประการเหล่านี้ คือ เขตัคคทาน ราสัคคทาน โกฏฐัคคทาน กุมภิอัคคทาน โภชนัคคทาน.
* ม.มู. วมฺมิกสตฺตํ. ๒๗๑.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 528
ในทานอันเลิศ ๕ ประการนั้น พราหมณ์เป็นผู้มีความเห็นอย่างนี้ว่า ก็คนมี ปัญญาใดให้นำมาซึ่งข้าวสาลี ข้าวเหนียว รวงข้าวละมาน ที่สุกก่อน เตรียม จัดแจงข้าวยาคู ข้าวปายาสและข้าวเม่าเป็นต้นให้ทานอันเลิศ คนนั้นย่อมได้ ผลอันเลิศ แล้วให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้ชื่อว่า เขตัคคทาน ของพราหมณ์นั้น.
ก็เมื่อข้าวกล้าทั้งหลายสำเร็จแล้ว เกี่ยวแล้ว และนวดแล้ว ถือเอา ธัญญะอันประเสริฐให้ทานอย่างนั้นเทียว นี้ชื่อว่า ราสัคคทาน ของพราหมณ์ นั้น.
พราหมณ์ยังยุ้งฉางทั้งหลายให้เต็มด้วยธัญชาติเหล่านั้น ถือเอาธัญญะ ทั้งหลายที่นำออกครั้งแรก ในการเปิดยุ้งฉางก่อนแล้ว ให้ทานอย่างนั้นเทียว ชื่อว่า โกฏฐัคคทาน ของพราหมณ์นั้น.
ก็ภัตใดๆ หุงต้มในเรือนของพราหมณ์นั้น พราหมณ์ไม่ให้ภัตอันเลิศ จากภัตนั้นแก่บรรพชิตที่มาถึงแล้ว โดยที่สุดแม้แก่เด็กทั้งหลาย ก็ไม่ให้อะไรเลย นี้ชื่อว่า กุมภิอัคคทาน ของพราหมณ์นั้น.
พราหมณ์ไม่ให้โภชนะที่เขาน้อมมาครั้งแรก ในกาลที่ตนบริโภคอีก แก่สงฆ์ในกาลแห่งปุเรภัต แก่ยาจกที่มาถึงทั้งหลายในกาลแห่งปัจฉาภัต โดย ที่สุดแม้แก่สุนัขทั้งหลาย เพราะไม่มีสงฆ์เป็นต้นนั้น ย่อมไม่บริโภค นี้ชื่อว่า โภชนัคคทาน ของพราหมณ์นั้น พราหมณ์นั้นจึงถูกกำหนดว่า ปัญจัคคทายก อย่างนี้แล.
อยู่มาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรวจดูโลก ด้วยพุทธจักษุ ในสมัยใกล้รุ่ง ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติมรรค ของพราหมณ์นั้น และ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 529
นางพราหมณี ทรงกระทำการปฏิบัติพระสรีระ เสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎีแต่เช้าตรู่ เทียว ภิกษุทั้งหลายเห็นพระคันธกุฎีปิดประตูรู้ว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระประสงค์เพื่อเสด็จเข้าไปสู่บ้านแต่พระองค์เดียว ในเวลาภิกขาจารทำ ประทักษิณพระคันธกุฎี เข้าไปเพื่อบิณฑบาต ฝ่ายพระผู้มีพระภาคเจ้าในเวลา พราหมณ์บริโภค เสด็จออกเข้าไปในกรุงสาวัตถี มนุษย์ทั้งหลายพอเห็นพระผู้- มีพระภาคเจ้าเท่านั้น ก็รู้ว่าในวันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุเคราะห์สัตว์บาง คนแน่นอน ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าไปแต่พระองค์เดียว จึง ไม่เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อประโยชน์แก่การนิมนต์ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงประตูเรือนของพราหมณ์โดยลำดับ ประทับยืนอยู่.
ก็โดยสมัยนั้น พราหมณ์กำลังนั่งรับประทานโภชนะ ส่วนนาง พราหมณีของพราหมณ์นั้น ยืนพัดอยู่ นางเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วคิดว่า ถ้าพราหมณ์นี้พึงเห็นไซร้ ก็จะพึงรับบาตรถวายโภชนะทั้งหมด แต่นั้น เราก็ จะพึงหุงต้มโภชนะอีก ก็เกิดความไม่เลื่อมใสและความตระหนี่ จึงเอาพัด ก้านตาลบังไว้ โดยประการที่พราหมณ์จะมองไม่เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้เหตุนั้น จึงเปล่งแสงสว่างจากพระสรีระ พราหมณ์ เห็นแสงสว่างสีทองแล้ว มองดูว่า นั่นอะไร ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับยืนอยู่ที่ประตู ฝ่ายนางพราหมณีคิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าอันพราหมณ์ นั้นเห็นแล้ว จึงวางพัดก้านตาลทันที เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่า นางพราหมณีนั้น ผู้กำลังยืนอยู่มีสัปปายะ จึงตรัสคาถานี้ว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 530
ผู้ใดไม่มีความยึดถือว่า ของเราใน นามและรูปโดยประการทั้งปวง และไม่ เศร้าโศก เพราะไม่มีความยึดถือนั้น ผู้นั้น แลเรียกว่า ภิกษุ.
ในเวลาจบคาถานั้นเทียว นางก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล.
ฝ่ายพราหมณ์ทูลนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จเข้าภายในเรือน กราบทูลให้ประทับนั่งบนอาสนะ ถวายน้ำทักขิโณทก น้อมถวายโภชนะที่เขา จัดให้แก่ตนว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงเป็นทักขิไณยบุคคลที่เลิศ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก ดีละ ขอพระองค์จงทรงรับโภชนะนั้นของข้าพระองค์ ประดิษฐ์ลงในบาตรของพระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับเสวยแล้ว เพื่อ อนุเคราะห์แก่พราหมณ์นั้น และทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ทรงรู้ความสบายของ พราหมณ์ จึงตรัสคาถานี้.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ผู้ใดได้ก้อนข้าวแต่ส่วนที่เลิศ เพราะเป็น ก้อนข้าวที่ตักมาจากหม้อก่อนทีเดียว แต่ส่วนปานกลาง เพราะเป็นก้อนข้าวที่ ตักมาจากหม้อที่เหลือกึ่งหนึ่งแล้ว ถือเอาจากส่วนที่เหลือนั้น หรือจากส่วน ที่เหลือ เพราะเป็นก้อนข้าวที่ตักมาจากหม้อที่เหลือประมาณ ๑ ทัพพี หรือ ๒ ทัพพีแล้วถือเอาจากส่วนที่เหลือนั้น.
บทว่า ปรทตฺตูปชีวี ได้แก่ บรรพชิต จริงอยู่ บรรพชิตนั้น เว้นน้ำและไม้สีฟันแล้ว ย่อมเข้าไปอาศัยอาหารที่เหลืออันผู้อื่นให้เป็นอยู่ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ปรทัตตูปชีวี.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 531
บทว่า นาลํ ถุตุํ นาปิ นิปจฺจวาที ความว่า ได้ก้อนข้าวแต่ส่วน ที่ดี ไม่อาจจะกล่าวชมตน หรือทายก เพราะความเป็นผู้ละความยินดีแล้ว ได้แต่ส่วนที่เหลือ ก็ไม่อาจแม้เพื่อให้ทายกตกต่ำแล้วกล่าวคำอันไม่เป็นที่รัก ทั้งหลายโดยนัยมีอาทิว่า ทายกนี้ให้ก้อนข้าวอะไร ดังนี้ เพราะความเป็นผู้ละ ความยินร้ายได้แล้ว.
นักปราชญ์ย่อมประกาศแม้ผู้นั้นว่าเป็นมุนี คือ นักปราชญ์เท่านั้น ย่อมประกาศแม้ผู้นั้น คือผู้ละความยินดีและความยินร้ายได้แล้วว่า เป็นมุนี พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงคาถาด้วยยอดคือพระอรหัตแก่พราหมณ์ ด้วย ประการฉะนี้ ในเวลาจบคาถา พราหมณ์ได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล.
คาถาว่า มุนึ จรนฺตํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
ได้ยินว่า บุตรเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี ถูกบำรุงบำเรออยู่ด้วย สมบัติทั้งปวง ในปราสาท ๓ หลัง ด้วยอำนาจแห่งฤดู ยังหนุ่มแน่นเป็นผู้ ประสงค์จะบวช แต่นั้น จึงอ้อนวอนมารดาบิดา แล้วบวชและสึกถึง ๓ ครั้ง ในครั้งที่ ๔ จึงได้บรรลุอรหัต โดยนัยที่กล่าวแล้วในอุบัติแห่งเรื่อง ในคาถา นี้ว่า กามา หิ จิตฺรา ในขัคควิสาณสูตร ภิกษุทั้งหลายกล่าวกะภิกษุนั้น ตามความเคยชินในกาลก่อนว่า ดูก่อนอาวุโส ถึงสมัยเพื่อจะสึกหรือ ภิกษุนั้น กล่าวว่า ดูก่อนอาวุโส บัดนี้ เราไม่ควรเพื่อจะสึก ภิกษุทั้งหลายฟังดังนั้นแล้ว จึงทูลบอกแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ทั้งหลาย เป็นจริงดังนั้น บัดนี้ เธอไม่ควรเพื่อจะสึก เมื่อจะทำความที่ภิกษุ นั้นเป็นมุนีผู้ขีณาสพให้แจ่มแจ้ง จึงตรัสคาถานี้.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 532
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ชื่อว่า มุนี เพราะถึงพร้อมด้วยโมเนยยธรรม เที่ยวไปอยู่ ด้วยความเป็นผู้อยู่คนเดียว หรือด้วยจริยาบางอย่าง บรรดาจริยา มีประการที่กล่าวแล้วในกาลก่อน ปราศจากความยินดีในเมถุน ด้วยวิรัติอัน ยอดเยี่ยม เพราะไม่ทำจิตในเมถุนธรรม ดุจในกาลก่อน.
ความสัมพันธ์แห่งบาทที่ ๒ หากจะมีคำถามว่า มุนี เที่ยวไปปราศจาก ความยินดีในเมถุน เช่นไร ตอบว่า ผู้ใดไม่หมกมุ่นอยู่ในรูปแห่งหญิงอะไรๆ ที่กำลังเป็นสาว คือ ผู้ใดไม่หมกมุ่นอยู่ในรูปแห่งหญิงอะไรๆ เมื่อความสาว แม้สวยงามเป็นไปอยู่ ด้วยเมถุนราคะ ดุจในกาลก่อน.
อีกอย่างหนึ่ง ในคาถานี้มีเนื้อความอย่างนี้ว่า ผู้ใดไม่หมกมุ่นด้วยราคะ ในความเป็นหนุ่มของตนหรือของคนอื่นอะไรๆ อย่างนี้ว่า เรายังหนุ่ม หรือ หญิงนี้ยังสาว เราจะเสพกามก่อน ก็ปราศจากความยินดีในเมถุนอย่างเดียว เท่านั้น ก็หามิได้ โดยที่แท้ งดเว้นแล้วจากความเมาอันต่างด้วยความเมาเพราะ ชาติเป็นต้น และแม้จากความประมาท กล่าวคือ การปล่อยสติในกามคุณห้า เพราะความเป็นผู้งดเว้นแล้ว จากความเมาและความประมาท และหลุดพ้นจาก เครื่องผูกคือกิเลสทั้งปวงอย่างนี้.
หรือคนหนึ่งเป็นผู้งดเว้นแล้ว ด้วยวิรัติแม้เป็นโลกิยะ ฉันใด ผู้นี้ หาเป็นฉันนั้นไม่ ก็หลุดพ้นแล้ว งดเว้นแล้วอย่างไร อธิบายว่า งดเว้นแล้ว ด้วยวิรัติอันเป็นโลกุตระ เพราะความที่ภิกษุนี้ เป็นผู้หลุดพ้นแล้ว จากเครื่อง ผูกคือกิเลสทั้งปวง.
บทว่า ตํ วาปิ ธีรา ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า นักปราชญ์ทั้งหลายเท่านั้น ย่อมประกาศแม้ผู้นั้นว่า เป็นมุนี ก็ท่านทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 533
ไม่พึงว่ากล่าวภิกษุนั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงกล่าวภิกษุนั้น (ว่าเป็น มุนี) อย่างนี้แล.
คาถาว่า อญฺาย โลกํ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็โดยสมัยนั้นแล พระญาติทั้งหลายได้ทรงกระทำมงคล ๓ ประการ คือ อาภรณมงคล อภิเสกมงคล อาวาหมงคล แก่เจ้าชายนันทะ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ถูกนิมนต์ ในงานมงคลนั้น เสด็จไปในงานมงคลนั้น พร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูป เสวย พระกระยาหารเสร็จแล้ว เสด็จออกไปทรงประทานบาตรในพระหัตถ์ของ เจ้าชายนันทะ เจ้าหญิงชนบทกัลยาณีเห็นเจ้าชายนันทะนั้นเสด็จออกไป จึง ตรัสว่า ขอพระลูกเจ้าจงด่วนเสด็จกลับมา เจ้าชายนันทะนั้นเมื่อไม่อาจเพื่อทูล ว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงทรงรับบาตรเถิด ด้วยความเคารพพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เสด็จไปสู่วิหารนั่นเทียว พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนที่บริเวณ พระคันธกุฎีตรัสว่า จงนำบาตรมา นันทะ ครั้นรับแล้ว ก็ตรัสว่า เธอจักบวช ไหม? เจ้าชายนั้น เมื่อไม่อาจปฏิเสธด้วยความเคารพต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทูลว่า จะบวชพระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงให้เจ้าชายนันทะ ทรงผนวชแล้ว.
ก็พระนันทะนั้น ระลึกถึงคำพูดของเจ้าหญิงชนบทกัลยาณีบ่อยๆ ก็กระสัน ภิกษุทั้งหลายกราบทูลบอกเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้ามีพระประสงค์จะทรงกำจัดความไม่ยินดีของพระนันทะจึงตรัสว่า ดูก่อนนันทะ เธอเคยไปสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ไหม? พระนันทะทูลบอกว่า
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 534
ข้าพระองค์ไม่เคยไปพระเจ้าข้า แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงนำพระนันทะ นั้นไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยอานุภาพของพระองค์แล้วประทับยืนที่ประตู เวชยันตปราสาท ท้าวสักกะทรงทราบการเสด็จมาของพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้อัน หมู่อัปสรแวดล้อมแล้ว เสด็จลงจากปราสาท นางอัปสรเหล่านั้นแม้ทั้งหมด เคยให้น้ำมันทาเท้าแก่สาวกทั้งหลายของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป จึงเป็นผู้มีเท้าดุจเท้าของนกพิราบ.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกพระนันทะว่า ดูก่อนนันทะ เธอเห็นนางอัปสร ๕๐๐ ซึ่งมีเท้าดุจเท้านกพิราบเหล่านี้ไหม? เรื่องทั้งหมด พึงให้พิสดาร คำว่า พึงถือนิมิตและอนุพยัญชนะชื่อของมาตุคาม นั่นไม่มีใน พระพุทธพจน์แม้ทั้งหมด แต่ในที่นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสงค์จะทำลาย ราคะของพระนันทะออกไป ดุจหมอมีความประสงค์จะกำจัดโทษของผู้เดือดร้อน ออกไปฉะนั้น เพราะความที่พระองค์ทรงฉลาดในอุบายโกศล จึงทรงอนุญาต ให้พระนันทะนั้นถือเอานิมิตและอนุพยัญชนะ เป็นดุจสารถีผู้ฝึกบุรุษที่ยอดเยี่ยมฉะนั้น แต่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้ว่าพระนันทะยินดียิ่งในพรหมจรรย์ เพราะเหตุแห่งนางอัปสร ทรงสั่งภิกษุทั้งหลายว่า จงเตือนนันทะ ด้วยวาทะว่า ลูกจ้าง พระนันทะนั้น อันภิกษุเหล่านั้นเตือนอยู่ ละอายแล้วมนสิการโดย แยบคาย ปฏิบัติแล้วไม่นานนัก ก็กระทำให้แจ้งซึ่งพระอรหัต เทวดาที่สิงสถิต อยู่ที่ต้นไม้ ใกล้ที่สุดจงกรมของพระนันทะนั้น ได้ทูลบอกเรื่องนั่นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ญาณก็ได้บังเกิดแม้แก่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุทั้งหลายเมื่อไม่รู้ ก็เตือนพระผู้มีอายุเหมือนอย่างนั้นเทียว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 535
ทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอไม่พึงเตือนนันทะเหมือนอย่างนั้น เมื่อจะทรงแสดง ความที่พระนันทะนั้นเป็นมุนีผู้ขีณาสพ จึงตรัสคาถานี้ เพื่อทรงแสดงธรรม แก่ภิกษุเหล่านั้น.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ผู้รู้จัก คือ รู้แล้ว กำหนดแล้วซึ่งโลกมีขันธ์ เป็นต้น ด้วยการกระทำการกำหนดทุกขสัจจะ เห็นปรมัตถประโยชน์ด้วยการ ทำให้แจ้งซึ่งนิโรธสัจจะ ข้ามพ้น คือ ก้าวล่วงโอฆะ ๔ อย่าง ด้วยการละสมุทัย และสมุทรคืออายตนะมีจักขุเป็นต้น ด้วยการอดทนต่อกำลังแห่งความเมาในรูป เป็นต้น เพราะความเป็นผู้ละสมุทัยได้แล้ว กำจัดออกซึ่งสมุทัยนั้น ด้วยมรรคภาวนา.
บทว่า ตาทึ ได้แก่ เป็นผู้คงที่ ด้วยการถึงลักษณะผู้คงที่นี้. ผู้ศึกษาทราบเนื้อความและอธิบายในคาถานี้อย่างนี้ว่า ก็กองแห่งกิเลสมี กามราคะเป็นต้นนั่นแลนี้ใด ชื่อว่า โอฆะ เพราะอรรถว่าไหลไป ชื่อว่า สมุทร เพราะอรรถว่าพุ่งขึ้น โดยปริยายแห่งคติอันน่าเกลียด ข้ามพ้นกองกิเลส นั้น คือ โอฆะและสมุทรด้วยการละสมุทัย เพราะความเป็นผู้ข้ามพ้นโอฆะ ได้แล้ว ชื่อว่า เป็นผู้คงที่ เพราะความเป็นผู้ไม่ถึงความผิดปกติ ในคำพูด ที่ท่านทั้งหลายแม้กล่าวอยู่อย่างนี้ในบัดนี้.
ก็คำว่า ตํ ฉินฺนคนฺถํ อสิตํ อนาสวํ นี้ เป็นคำกล่าวสรรเสริญ พระนันทะนั้น มีอธิบายว่า ชื่อตัดกิเลสเครื่องร้อยรัดได้ขาดแล้ว เพราะความ ที่คันถะ (เครื่องร้อยรัด) ๔ อย่าง ถูกตัดขาดได้แล้ว ด้วยสัจจภาวนาทั้งสี่นี้ ชื่อว่า อันทิฏฐิหรือตัณหาอาศัยไม่ได้แล้ว เพราะความที่ทิฏฐิหรือตัณหาไม่ อาศัยแล้วในที่ไหนๆ ชื่อว่า ไม่มีอาสวะ เพราะไม่มีอาสวะทั้งสี่.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 536
บทว่า ตํ วาปิ ธีรา มุนิ เวทยนฺติ ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแสดงว่า หรือนักปราชญ์ย่อมประกาศแม้ผู้นั้นว่า เป็นมุนีผู้ขีณาสพ แต่ ท่านทั้งหลายผู้ไม่ถูกประกาศ จงกล่าว (ว่าเป็นมุนี) อย่างนี้แล.
คาถาว่า อสมา อุโภ ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
ภิกษุรูปหนึ่งอาศัยปัจจันตคาม ในแคว้นโกศล อยู่ในป่า ก็พรานเนื้อ ในบ้านนั้น ไปสู่โอกาสเป็นที่อยู่ของภิกษุนั้น ผูกเนื้อทั้งหลาย เข้าไปสู่ป่า เห็นพระเถระแม้เข้าไปสู่บ้าน เพื่อบิณฑบาต เมื่อมาจากป่า ก็เห็นพระเถระ แม้กำลังออกจากบ้าน ก็เกิดความรักใคร่ในพระเถระ ด้วยการเห็นเนืองๆ อย่างนี้ ถวายบิณฑบาตที่มีรสแม้แก่พระเถระในเวลาที่ตนได้เนื้อมาก มนุษย์ ทั้งหลายโพนทะนาว่า ภิกษุนี้ย่อมบอกแก่พรานว่า ในประเทศชื่อโน้น เนื้อ ทั้งหลายย่อมยืน เดินดื่มน้ำที่ควรดื่ม แต่นั้นพรานก็ฆ่าเนื้อทั้งหลาย ด้วยเหตุนั้น คนทั้งสองจึงรวมกันเลี้ยงชีวิต.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเที่ยวจาริกในชนบท ได้เสด็จไป สู่ชนบทนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปสู้บ้านเพื่อบิณฑบาต ฟังประพฤติการณ์นั้น แล้ว ทูลบอกแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดง ความที่ภิกษุนั้นเป็นมุนีผู้ขีณาสพ ซึ่งไม่สำเร็จการเลี้ยงชีวิตร่วมกับพราน จึง ตรัสคาถานี้ เพื่อทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นและพรานนั้น คนทั้งสองนั้นไม่เสมอกัน มนุษย์ทั้งหลายย่อมกล่าวคำใดว่า มีการเลี้ยงชีพ ร่วมกัน คำนั้นผิด เพราะเหตุไร เพราะมีที่อยู่และความเป็นอยู่ไกลกัน ที่อยู่
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 537
และความเป็นอยู่ของคนทั้งสองนั้นไกลกัน เพราะเหตุนั้น คนทั้งสองนั้น จึงชื่อว่า ทูริวิหารวุตฺติโน แปลว่า มีที่อยู่และความเป็นอยู่ไกลกัน.
บทว่า วิหาโร ได้แก่ โอกาสเป็นที่อยู่. ก็โอกาสเป็นที่อยู่นั้นของ ภิกษุมีในป่า และของพรานมีในบ้าน. บทว่า วุตฺติ ได้แก่ มีความเป็นอยู่. ก็ความเป็นอยู่นั้นของภิกษุได้แก่การเที่ยวไปเพื่อภิกขาตามตรอกในบ้าน และ ของพราน คือ การฆ่าเนื้อและนกในป่า.
อีกประการหนึ่ง คฤหัสถ์เลี้ยงลูกเมีย เพราะเหตุนั้น พรานนั้นย่อม เลี้ยงลูกเมียด้วยกรรมนั้น ส่วนภิกษุผู้ขีณาสพนั้นไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา มี วัตรงาม คือ เว้นจากความยึดถือว่าเป็นของเราด้วยตัณหาและทิฏฐิในลูกเมีย ทั้งหลาย ชื่อว่า มีวัตรงาม เพราะความเป็นผู้มีวัตรอันสะอาด และความเป็น ผู้มีวัตรอันงาม.
อีกประการหนึ่ง คฤหัสถ์ไม่สำรวมเพราะบั่นรอนสัตว์อื่น พรานนั้น เป็นคฤหัสถ์ ชื่อว่า ไม่สำรวมแล้ว ด้วยกายวาจาและจิต เพราะบั่นรอนสัตว์อื่น คือ การเข้าไปตัดชีวิตินทรีย์ของสัตว์เหล่านั้น มุนีสำรวมเป็นนิตย์ รักษาสัตว์ มีชีวิตไว้ ส่วนภิกษุนอกนี้เป็นมุนีผู้ขีณาสพ สำรวม คือ สังวรเป็นนิตย์ด้วย กาย วาจา และจิต ย่อมรักษาสัตว์มีชีวิตไว้ เมื่อเป็นเช่นนี้คนทั้งสองนั้นจัก มีการเลี้ยงชีพร่วมกันอย่างไรได้ดังนี้แล.
คาถาว่า สิขี ยถา ดังนี้ มีอุบัติอย่างไร?
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ การสนทนา ได้เกิดขึ้นแก่ศากยะทั้งหลายว่า ผู้บรรลุโสดาก่อน ย่อมเป็นผู้แก่กว่าผู้บรรลุ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 538
โสดาภายหลังโดยธรรม เพราะฉะนั้น ภิกษุผู้บรรลุโสดาภายหลัง พึงกระทำ กิจทั้งหลายมีการอภิวาทน์เป็นต้น แก่คฤหัสถ์ผู้บรรลุโสดาก่อน ภิกษุผู้บิณฑบาต เป็นวัตรรูปหนึ่ง ได้ฟังการสนทนานั้น จึงกราบทูลบอกแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายว่า ก็ชาตินี้เป็นอย่างหนึ่ง เพศเป็นวัตถุพึงบูชา จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ถ้าอนาคามีเป็นคฤหัสถ์ไซร้ อนาคามีผู้คฤหัสถ์ นั้นพึงการทำกิจทั้งหลายมีการอภิวาทน์เป็นต้น แก่สามเณรแม้ผู้บวชในวันนั้น เมื่อจะทรงแสดงคุณพิเศษของภิกษุแม้ผู้บรรลุโสดาภายหลัง มีคุณใหญ่ยิ่งกว่า คฤหัสถ์ผู้บรรลุโสดาก่อนอีก จึงตรัสคาถานี้ เพื่อทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุ ทั้งหลาย.
คาถานั้นมีเนื้อความว่า นกยูงบินไปในอากาศนี้ใดเรียกว่า มีหงอน เพราะมีภาวะที่หงอนซึ่งเกิดที่ศีรษะ และมีสร้อยคอเขียวที่คอเช่นท่อนแก้วมณี นกยูงนั้นย่อมไม่ถึงเสี้ยวแม้ที่ ๑๖ ด้วยความเร็วของสุวรรณหงส์ ในบรรดา หริตหงส์ ตัมพหงส์ กาฬหงส์ ปากหงส์และสุวรรณหงส์ แม้สุวรรณหงส์ ย่อมบินไปได้พันโยชน์บ้าง หนึ่งโยชน์บ้าง โดยครู่เดียว ส่วนนกยูงนอกนี้ ไม่ปรากฏว่าสามารถ แต่หงส์และนกยูงแม้ทั้งสองก็เป็นสัตว์น่าดู เพราะความ เป็นสัตว์ที่น่าดู ฉันใด คฤหัสถ์แม้บรรลุโสดาก่อนก็ฉันนั้น ย่อมเป็นผู้ที่น่าดู ด้วยมรรคทัสสนะแม้ก็จริง ถึงอย่างนั้นแล คฤหัสถ์นั้น ทำตามภิกษุผู้บรรลุ โสดาภายหลังก็ดี ผู้มีภาวะอันเที่ยงตรงน่าดู ด้วยมรรคทัสสนะก็ดี ด้วยเชาว์ ไม่ได้ ถามว่า ด้วยเชาว์ไหน ตอบว่า ด้วยเชาว์คือวิปัสสนาญาณในมรรค เบื้องสูง เพราะญาณนั้นของคฤหัสถ์เป็นของช้า เพราะความเป็นญาณที่ยุ่ง
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ - หน้า 539
ด้วยความยุ่งมีบุตรภรรยาเป็นต้น ส่วนญาณของภิกษุเป็นของเร็ว เพราะความ ยุ่งนั้นถูกสางแล้ว เนื้อความนี้นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแล้วด้วยบทนี้ ว่า ผู้เป็นมุนี สงัดเงียบเพ่งอยู่ในป่า ก็ภิกษุผู้เสกขมุนีนี้ สงัดเงียบด้วย กายวิเวกและจิตวิเวก และเพ่งอยู่ในป่าเป็นนิตย์ ด้วยลักขณารัมมณูปนิชฌาน วิเวกและฌานเห็นปานนี้ของคฤหัสถ์จะมีแต่ที่ไหน ก็อธิบายในคาถานี้ มีเพียง เท่านี้แล.
จบอรรถกถามุนิสูตร แห่งอรรถกถาขุททกนิกาย
ชื่อ ปรมัตถโชติกา
ก็วรรคที่ ๑ โดยชื่อว่า อุรควรรค
โดยนัยแห่งการพรรณนาเนื้อความ จบบริบูรณ์แล้วแล
รวมพระสูตรและอรรถกถาที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อุรคสูตร ๒. ธนิยสูตร ๓. ขัคควิสาณสูตร ๔. กสิภารทวาชสูตร ๕. จุนทสูตร ๖. ปราภวสูตร ๗. วสลสูตร ๘. เมตตสูตร ๙. เหมวตสูตร ๑๐. อาฬวกสูตร ๑๑. วิชยสูตร ๑๒. มุนิสูตร บัณฑิต เรียกว่าอุรควรรค.